ขอบเขตของการสร้างสรรค์กิจกรรม การเรียนการสอน และการอบรมสำหรับเด็ก

ขอบเขตของการสร้างสรรค์กิจกรรม การเรียนการสอน และการอบรมสำหรับเด็ก

เนื่องจาก สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามถึงขอบเขตของกิจกรรม การเรียนการสอน หรือการอบรมให้แก่เด็กนักเรียน ที่จะช่วยพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะในการดำรงชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองในสังคมของเด็ก โดยปราศจากการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิส่วนตัวของเด็ก ผู้เขียนจึงขอแลกเปลี่ยนมุมมองทางกฎหมายระหว่างประเทศ และภายในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงของการออกแบบและจัดกิจกรรม การเรียนการสอน หรือการอบรมให้แก่เด็กๆ ว่า ควรมีข้อระวังอะไรเพื่อไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็ก

ด้วยเหตุที่เด็กยังไม่มีพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่ มีความเปราะบาง ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติจึงเห็นชอบให้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Convention on the Right of a Child) เพื่อให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กตามกฎหมายเป็นการเฉพาะ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้สัตยบัน หรือ รับรองว่าจะนำบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ไปใช้ในการสร้าง การแก้ไข และบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก โดยอนุสัญญาฯ ระบุว่า “เด็ก” หมายถึง เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ข้อ 1 ของอนุสัญญาฯ) และเด็กได้รับสิทธิ 4 ประเภทตามอนุสัญญาฯ นี้ คือ

1) สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) คือ เด็กมีสิทธิในการอยู่รอดตั้งแต่กำเนิด สิทธิในการได้รับการดูแลเลี้ยงดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับปัจจัย 4 เช่น อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ที่เหมาะสม

Advertisement

2) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) คือ เด็กมีสิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการละเมิดทุกรูปแบบ ทั้งทางกาย และจิตใจ เช่น เด็กต้องปลอดภัยจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าแรงงาน จากกิจกรรมอันเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก ไม่ว่า เด็กจะให้ความยินยอมหรือไม่

3) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) คือ เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา การพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึง โอกาสในการพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น การจัดการเรียนการสอน กิจกรรม และการอบรม เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะในการเอาตัวรอด

4) สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) คือ เด็กมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการตัดสินใจ ในประเด็นที่มีผลกระทบต่ออนาคตของเด็ก เช่น เด็กมีสิทธิร่วมแสดงความเห็นและตัดสินใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ว่า จะเลือกเรียนคณะใด มหาวิทยาลัยใด

Advertisement

รัฐมีหน้าที่ต้อง (1) เคารพสิทธิเด็ก (2) ปกป้องคุ้มครองเด็กจากการบุคคลหรือกลุ่มคนอื่นละเมิดสิทธิเด็ก และ (3) ทำให้แน่ใจว่า เด็กทุกคนที่อยู่ในเขตอำนาจของตน มีสิทธิที่จะเข้าถึงสิทธิทุกประเภทที่กล่าวในข้างต้น โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิด หรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย (ข้อ 2 ของอนุสัญญาฯ)

คำถามต่อมา คือ ผู้ใหญ่จะต้องใช้หลักกการใดที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า เด็ก ๆ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการตัดสินใจของผู้ใหญ่ หลักการสำคัญนั้น คือ ”หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก” (Best Interest of the Child) ซึ่งตามความเห็นของคณะกรรมการอนุสัญญาฯ (General Comment of CRC Committee) กล่าวไว้ในว่า “การปกป้อง หมายรวมถึง ความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนา โดยความเป็นอยู่ที่ดี หมายถึง ความต้องการทางวัตถุ ทางกายภาพ ทางการศึกษา และทางอารมณ์ รวมถึงความต้องการ ความรัก และความปลอดภัย” (เอกสารหมายเลข CRC/C/GC/14 ข้อที่ 71 และ ข้อที่ 73 เกี่ยวกับการดูแล การปกป้อง และการให้ความปลอดภัยแก่เด็ก) นอกจากนี้ การประเมินประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมถึง “การพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหมายถึง การปกป้องจากความรุนแรงทางกาย หรือจิตใจ การบาดเจ็บ หรือการละเมิด การคุกคามทางเพศ ความกดดันจากเพื่อน การกลั่นแกล้ง การปฏิบัติที่ทำให้อับอาย เช่นเดียวกับการปกป้องจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ” (เอกสารหมายเลข CRC/C/GC/14 ข้อที่ 71 และ ข้อที่ 73 เกี่ยวกับการดูแล การปกป้อง และการให้ความปลอดภัยแก่เด็ก) และที่สำคัญอีกประการ คือ เด็กมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นผู้ใหญ่ ซึ่งหมายรวมถึง สิทธิได้รับความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยจากการละเมิดชื่อเสียง (ความเห็นของคณะกรรมการอนุสัญญาฯ เอกสารหมายเลข CRC/C/GC/13; ข้อ 16 ของอนุสัญญาฯ)

กฎหมายภายในประเทศไทยบัญญัติกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ เช่น มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” ซึ่งหมายถึงว่า เด็กทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันเฉกเช่นกลุ่มคนอื่นๆ

มาตรา 27 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ดังนั้น การโพสต์ภาพ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจ ชื่อเสียง ของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก

ดังนั้น กิจกรรม การเรียนการสอน หรือการอบรม ที่จัดขึ้นให้แก่เด็กๆ ต้องไม่กระทบหรือละเมิดสิทธิทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในความเป็นส่วนตัว ไม่ละเมิดเนื้อตัวร่างกาย จิตใจ ชื่อเสียง ของเด็ก และเด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบจากผลของการทำกิจกรรม การเรียนการสอน หรือการอบรม เหล่านั้น เช่น เด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากการร่วมกิจกรรมการฝึกใส่เสื้อผ้าของเด็กอนุบาลที่ให้เด็กผู้หญิงใส่เพียงกางเกงชั้นใน และเด็กผู้ชายไม่ใส่เสื้อผ้าทั้งบนและล่าง ไม่ว่าจะเป็นภายในโรงเรียน หรือสถานที่ใดก็ตามต่อหน้าสาธารณชน และการนำภาพกิจกรรมดังกล่าวไปโพสต์บนเว็ปไซต์ของโรงเรียนก็สามารถถูกนำไปใช้ในทางลามกอนาจาร หรือเพื่อแสวงหาผลโยชน์ต่อไปได้ หรือ กรณีการอบรม Cardiopulmonary resuscitation (CPR) หรือการปฐมพยาบาลเพื่อให้ฟื้นระบบการทำงานของหัวใจและปอด ให้แก่เด็กระดับประถมศึกษา ที่ให้เด็กผู้หญิงถอดเสื้อผ้าช่วงบน ซึ่งต้องมีการสัมผัสอวัยวะส่วนบนของเด็กโดยไม่มีความจำเป็น หรือ การอบรมช่วยคนจมน้ำให้แก่เด็ก โดยให้เด็กถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด และแปะเทปกาวในที่ลับของเด็ก ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ พิจารณาได้ว่า เป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความเป็นส่วนตัว อันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ต่อเด็กได้ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบกิจกรรม การเรียนการสอน หรือการอบรม คำนึงผลของการออกแบบนั้นว่า ก่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กหรือไม่ และขอให้พิจารณา 1) จัดหาสถานที่ปลอดภัย เป็นส่วนตัวไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนในกรณีการฝึกทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกาย และความเป็นส่วนตัวของเด็ก หรือ อาจจัดหาภาพการ์ตูนประกอบกรณีการสาธิตการใส่เสื้อผ้าแทนการใช้ตัวเด็กเป็นตัวอย่างของการสาธิต (ดูจากตัวอย่างของ เยาวธิดา เช็นนอก 2021) และ 2) จัดหานวัตกรรมทดแทนเพื่อสาธิตกรณีการอบรม CPR เช่น การใช้หุ่นยาง หรือ นวัตกรรม Health AI ที่เรียกว่า CPRobot ซีโปรบ็อท [หุ่น AI อัจฉริยะ] ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (Porntip Khamdee, 2560) โดยรัฐบาลสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 71 วรรค 4 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศบนพื้นฐานของ “ความจำเป็น และความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม” (วิชาญ ทรายอ่อน 2562, หน้า 13)

แหล่งข้อมูล

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ. (2560). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=1038&filename=index

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562. https://www.mdes.go.th/law/detail/3541-พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล-พ-ศ–๒๕๖๒

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546. https://law.m-society.go.th/law2016/law/view/3

เยาวธิดา เช็นนอก. (2564, 26 พฤษภาคม). หน่วยที่ 1 หนูแต่งตัวได้ 13 ขั้นตอนการแต่งกาย ป 1. https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=Nd6R_ISh7NM

วิชาญ ทรายอ่อน. (2562). บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เกี่ยวกับสิทธิเด็ก. สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php

สอนทำ CPR แบบใด แม่ข้องใจกุ้ภัยให้เด็กถอดเสื้อ เขี่ยจุกดูการตอบสนอง. (2567, 11 มีนาคม). ไทยรัฐออนไลน์. น. 1. https://www.thairath.co.th/news/society/2769616

Convention on the Rights of the Child. (1989). https://www.ohchr.org/sites/default/files/Documents/ProfessionalInterest/crc.pdf

Porntip Khamdee. (2566, 4 กรกฎาคม). CPRobot (ซี-โปร-บ็อท): หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ. มติชน. น. 1. https://www.khonkaenuniversity.in.th/tag/cprobot-ซี-โปร-บ็อท-หุ่น-cpr-อัจฉริย/

United Nations Convention on the Rights of the Child. (2011, 18 April). General comment No. 13. (2011). The right of the child to freedom from all forms of violence. CRC/C/GC/13. https://digitallibrary.un.org/record/711722?v=pdf

United Nations Convention on the Rights of the Child. (2013, 29 May). General comment No. 14 (2013) on the right of the child to have his or her best interests taken as a primary consideration (art. 3, para. 1). CRC/C/GC/14. https://www2.ohchr.org/English/bodies/crc/docs/GC/CRC_C_GC_14_ENG.pdf

ผศ.ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image