ความน่าจะเป็นในชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียของนายอานีส บัสเวดัน ในรอบ 2

ความน่าจะเป็นในชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียของนายอานีส บัสเวดัน

อินโดนีเซียเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนและทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลกด้วยพื้นที่ 1,904,569 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 278 ล้านคน นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก โดยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรอินโดนีเซียอาศัยอยู่ในเกาะชวาเพียงเกาะเดียว และอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินเดียกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และอินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี (ผู้เป็นทั้งประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหารอีกทั้งยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจเต็ม รวมทั้งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และบริหารด้านการต่างประเทศอีกด้วย ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งได้สูงสุด 2 สมัย คือไม่เกิน 10 ปีติดต่อกัน) ในวันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 (วันนี้) ด้วย

เงื่อนไขสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย คือ พรรคการเมืองไม่สามารถเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ทันทีแต่มีเงื่อนไขตามกฎหมาย ซึ่งระบุว่าพรรคการเมือง หรือกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรต้องมี ส.ส.รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จากจำนวน ส.ส. หรือได้คะแนนเสียง (popular vote) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงจะมีสิทธิเสนอชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งต้องเสนอพร้อมกันทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี โดยทั้งคู่ต้องได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 50 ขึ้นไปจึงจะชนะการเลือกตั้ง หากในครั้งแรกไม่มีคู่ใดได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดก็ต้องมีการเลือกตั้งลงคะแนนเสียงใหม่ในรอบที่ 2 อีกครั้งโดยให้ประชาชนเลือกจากผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในรอบแรก 2 คนเท่านั้น

ปรากฏว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในครั้งนี้มีเพียง 3 ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเพียง 3 คนเท่านั้น ที่มีโอกาสที่จะเข้าเส้นชัยเพราะรวมคะแนนนิยมจากบรรดาโพลต่างๆ แล้วทั้ง 3 คนนี้กวาดคะแนนไปเกินกว่า 90% ของประชาชนอินโดนีเซียผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดอยู่แล้ว ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี 3 คน มีดังนี้คือ

Advertisement

1.นายปราโบโว ซูเบียนโต อายุ 72 ปี เป็นรัฐมนตรีกลาโหมและหัวหน้าพรรคเกอรินดรา ลูกเขยของอดีตผู้นำเผด็จการซูฮาร์โต อดีตเคยเป็นนายพล มีตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษรับราชการในกองทัพนาน 28 ปี ก่อนที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งปกครองอินโดนีเซียด้วยระบบเผด็จการยาวนาน 32 ปี ต้องลาออกจากตำแหน่งใน พ.ศ.2541

นายปราโบโวเคยพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีแก่ประธานาธิบดีโจโกวีถึง 2 ครั้งแล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้นายปราโบโวได้จับคู่กับนายจิบราน รากาบูมิง รากา วัย 36 ปี ลูกชายของประธานาธิบดีโจโกวีเอง ผู้ลงสมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีโดยได้รับการแผ้วถางทางจากศาลรัฐธรรมนูญให้มีคุณสมบัติสามารถสมัครเป็นรองประธานาธิบดีได้ จากเดิมที่ผู้สมัครประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี จะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่พี่เขยของประธานาธิบดีโจโกวีผู้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้ออกคำตัดสินให้ลดคุณสมบัติทางด้านอายุลงซึ่งเป็นเรื่องตลกแกมเศร้าอย่างยิ่ง

นายปราโบโวประกาศว่าจะสานต่อนโยบายการย้ายเมืองหลวงของประธานาธิบดีโจโกวีอย่างเร่งด่วนจึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประธานาธิบดีโจโกวี กำลังสร้าง “ราชวงศ์ทางการเมือง” และยังปูทางให้ลูกชายลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2572 นี้อีกด้วย

Advertisement

2.นายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ (PDI-P) พรรครัฐบาล วัย 55 ปีนายกันจาร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา และปริญญาโทรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่ เขาได้เข้าร่วมกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และเดินหน้าสนับสนุนเมกาวาตี ซูการ์โน บุตรี ที่ออกมาก่อตั้งพรรค PDI-P ใน พ.ศ.2542 โดยความจริงแล้วแต่เดิมนายกันจาร์ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโจโกวี เนื่องจากนายกันจาร์ประกาศในการหาเสียงว่าเขาจะสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีโจโกวีทุกอย่างโดยเฉพาะการย้ายเมืองหลวงจากเกาะชวาไปยังเกาะบอร์เนียวที่เรียกว่ากาลิมันตันนั่นเอง

3.นายอานีส บัสเวดัน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา วัย 56 ปี นายอานีสสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์และธุรกิจมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา ก่อนที่จะได้รับปริญญาโทในสาขาวิชานโยบายสาธารณะ และปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา นายอานีสก้าวเข้าสู่การเมืองระดับประเทศใน พ.ศ.2557 โดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโจโกวี ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการและวัฒนธรรมในรัฐบาลของโจโกวี แต่ถูกปรับออกจากตำแหน่งใน พ.ศ.2559

ใน พ.ศ.2560 นายอานีสชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาหลังจากถูกปรับออกจากการเป็นรัฐมนตรี และก่อนที่วาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของอานีสจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 พรรคนัซเดมประกาศจะสนับสนุนนายอานีสในฐานะผู้สมัครอิสระในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ และนายอานีสยังได้รับความนิยมจากชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากนายอานีสแสดงตัวเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนาอิสลามซึ่งต่างจากนายปราโบโวและนายกันจาร์ที่ไม่เน้นเรื่องความเคร่งครัดในทางศาสนามากนักและนายอานีสประกาศว่าเขาไม่สนับสนุนนโยบายการย้ายเมืองหลวงเพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเพราะเขาบอกว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียคือความเหลื่อมล้ำในสังคมอินโดนีเซีย เขาจะมุ่งที่จะใช้เงินงบประมาณในการลดระดับความเหลื่อมล้ำในสังคมมากกว่าที่จะใช้ในการย้ายเมืองหลวง

แม้ว่านายปราโบโว พร้อมกับนายจิบราน รากาบูมิงรากา ลูกชายของประธานาธิบดีโจโกวี จะชนะคู่แข่งทั้ง 2 คน คือ นายกันจาร์ จากพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ (PDI-P) และนายอานีส ผู้สมัครอิสระจากพรรคนัซเดม อย่างขาดลอย โดยดูได้จากโพลล่าสุดที่นายปราโบโว ได้คะแนนนิยม 48.6% ส่วนนายกันจาร์ ได้คะแนนนิยม 21.6% และนายอานีส ได้คะแนนนิยม 24.2% แต่ไม่มีใครได้รับเลือกตั้งเพราะไม่มีใครได้คะแนนเกินร้อยละ 50 ต้องเลือกตั้งรอบที่ 2ในเดือนมิถุนายนปีนี้ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งระหว่างนายปราโบโวกับนายอานีส โดยชาวอินโดนีเซียจะเลือกระหว่างการสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีโจโกวี หรือจะเลือกเอานโยบายใหม่ของนายอานีสและความเคร่งครัดทางศาสนาอิสลามของเขา

ซึ่งความน่าจะเป็นในชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นของนายอานีส ในรอบ 2 เนื่องจากชาวอินโดนีเซียจำนวนมากรู้สึกเบื่อต่อการเป็นประธานาธิบดีของนายโจโกวีซึ่งบริหารประเทศมาแล้วถึง 10 ปี จึงอาจจะลองของใหม่ดูบ้างซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นไปเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image