กม.อืดการศึกษาเอื่อย

กม.อืดการศึกษาเอื่อย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงรัฐมนตรีที่ไม่ไปตอบกระทู้ถามสมาชิกสภาว่าหากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีติดภารกิจสำคัญจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็สามารถเลื่อนการตอบกระทู้ถามของสมาชิกได้

“แต่ข้อเท็จจริงหลายครั้ง หลายกรณีที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้คือรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ถามด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น รัฐมนตรีบางท่านไม่เคยมาตอบกระทู้ถามสด บางท่านแม้เป็นกระทู้ถามทั่วไปที่รู้ล่วงหน้ามาหลายเดือน ก็ยังไม่มาตอบก็มี

“ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลทำงานไม่ทันฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะไม่ทันฝ่ายค้าน ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เวทีของสภาเป็นเวทีในการเสนอกฎหมาย สะท้อนปัญหาประชาชน และตรวจสอบรัฐบาล

“ที่สำคัญคือ กฎหมายหลายฉบับที่ฝ่ายค้านเสนอและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระแล้ว แต่ไม่สามารถพิจารณาตามวาระได้ เพราะรัฐบาลเสนอกฎหมายตามประกบไม่ทัน ทำให้รัฐบาลต้องรับกฎหมายหลายฉบับไปพิจารณาก่อนรับหลักการหรือที่เรียกกันเป็นภาษาการเมืองว่าต้องขออุ้ม

Advertisement

“กฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือของฝ่ายนิติบัญญัติเอาไปดองไว้ที่ทำเนียบ จนกว่ารัฐบาลจะเสนอร่างของรัฐบาลมาประกบได้ทันในภายหลัง ทำให้กฎหมายที่ถูกรัฐบาลอุ้มเกิดความล่าช้า ประชาชนต้องเสียประโยชน์ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเอาเวลาที่ใช้กับการเดินทัวร์มาให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายกับงานในสภาให้มากขึ้นกว่านี้”
นายจุรินทร์พูดจบ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พูดบ้างหลังเสร็จประชุม ครม. “การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวันนี้มีร่างพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ตนเร่งรัดเพื่อจะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่ล่าช้าเพราะติดขั้นตอนการรับความเห็นจากหน่วยงานนั้นๆ จึงมีการเร่งรัด 6 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาก่อน

“ยืนยันว่าการพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ได้ล่าช้าตามข้อสังเกตหรือการทักท้วงของฝ่ายค้าน หากเป็นกฎหมายของหน่วยงานจะมีกระบวนการขั้นตอนมากกว่าร่างกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถยื่นเข้าสภาได้เลย โดยเฉพาะหากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ต้องผ่านการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีก่อน

Advertisement

“การทำกฎหมายยังเกี่ยวกับการพร้อมด้วย ยกตัวอย่างกฎหมายการกระจายอำนาจที่ผ่านมาแล้ว 20 ปี ยังคืบหน้าไม่ถึงไหน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการถ่ายโอนบุคลากร”

ฟังทั้งสองคนแล้ว ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่

แต่เรื่องอย่างนี้ ต้องดูที่เนื้อใน โดยเฉพาะฝ่ายบริหารซึ่งรับผิดชอบการบริหารบ้านเมืองโดยตรง

ยกตัวอย่างชัดๆ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษา ไงครับ

รัฐบาล คสช.ต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2557 จน พล.อ.ประยุทธ์ พ้นไป 8 ปี เข็นออกมาไม่สำเร็จ ทั้งที่กฎหมายใช้มานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2542 ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง

ทั้งสองท่านนี้ก็อยู่ร่วมรัฐบาลที่แล้วด้วยกันทั้งคู่ท่านหนึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อีกท่านหนึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม

แม้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมไปได้

มาถึงรัฐบาลเศรษฐา คนหนึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี อีกคนหนึ่งกลับไปเป็นฝ่ายค้าน ก็เท่านั้นเอง

และถึงแม้นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติโดยตรง แต่ก็เขียนไว้ชัด จะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

แล้วชะตากรรมของร่างกฎหมายสำคัญฉบับนี้เป็นอย่างไรในสมัยนี้

หลังรัฐบาลเข้าบริหารงานได้ไม่นาน ฝ่ายข้าราชการประจำคือ สภาการศึกษา นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ บอกว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ค้างการพิจารณาของสภาในรัฐบาลที่แล้วมาทบทวน และแก้ไขในส่วนที่ยังเป็นข้อขัดแย้ง เฉพาะประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง ระหว่างการยกร่าง จะทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไป

คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในเดือนพฤศจิกายน (2566) ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณา จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ทันเสนอให้ที่ประชุมสภาชุดนี้พิจารณาให้ความเห็นชอบได้อย่างแน่นอน

วันเวลาผ่านไปกับการปล่อยให้กลไกราชการประจำดำเนินไปเรื่อยๆ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง บริหารแบบไม่ต้องบริหาร

ไม่มีการจัดการเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษใดๆ ทั้งที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายไม่น้อยไปกว่าปัญหาเศรษฐกิจ

การศึกษาไทย ผลทดสอบ Pisa ฯลฯ ถึงปรากฏออกมาอย่างน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง

ยิ่งฟังข้อห่วงใยของเลขาธิการสภาการศึกษาอีกเรื่อง ยิ่งน่าหนักใจมากขึ้นไปอีก คือ สมาชิกวุฒิสภาต้องร่วมพิจารณาด้วย จะหมดวาระเดือนพฤษภาคม 2567 ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนถึงจะมี ส.ว.ชุดใหม่ อาจเป็นตัวแปรแทรกซ้อนทำให้กฎหมายมีความล่าช้า

คาดว่าจะได้ ส.ว.ปลายปี 2567 เสนอเข้ากระบวนการนิติบัญญัติปี 2568 วิพากษ์วิจารณ์และเสนอให้รัฐสภาพิจารณา คาดว่าจะประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ได้ภายในปี 2569

ถ้าเวลาเป็นไปตามที่เลขาธิการสภาการศึกษาคาดหมาย ก็ใกล้ช่วงที่รัฐบาลและสภา ครบวาระ 4 ปี 2570 นับแต่เลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566

กฎหมายฉบับเดียว ใช้เวลาสมัย พล.อ.ประยุทธ์ 8 ปี ต่อรัฐบาลชุดนี้อีก 4 ปี รวม 12 ปี โลกเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว

ความเป็นไปของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติวันนี้เดินหน้า ถอยหลัง ไปถึงไหน สัปดาห์หน้าค่อยว่ากันต่อครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image