‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ว่าด้วยการจัดการขยะ

‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ว่าด้วยการจัดการขยะ

‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ว่าด้วยการจัดการขยะ

ตุลาคม 2566 ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมในจังหวัดสระบุรีร่วมหารือเพื่อผลักดันให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำของประเทศ โดยมีเหตุผลของการเสนอตัวเป็นเมืองต้นแบบสองประการ ประการแรก เศรษฐกิจของจังหวัดสระบุรีถูกขับเคลื่อนทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว ดังนั้น การผลักดันให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำจะต้องลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งสามด้าน แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่เน้นหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ประการที่สอง จังหวัดสระบุรีเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนักและมีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมมานาน การทำงานจึงต้องเข้มข้น จริงจัง ด้วยเหตุผลทั้งสอง หากจังหวัดสระบุรีสามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้ จังหวัดอื่นๆ ก็น่าจะนำเอาประสบการณ์หรือแบบอย่างของจังหวัดสระบุรีไปผลักดันให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้เช่นกัน การหารือครั้งนั้นได้ให้ความสำคัญของความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership” เพื่อสร้างนวัตกรรมหรือแบบแผนในการทำงานที่จะผลักดันจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ นวัตกรรมหรือแบบแผนในการทำงานดังกล่าวนี่เองที่เรียกว่า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

จังหวัดสระบุรีคือฐานการผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กล่าวได้ว่ากว่าร้อยละ 80 ของปูนซีเมนต์ที่ใช้กันอยู่มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี ดังนั้น การผลักดันให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำจึงต้องเน้นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นลำดับแรก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานที่ต้องใช้ในเตาเผาปูนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 1,400 องศาเซลเซียส ด้วยการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งทำให้จังหวัดสระบุรีได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งจากการขนส่ง จากกองเก็บถ่านหินและจากการเผา ที่ผ่านมาบรรดาโรงงานปูนซีเมนต์พยายามปรับลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน โดยการปรับปรุงระบบการเผาให้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้เชื้อเพลิงทดแทนประเภทอื่นๆ เช่นชีวมวลและเชื้อเพลิงขยะหรือการนำขยะชุมชนมาปรับคุณภาพให้มีคุณสมบัติเทียบเท่าเชื้อเพลิงอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้โรงงานปูนซีเมนต์สามารถนำเอาขยะชุมชนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน และนี่ทำให้ขยะชุมชนจากหลายท้องถิ่น หลายจังหวัดไหลเข้าสู่โรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ประเมินว่าเวลานี้ขยะชุมชนที่เข้าสู่ระบบการผลิตของโรงงานปูนซีเมนต์ไม่น้อยกว่าวันละ 4,000 ตัน นั่นหมายความว่าโดยกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทำให้เกิดศักยภาพในการกำจัดขยะชุมชนได้มากมาย เฉพาะจังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตปูนซีเมนต์ยังมีศักยภาพในการกำจัดขยะชุมชนมากกว่าปริมาณขยะชุมชนรายวันที่เกิดขึ้นในจังหวัดที่มีเพียง 700 ตัน จนสามารถรองรับปริมาณขยะชุมชนจากจังหวัดข้างเคียงได้ทั้งหมดด้วยซ้ำ

จนถึงต้นปี 2567 มีท้องถิ่นกว่าครึ่งในจำนวน 109 แห่ง ของจังหวัดสระบุรีใช้บริการกำจัดขยะชุมชนจากโรงงานปูนซีเมนต์ด้วยข้อตกลงและเงื่อนไขที่อาจแตกต่างกัน การใช้บริการของท้องถิ่นและการให้บริการของโรงงานปูนซีเมนต์เช่นนี้เป็นการเอื้อประโยชน์กันและกัน (win-win) เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นก่อนจะเกิดแนวคิด “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ดังนั้น หากนำเอากระบวนคิดนี้มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและโรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรีจะสามารถขยายความร่วมมือเช่นนี้ให้กว้าง ชัดเจน มั่นคงและมีแบบแผนมากยิ่งขึ้น และเมื่อโรงงานปูนซีเมนต์ทั้งหมดในจังหวัดสระบุรีสามารถให้บริการกำจัดขยะชุมชนแก่ท้องถิ่นอย่างมีแบบแผนและมั่นคง ท้องถิ่นก็สามารถใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่มีอยู่ไปให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด ทำการจัดเก็บขยะ ทำความสะอาดพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย รณรงค์การลดปริมาณขยะอย่างจริงจัง และนี่จะเป็นผลทางกายภาพที่ชัดเจนก่อนจะร่วมกันประเมินปริมาณคาร์บอนที่ลดลง

Advertisement

แล้วเหตุใดจึงยังคงมีท้องถิ่นที่ยังไม่ใช้บริการกำจัดขยะจากโรงงานปูนซีเมนต์ ทั้งที่การกำจัดขยะส่วนใหญ่ยังเป็นการเทกองหรือการกำจัดที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล หลายท้องถิ่นสะท้อนถึงความกังวลเรื่องข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้บริการกำจัดขยะจากโรงงานปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะเรื่องความไม่แน่นอนในการให้บริการ เกรงว่าหากโรงงานปูนซีเมนต์หยุดรับกำจัดขยะ ท้องถิ่นจะประสบปัญหา จึงจำเป็นต้องรักษาระบบกำจัดที่มีอยู่ แม้จะไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

ความกังวลหรือปัญหาเช่นนี้น่าจะได้รับการคลี่คลายด้วยบทบาทของจังหวัดที่มี “คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย จังหวัดสระบุรี” ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลของท้องถิ่นทั้งหมดภายในจังหวัดสระบุรี โดยทำให้ความร่วมมือระหว่างโรงงานปูนซีเมนต์กับท้องถิ่นเป็นไปอย่างเหมาะสมและเอื้อประโยชน์กันและกันอย่างมีแบบแผนและมั่นคง เช่น การกำหนดอัตราค่ากำจัดที่เหมาะสม กำหนดเงื่อนไขประเภทของขยะที่ไม่ควรทิ้งรวมซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานปูนซีเมนต์ กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาของข้อตกลงหรือสัญญา รวมไปถึงความร่วมมือในการจัดระบบขนถ่ายและขนส่งสำหรับท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล เหล่านี้จะเป็นข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือในรูปแบบ “Public Private Partnership” ซึ่งจะเป็นหนึ่งของความสำเร็จภายในกระบะทราย “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

สำหรับการจัดการขยะต้นทางหรือแหล่งกำเนิด ได้แก่การลดปริมาณขยะและการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ เป็นกระบวนที่ท้องถิ่นคุ้นเคยดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการจัดการกับขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์ที่จังหวัดได้รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนใช้ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” หรือการแยกขยะรีไซเคิลในโครงการ “ธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชน” ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย หากท้องถิ่นได้ดำเนินการอย่างจริงจังก็จะสามารถลดปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัดโดยโรงงานปูนซีเมนต์ได้ ขณะเดียวกันการคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะอาหารออก จะช่วยให้ขยะมีความชื้นลดลง มีคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้งานของโรงงานปูนซีเมนต์

Advertisement

“คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย จังหวัดสระบุรี” จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางของจังหวัด มีแบบแผนที่ชัดเจน ความสำเร็จในการจัดการขยะจะเป็นตัวอย่างและประสบการณ์ที่ดีของความร่วมมือภายในกระบะทราย เพื่อผลักดันให้จังหวัดสระบุรีเข้าสู่ความเป็น “เมืองคาร์บอนต่ำ” ดังที่ได้ปวารณาไว้

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image