สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อ‘เอไอ’ถูกวัด‘ไอคิว’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

คําว่า “เอไอ” ถูกนำมาใช้กันเกลื่อนจนบางทีคนที่ใช้คำนี้เองก็ไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วมันหมายถึงอะไรกันแน่

เกริ่นขึ้นมาอย่างนี้ ไม่ได้ชวนกันไปหานิยามของเอไอหรอกครับ เพียงแค่อยากให้ทำความรู้จักกันให้มากขึ้นว่า เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์น่ะ หมายถึงอย่างไร ทำไมถึงแข่งกันพัฒนาเป็นบ้าเป็นหลัง แล้วเป้าหมายจริงๆ ของการพัฒนาคืออะไรกัน และตอนนี้ไปถึงไหนกันแล้ว เท่านั้นเอง

เวลาใครถามผมว่า เอไอ คืออะไร ผมมักบอกง่ายๆ ว่า เอไอ ก็คือความพยายามของคนเราที่จะทำให้เครื่องจักร (คอมพิวเตอร์) มีศักยภาพในการ “คิด” การ “ให้เหตุผล” จนสามารถ “ทำงาน” ให้เหมือนหรือใกล้เคียงกับคนให้มากที่สุด

กระบวนการเพื่อฝึกให้จักรกลมีขีดความสามารถใกล้เคียงกับคนเรียกว่า “แมชชีน เลิร์นนิง” หรือ “ดีพ เลิร์นนิง” ครับ

Advertisement

ตอนนี้หลายๆ บริษัททั้งเล็กๆ และใหญ่โต อย่าง โอเพ่นเอไอ (แชตจีพีที), แอลฟาเบธ (กูเกิล), เมต้า (เฟซบุ๊ก) ฯลฯ พากันพัฒนาเอไอกันยกใหญ่ เป้าหมายหลักสำคัญอยู่จุดเดียวกัน นั่นคือการพัฒนาเอจีไอ (AGI) ขึ้นมา

เอจีไอ (artificial general intelligence) หรือบางทีเรียกกันว่า จีเอไอ (generative AI) คือจุดที่เมื่อพัฒนาไปถึงแล้ว เอไอ (ที่อยู่ในจักรกลทั้งหลาย) จะสามารถทำงานส่วนใหญ่ที่คนทำได้อยู่ในเวลานี้ได้นั่นเอง

หมุดหมายอันนี้สำคัญนะครับ เพราะจะเป็นจุดที่สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เราจะนั่งสบายๆ ปล่อยให้จักรกลทำงานทุกอย่างแทนเรา อย่างที่บางคนเรียกว่า “โลกหลังยุคการทำงาน” หรือ “โพสต์-เวิร์ก เวิลด์” (post-work world) นั่นเอง

Advertisement

ตอนนี้เราพัฒนาเอไอไปถึงไหนกันแล้ว? หลายคนบอกว่ามาไกลมากแล้ว จนถึงขั้นวิตกกังวล (เช่น บรรดานักแสดง นักเขียนบทฮอลลีวู้ดที่พากันสไตรก์เมื่อไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่งเพราะเหตุนี้) ว่างานของตัวเองจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร

แต่มีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ด้านเอไอชั้นนำอย่าง เอียนน์ เลอคุน (Yann LeCun) หัวหน้าทีมปัญญาประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสของแพลตฟอร์มเมต้า ที่ออกมายืนยันเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มนุษย์คงไม่บรรลุถึงเอจีไอได้ในเร็วๆ นี้หรอก

เขาบอกอย่างมั่นใจว่า เอไอทั้งมวลในเวลานี้น่ะ ยัง “โง่” จะตาย โง่กว่า “แมว” ด้วยซ้ำไป

เขาบอกอย่างนี้ไว้ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่รายงานผลการศึกษาวิจัยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ (ยังไม่ผ่านการทบทวนของเพื่อนร่วมวิชาชีพ) โดยเลอคุนร่วมวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์เอไออีกหลายคน (จากหลายบริษัทเอไอที่มีอยู่ในเวลานี้) เป้าหมายเพื่อวัด “ไอคิว” ของเอไอเทียบกับมนุษย์

วิธีการก็คือ ตั้งคำถามให้ทั้งเอไอแล้วก็กลุ่มตัวอย่างที่เป็นมนุษย์ตอบ แต่คำถามที่ว่านี้ไม่ได้เป็นคำถามธรรมดา เป็นคำถามที่ “เป็นแนวคิดรวบยอดง่ายๆ สำหรับคน แต่ก็ยังถือว่าท้าทายสำหรับเอไอที่ก้าวหน้าด้วยเช่นกัน” เป็น “คำถามในโลกจริงๆ ที่การหาคำตอบนั้นต้องผ่านกระบวนการทำงานซึ่งอาศัยความสามารถพื้นฐานชุดหนึ่ง ที่ต้องอาศัยการให้เหตุผล, เป็นที่นิยมกันในยุคนี้, การท่องเว็บ แล้วก็ความคล่องแคล่วในการใช้เครื่องมือ”

ยกตัวอย่างดีกว่า ก่อนที่จะสับสนไปมากกว่านี้ เช่น การถามคำถามที่ผู้ตอบต้องเข้าไปในเว็บไซต์หนึ่ง เพื่อหาคำตอบที่ต้องการจากเว็บไซต์นั้น หรือเป็นคำถามที่เกี่ยวกับภาพของคนคนหนึ่งซึ่งผู้ตอบต้องใช้การสืบค้นจากในเว็บเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง เป็นต้น

ผลก็คือ เอไอ ที่สามารถทำหลายอย่างที่คนทำไม่ได้ แพ้มนุษย์หลุดลุ่ยครับ GPT4 อัลกอริทึมเอไอของแชตจีพีที ตอบได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของคำถามที่จัดว่าง่ายที่สุด แต่ถ้าเป็นคำถามยากๆ ละก็ โอกาสตอบถูก เป็น 0 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ในขณะที่มนุษย์ทำสำเร็จได้สูงสุดถึง 92 เปอร์เซ็นต์

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เอียนน์ เลอคุน ให้เหตุผลเอาไว้ในเอ็กซ์ของตัวเองเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นเพราะทุกเอไอในเวลานี้ยังไม่มี “แบบจำลองของทั้งโลกอยู่ภายใน” เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่สามารถ “รู้จักเหตุและผล” และไม่สามารถ “วางแผน” ได้

ต่างกับมนุษย์ที่จะมากจะน้อยก็เข้าใจโลกอยู่บ้าง รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพื่อให้ได้ผลอะไรตามต้องการ

การขาดศักยภาพในการวางแผนนี่เองที่ทำให้เลอคุนบอกว่า เอไอทุกวันนี้ แม้แต่แมวยังสู้ไม่ได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image