รัฐต้องช่วย SME และสนับสนุนสินค้าไทยอย่างจริงจัง

รัฐต้องช่วย SME และสนับสนุนสินค้าไทยอย่างจริงจัง

กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจขนาดย่อย หรือที่เราเรียกกันว่า ไมโครเอสเอ็มอี เป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐให้มากๆ เพราะกลุ่มดังกล่าวยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19

หลายบริษัทประสบปัญหา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาฟื้นกิจการ มีไม่น้อยที่ขาดเงินทุน ส่งผลให้กิจกรรมทางธุรกิจสะดุด หนำซ้ำรายได้ลด โชคร้ายกว่านั้นถึงขั้นปิดตัวแบบถาวรก็มี

เมื่อเป็นแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่ SME ไทยจะลืมตาอ้าปากได้เสียที

Advertisement

นอกจากประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้แล้ว “กำลังซื้อในประเทศ” ที่ลดลง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการไปต่อของ SME ไทย

หากปล่อยไว้นานและไม่เร่งแก้ไขพาลจะส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย เพราะกลุ่ม SME และ Micro-SME ถือเป็น Backbone สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีสัดส่วนการจ้างงานมากกว่า 80% ของภาคธุรกิจทั่วประเทศ

แรงกดดันอีกตัวหนึ่ง หากไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นก็คือ “อัตราดอกเบี้ย” ที่สูงเทียมฟ้า โดยเฉพาะ “ดอกเบี้ยเงินกู้” เมื่อเทียบกับ “ดอกเบี้ยเงินฝาก” แม้ว่ารัฐบาลโดยเฉพาะ “คุณเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี มีความพยายามที่จะผลักดันให้สถาบันการเงินในประเทศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง เพื่อบรรเทาผลกระทบโดยเฉพาะต้นทุนการเงิน

Advertisement

ผมเห็นด้วยและเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและประชาชนโดยรวมอย่างแน่นอน

“ไม่เฉพาะแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็น สถาบันการเงินในประเทศปรับลดดอกเบี้ยลง ประชาชนทั่วไป นักธุรกิจก็อยากเห็นการลดดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่ม SME และ Micro-SME ก็จะได้รับผลดีไปด้วย ต้องให้ธนาคารของรัฐนำร่องการลดดอกเบี้ยอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องรอมติของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)”

อีกเรื่องที่อยากเห็นภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวของการค้า การลงทุน ของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือการเจรจาขอแชร์พื้นที่ Social media เช่น Tiktok และ Lazada เพื่อนำสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าไปค้าขายเนียนๆ ใน platform โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนค่าใช้จ่าย การจัดจำหน่าย ตลอดจนการลงทุนด้าน Warehouse ในประเทศคู่ค้ารองรับสินค้าเอสเอ็มอีไทย

อันนี้ผมว่าเป็นโมเดลการช่วยเหลือที่เป็นการ “เพิ่ม-เสริม-สร้าง” ความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

อีกแนวทางหนึ่งที่ผมว่าจะช่วยเหลือกลุ่มนี้ได้ก็คือ “โครงการ Made in Thailand (MiT)” รัฐต้องช่วยส่งเสริมหรือกระตุ้นให้ใช้สินค้าที่ผลิตโดยคนไทยมากขึ้น เน้นกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มผู้บริโภคในประเทศ และคู่ค้าในต่างประเทศ

เน้นมาตรการที่ต้องให้นักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล ต้องใช้ Local contents (ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในไทย) ในสัดส่วนที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ต้องยอมรับว่าสินค้าไทยที่ได้รับเครื่องหมาย MiT (Made in Thailand) ยังเข้าสู่โครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลในสัดส่วนที่ถือว่ายังน้อยอยู่ ต้องขยายวงให้มากขึ้นให้การจัดซื้อจัดจ้างมายังภาคเอกชนด้วย ต้องใช้มาตรการภาษีสนับสนุน

ในส่วนของภาครัฐหากงบประมาณประจำปี 2567 ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหรือการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปต้องเร่งกระตุ้นให้ใช้สินค้า MiT ให้มากๆ โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ที่ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม พยายามผลักดัน “อุตสาหกรรมฮาลาล” ไทยไป “โก-อินเตอร์” ในตลาดโลก

ล่าสุดรัฐบาลคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 7.5% ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด

ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศักยภาพสูงมาก สามารถส่งเสริมให้กลุ่ม SME และ Micro-SME ในพื้นที่เกิดการพัฒนาอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกเทียบชั้นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย

ที่สำคัญต้อง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยรัฐต้องสนับสนุนการลงทุน การวิจัยและพัฒนารวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องโดยรัฐต้องลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่ม ใช้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับเอกชนพัฒนาสินค้า ทดแทนนำเข้า และสนับสนุนทางด้านภาษีและเครื่องหมายการค้า ให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลให้เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ภาคใต้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคง และมั่งคั่งให้กับกลุ่ม SME และ Micro-SME ที่เป็นประชาชนในพื้นที่ จะเป็นการ “เข้าใจ เข้าถึง” การพัฒนาพื้นที่และประชาชนในระดับฐานรากได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image