พ.ร.บ.การศึกษาในสายตาเจ้าสัว

พ.ร.บ.การศึกษาในสายตาเจ้าสัว พฤหัสที่แล้ว ผมชวนคุยเรื่อง

พฤหัสที่แล้ว ผมชวนคุยเรื่อง การยกร่างกฎหมายของรัฐสภาอืดอาดล่าช้า ส่งผลกระทบทำให้การบริหารการศึกษาเอื่อย และทิ้งท้ายไว้ว่าจะพูดถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติล่าสุดในยุครัฐบาลเศรษฐาไปถึงไหน

พอดีเกิดความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร เลยขอเอาเรื่องด่วนมาคั่น ชวนคุยกันก่อน
คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบันนี่แหละ เป็นประธาน จัดสัมมนาเรื่อง “เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ประเทศ” ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและนำไปสู่การปรับกฎหมายคือ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

เชิญ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มาร่วมด้วย คำอภิปรายของเจ้าสัวศุภชัยฟังแล้วน่าสนใจ เลยคัดมาถ่ายทอดอีกรอบ

“ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัจจุบันโลกก้าวสู่ยุค 5.0 แต่การศึกษาไทยยังอยู่ในระบบ 2.0 จึงต้องเปลี่ยนมาสู่ระบบ 5.0 ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี กล่าวคือ กรอบความคิดต้องเปลี่ยนจากระบบ 2.0 ที่ว่า สอบให้ผ่าน ทำการบ้านให้เสร็จ ทำรายงานให้ทันปิดเทอม มาสู่ 5.0 คือ ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ”

Advertisement

“การเปลี่ยนการศึกษาไทยสู่ 5.0 ต้องกำหนดเข็มทิศ อีกประการคือ การให้ความรัก ความมั่นคง และความมั่นใจกับเด็ก ครูจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นโค้ชที่ดี เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ที่มีความเมตตา และโรงเรียนควรปรับระบบการสอนให้เป็น Learning Center เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่องค์ความรู้ทั้งโลก”

“พร้อมกันนั้น เสนอกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ด้วยโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) หากกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่นำ SI Model ไปปรับใช้อาจเปลี่ยนระบบนิเวศของการศึกษาให้ทันยุคสมัยได้”

“5 เสาหลักของ SI Model ประกอบด้วย 1.Transparency ความโปร่งใส ทุกโรงเรียนต้องมีรายงาน มีสมุดพกดิจิทัล ต้องมีตัวชี้วัด KPI ของโรงเรียน 2.Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก ต้องสร้างความเชื่อมโยงของโรงเรียนกับชุมชนและครอบครัวให้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบการศึกษาร่วมกัน พร้อมทั้งส่งเสริมสื่อคุณธรรมในช่วง Primetime โดยให้ Incentive เพราะห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือ สื่อ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม

Advertisement

“3.Leadership & Talents สร้างผู้นำและครู/บุคลากรทางการศึกษาที่มีทักษะ 5.0 และควรไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ และต้องสร้างครูให้เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้

4.Child Centric/Empowerment เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางให้อำนาจตัดสินใจ และ 5.Technology ควรมีการปรับสอนให้เกิดการประยุกต์เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน”

จะต้องปรับปรุงระบบนิเวศการศึกษาเร่งด่วนใน 3 ด้านสำคัญ คือ 1.เด็กทุกคนควรต้องมีคอมพิวเตอร์สะอาด 2.ทุกโรงเรียนต้องมี Learning Center เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning ที่มีการผสมผสานความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย และ 3.ควรมีหลักสูตรภาษาคอมพิวเตอร์

“กฎหมายทางการศึกษาต้องเน้นไปเรื่องของธรรมาภิบาล คุณธรรม ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนในระบบการศึกษาต้องปรับกรอบความคิดตามหลักมรรค 8 แม้จะพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยี นำเอไอเข้ามาใช้ ก็ต้องสอนเรื่องคุณธรรม และจริยธรรมให้เป็นเนื้อเดียวกัน และสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนแบบ PPP ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเป็น Learning Center ขณะที่ภาครัฐต้องมีทุนเทคสตาร์ตอัพในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ลูกหลานเติบโตอย่างมีคุณภาพ และปรับตัวได้”

ได้อ่าน มุมมองทางการศึกษาของเจ้าสัวแล้ว คิดอย่างไรกันบ้างครับ

ความคิดก้าวหน้า คมชัด และข้อเสนอแนะน่าฟังน่าสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารการศึกษาไทยจะทำได้แค่ไหน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่านมาและยังดำรงอยู่ ทั้งในทางการเมืองและการบริหารราชการรวมศูนย์ วัฒนธรรมอำนาจยังแข็งแกร่ง

โดยเฉพาะการนำเแนวคิดทั้งหมดให้ไปปรากฏในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หรือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว

ตรงประเด็นกระบวนการบัญญัติกฎหมายนี่แหละเป็นอุปสรรคข้อใหญ่ อย่างที่ผมลำดับความให้รับรู้กันว่า ร่างกฎหมายฉบับเดียว ใช้เวลาสมัยรัฐบาลที่แล้ว 8 ปี จะต้องต่อรัฐบาลชุดนี้อีก 4 ปี เพราะต้องคอยการได้มาของวุฒิสภาชุดใหม่ปลายปี 2567 เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณา

ฝ่ายข้าราชการประจำคาดว่ากว่าจะประกาศใช้กฎหมายใหม่ก็ตกราวปี 2569 โน่น

เมื่อกระบวนการบัญญัติกฎหมายไทยไร้ประสิทธิภาพ ไม่ทันความเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆ ที่คุณศุภชัยเสนอและฝากความหวังไว้ เกรงว่าจะกลายเป็นหมันไปอีก

ทางออกในมุมมองของผมก็คือ ฝ่ายปฏิบัติ โดยเฉพาะครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา ไม่ต้องรอคอยการทำคลอดกฎหมาย ข้อเสนอทั้งหลาย สิ่งใดทำได้ลงมือทำก่อน ทำเลย ทำทันที

“ครูผู้เป็นหน้าด่านสำคัญ อยู่กับเด็กเป็นส่วนใหญ่ แค่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจากเดิมมาเป็นสอนให้เด็ก ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ”

ทำได้ตรงนี้ก่อน ก็มีความหวังแล้วครับ กับการปฏิรูปการศึกษาไทย ส่วนกฎหมายหลักหน้าตาเป็นอย่างไร สัปดาห์จะว่ากันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image