ภาพเก่าเล่าตำนาน : ผลประโยชน์ของจีน…ในพม่า

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ผลประโยชน์ของจีน...ในพม่า

จีนกำลังเล่นบท “ผู้ใหญ่” เข้ามาไกล่เกลี่ยสงครามกลางเมืองในพม่า เพื่อพิทักษ์ ปกป้อง “เศรษฐกิจ-ผลประโยชน์ของจีน”

ยุทธการ 1027 เกิดจาก 3 กลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าจับมือกันเปิดศึก ทำสงครามกองโจรที่ใช้โดรนเป็นอาวุธ ยึดที่ตั้งทหารพม่ามาต่อเนื่อง กลายเป็นสงครามกลางเมือง (อีกครั้ง) ลุกลามขยายตัว กลายเป็นการทำลายล้าง ที่อาจนำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ในแผ่นดิน

การเมือง การปกครอง ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ เขตปกครองพิเศษ กลุ่มติดอาวุธ ในแผ่นดินเมียนมา ที่มีพรมแดนติดต่อกับ 5 ประเทศ เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ มาตลอดนับร้อยปี

เมียนมามีพรมแดนติดกับบังกลาเทศ อินเดีย จีน ลาว และไทย

Advertisement

มิใช่ยุ่งยากเฉพาะชายแดนไทย-เมียนมาเท่านั้นนะครับ ทุกทิศทางรอบประเทศ มีปัญหาสารพัด มาก-น้อยแตกต่างกันไป

27 ตุลาคม 2566 การสู้รบ…เริ่มจากทางการจีนต้องการปราบปราม “จีนเทา” ในเมืองเล้าก์ก่าย ทางตอนเหนือของรัฐฉานในพม่า จากเชื้อเพลิงกองเล็กๆ กลายเป็นทะเลเพลิงไปทั่วประเทศ

รัฐฉาน คือรัฐที่ใหญ่ที่สุด แบ่งออกเป็น 3 โซน โซนแรก คือ รัฐฉานตะวันออก มี 3 เมือง ได้แก่ เชียงตุง, ท่าขี้เหล็ก และเมืองสาด โซนที่ 2 คือ รัฐฉานใต้ มี 3 เมือง คือ หลอยเลง ตองจี และ ลางเคอ และโซนสุดท้ายคือ รัฐฉานเหนือ โซนนี้มี 7 เมือง ได้แก่ เมืองมีด เจ้าแม ลาโซ โฮปัน แมะแมนเล้าก์ก่าย และมูเซ

Advertisement

จีนมีพรมแดนติดต่อกับพม่าประมาณ 2,129 กม. มีกลุ่มชาติพันธุ์ของทั้ง 2 ชาติอาศัยอยู่ตลอดแนวชายแดน ทำมาค้าขายแทบจะแยกกันไม่ออกว่าใครเป็นใคร เคยระหองระแหง มีด่านการค้าเก็บภาษี

ในอดีต…เช่นเดียวกับไทย…กองทัพพม่าเคยสู้รบกับ “กองกำลังคอมมิวนิสต์พม่า” (Burmese Communist Party) พื้นที่การสู้รบ คือ ป่าเขาสูง เป็นสงครามที่โหดร้าย สูญเสียหนัก ชนพื้นเมืองทางตอนเหนือล้วนมีสายเลือดจีน หนีภัยสงครามออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตอนใต้ หวังจะมาตั้งอาณาจักรเป็นของตนเอง เช่น ชาวกะฉิ่น ว้า ตะอางโกก้าง

กองทัพพม่าใช้กำลังผลักดันออกไป…ย้ายไปอยู่บนภูเขาสูง ยึดยอดดอยในไทย มีหลายกลุ่ม ที่รู้จักกันดีคือ “ชาวม้ง” อีกนับหมื่นอพยพเข้าไปทางตอนเหนือของเวียดนาม เรียกว่า “ม้งเวียดนาม”

ประเด็นเหล่านี้ สังคมไทยรับรู้น้อยมาก

ประเทศที่มีอิทธิพลที่สุด คือ จีน ที่มองดินแดนพม่าเป็นทางออกทะเล เป็นแหล่งทรัพยากรที่แสนจะอุดมสมบูรณ์ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่จะหล่อเลี้ยงจีนทางตอนใต้ได้ พม่าติดต่อคบหาจีนอย่างระมัดระวัง ทราบดีว่าจีนมองพม่าอย่างไร

ก้าวแรกของจีนที่ขอพัฒนาร่วมกับพม่าแบบเป็นรูปธรรม

17 ม.ค.2020 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเยือนพม่าเป็นครั้งแรกในฐานะผู้นำจีน ทีมงานของจีน-พม่า ทำงานล่วงหน้าไปก่อนแล้วนานนับปี เรื่องแผนความร่วมมือในทุกมิติ มีพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

พี่จีนมีโครงการระดับโลก ที่เรียกว่า BRI เป็นพิมพ์เขียว

โครงการยักษ์ของจีนในพม่า คือ เส้นทางรถไฟความเร็วสูง และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (CMEC) จีนออกแบบสร้างเส้นทางให้เชื่อมจีนไปสู่มหาสมุทรอินเดียตามแนวคิดเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเล (Belt Road Initiative : BRI) ต้องการขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและอิทธิพลของจีนไปทั่วโลก

เพราะ 2 ประเทศมีดินแดนเชื่อมติดต่อกัน

ลองมาเจาะลึกในรายละเอียดครับ

ท่าเรือน้ำลึก (สร้างเสร็จแล้ว) บริเวณชายฝั่งรัฐยะไข่มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นหัวใจหลักของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า โดยท่าเรือ “จ็อกพยู” เป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย จีนไปตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันของจีนในรัฐยะไข่ พม่าลงเงิน 30 เปอร์เซ็นต์ในโครงการนี้

ชายฝั่งทะเลที่สงบเงียบ กลายเป็นพื้นที่มีชีวิต มีงาน มีเงิน

รถไฟความเร็วสูง จีนไม่มีวันพลาดเรื่องรถไฟความเร็วสูง โครงการมูลค่า 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเชื่อมจากมณฑลยูนนาน ที่อยู่ทางใต้ของจีนที่ไม่มีทางออกทางทะเล ไปสู่ชายฝั่งทางฝั่งตะวันตกของพม่า

กายภาพพม่าที่มีภูเขาสูง มีเหวลึก มีภูเขาที่ต้องเจาะทำอุโมงค์ ไม่เป็นปัญหาแม้แต่น้อยสำหรับวิศวกรจีน

เขื่อนในแม่น้ำอิรวดี

ในอดีต พม่าขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ามาหลายทศวรรษเพราะสงครามกลางเมือง มีดินแดนที่เป็นของกลุ่มนั้น-กลุ่มนี้ ที่ต้องการผลประโยชน์สำหรับกลุ่ม-พื้นที่ของตน อดีตเมืองหลวง ย่างกุ้ง ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 1 ไฟฟ้าดับๆ ติดๆ อาคารที่ใช้ลิฟต์มักระส่ำเมื่อลิฟต์ค้างเพราะไฟฟ้าดับ แต่เดี๋ยวก็ติด เพราะใช้เครื่องปั่นไฟของโรงแรมเอง

จีนจึงมาชวนพม่า…ลงทุนสร้างโรงผลิตไฟฟ้า

โครงการเขื่อนมิตโสน (Myitsone Dam) มูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า 6,000 เมกะวัตต์ เป็นไฮไลต์สำหรับการเยือนของ สี จิ้นผิง หากแต่โครงการเขื่อนยักษ์แห่งนี้ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนพม่าในพื้นที่.. ในที่สุดจีนจึงยอมระงับโครงการ ไปทุ่มเทกับท่าเรือ

(ในเวลาเดียวกัน พม่าก็ใช่ว่าตั้งใจจะพึ่งพาจีนในทุกลมหายใจ กองทัพพม่าส่งนายทหารไปศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ในรัสเซียด้วย คู่ขนานกันไป กับการซื้ออาวุธมหาศาลจากรัสเซีย)

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างพม่าและจีน

เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่าง 6 บริษัทจาก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า เกาหลีใต้ และอินเดีย

28 กรกฎาคม 2556 มีพิธีเปิดท่อก๊าซที่เมืองมัณฑะเลย์อย่างเป็นทางการ ทอดยาวระหว่างจีน-พม่า โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองจ็อกพยู ในรัฐยะไข่ผ่านเขตมะกวย เขตมัณฑะเลย์ พาดผ่านไปทางตอนเหนือของรัฐฉาน และเข้าสู่เขตเมืองหรุยลี่ ในมณฑลยูนนานของจีน

ท่อก๊าซในเขตพม่าความยาว 793 กิโลเมตร พร้อมสถานีแปรรูป 6 แห่ง นอกจากนี้ยังมีท่อน้ำมันขนานไปกับท่อก๊าซนี้ด้วย ยาว 771 กม. ลำเลียงน้ำมันได้ปีละ 22 ล้านตัน

บริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (ซีเอ็นพีเอ็น) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 โครงการ โดยมีการก่อตั้งบริษัท 2 แห่ง เพื่อบริหารท่อส่งก๊าซและน้ำมันดิบ

ท่อก๊าซดังกล่าวสามารถลำเลียงก๊าซได้ปีละ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ควบคู่กันไปกับท่อน้ำมัน โดยมีการสร้างท่าเทียบเรือและคลังน้ำมันที่สามารถเก็บกักได้ 300,000 ตัน

บริษัทเอกชนของจีนยังสร้างและพัฒนาโรงเรียน 45 แห่งตลอดแนวท่อ สร้างสถานีอนามัย 24 แห่ง ให้แก่นักเรียน 20,000 คน ดูแลประชาชนกว่า 800,000 คน ให้เงินช่วยเหลือ 10 ล้านดอลลาร์ในการซ่อมแซมสายไฟฟ้าแรงสูงจากเมืองจ็อกพยู

ท่อส่งน้ำมันจีน-พม่าเส้นนี้ เป็นท่อส่งพลังงานนำเข้าเส้นทางที่ 4 ของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้มีเส้นทางนำเข้าพลังงานไว้แล้ว 3 เส้นทาง ได้แก่ ท่อส่งน้ำมันจีน-คาซัคสถาน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เอเชียกลาง และท่อส่งน้ำมันจีน-รัสเซีย

ท่อส่งก๊าซจีน-พม่า ประดุจเส้นเลือดหลักที่เข้าสู่หัวใจ เชื่อมระหว่างเอเชียใต้กับจีนสายแรก ช่วยเพิ่มการนำเข้าก๊าซของจีน สร้างความมั่นคงทางพลังงาน หล่อเลี้ยงมณฑลกวางตุ้งและเขตปกครองตนเองกวางสี

1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจ ประชาชนทุกหมู่เหล่าไม่พอใจ กระทบไปถึง “จีน” ที่ถือว่าสนับสนุนกองทัพมาตลอด มีการ“เล็งเป้า” เพื่อระเบิดทำลายท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ

กองทัพพม่าส่งทหารเข้าไปวางกับระเบิดบริเวณรอบๆ ท่อส่งก๊าซและน้ำมันของจีน รวมถึงพื้นที่บริเวณที่เป็นศูนย์ควบคุมเปิด-ปล่อยก๊าซและน้ำมัน ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองอาง ตำบลฮั่งแฮ่ง อยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากเมืองสี่ป้อ 15 กม.

ชาวบ้านที่มีไร่นาใกล้กับท่อส่งก๊าซ-น้ำมัน ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงและกระทบวิถีชีวิต เนื่องจากกลัวเหยียบกับระเบิด

พร้อมทั้งส่งทหารเข้ามารักษาความปลอดภัยในพื้นที่

จีนที่เฝ้ามอง มีคำเตือน ความห่วงใยมายังผู้นำเมียนมา

เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกหลายแห่งในประเทศ ทำให้ทหารพม่าต้องวางกับระเบิดในหลายจุด เพิ่มความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยุทธการ 1027 ที่ 3 กลุ่มติดอาวุธ กองทัพโกก้าง กองทัพปะหล่อง รวมทั้งกองทัพอาระกัน ก็มีไมตรีกับจีน มีผลประโยชน์การค้าชายแดน เก็บภาษีชายแดน ระบุว่า จะตอบโต้อย่างสาสมกับกลุ่มที่ต้องการจะทำลายการลงทุนระหว่างจีน-พม่า

พอจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ปักกิ่งกดดันมายัง 3 กลุ่มนี้แน่นอน เล่นทั้งปลอบทั้งขู่ ให้เข้าร่วมพูดคุย หยุดยิง กับกองทัพพม่า

ทุกสงคราม…มีราคาที่ต้องจ่าย มีประโยชน์ที่ต้องการตอบแทนเสมอ ทุกสงครามจะต้องมี “ตัวตาย-ตัวแทน” ไม่ใช่เรื่องของ ถูก-ผิด กฎหมายระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่มีไว้ศึกษาในห้อง ต้องมีลูกพี่สนับสนุนเสมอ ผลประโยชน์มาก-น้อย ก็ต้องเลือกข้างให้ถูก

จีนจะเป็นผู้กำหนดเกมการเล่น.. หนัก-เบา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image