เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่?

เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่?

เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่?


บทความนี้ตั้งใจเขียนเพื่อสะท้อนปัญหาของประเทศไทย ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำนโยบายใดหรือไม่ทำนโยบายใด แต่อยากชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่เป็นอยู่และอยากเรียกร้องให้มีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ประเทศไทยจะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งหากยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจะเสื่อมถอยและถูกประเทศเพื่อนบ้านผลัดกันแซงจนประเทศไทยจะตกไปรั้งท้ายได้

หากจำกันได้ ผู้เขียนได้เตือนสังคมและเตือนรัฐบาลตั้งแต่ปี 2560 ถึงทฤษฎีกบต้ม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ถูกคิดขึ้นกว่า 100 ปีมาแล้ว ทฤษฎีกบต้ม เป็นเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบกับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีเรื่องหนึ่ง เรื่องเล่ามีอยู่ว่าถ้านำกบไปต้มในหม้อที่ใส่น้ำไว้ ค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น กบจะไม่กระโดดหนี รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่หนีไม่ทันแล้ว น้ำเดือด มันก็จะกลายเป็นกบต้ม สุกไปเรียบร้อย ซึ่งสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ ทฤษฎีกบต้ม ของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อาจารย์ที่เคารพรักของผู้เขียน ที่ตีพิมพ์ลงใน นสพ.
มติชน และลงในเว็บของมติชน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2560 โดยอาจารย์กรุณาตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่อให้ข้อมูลกับสังคมอีกทั้งต้องการช่วยผู้เขียนในคดีตอนที่ถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งคนมาฟ้องผู้เขียนในเรื่องทฤษฎีกบต้มดังกล่าว และสำนักอัยการก็ได้ใช้บทความนี้ของอาจารย์ประกอบในการสั่งไม่ฟ้องผู้เขียนในคดีนี้ และคดีอื่นทั้งหมด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้พยายามเตือนปัญหาที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำคล้ายกับสภาวะกบต้มที่ประเทศไทยเสื่อมถอยลงมาเรื่อยๆ มาหลายปีแล้ว มิใช่เพิ่งมาเตือนตอนนี้ หรือเพิ่งจะเห็นตอนนี้เป็นวิกฤต แต่วิกฤตเริ่มมาหลายปีแล้ว และก็ยังคงเป็นอยู่ โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 1.8-1.9% เท่านั้น ซึ่งต่ำมาก เพราะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยจะต้องขยายตัวได้อย่างน้อยปีละ 5% จึงจะสามารถหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงได้ และสำหรับประเทศไทยจะต้องขยายตัวปีละ 5% ไปอีก 20 ปี ถึงจะเป็นประเทศรายได้สูงได้ ซึ่งหากขยายได้เพียง 2-3% คงต้องใช้เวลา 40-50 ปี กว่าจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้

Advertisement

โดยอัตราการขยายตัวปีละ 5% นี้เป็นศักยภาพที่ไทยสามารถทำได้ จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) อีกทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีละ 5% ยังถูกกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนขึ้นมาในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เอง

การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำของไทยทำให้ไทยถูกเรียกว่าเป็น คนป่วยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนิตยสารไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) ในบทความลงวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ก่อนที่มีวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดเสียอีก อีกทั้งยังทำนายว่าไทยจะยิ่งป่วยหนัก แล้วก็ป่วยหนักจริง เพราะหลังจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด 3 ปีแล้ว ไทยยังฟื้นไม่ถึงที่เก่าเลย โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบที่ -6.1% ในปี 2564 ไทยขยายตัวได้เพียง 1.6% ปี 2565 ขยายได้ 2.6% และปี 2566 น่าจะฃยายตัวได้ประมาณ 2% เท่านั้น ซึ่งรวมแล้วเพิ่งจะใกล้เคียงกับที่ติดลบลงมาหรือเท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในแดนลบมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องถือว่าป่วยหนักจริงตามที่สื่อหลักต่างประเทศทำนายไว้

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นไปถึง 62.14% ของจีดีพี เพิ่มจากเดือนกันยายนปี 2557 ที่ 5.69 ล้านล้านบาท เป็น 11.13 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน อีกทั้งหนี้ครัวเรือนยังพุ่งถึงกว่า 16.07 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ของจีดีพี และหนี้นอกระบบมีถึง 3.48 ล้านล้านบาท โดยหนี้เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหมือนระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย

Advertisement

หันกลับมาดูความสามารถแข่งขันของประเทศไทยที่ลดลงมาเรื่อยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำมากเฉลี่ยเพียงปีละ 1% กว่าเท่านั้น และปีนี้การส่งออกของไทยทั้งปีจะติดลบอีก ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยขาดการลงทุนมาเป็นเวลาหลายปี การลงทุนเข้ามาน้อยมาก การส่งออกของไทยถูกเวียดนามแซงไปแบบไม่เห็นฝุ่นโดยปี 2565 ไทยส่งออก 2.87 แสนเหรียญสหรัฐ ในขณะที่เวียดนามส่งออกสูงถึง 3.71 แสนเหรียญสหรัฐ ซึ่งแซงไทยไปมากแล้วและยังมีแนวโน้มที่จะแซงมากขึ้นจากการลงทุนในเวียดนามที่มากกว่าไทย

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเดิมของไทยที่มีอยู่ก็เริ่มจะล้าสมัย ไม่เป็นที่นิยมของตลาดโลก ไทยต้องมีการลงทุนอุตสาหกรรมชนิดใหม่โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมไฮเทค ที่เป็นที่นิยมของต่างประเทศและมีมูลค่าเพิ่มสูง และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยก็ยังล่าช้ามาก ประเทศมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า ยูนิคอร์น น้อยมาก โดยสัดส่วนรายได้ของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยยังต่ำมากเทียบกับจีดีพี ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขยายตัวมากขึ้นจะเป็นการช่วยขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นสูงได้ในอนาคต

สัญญาณบอกเหตุที่แสดงถึงปัญหาของเศรษฐกิจไทย คืออัตราเงินเฟ้อของไทยที่ลดลงมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ 0.53% มิถุนายน 0.23% กรกฎาคม 0.35% สิงหาคม 0.88% กันยายน 0.30% และมาติดลบในเดือนตุลาคมที่ -0.31% และยังมีแนวโน้มที่จะติดลบต่อในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศยังสูงมาก อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นและเพิ่งมาปรับตัวลดลงไม่นานนี้ แสดงถึงว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ในอนาคต

เป็นที่น่าแปลกใจว่าหน่วยงานทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทีดีอาร์ไอ ต่างไม่มีใครแสดงความกังวลและออกมาเตือนในเรื่องดังกล่าว ทั้งที่น่าจะเตือนกันมานานแล้ว อีกทั้งยังทักท้วงเรื่องแปลกๆ เช่น ธปท.ท้วงเรื่องแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ทั้งที่ชาวนาเป็นประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดและต้องการการช่วยเหลือ หรือสภาพัฒน์ กลับอ้างว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี ทั้งที่ตลอดเวลาหลายปีมานี้ สภาพัฒน์คาดการณ์เศรษฐกิจผิดพลาดหมด เช่นในปี 2562 คาดการณ์จะขยายตัวได้ 4.0% แต่ความจริงขยายได้เพียง 2.4% ปี 2563 คาดการณ์จะขยายได้ 2.0% ก่อนปรับคาดการณ์ลดเหลือติดลบที่ -1.5% แต่ความจริงติดลบมากถึง -6.1% ปี 2564 คาดการณ์จะขยายได้ 3.5-4.5% แต่ความจริงขยายได้เพียง 1.6% ในขณะที่ประเทศอื่นฟื้นจากที่ตกมากันเกือบหมดในปี 2564 และปี 2565 คาดการณ์จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ความจริงขยายได้เพียง 2.6% ปี 2566 คาดการณ์จะขยายตัวได้ 3.5% แล้วปรับลดลงมาเหลือ 2.5% แต่ก็คงไม่น่าจะถึงเพราะ 9 เดือนเพิ่งขยายได้เพียง 1.9% เท่านั้น ถ้าสภาพัฒน์ยังเห็นว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไปได้ดีก็น่าจะต้องไปเรียนหนังสือใหม่ ในขณะที่แทบไม่ได้ยินข้อมูลหรือเสียงเตือนอะไรจากทีดีอาร์ไอเลย

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนต้องการให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหามาตลอด 10 ปีแล้ว มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำ มีปัญหาหนี้และปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหากปล่อยไปเรื่อยๆ แบบที่เป็นอยู่ ประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาเป็นประเทศที่รายได้สูงได้เลย

ภาวะที่เป็นอยู่น่าจะถือว่าเป็นวิกฤตหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตกบต้มที่ประเทศไทยจะเสื่อมลงช้าๆ และเสื่อมลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล ถ้ายอมรับได้ว่าเศรษฐกิจไทยไปได้ดีแล้วขยายตัวได้ 2-3% ก็อาจจะไม่ต้องแก้ไขอะไร แต่หากต้องการเห็นประเทศไทยพัฒนาเป็นประเทศรายได้สูง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น ก็ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงประเทศไทยในหลายด้าน โดยต้องมีหลายๆ นโยบายออกมาพร้อมกัน เร่งการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฮเทค เร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นภาวะกบต้มนี้

ก่อนที่คนไทยจะกลายเป็นกบที่ถูกต้มจนสุกกันหมด เพราะถึงตอนนั้นก็จะสายไปแล้ว

พิชัย นริพทะพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image