ประชามติร่าง รธน. …หนังเก่า ฉายใหม่

ประชามติร่าง รธน. ...หนังเก่า ฉายใหม่

อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามเพื่อที่จะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 4 ข้อ

ได้แก่ 1.ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ 2.เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีปัญหาประการใด ที่จำเป็นต้องแก้ไข 3.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนั้นเห็นสมควรจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ 4.หากมีการจัดทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไม่

แต่ก่อนที่การทำประชามติตามคำถามดังกล่าวจะเกิดขึ้น เกิดมีปัญหาข้อถกเถียงเกี่ยวกับจำนวนครั้งของการทำประชามติ คณะกรรมการศึกษาแนวทางฯจึงต้องสอบถามความเห็นคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ถึงไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

กระบวนการทั้งหลายที่ว่ามานี้ยังไม่มีบทสรุปหรือคำตอบใดๆ ออกมา เพื่อที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

Advertisement

ผมนำเอาเรื่องการทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นประเด็น ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากหนังม้วนเก่า ที่กำลังจะกลับมาฉายใหม่อีกครั้ง

เหตุเพราะการเมืองไทยตั้งแต่อดีตก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และหลังจากนั้นมาจนถึงวันนี้ มีลักษณะย้อนแย้งเกิดขึ้นตลอด

ผู้มีอำนาจ องค์กรอำนาจ ไม่เคยเชื่อมั่นการตัดสินใจของประชาชน เพราะคิดตลอดเวลาว่าประชาชนไม่พร้อม โง่เง่าเต่าตุ่น ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดข้อมูลข่าวสาร ไม่ตื่นตัว จิตสำนึกทางการเมืองต่ำ ถูกหลอกและหวังประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้น

Advertisement

แต่แล้วจู่ๆ ก็จะให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทำไปแล้วครั้งแรกก่อนร่างรัฐธรรมนูญ 2560

ลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 2 คำถาม คือ 1.ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช … ทั้งฉบับ

2.ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คำถามพ่วง)

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

คำถามพ่วงประชามติครั้งนั้น เป็นฉนวนเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายยาวนานมาจนถึงวันนี้ยังไม่จบ กำลังจะมีการลงประชามติกันอีก

เป็นการลงประชามติภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากความไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจ การตัดสินใจของประชาชนที่ไม่เคยมีความพร้อมในสายตาผู้มีอำนาจทั้งหลายแหล่อีกเช่นเดิม

เป็นการลงประชามติภายใต้มาตรา 256 (8) ที่เขียนไว้ว่า ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนการลงมติเห็นชอบ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าการลงมติในวาระแรกขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ 84 คน

การลงมติวาระที่สาม ขั้นสุดท้าย ในจำนวนคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาที่ให้ความเห็นชอบ ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

สรุปก็คือว่า ผลประชามติจะออกมาอย่างไรก็ตาม ต้องนำมาเข้าที่ประชุมรัฐสภา ดำเนินการตามขั้นตอนหมวด 15 ต้องใช้เสียง ส.ว. ส.ส. ตามจำนวนที่บัญญัติไว้

ก็ในเมื่อ องค์ประกอบ และที่มาของผู้มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายรัฐธรรมนูญ มีที่มาจากอำนาจกระบอกปืน ไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจการตัดสินใจของประชาชน จะจัดให้มีการลงประชามติ 2-3 ครั้ง เสียเงินเกือบหมื่นล้านกันอีกทำไม

ที่สังคมต้องยอมจ่ายเงินจำนวนมากมายนี้ก็เพราะหวังว่าผลการลงประชามติจะทำให้ผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อที่เคยมีมาแต่เดิม กลับมายอมรับและเชื่อมั่นการตัดสินใจของประชาชน

ณ วันนี้ยังเป็นเพียงแค่ความฝัน อยู่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image