พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : เส้นทาง ผู้นำ ‘วิสัยทัศน์’ ชี้ขาด ใครรุก ใครรับ

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : เส้นทาง ผู้นำ ‘วิสัยทัศน์’ ชี้ขาด ใครรุก ใครรับ

ไม่ว่าจะเป็น “แผนที่ลับ” ไม่ว่าจะเป็น “กระบี่วิเศษ” ไม่ว่าอนุสาสน์อันมาพร้อมกับกระบี่วิเศษ
ล้วนผ่านการตระเตรียม ล้วนผ่านการจัดวาง
สัมผัสได้จากคำกำชับ “เดินตามทางเลียดก๊ก เลียบตามเนินเขาตินฉอง เลยมาเขาโกหุนจึงขึ้นเนินบนเขาหัวไก่ ลงจากเขาเข้าแดนเมืองโปต๋ง เดินทางอีกสองพันเส้นจึงถึงเมือง”
ยืนยันว่าปฏิบัติการเผาสะพานมิได้กระทำอย่างไร้รากฐาน ตรงกันข้าม มีทั้งด้านเปิดและด้านปิด
ทุกอย่างเปิด ณ เบื้องหน้าหานซิ่น
“ถ้าท่านจะกลับมาที่กวนจง จงเดินตามเส้นทางนี้ด้วยคนในเมืองเสียนหยาง เมืองโปต๋ง ไม่มีใครรู้ ท่านอย่าได้แพร่งพรายแก่ผู้ใดเป็นอันขาด”
พูดแล้วก็ส่ง “หนังสือ” ให้

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ทุกกระบวนดำเนินไปตามแผนอันจางเหลียงกำหนด วางไว้ และได้เคยทูลต่อฮั่นอ๋องทุกประการ
ไม่ว่าในเรื่องการทำ “ปริศนา คำเพลง”
อันมีจุดเริ่มต้นมาจาก “หมีอยากผึ้ง เกาะแผ่นศิลาขึ้นหมายว่าผึ้ง พอปะรังมด คล้ากลืนเข้าไปถึงคอ”
ปลุกเร้า “ความคิด” ในเรื่องย้าย “เมือง”
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเสาะหา “แม่ทัพ” โดยพุ่งเป้าไปยังหานซิ่น ซึ่งจุดอ่อนอย่างสำคัญอยู่ที่ฌ้อปาอ๋อง
นั่นก็คือ ไม่ยอม “ปฏิบัติ” ตามคำชี้แนะของฟานเจิง
นั่นก็คือ ประการหนึ่ง สมควรตั้งเป็นขุนนางใหญ่ มิใช่ตั้งเป็นหนึ่ง ทหารถือทวน
นั่นก็คือ ประการหนึ่ง หากไม่แต่งตั้งก็สมควรประหาร
ปรากฏว่า ฌ้อปาอ๋องไม่ “ปฏิบัติ”

จึงเมื่อประเมินผ่านความคิดของหานซิ่น เริ่มจากยินยอมเข้ารับราชการแม้กระทั่งตำแหน่งทหารถือทวนก็ไม่ปฏิเสธ
นี่ย่อมเหมือนกับที่ยินยอม “ลอดหว่างขา” ขาใหญ่
ขณะเดียวกัน การยอมงอ ไม่ยอมหักของหานซิ่นกลับกลายเป็นกระดูกเบ้อเริ่มขวางความรุ่งโรจน์
ฌ้อปาอ๋องเห็นว่าไม่มีศักดิ์ศรี
สมญานาม “ไอ้หนุ่มลอดหว่างขา” ที่ติดตัวหานซิ่นมีผลสะเทือนทั้งในด้านอันเป็นโทษและในด้านอันเป็นคุณ
โทษคือกลบทับความสามารถ “อื่น”
คุณคือคนที่ขานรับสมญานาม “ไอ้หนุ่มลอดหว่างขา” ก็ประเมินหานซิ่นต่ำกว่า
ความเป็นจริง
ไม่คิดฆ่า ไม่คิดกำจัด

ลักษณะ “ร่วม” ในทางความคิดระหว่างฟานเจิง ที่ปรึกษาฌ้อปาอ๋อง กับ จางเหลียง ที่ปรึกษาฮั่นอ๋อง
ไม่พึงมองข้าม
มีความเฉียบคมในระนาบเดียวกันเมื่อมองไปยังรายละเอียดของหานซิ่น เพียงแต่ 1 ท่าทีต่างกัน
ยิ่งเมื่อรับใช้ “นาย” คนละคน ยิ่งแหลมคม
ฟานเจิงมองเห็นในความสามารถเหนือคนของหานซิ่น แต่ดำรงอยู่บนหลักคิดว่าหากเกลี้ยกล่อมมาเป็นพวกไม่ได้
ต้อง “กำจัด” ให้พ้น “เส้นทาง”
แต่จางเหลียงมองในทางยุทธศาสตร์มากกว่า นั่นเพราะมองเห็นข้อจำกัดภายในองค์ประกอบของฮั่นอ๋อง
การตัดสินใจในเรื่อง “หานซิ่น” จึงชี้ “อนาคต”

Advertisement

ระยะกาลนี้อาจเน้นอย่างเป็นการจำเพาะไปยังลักษณะปฏิสัมพันธ์ระหว่างฌ้อปาอ๋องกับหานซิ่นเป็นหลัก
แม้ฟานเจิงจะมองเห็น “รูปสุวรรณ” อยู่ “ชั้นใน”
กระนั้น หากจัดท่วงท่าอาการของเซี่ยงป๋ออันถือว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ฌ้อปาอ๋องให้ความนับถือ
กลับมิได้มองเห็น “รูปสุวรรณ” อยู่ “ชั้นใน”
ตรงกันข้าม โดยกระบวนการดำรงอยู่ โดยกระบวนการทำงานของเซี่ยงป๋อกลับสร้างโอกาสให้กับจางเหลียง
เมื่อจางเหลียงแอบอ่าน “หนังสือ” อันหานซิ่นนำเสนอตัวเอง

หากเริ่มต้นจากหนังสือของหานซิ่นที่เรียบเรียงเสนอตัวเองต่อพระเจ้าฌ้อปาอ๋องก็จะเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการ
เมื่อไม่มีระบบ “คัดเลือก” ก็ดำเนินไป 2 แนวทาง
แนวทาง 1 คือเสาะแสวงหาต้นไม้ใหญ่ อาศัยการอุปถัมภ์เพื่อนำพาตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่าย
แนวทาง 1 เสนอตัวเอง
กระบวนการเสนอตัวเองดำเนินไปในลักษณะมีความจำเป็นต้องแยกมิตร แยกศัตรูออกมาให้แจ่มชัด
เข้าใจในฌ้อปาอ๋อง เข้าใจในฮั่นอ๋อง
สะท้อนให้เห็นว่าจอมยุทธ์ในอดีตไม่เพียงแต่จะเข้าใจใน “ปัจจุบัน” จำเป็นต้องศึกษา “อดีต”
กำหนด “ข้อเสนอ” ขับเน้น “ทางออก”
จึงไม่เพียงแต่ฌ้อปาอ๋อง จึงไม่เพียงแต่ฮั่นอ๋อง จึงไม่เพียงแต่จางเหลียง จึงไม่เพียงแต่หานซิ่น
นอกจากฝึกวิชา “ต่อสู้” ยังต้องเรียนรู้ “อดีต”
กล่าวสำหรับยุคฉินตอนปลาย สรรพตำราอันยึดถือเป็น “คัมภีร์” ย่อมเป็นเรื่องในยุคของเลียดก๊ก
เป็นเรื่องของ “ซุนบู๊จู่” อันมากด้วยความพิสดาร
นี่ย่อมดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็นขนบและธรรมนิยมที่จอมยุทธ์ต้องร่ำเรียนทั้งในด้านบุ๋นและในด้านบู๊
เพียงแต่เมื่อถึงก้าวอันเหมาะสมก็จำเป็นต้อง “เลือก”
ตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมเป็นอย่างมากย่อมเป็นตัวอย่างจาก จางเหลียง เซียวเหอ และหานซิ่น
เซียวเหอ บริหารภายในเรื่องการปกครอง ตระเตรียมเสบียงกรัง
หานซิ่นบริหารกองทัพอย่างสอดประสานกับกระบวนการนำอย่างเฉียบขาดของฮั่นอ๋อง
จางเหลียง บริหารในด้านกลยุทธ์

เมื่อมองจากด้านของหานซิ่นก็ต้องยอมรับว่า หานซิ่นดำรงอยู่อย่างเป็นดาวฤกษ์ รอการค้นพบจากผู้มีสายตาแหลมคม
แหลมคมระดับฟานเจิง แหลมคมระดับจางเหลียง
รายละเอียดอันประกอบส่วนเป็นจางเหลียงก็น่าศึกษาอย่างยิ่งอยู่แล้ว รายละเอียดอันประกอบส่วนเป็นฟานเจิงยิ่งน่าศึกษา
ทั้งสองล้วนมองหานซิ่นเป็นเป้าหมาย
ฟานเจิงเห็นก่อน จางเหลียงเห็นภายหลัง แต่โอกาสกลับตกเป็นของจางเหลียงมิได้เป็นของฟานเจิง
เหมือนกับจะเป็นเรื่องของ “ชะตากรรม”
อาจมองเห็นว่าเป็นเช่นนั้นได้ แต่เมื่อนำเอาแต่ละก้าวย่างมาวิเคราะห์ แยกแยะในแต่องคาพยพก็จะเห็นว่าอาจเป็นเรื่องของภาววิสัยมากกว่า
เป็นภาววิสัยทางด้านจางเหลียง มากกว่าทางด้านของฟานเจิง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image