ภาพเก่าเล่าตำนาน : 3กองกำลัง…ทำศึกถล่มกองทัพพม่า เพราะแผ่นดินเราติดกัน…

ตลอด 80 ปี สงครามกลางเมืองในพม่า แทบจะไม่เคยมีวันหยุด กลุ่มชาติพันธุ์หลัก 8 กลุ่ม รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บะหม่า (พม่า) ไม่มีใครเชื่อใจใคร สัญญา-ข้อตกลง หลายฉบับมีไว้ฉีกทิ้ง

สัญญา-ข้อตกลง ที่เป็นความหวังครั้งล่าสุด คือ “ข้อตกลงหยุดยิงทั้งประเทศ” (NCA: National Ceasefire Agreement) ที่มีอันเป็นไป…กลายเป็นตำนานอีกเช่นกัน

15 ตุลาคม 2558 รัฐบาลเมียนมา โดยประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในฐานะผู้นำประเทศและองค์กรชาติพันธุ์ 8 องค์กร ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดประกายความหวังให้แผ่นดินพม่า ที่มืดมิดเพราะหักหลังกันเองมาหลายทศวรรษ

เป็นเรื่องยากเข็ญใจ ที่จะจดจำได้ว่า กลุ่มไหนเป็นใคร เปลี่ยนชื่อหน่วย ตั้งหน่วย/กลุ่มใหม่ กลับไปภักดีกับหน่วยเดิม มีลูกพี่หนุนหลัง มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ กองกำลังของแทบทุกฝ่าย ถนัดทำการค้า ขอเก็บภาษี มีธุรกิจเรื่อง “ยาเสพติด” เป็นงานเสริม

Advertisement

ไทย…ดีใจออกนอกหน้าที่เกิด NCA เพราะยังมีประชาชนจากแผ่นดินพม่า ตกค้างที่ชายแดนในไทยมา 40 ปี ราว 9 หมื่นคน

(เรื่องคน 9 หมื่นคน ใน 7 ค่ายฯ ชายแดน ไม่มีใครอยากได้ยิน)

ระหว่างที่อยู่ในบรรยากาศของการหยุดยิงตาม NCA

Advertisement

1 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำสูงสุดของพม่า ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทหารเข้าปกครองแผ่นดิน (อีกแล้ว) …ข้อตกลง NCA กลายเป็น “สิ่งชำรุด”

เรื่องของ อำนาจ เงินตรา บารมี ไม่เข้าใครออกใคร ผู้นำของทุกกลุ่มประสงค์จะเป็นใหญ่ไปจนตาย ต้องการส่งมอบอำนาจ ผลประโยชน์ ทรัพยากร ในดินแดนของตนให้ลูกหลาน

การเข้ามารวมกันเป็นประเทศ-รัฐ อยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ด้วยกันเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เลยต้องทำศึกสงคราม สังหารกันมาตลอด

ผู้นำและบริวารใกล้ชิด แม้ว่าจะอยู่ในป่าเขา จะกินดี อยู่ดี มีเงินปลอดภัย ไม่ต้องไปสู้รบ มีหน้าที่ปลุกใจ สั่งการให้คนอื่นไปตาย…

ยาเสพติด ค้ามนุษย์ อาวุธสงคราม ธุรกิจสีเทาดำ เป็นห่วงโซ่อาหารสำหรับการสู้รบในแผ่นดินพม่ามาแสนนาน พื้นที่ตรงตะเข็บชายแดน ระหว่าง พม่า-ไทย พม่า-จีน พม่า-ลาว ทั่วโลกคุ้นเคยในชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ ล่าสุด คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์

เหตุการณ์ที่ไม่ค่อยมีใครทราบ คือ ในช่วงปี พ.ศ.2517-2527 หน่วยปราบยาเสพติดของสหรัฐ สมทบด้วยหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) เคยเข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลพม่า มอบเฮลิคอปเตอร์ 12 ลำ เครื่องบินฟอกเกอร์ 1 ลำ ให้ยาพ่นเพื่อทำลายฝิ่น ให้เครื่องมือสื่อสาร เครื่องตรวจจับความร้อนในเวลากลางคืน ใช้เงินกำจัดฝิ่นไป 65 ล้านเหรียญสหรัฐ สหประชาชาติให้เงินมาอีก 6.5 ล้านเหรียญ เพื่อปลูกพืชทดแทน รักษาผู้ติดยา…

กองกำลังที่ไม่รู้ใครเป็นใครบนพื้นที่สูง หลอกเอาเงินมะกันไปกินกันพุงกาง พื้นที่ปลูกฝิ่นไม่หาย ไม่ลด ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน (Shan State) ที่ติดกับจีนและบนสุดของไทย แถมยังพัฒนาต่อไปเป็นเฮโรอีน

กลับมาที่สงครามในพม่า…

1 ก.พ.64 หลังการยึดอำนาจ…ประชาชนทุกกลุ่มในพม่าไม่ใช่ “หมู” อีกต่อไป ทุกกลุ่มชาติพันธุ์แสดงการต่อต้าน-ขัดขืน-ต่อสู้ แบบโลกต้องหันมามองในความเป็นนักสู้ ต่อต้านเผด็จการ … กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มในป่าเขา …สบโอกาสสร้างเสริมกำลังรบ

ช่วงแรก… “ขุนศึก” น้อยใหญ่ ของกลุ่มต่างๆ สงวนท่าที ใครจะจับมือกับใคร ใครจะ “กั๊ก” ใครจะเล่น 2 หน้า ทุกคนปิดปากเงียบ

ปลาย ก.ย.66 ปรากฏข่าวเรื่อง ธุรกิจจีนเทา ทางตอนเหนือของพม่าที่พรมแดนติดต่อกัน …มหานครแห่งความบันเทิง การพนัน โสเภณี ยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อาละวาดเข้าไปในจีนตอนใต้ ถูกตีแผ่โดยทางการจีน

เมืองเล้าก์ก่าย ตอนเหนือของรัฐฉาน แสนจะอลังการ พร้อมทั้งคนไทยชาย-หญิง ที่ไปถูกจับนับร้อยคน กลายเป็นข่าวใหญ่ที่คนไทยไม่เคยรู้มาก่อน ทางการจีนส่งกำลังเข้าไปกวาดล้าง เพราะเจ้าหน้าที่ทางการพม่ารู้เห็น-เป็นใจ กินสินบนไปกับเขา

กลุ่มต่างๆ ที่ทำมาหากิน มีอาวุธ มีผลประโยชน์ของตน หากแต่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ล้วนมีเชื้อสายจีน

27 ตุลาคม 2566 สงครามทางตอนเหนือในพม่า เริ่มขึ้นอีกครั้งแบบ “แผ่นดินเดือด” 3 กลุ่มติดอาวุธหลัก กลุ่มโกก้าง (MNDAA) กลุ่มอาระกัน (AA) และกลุ่มตะอาง (TNLA) เป็นกลุ่มพันธมิตรทางด้านการเมืองและการทหารที่มีความเข้มแข็งรวมตัวกัน เปิดยุทธการ รบกับกองทัพพม่าด้วยสารพัดเหตุผล

แต่ที่ประจักษ์ชัด คือ ทำสงครามเพื่อกดดัน ลดทอนอำนาจรัฐบาลทหารพม่า เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม รวมไปถึง “ระบบการปกครอง” แบบสหพันธรัฐ (Federation)

3 กองกำลังที่ฮึกเหิม ตกลงใจ กระจาย แยกย้ายกันเข้าตีที่หมาย ฐานทหารพม่า สถานีตำรวจ แบบหลายจุดพร้อมกัน ใช้โดรนแบบบ้านๆ เข้าไปหย่อนระเบิด …ได้ผลชะงัด

คลิปบันทึกภาพการสู้รบ เริ่มแพร่ออกมาทางสื่อโซเชียล ทหารพม่าแตกพ่าย หนีทัพ ยอมแพ้ ครั้งแล้วครั้งเล่า อาวุธทันสมัยของกองทัพพม่า “เปลี่ยน” ไปอยู่ในมือของกลุ่มต่อต้าน

ประชาชนที่เกลียดการยึดอำนาจ เป็นแนวร่วมที่มีพลัง

3 กลุ่มที่เปิดเผยตัวตน…ทำสงคราม มีดังนี้ครับ…

ก ลุ่มโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA) เป็นชาวจีนฮั่นแท้ๆ ที่อพยพมายึดดินแดนบริเวณชายแดนระหว่างรัฐฉานกับจีน ต่อสู้ขับเคี่ยวกับรัฐบาลพม่าอย่างหนักมาหลายสิบปี ดินแดนของโกก้างอยู่ทางฝั่งตะวันออกสุดของรัฐฉาน มีแม่น้ำสาละวินกั้นขวางระหว่างดินแดนฉานกับโกก้าง ส่วนดินแดนทางใต้ของโกก้างติดกับเขตปกครองตนเองของกลุ่มว้า กลุ่มโกก้างมีปัญหากับกลุ่มกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง

ครั้งกระโน้น…เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองพม่า มีนโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เลยให้ยศ “เจ้าฟ้า” ให้ชนชั้นนำ อยู่สบาย มีกิน มีใช้ ยุคต่อมาโกก้างเข้าไปใกล้ชิดจีน เลยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไป หลังสิ้นสุดยุคคอมมิวนิสต์ อำนาจไปอยู่ในมือพวกค้ายาเสพติดรายได้ดีที่ก่อตั้งกองกำลังชื่อ MNDAA มีกำลังรบราว 3 พันนาย

โกก้างและกลุ่มว้า พัวพันการค้ายา ขนส่งยาเข้าไปยังจีน รวมถึงไทย ทำให้รัฐบาลพม่าใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้นำโกก้างถูกเนรเทศไปอยู่ที่จีนนานถึง 5 ปี มีอุดมการณ์ว่า…จะทวงคืนสิทธิในการปกครองตนเองของชาวโกก้าง ไม่ขอเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มอื่นๆ

กลุ่มตะอาง (Ta’ang National Liberation Army : TNLA) เคยเป็นแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (PSLF) ยึดครองพื้นที่ในรัฐฉานตอนเหนือ เมืองในรัฐฉานที่อยู่ภายใต้การปกครองของกองกำลัง TNLA คือ เมืองน้ำสั่น น้ำตู้ ม่านต้ง และน้ำคำ ซึ่งอยู่ชายแดนจีน-พม่า TNLA เข้าร่วมยุทธการ 1027 เรียกระดมพลเด็กหนุ่มในเมืองเข้าเป็นทหารสังกัด TNLA รบดุเดือดกับทหารพม่า

กองทัพตะอาง เคยทำงานกับแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง ยืนกรานการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองตนเองสำหรับชาวตะอาง ในปัจจุบัน กองกำลัง TNLA เป็นพันธมิตรกับกองกำลังเอกราชคะฉิ่น

กองทัพตะอาง ประกาศตนว่าจะต่อต้านรัฐบาลคณะรัฐประหารของกองทัพพม่า

TNLA แบ่งทหารเป็น 7 ภาค และแบ่งภาคการบริหารออกเป็น 5 เขต นอกจากนี้ยังมีการจัดกำลังทั้งสิ้น 7 กองพลน้อย แต่ละกองพลน้อยแบ่งออกเป็น 5 กองพัน

ยุทธการ 1027 กองกำลัง TNLA เฉียบขาดในการยึดครองเมืองน้ำสั่น ที่เป็นศูนย์กลางการค้าของรัฐฉาน นอกจากนั้นยังยึดได้ เมืองน้ำตู้ ม่านต้ง น้ำคำ ก๊ดขาย เมืองลน และเมืองง็อด โดยกองกำลัง TNLA กำลังจะตั้งเขตการบริหารดินแดนที่ยึดครองมาได้

กองกำลังอาระกัน (Arakan Army : AA) กองกำลังติดอาวุธที่มีอุดมการณ์หนักแน่น ประกาศขอปกครองตัวเองในรัฐยะไข่ เป็นชาติพันธุ์นับถือพุทธ เคยโดนกองทัพพม่าล้อมปราบสุดโหด

รัฐยะไข่ อยู่ตรงตะวันตกสุดของพรมแดนพม่าติดกับอ่าวเบงกอลและบังกลาเทศ เดิมทียะไข่เป็น “อาณาจักรอิสระ” ไม่ขึ้นกับพม่า มีการปกครองตัวเอง เรียกตนเองว่า “อาระกัน” มีชาวโรฮีนจาที่นับถืออิสลาม เป็นประชากรส่วนน้อย รัฐยะไข่เป็นรัฐที่ยากจนสุดในประเทศพม่า คุณภาพชีวิตต่ำกว่ารัฐอื่นๆ เคยโดนกองทัพพม่าล้อมปราบแบบโหด ประกาศตนว่า จะต้องชำระแค้นและต้องเป็นเอกราช

ชาวอาระกันยากจน ต้องไปทำงานหาเงินใน “เหมืองหยก” ในรัฐคะฉิ่น (Kachin) ที่อยู่เหนือสุดติดกับจีนโน่น เมื่อพบกับ “มิตรแท้ชาวกะฉิ่น” ที่ไม่ชอบรัฐบาลทหารพม่า เลยกลายเป็นพันธมิตร

ปี พ.ศ.2552 ชาวอาระกันกลุ่มเล็กๆ ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ โดยกองทัพคะฉิ่น เป็นพี่เลี้ยง ฝึกอบรม

กองทัพอาระกัน โชคดี …ผู้นำกลุ่ม คือพลตรี ตวัน มยัด นายง์ (Twan Mrat Naing) หนุ่มวัย 41 ปี ที่เก่งกาจในการรบและการเมือง เป็นชาวอาระกัน จบการศึกษาในมหาวิทยาลัยซิตเว ด้านวิศวกรรม หนุ่มหล่อคนนี้เคยไปทำงานและเป็นไกด์ทัวร์ในเหมืองหยก ในรัฐคะฉิ่น

บุคลิกอันมุ่งมั่น ดึงดูดชายหญิงอาระกันเข้ามาสมัครทหารจำนวนมาก ที่สำคัญภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันของนายพลดีมาก

การสู้รบในแผ่นดินพม่ายังดำเนินต่อไป อำนาจเด็ดขาดจะอยู่ในมือของ “ผู้ชนะสงคราม” เสมอ ทุกกลุ่มพร้อมจะเป็น “รัฐอิสระ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image