ท่องเที่ยวเมืองรอง : ควรจัดลำดับ อย่าเหมาเข่ง

ท่องเที่ยวเมืองรอง : ควรจัดลำดับ อย่าเหมาเข่ง

ขณะนี้ภาคท่องเที่ยวกำลังได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากเพราะเป็นเทอร์โบหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พุ่งไปข้างหน้า และต้องการขยายการท่องเที่ยวไปให้หลากหลายกว่าที่มีอยู่เดิม สร้างเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปให้ทั่วถึง นายกรัฐมนตรีถึงกับลงทุนเป็น salesman ท่องเที่ยวด้วยตนเอง แถมมี campaign ignite Thailand ที่มีเป้าหมายให้ไทยเป็น hub ด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นการท่องเที่ยวไปในเมืองรอง

ท่านผู้อ่านคงอยากรู้ว่าอะไรเป็นเมืองหลักและเมืองรองตามการแบ่งของรัฐบาล ซึ่งน่าจะใช้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นหลัก จะมีเมืองหลัก 22 จังหวัด (ดูกล่องที่ 1) จะเห็นว่าเมืองหลักมีจำนวนมากกว่าที่เราคิด

Advertisement

ส่วนผู้คนที่อยู่ในเมืองที่ถูกจัดอยู่ในเมืองรอง มักจะบ่นเพราะรู้สึกเหมือนว่าจะตกเป็นเบี้ยล่างจังหวัดอื่นตลอดเวลา ผู้เขียนจึงขอเสนอให้มีการจัดลำดับเมืองท่องเที่ยวตามศักยภาพของการท่องเที่ยวทั้งในด้านผู้มาเยือน (ดีมานด์) ซึ่งมี 18 ตัวชี้วัด และดัชนีด้านซัพพลาย 2 ตัว ได้แก่ ดัชนีเจ้าบ้าน (ความพร้อม) ซึ่งมี 56 ตัวชี้วัด และยังได้เพิ่มดัชนี BCG ตามนโยบายของรัฐซึ่งมี 16 ตัวชี้วัด รวมกันแล้วจะได้ดัชนีรวบยอดซึ่งเป็นดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยวมีทั้งสิ้น 81 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดนี้จะเป็นตัวชี้วัดประจำจังหวัดและเปลี่ยนทุกปี เนื่องจากการสร้างดัชนีจะล้อตามดัชนี Travel and Tourism Competitive Index ของ World Economic Forum (WEF)

การสร้างดัชนีนี้มีประวัติมายาวนาน โดยเริ่มในปี 2558 มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะได้รับทุนสนับสนุนโดย ททท. ให้จัดดัชนีความน่าลงทุนของจังหวัดต่างๆ ซึ่งในตอนนั้นมีแต่ดัชนีด้านซัพพลาย ต่อมาหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้ทุนสนับสนุนเพื่อจัดทำเป็นดัชนีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวจังหวัด โดยให้เพิ่มดัชนีด้านดีมานด์ ในปี 2566 ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ปรับปรุงดัชนีรวมและเพิ่มดัชนี BCG เข้ามา ผลของการจัดลำดับดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งเป็นดัชนีรวบยอดซึ่งรวมผลของดัชนีทางด้านดีมานด์และซัพพลายนำมาจัดลำดับได้ 20 ลำดับแรก จาก 76 ลำดับ (ดูตารางที่ 1)

Advertisement

ดูผลลัพธ์แล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ภูเก็ตจะได้ลำดับที่ 1 รองลงมาคือ ชลบุรีและเชียงใหม่ ที่จริงถ้าดูคะแนนแล้ว เมืองเอกน่าจะเป็นแค่ 3 จังหวัดแรก ส่วนกลุ่มเมืองโทจะเป็นอีก 7 จังหวัดถัดไป กลุ่มเมืองตรีน่าจะเป็นลำดับที่ 11-20 การจัดลำดับโดยใช้ข้อมูลในปี 2565 นี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนักท่องเที่ยวในประเทศ ที่น่าสนใจคือบุรีรัมย์ที่แต่เดิมไม่เคยอยู่ใน 20 จังหวัดแรกได้ขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 11 อีกจังหวัดหนึ่งก็คือจังหวัดนครราชสีมาซึ่งก่อนโควิด-19 เคยอยู่ลำดับที่ 8 แต่หลังโควิด-19 ได้ขึ้นมาถึงลำดับที่ 4 เพราะในช่วงโควิด-19 คนไทยมักจะเที่ยวเมืองที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ เพราะสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้ไม่ต้องใช้การเดินทางสาธารณะ ดังนั้น เมืองท่องเที่ยวรอบๆ กรุงเทพฯ ได้แก่ นครราชสีมา เพชรบุรี และสมุทรสงคราม จึงมีลำดับที่ดีขึ้น ส่วนจังหวัดที่อาศัยการท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยต้องเดินทางจาก กทม. ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ด้วยเครื่องบิน เช่น กระบี่และพังงา จึงมีลำดับลดลง

ในกรณีที่ดัชนีเจ้าบ้านอยู่ในลำดับต่ำกว่าดัชนีผู้มาเยือนมาก หมายความว่ามีความพร้อมน้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาใช้ทรัพยากร รัฐต้องลงทุนให้เกิดความพร้อมมากขึ้นเช่น สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย กาญจนบุรี เพชรบุรี ส่วนจังหวัดที่ดัชนีผู้มาเยือนอยู่ในลำดับต่ำกว่าลำดับดัชนีเจ้าบ้าน หมายความว่า รัฐต้องลงทุนในการโปรโมตการท่องเที่ยว ดัชนีชุดนี้ยังมีดัชนีย่อยอีก 5 ตัว และตัวชี้วัด 81 ตัว ซึ่งจะชี้ให้แต่ละจังหวัดเห็นช่องว่างและจุดอ่อนของตน

ชุดดัชนีนี้ชี้ให้เห็นข้อมูลสำคัญว่า จังหวัดท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองมีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่างกัน ดังนั้น การโปรโมตก็ต้องทำต่างกัน จังหวัดไหนที่ยังไม่พร้อมก็ต้องไปดูตัวชี้วัดย่อยว่าไม่พร้อมเรื่องอะไร

ไม่ควรเหมารวมเข่งเป็นเมืองรองไปหมด!! คราวหน้าเราจะมาดูดัชนีย่อยกันนะคะ

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารเรื่อง การปรับปรุงดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยวและการพัฒนาดัชนี BCG ด้านการท่องเที่ยว ได้ฟรีที่ https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=466

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิที่สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image