ถึงเวลาที่จะช่วย SME อย่างถูกวิธีแล้วหรือยัง?

ถึงเวลาที่จะช่วย SME อย่างถูกวิธีแล้วหรือยัง?

ถึงเวลาที่จะช่วย SME อย่างถูกวิธีแล้วหรือยัง?

ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้คือเรื่องหนี้สังคมไทยรกรุงรังด้วยเรื่องหนี้เรื้อรังแถมยังแก้ไขไม่ได้มาอย่างยาวนาน นับวันมีแต่จะทรงกับทรุด หากมองแบบ worse case เผลอๆ อาจจะแย่กว่าช่วงโควิเดด้วยซ้ำไป 

จะเป็นอย่างไรต่อไปหากปัญหาหนี้ยังไม่ถูกสะสางแก้ไขให้ทันท่วงทีและตรงจุด!! แน่นอนแล้วว่าครอบครัวไทยจะยังจมปลักกับกองหนี้ก้อนใหญ่กดทับแรงซื้อเพราะคนเป็นหนี้ส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายเงินทอง

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/ 2566 อยู่ที่ 90.9% ของจีดีพี หรือประมาณ 16.2 ล้านบาท สัดส่วนหนี้เสีย หรือ NPL อยู่ที่ 2.79% หรือประมาณ 1.52 แสนล้านบาท และหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 1-3 เดือนอยู่ที่  6.66% หรือ 3.62 แสนล้านบาท

Advertisement

ยังไม่รวมกับกลุ่มผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ หากใครมีสายป่านยาวก็ดีไป แต่ใครสายป่านสั้นก็ลำบากมากกว่าเพื่อนหน่อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Small and Medium Enterprise business (SME) ที่ต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่องกันอย่างหนัก เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอขอบคุณรัฐบาลภายใต้การนำของคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ ทำให้การแก้หนี้กลายเป็นวาระสำคัญขึ้นมา

ผมมองว่าการที่จะเข้ามาแก้หนี้ทั้งระบบตรงนี้ต้องบูรณาการร่วมกันหลายฝ่ายโดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SME ก่อนอื่นเลยเราต้องยอมรับเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะการแก้ไขปัญหาของ SME เราไม่ได้ทำตั้งแต่เขามีปัญหาตั้งแต่แรก คือเราไม่ได้แก้เรื่องการอัดฉีดเงิน ไม่ได้ช่วยกลุ่มนี้ตั้งแต่แรกเราปล่อยให้มันเจ๊งไปในช่วงโควิด-19 

Advertisement

ย้อนไปดูได้เลย เพราะว่าตอนนั้นเราช่วยแต่ตัวบุคคล ผ่านโครงการคนละครึ่ง ให้คนกลุ่มนี้มีเงินไปจับจ่ายใช้ซื้อสินค้าได้ ซื้ออาหารได้  แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่มีการอัดฉีดเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการเลย ตรงข้ามกับทางอเมริกา ทางยุโรป เขาช่วยธุรกิจเยอะมาก ทำให้ธุรกิจหลายแห่งยังดีอยู่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเป็นเหมือน Nightmare ของทุกคน เพราะหลายประเทศต้องเผชิญหน้ากับมาตรการ Lockdown ปิดประเทศเพื่อจำกัดการเดินทาง นักท่องเที่ยวมาไม่ได้ เหมือนกันประเทศไทยก็ต้องใช้มาตรการนี้เหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ SME มีปัญหา เขาเสียหายมากและก็ไม่มีใครคิดว่าจะยาวถึง 3 ปี เพราะคิดว่าเป็นคล้ายไข้หวัดนกธรรมดา

ปรากฏว่า เขาต้องไปกู้หนี้ยืมสินลากยาวมาตลอด ธุรกิจเขาขาดสภาพคล่อง ธุรกิจไม่ดีแล้ว จะขอกู้เงินแบงก์ต่ออีกก็ทำไม่ได้ เพราะเขาเป็นหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว!!

ภาครัฐเองต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือ SME มากๆ ต้องเข้าไปดูว่า ถ้าเขาเป็นหนี้สถาบันการเงินรัฐบาล ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยดูเรื่องภาระดอกเบี้ย  พักหนี้ พักดอก ไปเลยอย่างน้อย 3 ปี เท่ากับช่วงโควิด-19 ให้ธุรกิจได้หายใจหายคอได้คล่องขึ้นมาหน่อย

ที่จริงอยากจะเห็นรัฐบาลกล้าลงมือทำมากกว่านี้  คือ ทำยังไงก็ได้เพื่อปลดล็อกกลุ่มนี้ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน หากรัฐสามารถใช้มาตรการกล้าได้ กล้าเสียก็ต้องทำให้กลุ่ม SME สามารถกู้เงินก้อนใหม่ได้ แล้วรัฐบาลก็อัดฉีดมาตรการเข้าไปช่วยสนับสนุนอีกขั้นหนึ่ง  และรัฐบาลต้องเร่งยกเครื่องการจัดเก็บระบบภาษีใหม่

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ที่ไม่เคยเป็นผู้ที่มีหนี้เสียเลยก่อนโควิด-19  แต่ต้องมาเจอกับภาวะเข้าตาจน เป็นหนี้หาทางออกไม่เจอในช่วงโควิด รัฐบาลควรจะพิจารณาช่วยเหลือโดยการงดเว้นจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี แล้วธนาคารควรให้เงิน นาย ก. ไปอีกก้อนเพื่อเป็นทุนก้อนใหม่ในการทำธุรกิจ  และดึงเข้าระบบภาษีเพื่อการจัดเก็บ Vat ที่ถูกต้อง แต่ต้องได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้เขาสามารถตั้งตัวและช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น 

SME จะได้ไม่ต้องไปวิ่งหาเงินนอกระบบ ต้นตอปัญหาหนี้นอกระบบ หรือ “Loan shark” ซึ่งผมได้คุยกับเจ้าของกิจการบางรายที่เป็น SME เขาต้องวิ่งหาเงินกู้นอกระบบเพื่อเอาเงินมาหมุน ดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาทต่อเดือน ทั้งปีต้องจ่าย 240% ถือว่าแพงเวอร์มาก เทียบกับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 36 ต่อปี

ผมไม่อยากเห็นการแก้หนี้แบบเดิมๆคือเอาลูกหนี้กับเจ้าหนี้มาคุยกันแล้วก็มีรัฐบาลเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อให้เจ้าหนี้ยอมลดภาระดอกเบี้ยลงการที่จะแก้หนี้นอกระบบให้เด็ดขาดคือหนึ่งให้เข้ามาอยู่ในระบบของกฎหมายคือให้เป็นลิสซิ่งเป็นไรให้ง่ายขึ้นและก็อัตราดอกเบี้ยกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมาย

เงินที่ปล่อยกู้ให้กับ SME ควรจะจัดตั้งเป็นกองทุนให้ SME อย่างน้อยก็น่าจะสัก 200,000 ล้านบาทเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ในส่วนการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ SME ได้ง่ายขึ้น ต้องให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) เข้ามาค้ำประกันและเพิ่มวงเงินค้ำประกันจากไม่เกิน 30 เป็น 60%

หนี้นอกระบบต้องแก้ด้วยวิธีการที่ให้พวกปล่อยกู้หายไป หรือให้เหลือน้อยที่สุดให้ได้ เพราะว่า พวกนี้อยู่ในประเภททำนาบนหลังคนคนที่เข้ามาอยู่ในวงจรนี้ไม่มีทางรอด ต้องให้เจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้ทั้งหลายอยู่ในระบบให้ได้ คือ  ให้ปล่อยดอกเบี้ยตามกฎหมาย แล้วถ้าเขายังไม่ทำ รัฐบาลต้องจัดการอย่างเด็ดขาด 

ใช้กฎหมายบังคับให้ได้ ทำยังไงก็ได้ ให้พวกเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้ ปล่อยเงินร้อยละ 3 ซึ่งผู้กู้มองว่าดอกเบี้ยร้อยละ 3 เขาสามารถจ่ายได้ไม่ใช่ร้อยละ 20 คนเดือดร้อนยังไงก็ต้องกู้ เพราะฉะนั้นมันต้องให้ความเป็นธรรมไม่ใช่เพิ่มความเดือดร้อนให้เขา ส่วนคนปล่อยกู้ก็ไม่ได้เสียผลประโยชน์เยอะเขายังได้กำไรอยู่ Win-win ทั้งสองฝ่าย

จะเอากฎหมายเข้ามาเกี่ยวต้องเอาตำรวจ ต้องเอาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  เข้ามายึดทรัพย์  หลังจากยึดทรัพย์แล้วต้องมีรางวัลนำจับให้ผู้ให้ข้อมูลด้วย เพื่อจะทำให้พวกปล่อยเงินกู้นี้หมดไปแล้วกลับมาปล่อยในระบบ

ในส่วนของหลักการยึดทรัพย์เหมือนคดียาเสพติด เพื่อให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้เขาลดการปล่อยกู้หนี้นอกระบบ ต้องสร้างแรงจุงใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากพอสมควร

ยึดทรัพย์แต่ไม่มีความผิดทางอาญา เน้นยึดทรัพย์อย่างเดียว  รับรองเห็นผลได้ไวยิงกระสุนนัดเดียวได้หลายตัว ทั้งลดปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้ครัวเรือนสูง  หรือจัดการระบบการเงิน เพิ่มสภาพคล่องเสริมความแข็งแกร่งให้ SME

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานกิตติมศักดิ์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image