ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับนิรโทษกรรมเหตุการเมือง โดย โคทม อารียา

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จึงจะขอกล่าวเฉพาะการนิรโทษกรรมเหตุการเมือง ไม่รวมนิรโทษกรรมอื่น ๆ เช่น นิรโทษกรรมชาวบ้านที่ต้องคดีตามนโยบายทวงผืนป่าประมาณ 48,000 ราย ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนได้ทำการศึกษาและยกร่างกฎหมายเสร็จแล้ว เป็นต้น

ในคอลัมน์ “พลังบวก Gen Z” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีบทความลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ชื่อว่า “รับการตักเตือน ด้วยการฟังอย่างลึก” โดยมีความตอนหนึ่งว่า แม้จะเป็นการเตือนโดยสุจริตใจ ใช้วาจาเชิงบวกแล้วก็ตาม การเตือนอาจไม่ได้ผล คนรับไม่ยอมรับ พฤติกรรมที่พบบ่อยคือ การแก้ตัว เถียง โกรธ เสียใจ น้อยใจ ฯลฯ เพราะถือว่าการเตือนเป็นการตำหนิ จึงมีปฏิกิริยาอัตโนมัติทางจิตเพื่อป้องกันการบาดเจ็บทางจิตใจ ดังนั้น หลักการสำคัญของการเป็นผู้รับการเตือนที่ดีคือ 1. การฟังอย่างลึก 2. การน้อมรับไปพิจารณา ไม่เถียง ไม่ต้องอธิบาย ตั้งสติดี ๆ แล้วนำประเด็นที่รับฟังมาทั้งหมด มาคิดแบบใจร่ม ๆ สงบ ๆ ไม่เข้าข้างตนเอง 3. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเอง

แม้ว่าในขณะนี้ บรรยากาศนอกสภาจะผันผวนอย่างไรหรือไม่ก็ตาม ขอให้การประชุมของคณะกรรมาธิการเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะกรรมาธิการมีวุฒิภาวะในการเตือนและการฟัง ได้ยินมาว่ากรรมาธิการคนหนึ่งเสนอว่า ขอให้ถอดหัวโขนทางการเมืองออกไปพลางก่อน แล้วมาปรึกษากันด้วยหัวใจที่เป็นมิตร ส่วนประธานกรรมาธิการให้ความเห็นต่อสื่อว่า นิรโทษกรรมเป็นเรื่องของส่วนรวม ไม่ควรสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ อยากให้ประเทศอยู่กันอย่างปรองดอง

แต่การปรองดองเป็นเรื่องที่ยาก ตราบใดที่ใจยังร้อนรุ่ม ไม่เฉพาะกรรมาธิการเท่านั้น คนส่วนใหญ่ควรมีใจร่ม ๆ สงบ ๆ การปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้

Advertisement

พรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีนโยบายการหาเสียงครั้งที่แล้วว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อันที่จริง ความขัดแย้งทางการเมืองมีมาตลอด ถ้าเป็นความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือแบบอารยะก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ความขัดแย้งนับแต่ปลายปี 2548 นั้น แทรกด้วยความรุนแรงและการมุ่งหวังเอาชนะ จึงได้สร้างความร้าวฉานในจิตใจของคนหลายต่อหลายคน ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อความรุนแรงพอสงบลงบ้าง ก็มีการศึกษา พูดคุยกันเรื่องความปรองดอง มีการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อหวังจะสร้างความปรองดอง แต่ประสบการณ์ในทางลบที่ผ่านมาคือร่างกฎหมายนิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย” ซึ่งได้ “นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่” เมื่อปลายปี 2556

มาถึงปัจจุบัน ผมเข้าใจว่าคณะกรรมาธิการฯกำลังพิจารณาว่า จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไรดี จึงจะไม่ถูกนำไปเป็นประเด็นความขัดแย้ง หากควรเป็นการขยับเลื่อนสังคมการเมืองไทย เข้าใกล้ความปรองดองไม่มากก็น้อย

พูดง่าย ๆ ก็คือ ผลที่สังคมปรารถนาคือลดความรุนแรง เพิ่มความปรองดอง เหตุปัจจัยที่เรากำลังช่วยกันประกอบให้เกิดขึ้นปัจจัยหนึ่ง คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม หน้าที่ของคณะกรรมาธิการคือการสร้างปณิธานทางการเมืองร่วมกัน โดยออกแบบกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้ได้ผลตามความปรารถนาของสังคม เวทีที่เป็นของคณะกรรมาธิการเวทีนี้ จึงไม่ควรเป็นเวทีที่ต่างฝ่ายต่างมีข้อสรุปล่วงหน้า หากเป็นเวทีการรับฟัง การไตร่ตรอง และการหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสภาพการณ์ทั้งในและต่างประเทศ หากสภาพการณ์ภายในของเราไม่ดี ความไว้วางใจที่เราคาดหวังว่าจะได้รับจากเขาคงลดน้อยลง

Advertisement

ก่อนอื่น ขออนุญาตนำแผนภาพข้างต้น ซึ่งพระไพศาล วิสาโล เคยเอามาสอนพวกผม มาแสดงเพื่อประกอบการไตร่ตรองในเรื่องที่ยากและเป็นภารกิจสำคัญของคณะกรรมาธิการฯ จะเห็นได้ว่าพระไพศาลสอนให้วางใจเป็นกลาง อย่ายึดมั่นใคร่มี และให้ใช้ “สติ-ปัญญา-เมตตา” ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์

ผมทราบมาว่า ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่ได้ยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาจำนวน 3 ร่าง ได้แก่ร่างของพรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคครูไทย แต่ก็มีอีกร่างหนึ่งที่กำลังล่าลายเซ็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อเสนอต่อสภาในลำดับต่อไป ร่าง พ.ร.บ. เหล่านี้มีความเหมือนกันในสาระสำคัญดังนี้

1.ให้ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาโดยมีเหตุจูงใจทางการเมืองพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

2.ให้มีคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยการพ้นจากการรับผิด

3.ให้มีการเยียวยาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ได้กระทำไปด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง

ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสี่ร่างมีข้อแตกต่างที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้

1.ขอบเขตหรือฐานความผิดตามกฎหมายอาญาที่ผู้กระทำอยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

2.ข้อยกเว้นมิให้ฐานความผิดหรือบุคคลใดอยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

3.องค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัย/กลั่นกรอง หรือพิจารณาการนิรโทษกรรมประชาชน

4.กรอบการเยียวยา

ร่าง พ.ร.บ. ของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคครูไทยมีชื่อเหมือนกันทั้งสองร่างคือ “ร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข” และมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน ข้อแตกต่างอยู่ที่องค์ประกอบของคณะกรรมการ ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติใช้ชื่อว่าคณะกรรมการวินิจฉัยฯ องค์ประกอบเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงและระบุไว้ในร่างกฎหมาย ส่วนของพรรคครูไทยใช้ชื่อว่าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้แต่งตั้ง ต่อไปจะอ้างอิงถึงร่างของทั้งสองพรรคนี้ว่า “ร่างสังคมสันติสุข”

ขอบเขตของการนิรโทษกรรมตามร่างสังคมสันติสุข คือความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการชุมนุม จำนวน 11-12 ฐานความผิด ขณะเดียวกัน ก็ยกเว้นไว้ 3 ฐานความผิดคือ 1) ความผิดฐานทุจริต 2) ความผิดตามมาตรา 112 และ 3) ความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง

ร่าง พ.ร.บ. ที่กำลังล่าลายเซ็น (จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567) มีชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน ต่อไปจะขอใช้ชื่อว่า “ร่างฉบับประชาชน” ตามร่างนี้ ขอบเขตการนิรโทษกรรมคือความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองเป็นหลัก และมีการระบุฐานความผิดที่จะมีการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจน 6 ฐานความผิดคือ 1) ความผิดตามประกาศ คสช. 2) ความผิดของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 3) ความผิดตามมาตรา 112 4) ความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 5) ความผิดตามกฎหมายประชามติ และ 6) ความผิดที่เกี่ยวโยงกับฐานความผิด 5 ฐานดังกล่าวข้างต้น สังเกตได้ว่า ประเด็นที่เป็นตรงกันข้ามระหว่างร่างสังคมสันติสุขกับร่างฉบับประชาชนคือ ควรจะนิรโทษกรรมผู้ทำความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่

ร่างฉบับประชาชนมีประเด็นน่าสังเกตสองประเด็นคือ 1) จะไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นการกระทำการเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 และ 2) องค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน ที่นอกจากจะมีผู้แทนราษฎรเป็นหลักแล้ว ยังมีตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองและตัวแทนองค์กรภาคประชาชนด้วย

ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลมีชื่อที่ยาวว่า “ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง” ซึ่งจะขอเรียกย่อ ๆ ว่า “ร่างแก้ไขความขัดแย้ง” จุดเด่นของร่างนี้คือการเปิดกว้าง โดยมุ่งนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง และผู้ที่มีการกระทำอันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งนี้ ตามประกาศกำหนดของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ และตามการชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ สำหรับข้อยกเว้นมิให้บุคคลบางกลุ่มได้รับการนิรโทษกรรมก็จะคล้ายกับร่างฉบับประชาชน นั่นคือ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินกว่าเหตุในระหว่างที่มีการชุมนุมหรือระหว่างการสลายการชุมนุม ผู้กระทำความผิดต่อชีวิต และผู้กระทำความผิดตามมาตรา 113 คณะกรรมการวินิจฉัยฯมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตของการนิรโทษกรรม โดยอาจรวมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดี ไม่น่าจะรวมกรณีการทุจริตโดยอ้างว่าเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น ร่างแก้ไขความขัดแย้งจึงกำหนดให้คณะกรรมการวินิจฉัยฯประกอบด้วยบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในระดับสูง ซึ่งคล้ายกับร่างสังคมสันติ

ผมมีความเห็นว่า ประเด็นที่ขัดแย้งกันมากที่สุดคือการรวมหรือไม่รวมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 เพื่อการนิรโทษกรรม ร่างสังคมสันติต่างจากอีกสองร่าง คือไม่ให้รวม และอ้างกระแสสังคมส่วนหนึ่งที่มองว่า ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเป็นพวก “เซาะกร่อน บ่อนทำลาย” และเหตุการณ์ขบวนเสด็จเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ยิ่งตอกย้ำการมองดังกล่าว จึงเกิดวาทกรรมที่ว่าถ้านิรโทษกรรมบุคคลกลุ่มนี้ ก็จะเกิด “ความขัดแย้งใหม่” ในสังคม ทั้ง ๆ ที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับมาตรา 112 ดำรงอยู่แล้วในปัจจุบัน และควรหาทางลดระดับ (de-escalation) โดยการสานเสวนา (dialogue) และรับฟังซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง

ร่างฉบับประชาชนเสนอให้ใส่ไว้เลยในกฎหมายว่าให้รวมการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 ส่วนร่างแก้ไขความขัดแย้ง เปิดโอกาสที่จะรวมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่รวมก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามการประกาศกำหนดของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ จึงอาจมองได้ว่าเป็นทางสายกลางระหว่างร่างอีกสองร่างดังกล่าว

จริง ๆ แล้ว เราควรฟังความห่วงใย ความกังวล และความปรารถนาของทั้งฝ่ายที่ให้รวมและไม่ให้รวมมาตรา 112 เพื่อการนิรโทษกรรมให้มากขึ้น ผมเดาว่า ฝ่ายที่ให้นิรโทษกรรมผู้ทำความผิดตามมาตรา 112 มองว่าผู้ทำความผิดต้องการเพียงการแสดงออกทางการเมือง แต่ถูกตีความแบบกว้างมากว่า ต้องการ “เซาะกร่อน บ่อนทำลาย” ทั้ง ๆ ที่ความต้องการอาจมีเพียงการ “เซาะกร่อน ผ่อนคลาย” กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไป ความขัดแย้งจึงมาจากความรู้สึกว่าถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม

ขณะที่ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้นิรโทษกรรมผู้ทำความผิดตามมาตรา 112 มองว่า พวกนี้ทำเกินเลยไปมากแล้ว แม้กวดขันแล้วก็เอาไม่อยู่ หากผ่อนคลายก็จะยิ่งเอาใหญ่ เพราะเป็นพวกที่ประสงค์จะ “บ่อนทำลาย” จริง มีแต่การปราบปรามให้หนักข้อยิ่งขึ้นเท่านั้นจึงจะธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติได้

ส่วนร่างแก้ไขความขัดแย้งต้องการเลื่อนเวลาการวินิจฉัยเรื่องนี้ออกไป โดยจัดทำร่างที่เป็น “ปลายเปิด” แต่ผมเข้าใจเองว่า ทั้งฝ่ายที่อยากยกโทษและไม่ต้องการยกโทษตามมาตรา 112 ต่างก็ไม่พอใจ ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวจะออกมาเป็นอย่างไร ผมจึงขอทดลองเสนอความคิดนิรโทษกรรมอย่างมีเงื่อนไขมาเพื่อโปรดพิจารณาดังนี้

1) มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ …” เราอาจจำแนกความหนักเบาได้ไหม เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ถือเป็นความผิดสถานเบา ส่วนการแสดงความอาฆาตมาดร้ายถือเป็นความผิดสถานหนักที่ไม่เข้าข่ายจะยกโทษ

2) ความผิดที่กระทำโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ หรือพระราชินีองค์ปัจจุบันถือเป็นความผิดสถานหนัก ถ้ามิใช่ก็เป็นสถานเบา

3) ตามปกติ จะมีการลงโทษความผิดที่กระทำต่างกรรมต่างวาระ โดยนำโทษจำคุกมาบวกกัน เช่น การส่งต่อข้อความที่หมิ่นประมาทหลายครั้ง อาจต้องโทษหลายสิบปี ในกรณีเช่นนี้ จะถือเป็นโทษสถานเบาได้หรือไม่

สำหรับความผิดสถานเบา จะยกโทษ (นิรโทษกรรม) ให้ได้หรือไม่ หรือถ้ายังไม่นิ่งนอนใจ จะกำหนดให้พักการดำเนินคดีไว้ก่อน เช่น 2 หรือ 3 ปี หรือในกรณีที่มีคำพิพากษาลงโทษแล้ว ก็ให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีกำหนด เช่น 2 หรือ 3 ปีเช่นกัน ถ้าไม่มีการรับฟ้องคดีในข้อหามาตรา 112 ในระหว่างการพักคดี หรือการปล่อยตัวชั่วคราว การนิรโทษกรรมจึงมีผลสมบูรณ์ แต่ถ้ามีการรับฟ้องคดีในระหว่างนั้น ก็ให้ดำเนินคดีที่พักไว้ต่อไป หรือให้ยุติการปล่อยตัวชั่วคราว นับแต่วันที่รับฟ้องคดีใหม่

ทางเลือกหรือเส้นทางที่เป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ผลที่ประสงค์ ย่อมมีหลายทาง หวังว่าคณะกรรมาธิการจะพิจารณาเลือกทางที่เหมาะสมที่สุด ที่จะนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันพอสมควร และช่วยให้เกิดความปรองดองในสังคมได้ จริงอยู่ นิรโทษกรรมเพียงเท่านั้นย่อมไม่เพียงพอ รัฐบาลและรัฐสภาควรดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระทำที่เป็นการสมานไมตรีอื่น ๆ อีก

ในทางทฤษฎี การสมานไมตรีหมายถึงการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง ผ่านการเยียวยาอดีต ไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับอนาคต ดังนี้

การเยียวยาอดีต

• การเยียวยาทางสังคม

• การยอมรับนับรวมทุกคนในประชาคมทางใจเดียวกัน

• การลงโทษ -การนิรโทษกรรม – การขอโทษและการให้อภัย

การทำความเข้าใจปัจจุบัน

• การก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยความเปิดกว้างและความกรุณา

• การสร้างพื้นที่/เวทีการสานเสวนา

การมุ่งสู่อนาคตร่วมกัน

• การมองเห็นภาพอนาคตร่วมกัน

• การมีคุณค่าร่วมกัน และการมีประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐาน

ขอถือโอกาสนี้ส่งความปรารถนาดีมายังกรรมาธิการทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image