การโจมตีทางอากาศระหว่างอิหร่านกับปากีสถานเกิดขึ้นเพราะระบอบการปกครองของอิหร่าน

การโจมตีทางอากาศระหว่างอิหร่านกับปากีสถาน

เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธใส่อิรักและซีเรีย โดยอ้างว่ามุ่งเป้าโจมตีฐานสายลับของอิสราเอลและกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อต้านอิหร่าน แต่เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่อิหร่านก็ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีประเทศปากีสถานด้วยในใกล้ภูมิภาคโค-อี-ซับซ์ในจังหวัดบาลูจิสถาน ของปากีสถาน ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิต 2 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายคน แบบว่าอิหร่านยิงขีปนาวุธรอบข้างในเวลาใกล้เคียงกัน ในขณะที่กองทัพเรือของอิหร่านกับกองทัพเรือปากีสถานกำลังซ้อมรบร่วมกันที่นอกชายฝั่งเมืองแบนแดร์แอบบอสซึ่งอยู่ในบริเวณช่องแคบฮอร์มุซอันเป็นสถานที่ตั้งของกองทัพเรืออิหร่านในวันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ.2567 เช่นกัน

ดังนั้น ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม ปากีสถานจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศโดยใช้อากาศยานโดรนทิ้งระเบิดใกล้เมืองซาราวัน ในจังหวัดซีสถานและบาลูจิสถานทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน ซึ่งมีผู้หญิง 3 คน ผู้ชาย 2 คน และเด็ก 4 คน เสียชีวิต โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวปากีสถาน

ชายแดนของทั้งอิหร่านและปากีสถานเชื่อมติดกันเป็นระยะทางกว่า 900 กม. ระหว่างจังหวัดบาลูจิสถานของปากีสถาน กับจังหวัดซีสถานและบาลูจิสถาน ของอิหร่าน ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ภูมิภาคบาลูช (Baloch) และทั้ง 2 ประเทศนี้ต้องต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่แถบนี้มาอย่างยาวนาน

ชาวบาลอช หรือชนพื้นเมืองบาลูจิสถาน อาศัยอยู่ในบริเวณจุดตัดพรมแดนปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน โดยแสดงตัวเป็นเอกราชและไม่ต้องการถูกปกครองจากทั้งปากีสถานและอิหร่าน ขณะที่มีการเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบตามแนวชายแดนเพื่อเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนมานานหลายทศวรรษ

Advertisement

พื้นที่อาศัยของชาวบาลอชยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลุ่มติดอาวุธชาวบาลอชมองว่าประชาชนของพวกเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประชาชนที่ยากจนที่สุดในภูมิภาค แทบจะไม่เคยเจอกับความมั่งคั่งและสุขสบาย แคว้นบาลูจิสถาน ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดของปากีสถาน เผชิญเหตุโจมตีนองเลือดหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยมีแรงหนุนจากการก่อความไม่สงบของกลุ่มติดอาวุธบาลอชที่เรียกร้องเอกราชและต่อต้านการผูกขาดของรัฐบาลปากีสถาน ตลอดจนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสินแร่ในภูมิภาค

ในขณะเดียวกันชาวบาลอชก็มีกลุ่มติดอาวุธจาอิช อัล-อัดล์ เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวภายในอิหร่าน และมักพุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนชาวมุสลิมชีอะห์ ใน พ.ศ.2559 กลุ่มนี้ยังอ้างความรับผิดชอบเหตุโจมตีหน่วยคุ้มกันชายแดนอิหร่านจนเสียชีวิต 8 นาย และใน พ.ศ.2562 ก็อ้างความรับผิดชอบในเหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีรถบัสบรรทุกทหารกองทัพอิหร่านในจังหวัดซีสถานและบาลูจิสถานจนเสียชีวิตอย่างน้อย 23 นาย

ฝ่ายอิหร่านอ้างว่าการโจมตีเข้าไปในปากีสถานครั้งนี้มีเป้าหมายที่กลุ่มติดอาวุธมุสลิมนิกายสุหนี่ชื่อว่า “จาอิช อัล-อัดล์” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในปากีสถาน ไม่ได้มุ่งเป้าโจมตีชาวปากีสถาน กลุ่มจาอิช อัล-อัดล์นี้เป็นกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่บริเวณชายแดนของทั้งปากีสถานและอิหร่าน และเคยออกมาอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีในอิหร่านมาก่อน โดยพวกเขามีเป้าหมายสูงสุดในการแบ่งแยกจังหวัดซีสถานและบาลูจิสถานให้เป็นรัฐอิสระ ในขณะที่ปากีสถานก็อ้างว่าการโจมตีเข้าไปในอิหร่านเป็นการตอบโต้ นี้ก็เป็นการโจมตีกลุ่มติดอาวุธชาวบาลอชที่ต้องการจะแยกจังหวัดบาลูจิสถานของปากีสถานออกเป็นเอกราชเช่นกัน

Advertisement

ครับ! เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ที่ผ่านมาหยกๆ นี้เอง รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งปากีสถานและอิหร่านต่างออกมาแถลงการณ์ว่าทั้งปากีสถานและอิหร่านตกลงร่วมกันแล้วว่าจะลดระดับการโจมตีซึ่งกันและกันลง คือเลิกแล้วต่อกัน กลับคืนดีต่อกันดังเดิม ง่ายดีนะครับ

ที่เกิดเหตุการณ์เหลือเชื่อที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังซ้อมรบทางเรือร่วมกันฉันพันธมิตรแต่อิหร่านกลับโจมตีปากีสถานในวันที่กำลังซ้อมรบอยู่ ซึ่งถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของปากีสถานขั้นสูงสุด ทำให้ปากีสถานต้องตอบโต้กลับไปยังอิหร่านในระดับเดียวกันนั้น มีสาเหตุจากระบอบการปกครองของอิหร่านที่ไม่เหมือนใครในโลกและไม่มีใครเหมือนนั่นเอง กล่าวคือ อิหร่านมีระบบการปกครองที่ซับซ้อนและไม่เหมือนใคร เป็นการผสมระบอบเทวาธิปไตย (Theocracy) ของศาสนาอิสลามเข้ากับประชาธิปไตย มีเครือข่ายสถาบันที่ผู้นำสูงสุดเป็นผู้ควบคุมประเทศ ควบคู่ไปกับประธานาธิบดีและระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

ผู้นำสูงสุดของอิหร่านคือ อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ซึ่งครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดมาตั้งแต่ พ.ศ.2532 ซึ่งผู้นำสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าคณะตุลาการและเป็นผู้แต่งตั้งครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้พิทักษ์อันเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจที่สุดในอิหร่าน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาเห็นชอบหรือคัดค้านกฎหมายที่รัฐสภาผ่านมติมา สมาชิกที่ได้รับเลือกจะทำหน้าที่สมัยละ 6 ปี โดยการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเป็นสำหรับสมาชิกบางส่วน ทำให้สมาชิกครึ่งหนึ่งของสภาถูกเปลี่ยนใหม่ทุก 3 ปี นอกจากนี้ผู้นำสูงสุดยังเป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการเครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุของรัฐต่างๆ ในประเทศ และผู้นำสูงสุดยังควบคุมองค์กรการกุศลที่มีทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้นำสูงสุดมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอิหร่าน

นอกจากนี้ ผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ยังมีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps-IRGC) และกองทัพทั่วไป โดยที่ในตอนแรกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องกฎระเบียบแบบอิสลามและก็เพื่อคานอำนาจกับกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ แต่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหน่วยกำลังอันทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำสูงสุด กองกำลังหน่วยนี้มีกองทัพบก เรือ และอากาศของตัวเอง และยังควบคุมอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย แบบว่าผู้นำสูงสุดมีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านเป็นกองทัพส่วนตัวก็ว่าได้ เพราะผู้บังคับบัญชาของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านและกองทัพทั่วไปทั้งหมดล้วนมาจากการแต่งตั้งของผู้นำสูงสุด

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติเป็นกองกำลังทหารชั้นดีที่สุดของอิหร่าน ก่อตั้งขึ้นไม่นานหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อ พ.ศ.2522 เพื่อทำหน้าที่ปกป้องระบอบการปกครองของผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ และคานอำนาจกับกองกำลังทหารอื่นๆ ในอิหร่าน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติถือเป็นกองกำลังทหารที่ทรงอิทธิพลทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในอิหร่าน ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และผู้นำระดับสูงหลายคนในประเทศ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติมีกำลังพลกว่า 150,000 นาย ทั้งทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ ทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมอาวุธด้านยุทธศาสตร์ และขีปนาวุธชนิดต่างๆ ของอิหร่านด้วย กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติพยายามแผ่ขยายอิทธิพลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในตะวันออกกลาง โดยใช้วิธีสนับสนุนเงินทุนอาวุธ เทคโนโลยี การฝึกและคำแนะนำแก่รัฐบาลชาติพันธมิตร และกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ผ่านปฏิบัติการของหน่วยงานลับที่ชื่อ Quds Force

ครับ! ส่วนประธานาธิบดีของอิหร่านที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนก็บริหารประเทศผ่านระบบรัฐการตามปกติ ดูแลกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และดำเนินนโยบายต่างประเทศไปตามปกติ แต่ไม่สามารถควบคุมกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติได้ อีกทั้งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติก็มีทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศเป็นของตนเอง จึงทำการได้ตามใจชอบ เช่น กรณีการโจมตีปากีสถานทางอากาศในวันเดียวกับที่กองทัพเรือปากีสถานซ้อมรบร่วมกับกองทัพเรือของอิหร่านได้อย่างหน้าตาเฉย แต่การประกาศการเลิกแล้วต่อกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านก็อยู่ในอำนาจของประธานาธิบดีอิหร่านเท่านั้นเอง

เรื่องของเรื่องก็เป็นอย่างนี้แหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image