ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ระนอง…เมืองฝนแปด-แดดสี่

ภาพเก่า...เล่าตำนาน : ระนอง...เมืองฝนแปด-แดดสี่

ระนอง ชื่อเดิมคือ เมืองแร่นอง อุดมสมบูรณ์ เนืองนอง มั่งคั่งด้วยแร่ดีบุก เดิมเป็นหัวเมืองเล็กๆ มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองชุมพรตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งการปกครองออกเป็น 2 เมือง คือ เมืองระนอง และเมืองตระ
เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” เรียกชื่อตามนามเมืองว่า “หลวงระนอง” เมืองนี้ถูกขนานนามว่าเมืองฝนแปดแดดสี่ หมายถึง จะมีฝนตกราว 8 เดือน มีแดดออก 4 เดือนต่อปี
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อ “คอซู้เจียง” อพยพเข้ามาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ ได้ยื่นขอประมูลอากรดีบุกในเขตเมืองระนองและเมืองตระ ในหลวง ร.3 ทรงอนุญาตพร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คอซู้เจียงเป็น “หลวงรัตนเศรษฐี” ดำรงตำแหน่งนายอากรเมืองตระและเมืองระนอง
หลวงรัตนเศรษฐีทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกรุ่งเรือง ซื่อสัตย์ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย…

พ.ศ.2397 หลวงระนองถึงแก่กรรม ในหลวง ร.4ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ หลวงรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็น “พระรัตนเศรษฐี” เป็นเจ้าเมืองระนอง
ครั้นเมื่อพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ข้าหลวงอังกฤษขยายดินแดนมาติดกับดินแดนสยาม… เป็นที่น่ากังวล
ในหลวง ร.5 ทรงมีพระราชดำริว่าเมืองระนองและเมืองตระ เป็นเมืองในปกครองของเมืองชุมพร เป็นหัวเมืองชายแดน…น่าเป็นห่วง จึงโปรดฯ ให้ยกเมืองตระและเมืองระนอง เป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ
พ.ศ.2405 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็น “พระยารัตนเศรษฐี” เป็นผู้ว่าราชการเมืองระนอง
นับเป็นต้นตระกูล ณ ระนอง

พ.ศ.2420 ด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ ใส่ใจต่อบ้านเมือง ในหลวง ร.5 พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” พร้อมกับยกฐานะระนองเป็น “จังหวัด” โดย “ยุบเมืองตระ” เป็น “อำเภอ” เรียกว่าอำเภอกระบุรี โดยให้ขึ้นกับจังหวัดระนองตั้งแต่นั้นมา
จังหวัดระนอง มั่งคั่งด้วยแร่ดีบุก เป็นเมืองชายแดน มีชาวจีนอพยพเข้ามาทำงานมหาศาล พื้นที่ที่เรียกกันว่า “เมืองคอคอดกระ”
ชาวระนองปลื้มปีติ…ในประวัติศาสตร์ของตน
พ.ศ.2433 ในหลวง ร.5 เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ ไปประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ บนเขานิเวศน์คีรี เมืองระนอง 3 ราตรี
พ.ศ.2460 ในหลวง ร.6 เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก ประทับแรม ณ จังหวัดระนอง
พ.ศ.2471 ในหลวง ร.7 เสด็จประพาสเมืองระนอง และประทับแรม ณ จังหวัดระนอง 3 ราตรี

7 มีนาคม พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเยี่ยมราษฎร ประทับแรม ณ จังหวัดระนอง
29-31 กรกฎาคม พ.ศ.2531 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรท้องที่ จ.ระนอง เป็นการส่วนพระองค์ และทรงลงพระนามาภิไธยบนแผ่นศิลา อ.กระบุรี ประทับแรม เป็นเวลา 2 ราตรี
ในช่วงผู้เขียนรับราชการ…มีโอกาสเดินทางไปราชการ จ.ระนอง หลายครั้ง ด้วยประเด็นปัญหา การกระทบกระทั่งด้านการประมง เรือประมงไทยถูกทหารเรือพม่ายิงเสียชีวิต ยึดเรือ จับตัวคนไทย ฯลฯ
ที่ลืมไม่ลง คือ เครื่องบินของผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น (พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร) ต้องปลิว ตกหลุมอากาศ กระแทกไปกับแรงพายุ ลมกระโชกขวางสนามบินจังหวัดระนอง เมื่อนั่ง ฮ.ในพื้นที่ก็ต้องเผชิญลมปะทะแบบ “จัดหนัก” แทบทุกครั้ง

Advertisement

พื้นที่ทางทะเลระหว่าง จ.ระนอง-เกาะสอง ของพม่า คือ เส้นทางไป-มา สั้นๆ ที่คึกคักด้วยเรือประมง นักท่องเที่ยว การค้าชายแดน
ไม่ต้องพูดถึงตัวเลข “แรงงานชาวพม่า” ที่เข้ามาทำงานทุกประเภทใน จ.ระนอง คือ แรงงานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จำนวนคนน่าจะเป็นเลข 6 หลัก ป้ายบอกทาง ร้านค้า การบริการทุกชนิดใช้ภาษาพม่า ในขณะที่ประชากรไทย (ทางราชการ) มีราว2 แสนคน
ระนองมีพื้นที่ประมาณ 3,324.60 ตร.กม. เป็นพื้นที่ราบร้อยละ 14 และภูเขาร้อยละ 86 มีเกาะในทะเลอันดามัน 62 เกาะ
ที่เป็น “มหันตภัย” ถาโถม จ.ระนอง คือ ช่วงปีพ.ศ.2549 และต่อมาอีกราว 3 ปี ชาวโรฮีนจานับพันคนทยอยแล่นเรือ หนีออกมาจากรัฐยะไข่ของพม่า มาขึ้นบกที่ จ.ระนอง แบบมีการจัดตั้งกลายเป็นประเด็น “ค้ามนุษย์” ที่โด่งดังไปถึงสหประชาชาติ…
เป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับราชการไทย ที่ต้องทำงานร่วมกัน

การประชุม ครม.สัญจร (นอก กทม.) ของรัฐบาลไทย ไม่ทราบว่าเริ่มมาเมื่อยุคสมัยใด…
22-23 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นายกฯเศรษฐา สั่งการให้จัดการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระนอง และคงจะหมุนเวียนไปจังหวัดอื่นอีก
การประชุม ครม.สัญจร มีผลทางตรงและทางอ้อมชัดเจน จังหวัดที่จะรองรับการประชุมจะตื่นตัว เตรียมประเด็นการร้องขอจาก ครม. ภาคเอกชนนักธุรกิจในพื้นที่ จะได้มีโอกาสเสนอข้อมูลกับ ครม.และรัฐมนตรี ในประเด็นต่างๆ การพัฒนาท้องถิ่นจะบังเกิดได้บางส่วน นี่คือโอกาสทอง
ข้าวปลา อาหาร ของดี ของใช้ อัตลักษณ์ โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ของเมือง จะได้รับการเปิดเผยสู่สังคมไทยด้วยกัน
ครม.สัญจร คือ การทำงานที่มีประสิทธิภาพ กระจาย ขยายโอกาสให้ ขรก. ประชาชน ได้สัมผัสกับ รมต.แต่ละกระทรวงที่ไปรับทราบ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ครม.ไป จ.ระนอง ครั้งนี้ “กรอ.กลุ่มภาคใต้อันดามัน” อนุมัติ 20 โครงการเข้า ครม. ดันโครงการรัฐ 13 โครงการ ของเอกชน 7 โครงการ รวมวงเงิน 797 ล้าน ฟื้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เป็นโครงการที่เสร็จใน 1 ปี สำหรับ 6 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล
ความสำเร็จสูงสุดของ ครม.สัญจร ที่ผู้เขียนชื่นชมเป็นพิเศษ คือ การแก้ปัญหา “คนไทยพลัดถิ่น”ที่ค้างคามากว่า 20 ปี ที่ไม่ค่อยมีใครทราบ

ใน 4 จังหวัด ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา มีตัวแทน “คนไทยพลัดถิ่น” ราว 2 หมื่นชีวิตมารอพบนายกฯ เนื่องจากบางส่วนไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้จากรัฐ
คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ ได้รับการรับรองสัญชาติตาม พ.ร.บ.ปี 2555 ไปแล้ว แต่ยังมีคนตกค้างที่ยังไม่ได้รับการรับรองอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นจากความล่าช้าของทางราชการ ส่วนใหญ่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.ราชกรูด จ.ระนอง ซึ่งมีที่อยู่อาศัยอยู่ริมทะเลชายฝั่ง และมีอาชีพการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก

Advertisement

ขอย้อนเวลาไปในประวัติศาสตร์แบบรวบรัดครับ…
ราว พ.ศ.2334 ผู้ปกครอง มะริด ทวาย และตะนาวศรี ที่ไม่ขออยู่ใต้การปกครองของพม่า ขอเข้ามาสวามิภักดิ์ขอรวมกับสยาม
ต่อมา…อังกฤษได้เข้ายึดภาคใต้ของพม่า รวมถึงมะริด ทวาย และตะนาวศรี ที่เป็นเมืองท่าสำคัญ
3 กรกฎาคม 2411 มีการลงนามในสนธิสัญญาปักปันเขตแดนสยาม-พม่า (สมัยในหลวง รัชกาลที่ 4)สยามเสียดินแดนส่วนนี้ไปอย่างเป็นทางการ
ผู้คนในเมืองทั้ง 3 ยังมีความเป็นชาวสยาม มีลูกหลานหลายชั่วอายุคน เดินทางไปมาหาสู่กับคนไทย เหตุการณ์สู้รบในพม่า ทำให้คนจำนวนหนึ่งหนีภัยกลับเข้ามาในเขตไทย ที่ไม่มีหลักฐานอะไรรองรับ

ในปี 2519 รัฐบาลไทย เริ่มสำรวจจัดทำทะเบียนผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เชื้อชาติไทย ได้รับบัตรประจำตัวสีเขียว คนไทยหนีเข้ามาอยู่ในเขตไทยอีกเป็นจำนวนมาก และได้ร้องขอสัญชาติไทยจากรัฐบาลให้รับรองว่าเป็น “คนไทยพลัดถิ่น” ระหว่างที่รอขอสถานะเป็นคนไทย แต่บางคนคิดว่าตัวเองเป็นคนไทยก็มีสิทธิที่จะอยู่ในประเทศไทย จึงไม่ได้ยื่นขอสัญชาติ
พ.ศ.2535 รัฐบาลพม่าผลักดันให้คนเหล่านี้กลับไทย
“ส่วนหนึ่ง” ไปอาศัยอยู่บนเกาะสินไห ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง มีลูกหลานที่ไร้หลักฐานความเป็นคนไทย มากขึ้นและมากขึ้น
องค์กรเอกชน พยายามเข้ามาช่วยเหลือ แต่ติดขัดไปหมด
คาราคาซัง…ปัญหาหมักหมม ซุกไว้ใต้พรม

13 มกราคม 2554 กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ประมาณ 500 คน ร่วมกันเดินเท้าธรรมยาตราจากด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ มายังหน้ารัฐสภาในกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินเท้ารวม 14 วัน เพื่อเรียกร้อง
การประท้วงได้ผล…สภาผ่าน พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 ถูกประกาศใช้ แต่ก็ยังขาดขั้นตอนการสำรวจจากทางราชการ
23 มกราคม 2567 นายกฯเศรษฐา เป็นประธานในพิธีมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้กับ “กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น” พร้อมทั้งพบปะกับกลุ่มเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย 4 จังหวัดซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบจากทางราชการแล้ว จำนวน 21 ราย พี่น้องคนไทยเหล่านี้ปลาบปลื้ม รอคอยมาแสนนาน
นอกจากนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และคณะเดินทางมาเป็นประธานพิธีมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ณ สำนักสงฆ์บ้านหินช้าง บริเวณท่าเรือระนอง-เกาะสอง อ.เมืองระนอง ประชาชนบางคนร่ำไห้ดีใจระดับรัฐมนตรีมามอบบัตรประชาชนให้
กระบวนการมอบหลักฐาน/สัญชาติฟื้นคืนมาอีกครั้ง
นี่ถ้า…ไม่มี ครม.สัญจรไปที่ จ.ระนอง คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้คงยังต้องเป็นคนพลัดถิ่นอีกต่อไปอีก
ขอบคุณ ครม.สัญจร สำหรับการไปเยี่ยม จ.ระนอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image