ประคองจิตยามวุ่นวายใจ

ประคองจิตยามวุ่นวายใจ

ข่าวสำคัญขณะนี้คือ กกต. มีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยมีข้อกล่าวหาว่า การหาเสียงของพรรคที่จะเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 นั้น เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ข่าวนี้ทำให้ผมจิตตกอย่างมาก หน้าที่หลักของ กกต. คือการจัดให้การเลือกตั้งมีความสุจริตและยุติธรรม และเท่าที่ทราบ พรรคก้าวไกลตั้งใจให้การเลือกตั้งสุจริตและยุติธรรมมิใช่หรือ ไม่มีข่าวว่าผู้สมัครของพรรคนี้ซื้อสิทธิ์ซื้อเสียงมิใช่หรือ กกต. กำลังใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งอาจทำให้เสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 39 % ไม่เป็นผลมิใช่หรือ แล้วพวกเขาจะมาล้มล้างประชาธิปไตยทำไมกัน

ผมเลยหาทางประคับประคองใจในยามที่การเมืองทั้งในและต่างประเทศวุ่นวายนัก จึงหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านสามเล่ม ซึ่งล้วนเป็นคติที่สืบสายธรรมมาแต่โบราณ และอยากแบ่งปันเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีจิตตกอย่างผม ตลอดจนผู้มีอำนาจหน้าที่ทั้งหลาย

เล่มแรกชื่อ “ราชนีติ” นิพนธ์โดยพราหมณ์อนันตญาณและพราหมณ์คณมิสกะ เมื่อประมาณสองพันปีล่วงแล้ว โดยเชื่อว่ารวบรวมจากคติที่ถ่ายทอดกันมาแบบปากต่อปาก (มุขปาฐะ) มาก่อนหน้านั้นอีก ราชนีติ เป็นคำผสมระหว่างคำว่า “ราชา” หรือ “รัฐ” กับคำว่า “นีติ” ซึ่งหมายความถึง “สิ่งที่เกี่ยวกับความประพฤติ” ความหมายของราชนีติคือ “ความประพฤติของรัฐ” หรือศาสตร์แห่งการปกครองนั่นเอง ในสมัยโบราณนั้น ผู้ปกครองคือเจ้าผู้สืบราชสมบัติ ในปัจจุบัน ผู้ปกครองรัฐน่าจะมาจากฉันทานุมัติของปวงชน หนังสือเล่มนี้มีสำนวนแปลเป็นภาษาไทยหลายสำนวน ล่าสุด เกษม บุญศิริได้ชำระภาษาบาลีและภาษาไทยใหม่อีกครั้ง และทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว กับสมพงษ์ สุวรรณจิตกุลได้ถอดความเป็นภาษาอังกฤษ

Advertisement

บัณฑิตอินเดียได้พัฒนาศาสตร์แห่งการปกครอง (ราชนีติ) เพื่อให้มีการจัดระเบียบรัฐ เพื่อรักษาสังคมและความมั่นคง เพื่อให้อำนาจมีความชอบธรรม มิให้เป็นไปตามแนวโน้ม “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือให้ปลอดพ้นจากอำนาจบาตรใหญ่นั่นเอง ราชนีติประพันธ์ขึ้นในสังคมการเมืองที่การปกครองเป็นระบอบราชาธิปไตย และข้อความจะเกี่ยวกับความประพฤติที่เหมาะสมของพระราชา อย่างไรก็ดี ควรจะตีความราชนีติให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน และราชาหมายถึงรัฐดังที่กล่าวแล้ว ต่อไปจะขอยกความบางตอนของราชนีติที่น่าสนใจมาแสดง

“ผู้ยากไร้ แต่ทรงคุณปรากฏเป็นคนกล้า เป็นผู้ดี พระเจ้าอยู่หัวก็ควรทรงชุบเลี้ยงเป็นข้าเฝ้า (servant) เพื่อประชาชนจะได้ทราบว่า มีคนดีเป็นข้าเฝ้าประจำราชสำนัก” เรื่องนี้น่าจะเตือนใจผู้ปกครองรัฐให้พยายามมากขึ้น ในการ “ใช้คนให้เหมาะแก่หน้าที่ตามความสามารถ” (put the right man on the right job) และในการทำให้ประชาชนประจักษ์ว่ามีคนดีมาช่วยบริหารประเทศ

ราชนีติได้กล่าวถึงราชธรรมไว้ดังนี้ “ทาน 1 ศีล 1 การบริจาค 1 ความซื่อตรง 1 อัธยาศัยอ่อนโยน 1 เพียรเผาบาป 1 ไม่โกรธ 1 ไม่เบียดเบียน 1 ขันติ 1 ไม่ร้ายกาจ 1 ทั้ง 10 นี้เรียก ราชธรรม พระราชาธิบดีผู้ทรงธรรมต้องประพฤติเป็นวัตรโดยความไม่ประมาท” เมื่อค้นหาคำว่า “ทศพิธราชธรรม” ในวิกิพีเดีย ได้ความว่า ราชธรรม 10 ปรากฏอยู่ในมหาหังสชาดก พระสูตร ขฺททกนิกายชาดก และวิกิพีเดียให้ความเห็นว่า ไม่ได้เจาะจงเฉพาะผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น ผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้ จึงขอฝากให้ กกต. พิจารณาหลักธรรมเหล่านี้เช่นกัน
สำหรับหลักธรรมข้อที่ 10 ราชนีติเขียนไว้ว่า “ไม่ร้ายกาจ” และมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “good-spirited” ส่วนวิกิพีเดียใช้คำว่า “ความเที่ยงธรรม” (อวิโรธนํ) คือความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก … ไม่เอนไปเอนมาตามคำยุยง” ผมขอตีความรวม ๆ ว่า หลักธรรมข้อนี้ หมายถึงความเที่ยงธรรมและความมีจิตใจดี พร้อมที่จะคำนึงถึงหลักธรรมข้อที่ 5 เรื่องความอ่อนโยนประกอบด้วย

Advertisement

สำหรับหลักธรรมสี่ข้อแรก ผมตีความว่ารัฐจะต้องจัดสวัสดิการให้แก่ราษฎรอย่างทั่วถึง และอย่างสุจริต ไม่รั่วไหลเข้าพกเข้าห่อของใคร ในเรื่องราษฎรนั้น ราชนีติจำแนกไว้ในอีกข้อความหนึ่งว่า “กสิกร 1 พ่อค้า 1 ข้าเฝ้า 1 สมณะมีความรู้และทรงศีล 1 เมื่อคนเหล่านี้มั่งคั่งตามส่วนที่เหมาะแก่ตน ประเทศชาติก็มั่งคั่งเช่นกัน เมื่อคนเหล่านั้นทุพพลภาพ ประเทศก็พลอยทุพพลภาพ เพราะเหตุนั้น พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงรับภาระของประเทศ ต้องบำรุงรัฐมณฑลพร้อมทั้งพสกนิกรทั่วหน้าให้มั่งคั่ง … ประเทศเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ พระราชาธิบดีพระองค์ใด ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยธรรม พระราชาธิบดีพระองค์นั้น จัดว่าได้เสวยรสของพสกนิกรผู้จงรักภักดี ทั้งรัฐมณฑลก็ดำรงมั่นด้วย พระราชาธิบดีพระองค์ใด ทรงปกครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์โดยอธรรม พระราชาธิบดีพระองค์นั้นจัดเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร้ายกาจ”

หนังสือเล่มที่สองที่ขอยกมาอ้างมีชื่อว่า “เรียงถ้อย ร้อยธรรม ลำนำกวีแห่งเต๋า” ธำรง ปัทมภาส ถอดความและเรียบเรียง ในบทนำ มีข้อความที่แนะนำกวีเหล่านี้ว่า “มิใช่เพียงมีจุดมุ่งหมายเพื่อกล่อมเกลาจิตใจผู้คนให้หันสู่กุศลมรรคและวิถีแห่งเต๋า หากในอุดมคติแล้ว ย่อมหวังให้มนุษย์เราได้ค้นหาความมหัศจรรย์ของชีวิตและจิตวิญญาณแห่งความดีงาม ทั้งยังเรียกร้องให้ผู้คนที่วนเวียนอยู่ในการแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ ให้กำราบความเห็นแก่ตัวของตนลง”

บทกวีที่ขอยกมากล่าวในที่นี้มีชื่อว่า “สันโดษ” ซึ่งนักพรตหลิวไห่ฉาน รจนาไว้ดังนี้

“กองกำลังร้อยหมื่นใต้บังคับบัญชา

มีอำนาจล้นฟ้าคุมทหาร

เหล่าขุนศึกเสนาบดีและขุนนาง

ล้วนส้องเสพอัครฐานเป็นธรรมดา

จึงสละบุ๋น-บู๊ทั้งยศศักดิ์

เคยบำรุงรัฐเยี่ยนเพียรศึกษา

เกิดสงครามแก่งแย่งชิงพารา

ถือสันโดษมุ่งมรรคาสู่ป่าไพร

บำเพ็ญพรตพรหมจรรย์หมั่นพากเพียร

บรรลุธรรมสำเร็จเซียนสิ้นสงสัย

ท่องทะยานกลางนภาพาสุขใจ

วันเดือนปีล่วงผ่านไปไม่คำนึง

มาบัดนี้ยศอำนาจปลาสสิ้น

จึงผกผินสู่ทางธรรมหมายย่ำถึง

นับแต่นี้โลกีย์วิสัยไม่รำพึง

หมายมั่นมุ่งถึงเผิงไหลไปเป็นเซียน

นักพรตหลิวไห่ฉาน เป็นบัณฑิตและเสนาบดีของรัฐเยี่ยน ต่อมาเกิดสงครามระหว่างรัฐต่าง ๆ เหล่าขุนศึกขุนนางต่างแก่งแย่งชิงดี ประกอบกับหลิวไห่ฉานมีโอกาสได้พบพานกับนักพรตเจิ่งหยางจื่อ ซึ่งได้แนะนำหลักธรรมสว่างให้เป็นโศลกว่า

คนอาศัยในแดนแห่งยศศักดิ์

เหยียบหล่มปลักภยันตรายกรายถลำ

สู่หุบเหวความวิบัติอันมืดดำ

เพราะย่างย่ำในยศฐาประดามี

หากประจักษ์ในหลักความเป็นไปแห่งโลกธรรมที่ว่า มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ยศศักดิ์อัครฐานทั้งหมดที่ได้มาเป็นเพียงวาสนาในครั้งคราว ไม่อาจยึดครองยืนยาวอยู่เป็นนิรันดร ดังนั้น พึงรู้เท่าทันใจตนอย่าหลงเมามันในอำนาจ มิควรฉ้อราษฎร์บังหลวง ประกอบกิจทั้งปวงด้วยความสัตย์สุจริต อุทิศตัวด้วยความเสียสละ เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม”

แวะพึ่งพาคัมภีร์ภารตะมาก็แล้ว ฟังลำนำกวีของนักพรตอันไพเราะก็ดี แต่คงไม่พอที่จะหว่านล้อมใจให้ลดละการยึดมั่นถือมั่น คงต้องพึ่งการฝึกฝนตนให้ไปพ้นทั้งความคิดและความรู้สึก จึงขอหันไปพึ่งแรงศรัทธาจากญี่ปุ่นบ้าง หนังสือเล่มที่สามที่หยิบมาพลิกอ่านคือ “รหัสยนัยแห่งชีวิต จิตใจเซน : จิตใจของผู้เริ่มฝึกหัด” เขียนโดย ซุนเรียว ซูสุกิ แปลโดย วรรณี อัศวชนานนท์

ปัจฉิมบทของหนังสือเล่มนี้มีข้อความว่า “ชาวพุทธเราไม่มีความคิดว่าสรรพสิ่งเป็นวัตถุอย่างเดียว หรือเป็นจิตอย่างเดียว หรือเป็นผลผลิตของจิต หรือจิตเป็นสารัตถะของสิ่ง สิ่งที่เราพูดกันอยู่เสมอก็คือนามรูป กายและจิตเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ ถ้าเธอฟังไม่ดี จะคล้ายกับว่าเรากำลังพูดถึงสารัตถะบางอย่างของสิ่ง หรือกำลังพูดถึง “วัตถุ” หรือ “จิตวิญญาณ” นั่นอาจจะเป็นการแปลความอย่างหนึ่ง ๆ ก็ได้ แต่จริงแล้ว เรากำลังชี้ให้เห็นถึงจิตซึ่งอยู่ด้านนี้เสมอ เป็นจิตแท้ ประสบการณ์ของการบรรลุธรรมคือการรู้แจ้ง การเข้าใจประจักษ์ซึ่งจิตนี้ ซึ่งอยู่กับเราอยู่ตลอดเวลาและเราไม่สามารถเห็นได้ เธอเข้าใจไหม ถ้าเธอพยายามเข้าถึงการบรรลุธรรม ราวกับการเห็นดวงดาวที่สดใสในฟากฟ้าอันสวยงาม และเธออาจจะคิดว่า “อ้า … นี่แหละการบรรลุธรรม …” นั่นแหละไม่ใช่การบรรลุธรรม …

นิกายเซนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติแท้ของเรา บนจิตแท้ของเรา ซึ่งแสดงออกและประจักษ์แจ้งได้ในการฝึกฝน เซนไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำสอนหนึ่งใดโดยเฉพาะ กับทั้งมิได้เอาคำสอนมาแทนการฝึกฝน เราฝึกสมาธิเพื่อให้ธรรมชาติแท้ของเราปรากฏออกมา ไม่ใช่เพื่อเข้าถึงการบรรลุธรรม พุทธศาสนาของท่านโพธิธรรมนั้น คือการเป็นหนึ่งเดียวกับการฝึกฝน เป็นหนึ่งเดียวกับบรรลุธรรม ในระยะแรก นี่อาจจะเป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง แต่ต่อมาจะเป็นสิ่งที่นักศึกษารู้สึกได้ หรือมีอยู่เองแล้ว …

ทุกคนมีพุทธภาวะ มีธรรมชาติของความเป็นพุทธะ เราแต่ละคนต้องหาทางค้นให้พบธรรมชาติแท้ของเรา เป้าหมายของการฝึกฝนคือการมีประสบการณ์ตรงกับพุทธภาวะ ซึ่งทุกคนมีอยู่แล้ว ไม่ว่าเธอจะทำอะไรก็ควรเป็นประสบการณ์ตรงกับพุทธภาวะ พุทธภาวะหมายถึงการรู้ตัวทั่วพร้อมในพุทธภาวะ ความพยายามของเธอควรขยายออกไปถึงการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งมวล”

ผมเข้าใจว่า “จิตใจเซน” ซึ่งเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ จัดอยู่ในสายธารแห่งคำสอนของพุทธมหายาน ซึ่งเน้นในเรื่องโพธิจิตหรือจิตตื่นรู้ และความกรุณาต่อตนเองและผู้อื่น

ในเรื่องความกรุณานั้น ผมคิดถึงคนที่อยู่ในเรือนจำเพราะเหตุแห่งความคิด พวกเขาน่าจะมีความทุกข์ เพราะเชื่อว่าการแสดงความเห็นที่แตกต่างนั้นเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย แต่พวกเขาถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามครรลองของกฎหมาย ผมได้รับอีเมล์ที่ส่งต่อมาจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่มีโครงการรณรงค์เพื่อ “คืนเสรีภาพให้นักโทษทางความคิด” โดยมีเหตุผลว่า

“จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังคงมีนักโทษทางความคิดถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเมือง รวมจำนวนอย่างน้อย 42 คน โดย 25 คนเป็นผู้ต้องขังตามมาตรา 112 และยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่กำลังถูกผลักเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเรือนจำ ท่ามกลางสถานการณ์ของศาลไทยที่ปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะการไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยส่วนใหญ่นั้น ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดก็ตาม

ทั้งนี้ สิทธิในการประกันตัวและสิทธิที่ต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยแห่งสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107

สมาคมฯ ขอเชิญชวนประชาชน นิสิต นักศึกษา นักกฎหมาย ทนายความ และผู้ไม่อาจนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรมทุกท่าน ร่วมกันส่งเสียงโดยตรงให้ไปถึงอธิบดีศาลอาญา ด้วยการส่งจดหมายถึงอธิบดีศาลอาญา ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี”

บทความนี้เริ่มต้นด้วยความรู้สึกไม่สบายใจที่เห็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของพรรคก้าวไกล และลงท้ายด้วยความเห็นใจผู้ที่ควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผมได้พยายามหาข้อความคำสอนที่มีแต่เดิมมาในภูมิภาคเอเชียของเรานี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยประคับประคองใจของผมเองแล้ว ยังหวังในความเห็นอกเห็นใจกันที่กว้างออกไป

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image