ความก้ำกึ่งของประชาธิปไตยในประเทศไทย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเรื่องของภาพรวมของรายงานเรื่องการจัดอันดับประชาธิปไตย และเสรีภาพของโลกในปีนี้จาก The Freedom House ที่ประเทศไทยได้รับการเลื่อนอันดับจากไม่มีเสรีภาพ มาสู่กึ่งเสรีภาพ

สัปดาห์นี้จะได้มาลงรายละเอียดในตัวรายงานเฉพาะของประเทศไทย

ในภาพรวมประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน จาก 30 เป็น 36 คะแนน ได้เลื่อนสถานะจากประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ สู่ประเทศมีความก้ำกึ่งด้านเสรีภาพ (partial free) ซึ่งมีผลต่อการนิยาม ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ว่ามีความบกพร่องทางประชาธิปไตย

The Freedom House ให้เหตุผลว่าทำไมประเทศไทยได้รับสถานะที่ดีขึ้น มาจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีลักษณะที่มีการแข่งขันกัน (competitive parliamentary election) และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีทำโดยพรรคที่เคยเป็นพรรคฝ่ายค้นระดับสำคัญ อย่างไรก็ดี Freedom House ตั้งข้อสังเกตว่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ได้ทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้งได้

Advertisement

ในการสรุปเรื่องราวของรายงานฉบับล่าสุดของประเทศไทยนั้น แน่นอนว่ามีหลายเรื่องที่สรุปแบะตีพิมพ์ไม่ได้ด้วยความสุ่มเสี่ยงทางกฏหมาย (แต่สามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซด์เอง) แต่กระนั้นก็ตามยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังพอที่จะพูดได้

อาทิ ในเรื่องของการที่เสรีภาพสื่อยังถูกจำกัด กระบวนการทางกฎหมายยังไม่ได้รับหลักประกันอย่างสมบูรณ์ และบรรดาอาชญากรรมที่กระทำต่อบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองดูเหมือนว่าจะยังได้รับการคุ้มครอง

ในภาพรวมของพัฒนาการทางการเมืองในปีที่ผ่านมามีรายชื่อบุคคลสี่คนที่ได้รับการกล่าวถึง คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุด แต่ถูกแขวนเนื่องมาจากการดำเนินคดีเรื่องของหุ้นสื่อที่ถูกมองว่าขัดกับกฎหมายการเลือกตั้ง (รายงานไม่ได้กล่าวว่าพิธาหลุดคดีแล้ว)

Advertisement

นอกจากนั้น ยังมีชื่อของเศรษฐา ทวีสินในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จด้วยการสนับสนุนจากบรรดาพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพและคณะรัฐประหาร ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จนี้เป็นวันเดียวกันกับที่ ทักษิณ ชินวัตรได้กลับเข้าประเทศไทย และแม้จะได้รับโทษแปดปี แต่ก็ได้รับการอภัยลดโทษเหลือเพียงหนึ่งปี

ที่น่าสนใจ คือ รายชื่อสุดท้ายของบุคคลซึ่งก็คือ อานนท์ นำภา ซึ่งถูกระบุว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกพิพากษาจำคุกสีปี จากการปราศรัยเมื่อสี่ปีก่อน และการพิพากษาในคดีเหล่านี้ยังจะมีอีกหลายคดี รวมทั้งกรณีของพรรคก้าวไกลด้วย

ในรายละเอียดของการวัดประเมินเสรีภาพและประชาธิปไตยในปีนี้ มีการแบ่งการวัดออกเป็นสองส่วนใหญ่ คือ สิทธิทางการเมือง (Political Rights) และเสรีภาพของพลเมือง (Civil Liberties)

อีกเรื่องที่ต้องอธิบายก็คือ การได้คะแนนมานั้นมาจากการสัมภาษณ์นักวิชาการหลายคน ก่อนที่จะนำมารวบรวมเป็นเอกสารฉบับนี้

ในส่วนของสิทธิทางการเมืองนั้น เราได้คะแนน 12 จาก 40

ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ เพราะแม้คำถามบางคำถามอาจจะดูงงๆ เช่น คำถามแรกว่าหัวหน้ารัฐบาล รวมไปถึงประมุขของประเทศนั้นมาจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมไหม ซึ่งปีนี้เราได้คะแนนเพิ่มมาจาก 0 เป็น 1 ทั้งที่ในอังกฤษนั้นส่วนนี้ได้คะแนนเต็ม เป็นต้น

ในส่วนอื่นของสิทธิทางการเมืองที่ถูกหักคะแนนก็เช่นเรื่องของการมี ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่มีผลต่อการที่คะแนนในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ในส่วนของการเลือกตั้ง ส.ส.ในปีที่ผ่านมา หน่วยงานสังเกตการเลือกตั้งต่างให้ความเห็นว่าเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านของการพร้อมรับผิด ความโป่งใส และการดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ส่วนคะแนนที่ไม่ได้เลย คือ คะแนนของกฎหมายเลือกตั้งและหน่วยงานที่ดูแลการเลือกตั้ง เพราะถูกมองว่ามาจากรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายรัฐประหารเป็นผู้ร่างและแต่งตั้ง กกต. รวมไปถึงการดำเนินคดีกับพิธา ทั้งนี้ ไทยไม่ได้คะแนนจากการที่รัฐบาลยุครัฐประหารอ้างว่ารัฐธรรนูญมาจากประชามติ

สำหรับการให้คะแนนเรื่องพรรคการเมืองนั้นประเทศไทยได้คะแนนน้อยมาก เพราะมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ และการพยายามจัดการพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งใน ครั้งนี้ แถมยังรวมไปถึงการดำเนินคดีกับ พรรณิการ์ วานิช ด้วย

แต่กระนั้นก็ตามหลายส่วนที่คะแนนของไทยดีขึ้นนั้นมาจากการที่กองทัพและองค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นใช้อิทธิพลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ได้น้อยลง เมื่อเทียบจากครั้งที่แล้ว รวมทั้งการที่ผู้หญิง และประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ มีบทบาทในรัฐสภามากขึ้น รวมทั้งการที่แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงการที่รัฐบาลใหม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากการที่หนึ่งในพรรคฝ่ายค้านนั้นสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ

ส่วนคะแนนอื่นๆ ในเรื่องสิทธิทางการเมืองที่ยังคงที่ก็คือ ความต่ำเตี้ยของคะแนนจากเรื่องของการคอร์รัปชั่น และความโป่งใสและเปิดกว้างของรัฐบาล

ในส่วนของเสรีภาพของพลเมือง เราได้คะแนน 24 จาก 60 เรียกว่าต่ำเตี้ยพอสมควร และส่วนใหญ่ก็คะแนนทรงตัวในระดับต่ำกว่ามาตรฐานการเป็นประเทศที่มีเสรีภาพพลเมือง ไม่ว่าจะเรื่องของการมีสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะไม่มีแต่เขาวัดกันที่การมีกฎหมายที่กดบังคับสื่อเป็นอย่างมากจากกรณีของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการที่สื่อยังไม่สามารถรายงานข่าวในบางเรื่องได้อย่างมีเสรีภาพ

ส่วนที่คะแนนที่ได้สูงมาจากเรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งได้ถึง 3 ใน 4 เรียกได้ว่าเป็นคะแนนที่สูงที่สุดในทุกตัวชี้วัดที่ไทยได้รับ

คะแนนเรื่องเสรีภาพทางวิชาการนั้นไทยได้คะแนนแค่ 1 ใน 4 และชื่อของ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ก็เป็นกรณีที่ประเทศไทยถูกตัดคะแนนอันเนื่องมาจากเนติวิทย์นั้นถูกปลดจากนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นี่ยังไม่รวมถึงกรณีของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ที่ถูกดำเนินคดีในปีนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อคะแนนในปีหน้า)

สำหรับเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง มีการกล่าวถึงชื่อของนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีอีกสามท่านและยังไม่รวมถึงอานนท์ นำภา ที่ยังต้องเผชิญกับการตัดสินอีกหลายคดี

สำหรับคะแนนในส่วนของการรวมตัวทางการเมือง ก็ยังมีคะแนนที่ต่ำเตี้ย คือ หนึ่งในสี่มาโดยตลอด รวมไปถึงสหภาพแรงงาน

ไม่ต่างไปจากคะแนนในส่วนของหลักนิติธรรมที่องค์กรตุลาการไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากการวัดประเมินในครั้งนี้ เพราะได้คะแนนแค่หนึ่งในสี่ทุกด้าน ทั้งในด้านความเป็นอิสระ การไม่สามารถในการป้องกันการใช้กำลังอย่างไม่ชอบธรรมได้ จากกรณีของสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนที่ได้คะแนนถึงครึ่งก็คือ เรื่องของการดูแลเพศทางเลือก แม้ว่าบางเรื่องจะต้องปรับปรุง ก็คือ อคติที่มีต่อเพศทางเลือกจากองค์กรรัฐ โดยเฉพาะในการรับเข้าทำงาน การดูแลและให้สัญชาติชาวเขาทางเหนือ และการดูแลคนอพยพ

ในส่วนที่ไทยได้คะแนนสูง คือ กลุ่มสุดท้ายของตัวชี้วัด คือ เรื่องของความเป็นอิสระส่วนบุคคลและสิทธิของปัจเจกชน ที่ได้สามในสี่คะแนนในหัวข้อของการสามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้ การย้ายงาน และการเข้าศึกษาต่อ การเลือกคู่แต่งงาน การได้รับการปกป้องจากความรุนแรงภายในครอบครัว ส่วนที่ได้คะแนนครึ่งหนึ่งก็คือ ความสามารถในการที่จะถือครองทรัพย์สินและเป็นอิสระจากการแทรกแซงเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐ และในเรื่องของการที่จะเป็นอิสระจากการขูดรีดทางเศรษฐกิจ

โดยภาพรวมแล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะได้คะแนนในภาพรวมดีขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องที่จะต้องแก้ไขอีกเป็นจำนวนมาก ในส่วนของการชี้วัดเอง ก็อาจจะยังไม่สามารถให้รายละเอียดในเรื่องของทางออกที่เป็นไปได้จริงได้มากนัก และสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังเผชิญหน้ากับการที่ทรัมป์นั้นจะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง แม้ไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่วิธีคิดแบบทรัมป์ก็จะได้กลับมาปลุกเร้าความรู้สึกของผู้คนผ่านการเมืองของการเกลียดชังที่ชักพาไปสู้การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างแน่นอน รัสเซียก็จะยังไม่เปลี่ยน จีนก็จะยังไม่เปลี่ยน ดังนั้นตัวแสดงหลักในโลกก็ยังไม่เปลี่ยน

ประเทศไทยตัวชี้วัดที่ยังไม่มี และสำคัญมากคือ ความอดทนอดกลั้นต่อกัน แม้ว่าสงครามสีเสื้อจะจบไปแล้ว แต่สงครามทางความคิด การดำเนินคดี และสงครามสีเสื้อใหม่ รวมทั้งโลกทางการเมืองที่มีหลายพื้นที่ก็มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทยในวันนี้ และจะมีผลต่อความเชื่อถือ และความชอบธรรมต่อรัฐบาลในปัจจุบัน และมีผลต่อเสรีภาพ และประชาธิปไตยของไทยในปีนี้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image