ภาพเก่าเล่าตำนาน : เขื่อน-คลอง-หนองน้ำในสยาม

ภาพเก่าเล่าตำนาน : เขื่อน-คลอง-หนองน้ำในสยาม ภาพ “น้ำแห้ง”

ภาพ “น้ำแห้ง” ในห้วย หนอง คลอง บึง บ้างก็ต้องแย่งกันสูบน้ำ มีคำเตือนเรื่องให้ “งดทำนา” ให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย มีรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายน้ำให้ชาวบ้าน มีผู้ใหญ่ใจดี แต่งตัวเท่ ผลัดเปลี่ยนกัน “ทำท่าถือสายยาง” ถ่ายรูป กล่าวแสดงความห่วงใย พอเป็นกิริยา แล้วก็จากไป…

คุ้นชินกับภาพแบบนี้มากว่า 50 ปี

ลองไปมองความสำเร็จของชนชาติยิว เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ

พ.ศ.2491 มหาอำนาจชาติตะวันตก นำชาวยิวนับหมื่นคนไปตั้งรกรากในดินแดนที่เรียกว่า ถิ่นกำเนิดของชาวยิว พื้นที่เป็นทะเลทราย แห้งแล้ง ชีวิตแสนจะทุกข์ทรมาน ไหนจะต้องสู้รบกับชนชาติอื่นๆ ที่รังเกียจยิว…ทุกชีวิตลำเค็ญ แร้นแค้น แสนกันดาร

Advertisement

น้ำ คือ สิ่งที่พระเจ้ามิได้ประทานมาให้ ไม่คิดอ่านไม่ต่อสู้ คือ ชาวยิวต้องอดตายในทะเลทรายทั้งเผ่าพันธุ์ มองไปทางไหนไม่เห็นโอกาสจะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

รัฐบาลและเอกชนยิว มุ่งมั่นทำงาน หาทางพลิกแผ่นดินให้มีน้ำ แบบ “กัดไม่ปล่อย” ชาวยิวผู้ไม่เคยยอมแพ้ ทำศึกเหนือเสือใต้ มีสงครามรอบทิศ หากแต่สัญชาตญาณ จิตสำนึก ความเป็นนักสู้ของชาวยิว ไม่เป็นสองรองใคร รวมถึงรัฐบาลที่เข้มแข็ง

ไม่ช้าไม่นาน…ชาวยิว คิดระบบจัดการน้ำให้ประชาชนมีน้ำกิน น้ำใช้ สร้างระบบแจกจ่ายน้ำ สร้างทางส่งน้ำจืดยาวนับร้อยกิโลเมตร แจกจ่ายชาวยิวที่กระจายกันอยู่ ต้องมีน้ำทำการเกษตร

Advertisement

ราว 40 ปี อิสราเอลกลายเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าการเกษตร ผลไม้ ผัก คุณภาพสูง ไปขายในยุโรป และตลาดทั่วโลกอย่างสง่างาม ความโหดร้ายของทะเลทราย ความร้อนของแผ่นดิน ไม่สามารถทำร้ายชาวยิวได้ แถมยังไปสร้างโรงงานผลิตน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืดเพื่อการบริโภคให้ทั่วโลกมาดูงาน

“สภาพแวดล้อมที่แร้นแค้นของอิสราเอล เป็นแรงผลักให้เกิดความคิดสร้างสรรค์” หนึ่งในคำกล่าวของชาวยิวที่พูดอย่างภาคภูมิใจ

การคิดค้น บริหารจัดการน้ำแบบชาญฉลาด ทำให้ยิวที่กลายเป็น “ผู้นำ” ของโลก

บริษัทเอกชนยิวกล้าจัดงานใหญ่ เชิญคนทั่วโลกให้ไปชมนิทรรศการเครื่องมือผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ระบบการจัดการน้ำขนาดใหญ่ บริษัทของยิว ประกาศ “รับจ้าง” ขอไปลงทุนวางแผนจัดการระบบน้ำให้ทุกแห่งในโลก

อิสราเอล (ที่กำลังทำสงครามดุเดือดในขณะนี้) พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง เป็นทะเลทราย มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง 20-50 นิ้ว หรือน้อยกว่า 33 มิลลิเมตร/ปี และมีอัตราการระเหยของน้ำสูง ในปี 2547 ถือว่าโครงการต่างๆ ของประเทศเสร็จสมบูรณ์ สามารถอยู่ได้โดยมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

มกราคม 2563 ผู้อำนวยการสถาบันอุทกวิทยาของอิสราเอลมาร่วมการเสวนาในไทย กล่าวว่า... “ตลอด 50 ปีที่ผ่านมานโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาลอิสราเอลมีปรัชญา คือ จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ และเกิดความยั่งยืน…”

อิสราเอลมีพื้นที่ 27,800 ตารางกิโลเมตร (รวมพื้นที่ของฝ่ายปาเลสไตน์) จากเหนือถึงใต้มีความยาว 470 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถยนต์จากเหนือสุดถึงใต้สุดใช้เวลา 9 ชั่วโมง จากตะวันตกไปตะวันออก มีความกว้างสุด 135 กิโลเมตร ใช้เวลา 90 นาที

กลับมาย้อนดู “ความเก่ง” ของบรรพบุรุษเราตั้งแต่สมัยอยุธยา

สมัยอยุธยา มีการขุดคลองเพื่อการป้องกันพม่าข้าศึกที่มารุกราน ขุดกันด้วยจอบเสียม ใช้แรงคนที่เกณฑ์มาเป็นหลัก ขุดคลองเพื่อการคมนาคม ติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาเขต เพื่อการค้าภายในเป็นหลัก ยังมิได้คิดไปถึงการชลประทานแต่อย่างใด

สมัยกรุงธนบุรี รวมไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ขุดคลองราว 40 เส้น เพื่อเป็นทางลัด เชื่อมพื้นที่ในพระนครและรอบพระนคร เพื่อการป้องกันข้าศึก เพื่อการเดินทาง ขนส่งสินค้า เรือ คือ พาหนะหลัก

การขุดคลองในช่วงเวลานั้น นับเป็นพระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ด้วยเหตุที่จะต้อง “เกณฑ์แรงงานไพร่” หรือจ้างแรงงานจีนในการขุดคลอง ซึ่งเป็นธรรมเนียมเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยามาแต่ก่อน

การบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรใหม่ๆ การขุดคลองเพื่อการคมนาคม ต้องมีอำนาจ บารมี มีเงินทุน เป็นการลงทุนของราชวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่โดยตรงทั้งนั้น

คลองที่เป็น “พระเอก” ตลอดกาลมาจนถึงปัจจุบัน คือ คลองแสนแสบ ยาวราว 73 กิโลเมตร เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาไปแม่น้ำบางปะกง ในหลวง ร.3 ทรงจ้างแรงงานชาวจีนขุดระหว่าง พ.ศ.2380-2383 เพื่อสนับสนุนกองทัพสยามไปทำสงครามในเขมร รวมทั้งการขนส่งสินค้า น้ำตาล ข้าว จากพื้นที่แถบตะวันออกทางจังหวัดฉะเชิงเทรามายังพระนคร…

หากต้องการติดต่อกับพื้นที่ใด ให้ลงมือขุดคลองไปหา

พ.ศ.2445 รัชสมัยในหลวง ร.5 ทรงตั้ง “กรมคลอง” เพื่อจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จ้างวิศวกรชาวดัตช์ ชื่อ โฮมัน แวน เดอร์ ไฮด์ (Homan van der Heide) มาศึกษา การจัดการน้ำในสยาม และต่อมาท่านกลายเป็น “เจ้ากรมคลอง” คนแรก

ทีมสำรวจต่างชาติ ทำงานในป่าเขา เสนอแผนแม่บท โดยใช้หลักการแนวคิดทางวิศวกรรมหลักๆ คือ นำน้ำกระจายไปสู่เส้นทางน้ำสายต่างๆ กักเก็บน้ำไว้โดยการสร้างประตูน้ำและป้องกันน้ำเค็มจากชายฝั่งโดยการสร้างแนวคันกั้นน้ำเค็ม

นายไฮด์เดินทางรอนแรมในพื้นที่ภาคกลางของสยามพร้อมทีมงาน แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีข้อมูลตัวเลข เก็บข้อมูลระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำงานได้ 7 ปี ก็ลาออก

ไฮด์…ทำรายงานเสนอรัฐบาลสยาม ให้สร้างเขื่อนทดน้ำปิดกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เพื่อเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต่อมา คือ เขื่อนเจ้าพระยา

บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ไฮด์เสนอให้แบ่งน้ำลงสู่แม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี โดยการขุดคลองชลประทานจำนวนมากรับน้ำและเชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีอยู่เดิม ด้วยการบริหารจัดการน้ำสยามโดดเด่นในการปลูกข้าวเพื่อการส่งออก กลายเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก

ไม่ค่อยมีใครทราบว่า…โครงการชลประทานใหญ่เจ้าพระยา มีแนวคิดในการก่อสร้างตั้งแต่สมัยในหลวง ร.5 หากแต่มีเหตุต้องเลื่อนโครงการออกไปถึง 2 ครั้ง เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน

ต่อมาในรัชสมัยในหลวง ร.6 ได้เกิดภาวะฝนแล้ง 3 ปีติดต่อกัน รัฐบาลต้องไปว่าจ้างทีมวิศวกรชาวอังกฤษมาวางแผนจัดการน้ำ

พ.ศ.2456 เซอร์ ทอมมัส วอร์ด (Sir Thomas Ward) ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ ยืนยันให้ก่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่ แต่เวลานั้นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 การก่อสร้างโครงการจึงต้องระงับไปนาน

พ.ศ.2491 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่ทั่วโลกประสบภาวะขาดแคลนอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เห็นความจำเป็นของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ กรมชลประทานจึงเสนอโครงการต่อกระทรวงเกษตรฯ

พ.ศ.2492 รัฐบาลเห็นชอบตามที่เสนอ ประกอบกับในปีนั้น รัฐบาลไทยได้เข้าเป็นสมาชิกธนาคารโลก จึงขอกู้เงินเพื่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่ เป็นเงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ในหลวง ร.9 เสด็จฯมาทรงเปิดใช้เขื่อนเจ้าพระยา ถือเป็นโครงการก่อสร้างยาวนาน 4 แผ่นดิน

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานเรื่องน้ำ ในอดีตที่ผ่านมา ให้น้ำหนักกับ “พื้นที่ภาคกลาง” เป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่า เรื่องของงบประมาณ การประกอบอาชีพ “ทำนา” ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง

พ.ศ.2482 กรมชลประทานไปตั้งสำนักงานที่โคราช เพื่อจัดการน้ำในภาคอีสาน เกิดโครงการลำตะคอง ทุ่งสัมฤทธิ์ ห้วยเสนง ห้วยหลวง ห้วยน้ำหมาน โครงการลุ่มน้ำโขง โครงการบ้านตูมทุ่งแซงบาดาล …ทำงานได้เพียง 2 ปี เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงชะงักไป

หลังสงครามโลกยุติ สหรัฐส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยกรมชลประทานสำรวจพื้นที่ภาคอีสาน เสนอให้ก่อสร้างอ่าง ฝาย เก็บน้ำ ในหลายพื้นที่ เพื่อการเกษตร

พ.ศ.2494 รัฐบาลสหรัฐส่งเครื่องจักรกลหนัก เจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เข้ามาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นอ่างแรก ในภาคอีสาน (ผู้เขียนค้นไม่พบว่าที่ใด)นับว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ของไทย

การบริหารจัดการน้ำ ยังเป็น “ความท้าทาย” ของส่วนราชการไทย ในขณะที่มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการอีกหลายหน่วย มีเทคโนโลยีสุดล้ำสารพัด

เรื่องภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เกิดขึ้นทั่วโลก

ประเทศไทยมีนักวิชาการมหาศาล มีจัดเสวนา สัมมนา มียุทธศาสตร์นำทางสว่างไสว รอบรู้…

กรมอุตุฯรายงานว่า พ.ศ.2567 เอลนีโญ ส่งผลกระทบไทย ปีนี้คาดว่าฝนจะน้อยกว่าฤดูแล้งในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ถึงขั้นแล้งหนักหากเทียบกับภัยแล้งในอดีต คาดว่าทั้งเอลนีโญและฤดูแล้งจะหมดลงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูฝน

คาดว่าจะมีพายุเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่ไม่มีพายุเข้ามาในประเทศไทยแม้แต่ลูกเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image