พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : ศึกษาเป็น ใช้เป็น ตำรากลศึก เจียงไท่กง ในมือ จางเหลียง

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : ศึกษาเป็น ใช้เป็น ตำรากลศึก เจียงไท่กง ในมือ จางเหลียง

หากอ่าน “ฉางต่วนจิง คัมภีร์แห่งการยืดหยุ่นพลิกแพลงประยุกต์” อัน อธิคม สวัสดิ ญาณ แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับซึ่ง “เจ้าหยุย” รจนาเอาไว้
ในบทว่าด้วย “การใช้จุดเด่นของบุคลากร” ก็จะเข้าใจ
หวงสือกง (นักแสวงวิเวกธรรมปลายสมัยราชวงศ์ฉิน ผู้ถ่ายทอด “พิชัยสงคราม ไท่กง” แก่จางเหลียง)
กล่าวว่า
“ผู้รู้แจ้งพิชัยสงครามย่อมสันทัดในการใช้สติปัญญา ความกล้าหาญ ความละโมบและความเขลาของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์
คนมีสติปัญญานิยมสร้างคุณงามความดี คนกล้าหาญมักกระทำการตามอำเภอใจ คนละโมบชอบแสวงหาผลประโยชน์ คนเขลาไม่รักตัวกลัวตาย คนใช้คนตามอุปนิสัยสันดานมนุษย์
นี่คือ ศิลปะแห่งการใช้คนอย่างพลิกแพลงตามหลักพิชัยสงคราม”

ท่วงท่าอาการของจางเหลียงอันได้รับการถ่ายทอดและสืบต่อพิชัยสงครามไท่กงโดยตรงจากท่านหวงสือกง
น่าศึกษา น่าติดตาม
เมื่อท่วงท่าอันกระตือรือร้นของหานซิ่น ณ เบื้องหน้า “กระบี่วิเศษ” ซึ่งตกอยู่ในมือ นี่ย่อมเป็น “โอกาส” ให้กับจางเหลียง
เป็นโอกาสในการ “อธิบาย” สร้าง “สีสัน”
เป็นโอกาสในการใช้สีสันจากการอธิบายอย่างเพริศแพร้วเร้าเย้าเร่งความสนใจของหานซิ่น
ไม่เพียงแต่ต่อ “กระบี่” หากแต่ต่อ “จางเหลียง”
อันกระบี่สำหรับฮ่องเต้ กษัตริย์นั้น เป็นพระเจ้างั่วอ๋องครั้งแผ่นดินเลียดก๊ก มีรัศมีเหมือนรุ้ง
ถ้าแขวนไว้ ภูตผีปีศาจแลสัตว์ร้ายก็เกรงกลัว
อันกระบี่สำหรับไจเสียง ผู้สำเร็จราชการนั้น เมื่อจะได้มานั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อห้วนสุย เห็นแผ่นดินเป็นแสงวับจับอากาศเนืองๆ
ห้วนสุยประหลาดใจจะใคร่รู้จึงเดินเข้าไปดูที่ตำบลนั้น
พอฟ้าส่งเป็นแสงปลาบขึ้นไปจับจึงขุดดินลงไปได้เห็นหีบศิลา จึงเปิดขึ้นดูได้เห็นกระบี่ 2 เล่ม
เล่ม 1 ชื่อเลงจวน เล่ม 1 ชื่อไทวา ใส่ฝักเดียวกัน
ครั้นได้กระบี่แล้วที่ตำบลนั้นก็ไม่มีแสงอีกต่อไป
อันกระบี่ง่วนโชย แม่ทัพนั้นชื่ออูเจียงเล่ม 1 เป็นเหล็กตัวผู้ ชื่ออูเสียงเล่ม 1 เป็นเหล็กตัวเมียเป็นกระบี่อยู่ฝักเดียวกัน เจ้าของชื่อฮั่นหลี ครั้งแผ่นดินเลียดก๊กให้ช่างทำถึง 10 ปีถึงสำเร็จ
กระบี่ทั้ง 3 เล่มนี้มีคุณวิเศษต่างกัน

กษัตริย์ซึ่งควรจะทรงกระบี่แปหงเจียวเตียนได้นั้นต้องมีคติ 3 ประการ ประการ 1 พึงโอบอ้อมอารีแก่ญาติวงศ์ มีใจกรุณาแก่ราษฎรทั่วแผ่นดิน
ประการ 1 พึงตั้งอยู่ในกตัญญูรู้คุณท่านผู้มีคุณ
ประการ 1 พึงให้เรียนรู้ศิลปะศาสตร์ ซึ่งจะปราบศัตรู หยั่งน้ำใจคน ว่าจะดีแลร้าย
ประการ 1 ให้รักทหาร แม้นมีความชอบจึงปูนบำเหน็จรางวัล ใครทำความผิดควรตายให้ควรตาย
ประการ 1 ให้แสวงหานักปราชญ์มาไว้ในพระนคร
ประการ 1 จะแบ่งปันทรัพย์สินสิ่งใดโดยสัตยธรรม แลไต่ถามข้อความไม่ลำเอียง
มีปัญญายังทรัพย์ให้บริบูรณ์โดยสุจริต
ไม่ควรโลภ อย่าโลภ ไม่ควรใช้ อย่าใช้ ไม่ควรทำ อย่าทำ

กระบี่เล่มที่ 3 เป็นของไจเสียง ผู้สำเร็จราชการ ก็มีคติเหมือนกัน ประการ 1 พึงซื่อตรงต่อราชการแผ่นดิน
ประการ 1 พึงมีน้ำจิตเสมอ ไม่เห็นแก่ผู้มีทรัพย์ ควรจะนับถือผู้มีปัญญา
ประการ 1 ตรึกตรองให้รอบคอบ ขุนนางผู้ใดทำการสุจริตจงทำนุบำรุง ประการ 1 ถ้าจะว่าความจงสอดส่องให้ถ่องแท้ อย่าเห็นแก่สินจ้างสินบน
ประการ 1 ต้องมีเมตตา ให้เมตตาผู้ซื่อตรงในราชการแผ่นดิน
ประการ 1 พึงให้อดออม เอาใจคน เอ็นดูแก่สัตว์ผู้ยาก
ประการ 1 พึงให้มีอัชฌาสัย แม้นกษัตริย์ตรัสสิ่งใดผิด พึงเพ็ดทูลให้อยู่ในยุติธรรม
ประการ 1 พึงมีน้ำจิตหนักแน่นดังแผ่นเหล็กแลแผ่นศิลา อย่าใจเบา

Advertisement

กระบี่ของง่วนโชย แม่ทัพ ก็ต้องโดยคติเหมือนกัน ประการ 1 จะทำการสิ่งใดให้ทำโดยสุจริต
ประการ 1 ไว้น้ำใจเป็นธรรมดา ควรแก่ยศถาศักดิ์รู้ผิดรู้ชอบ
ประการ 1 มีปัญญา รู้จักกลอุบาย ทำลายกลข้าศึก
ประการ 1 พึงพูดสิ่งใด ให้คนเชื่อ
ประการ 1 มีน้ำใจมั่น ไม่พยาบาท อาฆาต จองเวร
ประการ 1 มีน้ำใจห้าวหาญ ในการรณรงค์
ประการ 1 มีอาชญาสิทธิ์จงแท้
ประการ 1 พึงจะมีของมาแจกจ่าย นาย ไพร่ ควรแก่การให้เสมอกัน
แม้นผู้ใดรู้ปรนนิบัติต้องตามคตินี้ ข้าพเจ้าจึงจะให้กระบี่ถือ
เมื่อจบอรรถาธิบายยาวเหยียดจากจางเหลียงคำถามด้วยความใคร่รู้จากหานซิ่นคือ
“กระบี่ทั้งสามเล่มนี้ท่านสรรเสริญว่าว่าไม่มีของใครเสมอ แล้วกระบี่สองเล่มนั้นขายให้แก่ผู้ใด”
คำตอบคือ “กระบี่สำหรับกษัตริย์นั้นขายให้แก่ฮั่นอ๋อง”
ได้ยินคำตอบหานซิ่นถามต่อฉับพลันทันใด “ท่านเห็นฮั่นอ๋องเป็นประการใดจึงขายกระบี่ให้”
คำตอบจากจางเหลียงรวบรัดยิ่ง
“เราดูได้ลักษณะ ทั้งได้ฆ่างูขาวเป็นปฐมเหตุ เพราะเห็นว่ามีน้ำจิตโอบอ้อมอารีแก่คนทั้งปวง
จึงเห็นว่าฮั่นอ๋องจะได้เป็นกษัตริย์โดยแท้”

จากนั้นคำถามจากหานซิ่นก็พุ่งเข้าไปยังอีกกระบี่หนึ่ง “กระบี่สำหรับที่ไจเสียงนั้นท่านขายให้แก่ผู้ใด”
“เซียวเหอ” เป็นคำตอบ
จำเป็นที่หานซิ่นจักต้องถาม “ท่านเห็นเซียวเหอเป็นประการใดจึงขายให้”
“เซียวเหอได้ลักษณะไจเสียง มีปัญญาเป็นอันมาก รู้จักคนดีแลชั่ว ไม่ถือว่ามียศถาศักดิ์ ผู้ดีแลคนยากจนจะไปมาหาสู่ก็ง่าย มีเมตตา แล้วกับฮั่นอ๋องก็เคยร่วมมือกันมาแต่ก่อน”
ที่สำคัญเป็นอย่างมาก ฮั่นอ๋องไปอยู่เมืองโปต๋งแล้วเห็นเซียวเหอจะได้เป็นไจเสียง
ไม่ว่าฮั่นอ๋อง ไม่ว่าเซียวเหอ มิได้ห่างไกล
หากศึกษา “ข้อมูล” จากการรวบรวมข้อมูลของฟานเจิงในฐานะนักวางกลยุทธ์ก่อนเสนอต่อพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง
ไม่ว่าฮั่นอ๋อง ไม่ว่าหานซิ่น ล้วนอยู่ใน “สมการ”
เพียงแต่เมื่อมองผ่านกระบวนการของจางเหลียง ซึ่งปวารณาตัวทำงานให้กับฮั่นอ๋องเมื่อมองไปยังหานซิ่นมีความละเอียดมากกว่า
เป็นความละเอียดจากการเก็บรวบรวม “ข้อมูล”
เป็นความละเอียดบนรากฐานแห่งการตัดสินใจในหลักนิยมอัน “หวงสือกง” ได้กำหนดวางเอาไว้ครบถ้วน
นี่ย่อมเป็นพัฒนาการ นี่ย่อมเป็นการสืบทอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image