การเสริมเขี้ยวเล็บให้กับคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือการทำให้คณะกรรมาธิการเป็นยักษ์มีกระบอง

การเสริมเขี้ยวเล็บให้กับคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
หรือการทำให้คณะกรรมาธิการเป็นยักษ์มีกระบอง

เดิมคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีเขี้ยวเล็บหรือเป็นยักษ์มีกระบองตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติคําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มีผลใช้บังคับ พระราชบัญญัตินี้ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กล่าวคือ คณะกรรมาธิการสามารถออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใด มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทําหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ บุคคลใดอาจเป็นประชาชนหรือข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่งผลให้คณะกรรมาธิการสามารถสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือได้รับข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน เพราะไม่มีผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเรียกเนื่องจากเกรงต้องรับโทษทางอาญา แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 17/2563 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2563 สรุปได้ว่า เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ซึ่งตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีหลักการและสาระสำคัญแตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหลายคณะกรรมาธิการทั้งสองสภาที่ไม่อาจได้รับข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน เนื่องจากบางครั้งผู้ที่ได้รับการเรียกจากคณะกรรมาธิการหลีกเลี่ยงการมอบเอกสาร การมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น เพราะไม่มีโทษทางอาญาต่อผู้ฝ่าฝืน บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งไม่ผูกพันคณะกรรมาธิการที่ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาแต่อย่างใด

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจสรุปได้ว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเป็น “การสอบหาข้อเท็จจริง” มิใช่ “การสอบสวน” และให้มีอำนาจ “เรียก” แทนอำนาจ “ออกคำสั่งเรียก” ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดเป็นมาตรการเชิงบังคับเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมาธิการต้องการ โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ให้คณะกรรมาธิการดำเนินกิจการในการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการจึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการลงโทษทางอาญาแก่บุคคลและความร้ายแรงของการกระทำผิด เนื่องจากการฝ่าฝืนคำสั่งเรียกหรือไม่แถลงข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารต่อคณะกรรมาธิการนั้นไม่ได้มีสภาพร้ายแรงหรือทำให้เกิดความเสียหายที่จะกระทบต่อผลในเรื่องที่สอบหาข้อเท็จจริงดังเช่นการดำเนินคดีอาญา อีกทั้งการฝ่าฝืนดังกล่าวมิได้กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยรวม ดังนั้น มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นที่บัญญัติอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ ขั้นตอนในการออกคำสั่งเรียกไว้ และกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน ย่อมกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เป็นภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และเป็นบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129 จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129

เพื่อเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือการทำให้คณะกรรมาธิการเป็นยักษ์มีกระบอง เห็นควรที่คณะกรรมาธิการต่างๆ ของทั้งสองสภาที่ประสบปัญหาข้างต้นได้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

Advertisement

1) พิจารณาศึกษาแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติสามมาตราของพระราชบัญญัติข้างต้นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะในส่วนของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ฝ่าฝืนให้ถือว่าเป็นความผิดเฉพาะทางวินัย ไม่ผิดทางอาญา รวมทั้งพิจารณาแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติอื่นนอกเหนือสามมาตราข้างต้นให้การทำงานของคณะกรรมาธิการให้ทันสมัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวตราขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2554

2) พิจารณาศึกษาการแก้ไขให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบแล้วละเลยไม่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก มีความผิดถือว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 219 มาตรา 234 (1) และมาตรา 235 (1)) เพราะเมื่อได้ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นเพ่งเล็งต่อตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเป็นหลักที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผู้ฝ่าฝืนไม่สมควรรับโทษทางอาญา

3) รวบรวมสถิติรัฐมนตรีที่รับผิดชอบที่ต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก แล้วไม่สั่งการกำชับหรือคาดโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง เพราะการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามสั่งการของรัฐมนตรีเจ้าสังกัดอาจมีความผิดทางวินัย สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการตั้งกระทู้ถามการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและการไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี หรืออาจนำไปใช้ประกอบการอภิปรายในชั้นการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ทั้งสองสภา หรือในการประชุมของสองสภาเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐมนตรีต่อรัฐสภา

Advertisement

4) นำปัญหาปัจจุบันคณะกรรมาธิการไม่มีเขี้ยวเล็บหรือเป็นยักษ์ไม่มีกระบองไปเป็นข้อมูลประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตต่อไป

สรุป การพิจารณาศึกษาข้างต้นนั้นเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นที่เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ หากสามารถเสริมเขี้ยวเล็บและทำให้คณะกรรมาธิการเป็นยักษ์มีกระบองย่อมส่งผลให้คณะกรรมาธิการได้รับข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการควรคำนึงถึงการปฏิบัติที่ดีและให้เกียรติต่อผู้ที่มาชี้แจงหรือแสดงความเห็นด้วย รวมทั้งระมัดระวังต่อการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติข้างต้น ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ด้วย

พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ
และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image