‘นักร้อง’ ถูกไล่ลงไปแล้วคนหนึ่ง … ‘นักร้อง’ คนต่อไปกำลังรอแจ้งเกิดข้างเวที

‘นักร้อง’ ถูกไล่ลงไปแล้วคนหนึ่ง …
‘นักร้อง’ คนต่อไปกำลังรอแจ้งเกิดข้างเวที

เท่าที่จำได้ คนแรกที่ใช้คำว่า “นักร้อง” ในความหมายถึงผู้มีพฤติกรรมสร้างชื่อเสียงให้ตนเองด้วยการร้องเรียนหรือหวังผลในทางการเมืองคนแรก คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในคำอธิบายเรื่อง “นิติสงคราม” ของเขา

“นักร้อง” เป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการนิติสงครามนี้ โดยจะเป็นสารตั้งต้นผู้นำเรื่องราวประเด็นต่างๆ ทางการเมืองไปร้องเรียนต่อองค์กรอิสระหรือฟ้องร้องคดีต่อศาล เพื่อเป็นการตั้งเรื่องริเริ่มกระบวนการทางกฎหมายและนำไปสู่การใช้มาตรการต่างๆ ที่จะส่งผลเกิดเป็นความพลิกผันทางการเมือง กำจัดศัตรูทางการเมือง หรือคุกคามผู้มีความเห็นต่าง

“นักร้อง” ในความหมายข้างต้นนี้อาจจะเรียกว่าเป็นผลไม่พึงประสงค์ทางอ้อมของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ก่อตั้งศาลในระบบกฎหมายมหาชนคือศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งโดยเจตนารมณ์แล้วมีไว้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีช่องทางให้ผู้คนสามารถใช้สิทธิโต้แย้งหรือร้องเรียนการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย รวมถึงแจ้งเบาะแสว่ามีการกระทำอันไม่ถูกต้องต่อองค์กรดังกล่าวได้

Advertisement

การใช้สิทธิทางศาลหรือยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวนั้นแทบไม่มีค่าใช้จ่ายรวมถึงไม่มีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากขรึมขลังเหมือนการใช้สิทธิฟ้องศาลหรือริเริ่มดำเนินคดีอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีเรื่องร้องเรียนนั้นสามารถใช้สิทธิได้ง่ายที่สุด ในบางเรื่องแค่เขียนหนังสือเป็นหรือใช้กระดาษแผ่นเดียวก็สามารถฟ้องคดีหรือริเริ่มกระบวนการตรวจสอบได้ ในแง่นี้ข้อดีคือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจะได้มีช่องทางแก้ไขเยียวยา หากในทางกลับกัน ความ “ง่าย” ในการฟ้องคดีหรือร้องเรียนนั้นก็ตอบสนองความฝันของผู้ที่อยากเล่นบทเป็น “อัยการ” หรือ “ผู้พิทักษ์ความถูกต้อง” นั้นสามารถไล่ตามความฝันของตัวเองได้ง่ายขึ้น

ยิ่ง “นักร้อง” บางคนที่โชคดียื่นฟ้องหรือร้องเรียนแล้ว หากในบรรดา “คำร้อง” ทั้งมีสาระและไร้สาระของพวกเขาสักเรื่องดันไปเข้าเป้าจนส่งผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยราชการหรือแม้แต่ในทางการเมือง “นักร้อง” คนนั้นก็เหมือนได้ “เดบิวต์” หรือ “แจ้งเกิด” ในวงการ “นักร้อง”

พอได้แจ้งเกิดแล้ว “นักร้อง” คนนั้นก็ได้รับความสนใจจากสื่อและสังคม อย่างที่เรียกว่า “ได้แสง” ไปแล้วสารโดพามีนแห่งแสงนั้นก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาทำตัวเป็นนักฟ้อง “นักร้อง” เรียนให้มากขึ้นไปอีกทั้งเพื่อหล่อเลี้ยง “แสง” ของเขาไว้และได้ตอบสนองความต้องการเบื้องลึกแห่งการอยากเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์คุณธรรม จากนั้นพวกเขาก็จะร้องเรียนหรือยื่นฟ้องไปเสียทุกเรื่องที่เป็นประเด็นในสังคมอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราเรียกว่าเป็นพฤติกรรม “หิวแสง”

ยิ่งเมื่อพฤติกรรมของ “นักร้อง” พวกนี้อาจส่งผลเป็นตัวแปรสำคัญในทางการเมือง เช่น อาจจะทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งจากการริเริ่มของ “นักร้อง” คนหนึ่ง แม้แต่อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นโยบายสำคัญของรัฐบาลต้องถูกระงับหรือกฎหมายที่ออกมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญก็เป็นอันตกไป ด้วยเหตุนั้นหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ “นักร้อง” ที่ไปริเริ่มตั้งเรื่องจนทำให้เกมพลิกไปเข้าทางฝ่ายอำนาจก็ได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็น ส.ว. หรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการต่างๆ ทำให้ยิ่งเขื่องกันเข้าไปอีก รวมถึง “นักร้อง” ผู้นั้นก็อาจเป็นที่กลัวเกรงของหน่วยงานและผู้ดำรงตำแหน่งทางภาครัฐ

“นักร้อง” ชื่อดังบางคนก็อาจสบช่องใช้ “แสง” ที่ตนได้รับนี้เพื่อเรียกเอาผลประโยชน์อันมิชอบ รับหน้าเป็นผู้ทำหน้าที่ร้องเรียนหรือยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐต่อศาล ตั้งตัวเองเป็นองค์กรนู่นนี่ชื่อยาวเฟื้อย เสนอตัวรับร้องเรียนหรือฟ้องคดีให้แก่ผู้ที่มีปัญหาจากการใช้อำนาจรัฐ หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถ้าใครไปถึงจุดนี้ได้แล้วเขาก็สามารถ “หากิน” ได้ทั้งสองขา คือทั้งขาฝ่ายผู้ที่อยากร้องเรียน โดยเรียกเป็นค่าดำเนินการร้องเรียนและตีฟูให้เป็นข่าว และในขาของผู้ที่ถูกหรืออาจถูกร้องเรียนเพื่อที่จะยุติเรื่องร้องเรียนหรือไม่ไปร้องเรียน

ผู้ถูกร้องเรียนที่ตัดสินใจจ่ายเงินให้ “นักร้อง” ก็มีทั้งกรณีที่เรื่องที่จะไปร้องเรียนนั้นหมิ่นเหม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจริงๆ หรือเป็นเรื่องก้ำกึ่งที่แล้วแต่มุมมองการตีความทางกฎหมาย หรือแม้แต่ที่ดูยังไงก็ไม่ผิดหรือไม่มีมูล แต่หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้วจะก่อให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะในการปฏิบัติงานหรือชื่อเสียงส่วนตัว ก็มีรายที่ตัดรำคาญด้วยการยอมจ่ายๆ จบๆ ไป

จึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไรกับข่าวจับกุม “นักร้อง” คนดังคนนั้น เพราะจริงๆ เคยได้ทราบมาจากมิตรสหายและผู้คนในภาครัฐและเอกชนถึงบรรดาวิธีการ “ทำมาหากิน” โดยมิชอบของ “นักร้อง” ลักษณะนี้มาหลายเรื่องที่ก็มีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากเรื่องของบุคคลในข่าวสักเท่าไร ในตอนนั้นก็คิดเหมือนกันว่าสักวันก็ต้องมีวันนี้ เมื่อฝ่ายที่ถูกเรียกเอาทรัพย์นั้นเกิดเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนออกมาแฉหรือดำเนินคดีพร้อมหลักฐานให้จนมุม

ในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในระดับเดือดดาล พฤติการณ์ “หาแสง” ก็ทำให้ “นักร้อง” เหล่านี้เป็นที่ดูหมิ่นเกลียดชังของผู้คนและสังคม เช่นครั้งหนึ่งเมื่อ “นักร้อง” คนดังในข่าวนั้นถูกคนเหลืออดต่อการกระทำนั้นใช้ความรุนแรงประเคนกำปั้นและส้นเท้าเข้าให้จนได้รับบาดเจ็บ แต่เรื่องกลายเป็นว่าผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างระดมทุนสาธารณะโอนเงินกันให้แก่ผู้กระทำการใช้ความรุนแรงนั้นจนยอดสุทธิไปจบที่หลักล้าน ก็เป็นตัวชี้วัดความเดือดดาลของสังคมที่ชัดเจน

การที่ผู้คนนับหมื่นนับแสนสละทรัพย์เป็นสินน้ำใจไปให้คนที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่นซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญานั้นจะมองมุมไหนก็เป็นความบิดเบี้ยว แต่ความบิดเบี้ยวข้างต้นก็เป็นการตอบสนองต่อความบิดเบี้ยวในการใช้สิทธิฟ้องร้องและร้องเรียนของบรรดา “นักร้อง” เหล่านี้นั่นเอง

ถ้าถามว่า แล้วจะมีกระบวนการตามกฎหมายใดๆ มาช่วยแก้ไขความบิดเบี้ยวจากการใช้สิทธิฟ้องคดีหรือร้องเรียนโดยไม่สุจริตของพวก “นักร้อง” ได้หรือไม่ จริงๆ แล้วกฎหมายอาญาแต่เดิมนั้นก็มีบทบัญญัติเพื่อเอาผิดต่อพฤติกรรมของผู้ที่นำความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการแจ้งความร้องเรียนโดยเจตนาไม่สุจริตที่มุ่งหวังจะก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นอยู่ คือความผิดทางอาญา ฐานแจ้งความเท็จและฟ้องเท็จ และการแจ้งความหรือฟ้องเท็จที่มุ่งหวังให้บุคคลอื่นต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา

แต่การ “แจ้งความเท็จ” ที่จะเป็นความผิดทางอาญาได้นั้น ต้องเป็นการแจ้ง “ข้อเท็จจริง” ที่เป็นเท็จ เช่นกล่าวหาว่า นายดำ นายแดง มาลักทรัพย์ของตน หรือ ร.ต.อ.เขียวเรียกรับสินบนแลกกับการไม่จับกุม ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าไม่มีการลักทรัพย์หรือเรียกรับสินบน ผู้ที่ไปแจ้งความหรือร้องเรียนนั้นจึงจะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือฟ้องเท็จตามแต่รูปเรื่อง

หากกรณีของพวก “นักร้อง” นั้น ปัญหาคือเรื่องที่พวกเขานำไปร้องเรียนหรือฟ้องคดีนั้นในทางข้อเท็จจริงแล้วถือว่าเป็นความจริง แต่ที่มันไม่ใช่ คือข้อกฎหมายมันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การไปร้องว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายหนึ่งถือหุ้นที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นถือหุ้นจริงหรือไม่ ถ้าปรากฏว่าถือหุ้นจริง การกระทำของ “นักร้อง” ก็ไม่เข้าข่ายจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือฟ้องเท็จ เพียงแต่ปัญหาว่า หุ้นที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นถือเป็นหุ้นที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลจะต้องชี้ หากศาลชี้ออกมาว่าไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แม้ในทางความเป็นจริง มันจะเท่ากับว่าคนที่เปิดเรื่องนี้มานั้นกล่าวหาผู้อื่นด้วย “ข้อกล่าวหาเท็จ” โดยอาจจะมาจากเจตนาไม่สุจริตก็ตาม แต่ข้อกล่าวหาเท็จนั้นก็ไม่ใช่ “ความเท็จ” ในระดับข้อเท็จจริงที่กฎหมายจะลงโทษได้

เมื่อมีปัญหาที่สังคมรู้สึกว่าถูกรบกวนจาก “นักร้อง” เหล่านี้หนักเข้า ก็เริ่มมีข้อเสนอให้ทบทวนว่าควรมีมาตรการทางกฎหมายใดมาเอาผิดกับ “นักร้อง” ที่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเหล่านี้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการเขียนหรือนิยามออกมาให้เป็นลายลักษณ์อักษรว่ากรณีใดถือเป็นการร้องเรียนหรือฟ้องคดีด้วยข้อกฎหมายที่ “ไม่มีมูล” หรือ “โดยไม่สุจริต” นั้นต้องมีลักษณะอย่างไร

ถ้าให้จะมีมาตรการที่เพิ่มอุปสรรคหรือขั้นตอนในการยื่นเรื่องร้องเรียนหรือฟ้องคดี ให้ทำได้ยากขึ้น เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อให้การร้องเรียนนั้นมี “ราคา” หรือค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเพื่อคัดกรองเรื่องร้องเรียนพร่ำเพรื่อ วิธีนี้ศาลรัฐธรรมนูญบางประเทศอย่างตุรกีก็นำมาใช้ในกรณีการยื่นเรื่องร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional complaint) ก็อาจต้องระวังว่าในอีกทางหนึ่งมันจะเป็นการกีดกันผู้ที่มีความเดือดร้อนเสียหายหรือมีเรื่องร้องเรียนที่มีมูลจริงๆ และใช้สิทธิโดยสุจริตจริงๆ ด้วย

พฤติกรรมแบบ “นักร้อง” ที่เริ่มรบกวนสังคมและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นปัญหา แต่ก็ป้องกันยาก หากจะมีทางไหนที่นึกออก คือ สื่อและสังคม รวมถึงหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียน อาจจำเป็นต้องตกลงและปฏิบัติร่วมกันว่า ต้องไม่ให้ “แสง” กับคนพวกนี้

หากการร้องเรียนและฟ้องคดีไปเท่าไร ก็ได้มาแต่หนังสือตอบจากศาลหรือหน่วยงานว่าไม่รับเรื่อง แถมยังไม่เป็นข่าว ไม่มีใครพูดถึง พฤติกรรมการร้องเรียนหรือการฟ้องคดีไม่สุจริตที่ไม่ได้ “แสง” มาหล่อเลี้ยงนี้ก็ฝ่อลงไปได้บ้าง

แต่ถ้าสังคมและสื่อยังคงให้แสงแก่คนพวกนี้ เมื่อ “นักร้อง” รายหนึ่งลงจากเวทีไป ก็จะมี “นักร้อง” คนใหม่ก็มาขึ้นแท่นรอแจ้งเกิด ที่อาจจะเริ่มต้นจากการเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์ความถูกต้องของสังคม เป็นปากเป็นเสียงแทนคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเข้าไม่ถึงกระบวนการทางกฎหมาย ในวันนี้อาจจะใช่และเป็นเช่นนั้น แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าวันหน้าเขาจะไม่ลุแก่อำนาจและกลายเป็น “นักร้อง” ที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้สังคมหรือก่อความเสียหายให้กระบวนการยุติธรรมต่อไปในอนาคต

เพราะโดยหลักการแล้วก็ไม่ควรมีใครที่จะตั้งตัวเป็นตัวแทน หรือนายหน้าในการไปร้องเรียนหรือแจ้งความฟ้องคดีแทนคนอื่นในเรื่องที่ตัวเองก็ไม่เสียหายหรือไม่เกี่ยวข้องโดยตรง และยิ่งกว่านั้น คือไม่ควรมีใครกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมได้เพราะกิจกรรมอะไรแบบนี้มิใช่หรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image