เกร็ดจากการประชุมสมรสเท่าเทียม

เกร็ดจากการประชุมสมรสเท่าเทียม

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สถานทูตฝรั่งเศส, กระทรวงยุติธรรมของฝรั่งเศสและไทย และมูลนิธิเพื่อกฎหมายลายลักษณ์อักษร (ตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส) ร่วมกันจัดประชุมเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยและฝรั่งเศส และเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ผมได้เข้าประชุมในเรื่องที่หนึ่ง ส่วนเรื่องที่สองก็น่าสนใจแต่บังเอิญผมติดธุระ ในบทความนี้จะขอนำเกร็ดความรู้ที่ได้จากการประชุมเรื่องแรกมาเล่าสู่กันฟัง ในลักษณะเรื่องบอกเล่าที่ฟังมา ถ้าคลาดเคลื่อนประการใด ขอโทษผู้ที่ถูกพาดพิงด้วย และต้องโทษผมที่หูตึงครับ

คริสตีอาน โตบีรา นักการเมืองจากกุยยาน (จังหวัดโพ้นทะเลจังหวัดหนึ่งของฝรั่งเศส ตั้งอยู่ในลาตินอเมริกา) และเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของฝรั่งเศส ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการสมรสสำหรับทุกคน (mariage pour tous) จนสำเร็จเป็นกฎหมายเมื่อประมาณ 11 ปีก่อน เธอได้มาเล่าประสบการณ์ของเธอให้เราฟังทางออนไลน์ ในยุโรป การรักร่วมเพศผิดกฎหมายมาแต่ไหนแต่ไร มาบัดนี้ ทัศนคติที่เคยต่อต้านการรักร่วมเพศได้ผ่อนคลายไปมาก กฎหมายจึงได้วิวัฒนาการตาม จนทุกประเทศในยุโรปได้ยกเลิกกฎหมายห้ามการรักร่วมเพศไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังตกค้างอยู่ คือทัศนคติและพฤติกรรมของคนส่วนหนึ่งที่ยังตั้งข้อรังเกียจ เข้าลักษณะ homophobia และกฎหมายยังไม่ให้สิทธิเท่าเทียมแก่คนรักคนเพศเดียวกันในบางเรื่อง เช่น สิทธิในการสมรส

ต้องรอถึงปี 2544 นี่เองที่เนเธอร์แลนด์ให้สิทธิสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นประเทศแรก จนถึงปัจจุบัน มีประเทศที่ให้สิทธิเช่นนี้ประมาณ 36 ประเทศ โดยที่ 15 ประเทศอยู่ในสหภาพยุโรป ในส่วนของฝรั่งเศส ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 5 ปี มีความพยายามที่จะให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ และได้ผลในปี 2555 ผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยมชื่อ ฟรังซัวส์ ออลลังด์ได้ชูเรื่องนี้เป็นประเด็นหาเสียงของเขา เมื่อได้รับเลือกตั้ง เขาก็มอบหมายให้นางโตบีราเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสสำหรับทุกคนเข้าสู่สภา

Advertisement

ตอนนั้นมีเสียงคัดค้านมากมาย ทั้งในและนอกสภา ผมจำได้ว่ามีการชุมนุมกันหลายครั้ง ทั้งที่ปารีสและต่างจังหวัด มีผู้มาชุมนุมคัดค้านนับแสนคน เพื่อนของผมคนหนึ่งต่อว่ารัฐบาลของเขาว่า ไม่มีเรื่องอื่นจะทำแล้วหรือ?Ž แต่รัฐบาลก็ยืนหยัดตามนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง พอร่างกฎหมายเข้าสภา มีผู้เสนอขอแปรญัตติหลายร้อยญัตติ อภิปรายกันตั้งแต่เช้ายันค่ำร่วมสัปดาห์ นี่เป็นกลวิธีของฝ่ายค้านที่จะประวิงเวลา แต่นางโตบีราก็สู้ยิบตา ในการต่อสู้ข้างนอกสภา เธอร่วมอภิปรายทั้งในประเด็นกฎหมาย แต่รวมถึงประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง ส่วนข้างในสภา เธอจะเน้นในเรื่องข้อกฎหมายและความเป็นพลเมือง

นางโตบีรา

นางโตบีราแบ่งแรงจูงใจหลักของการคัดค้านในฝรั่งเศสออกเป็นแรงจูงใจทางการเมือง และแรงจูงใจทางศาสนา ในทางการเมือง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมชี้ว่า การสมรสสำหรับทุกคนจะก่อให้เกิดความวุ่นวายต่าง ๆ นานา ต่อไปจะเรียกไม่ถูกว่าใครเป็นสามีหรือภรรยา คำนามในภาษาฝรั่งเศสทุกคำมีเพศกำกับอยู่แล้ว ส่วนคำคุณศัพท์และสรรพนามที่มาใช้ขยายหรือมาแทนคำนามก็มีเพศตามไป จะให้ตัดเรื่องของเพศออกจากภาษาคงทำไม่ได้ อีกทั้งจะมีปัญหาการรับบุตรบุญธรรม การอุ้มบุญ การแบ่งมรดก การลดหย่อนภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่สมาชิกครอบครัวพึงได้ เช่น การลามาเลี้ยงดูบุตร การประกันสังคม ฯลฯ

ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ถือว่าตนถือศาสนาคาทอลิก แม้จะเลิกไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์กันมากแล้ว คำสอนของศาสนาคาทอลิกถือว่า การแต่งงานเป็นสัมพันธภาพที่พระเจ้าทรงเชื่อมชายหญิงเข้าด้วยกัน พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะรักกันตลอดไป การสมรสกับครอบครัวจึงถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ รัฐควรเคารพความเชื่อเหล่านี้ และไม่ควรบ่อนทำลายความเชื่อทางศาสนาของประชาชน

Advertisement

จุดยืนของนางโตบีราก็คือ ในปี ค.ศ. 1905 รัฐได้ออกกฎหมายที่แยกศาสนจักรและอาณาจักรออกจากกัน และตั้งแต่นั้นมา คนฝรั่งเศสทุกคนก็ทราบว่าฝรั่งเศสเป็นรัฐโลกวิสัย (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า secular state ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า tat laque) และรัฐพึงปฏิบัติต่อพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นถือศาสนาใด กฎหมายสมรสสำหรับทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศ มีเพศสภาพ มีเพศวิถีใดก็ตาม จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจากรัฐ กฎหมายสมรสสำหรับทุกคนก็จะตราขึ้นเพื่อพลเมืองทุกคน โดยไม่เกี่ยวกับการนับถือศาสนาของเขาเหล่านั้น ในด้านการแต่งงาน รัฐต้องจัดบริการการจดทะเบียนสมรสแก่ผู้มาขอรับบริการทุกคน การจดทะเบียนนี้ แยกจากการจดทะเบียนสมรสของศาสนจักร (ถ้ามี)

ส่วนเรื่องความยุ่งยากในทางปฏิบัติที่อาจมีขึ้น รัฐบาลขอขอบคุณฝ่ายค้านที่ชี้ให้เห็นอุปสรรคเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลได้พยายามร่างกฎหมายให้ครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ อยู่แล้ว ส่วนสภาก็กำลังทำหน้าที่ให้ร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนที่จะตราเป็นกฎหมาย ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของฝรั่งเศสก็ผ่านร่างกฎหมายสมรสสำหรับทุกคนที่เสนอโดยนางโตบีรา และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีก็ลงนามทันทีและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 หลายคนเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า กฎหมายโตบีราŽ

กฎหมายโตบีราประกาศใช้มาประมาณ 11 ปีแล้ว ตามคำบอกเล่าของนางโตบีราเอง เรื่องที่วิตกกังวลต่าง ๆ ว่าจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายก็ไม่เกิดขึ้น เธอใช้คำว่าสถานการณ์สงบลงตั้งแต่นั้นมา มีอุปสรรคบ้างในตอนเริ่มแรก เช่น นายกเทศมนตรีของเทศบาลบางแห่งปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสให้แก่บุคคลเพศเดียวกัน แต่ในที่สุดก็ยอม มีการฉลองการแต่งงานระหว่างคู่รักร่วมเพศ งานก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นเหมือนงานแต่งงานระหว่างบุคคลต่างเพศ ในแต่ละปี มีการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันประมาณ 7,000 ราย คือประมาณ 3% ถึง 4% ของจำนวนการสมรสต่างเพศ มีนักวิจัยประมาณการว่า จำนวนผู้สมรสเพศเดียวกันน่าจะเป็นประมาณ 40% ของจำนวนคู่ของบุคคลเพศเดียวกันที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียน

มีการประมาณการในกรณีของฝรั่งเศสว่า ในบรรดาคู่สมรสเพศเดียวกันที่จดทะเบียนนั้น 75% เป็นชายแต่งงานกับชาย ส่วนหญิงที่แต่งงานกันมีประมาณ 25% อย่างไรก็ดี เรื่องอาจจะซับซ้อนมากกว่านี้ กล่าวคือ ในบรรดากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (กลุ่ม LGBTINQ+) ก็มีกลุ่ม T (transgender) ที่มีการผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้มีเพศสภาพ (gender) และเพศ (sex ทางชีวภาพ) ตามที่ตนเลือก แต่ไม่ตรงกับเพศเมื่อเกิด กลุ่ม I (intersex) ที่มีเพศทางชีวภาพทั้งสองเพศเมื่อเกิด แต่อาจผ่าตัดให้เหลือเพศเดียวหรือไม่ก็ได้ กลุ่ม N (non-binary) คือกลุ่ม เป็นกลางŽ หรือเฉย ๆ ทางเพศสภาพ ซึ่งชวนให้สงสัยว่าพวกเขาจะแต่งงานกันเองหรือกับบุคคลที่มีเพศสภาพที่ชัดเจนหรือที่เป็นกลางหรือไม่ เพราะเหตุใด ส่วนกลุ่ม Q (queer) คือกลุ่มเลื่อนไหล หรือเลือกชอบเพศสภาพที่เปลี่ยนได้ตามกาลเวลา ถ้าแต่งงานกับใครคนหนึ่งแล้วตนเองเลือกเปลี่ยนเพศสภาพไป จะเป็นปัญหาแก่คู่สมรสหรือไม่

ผมได้รับการบอกเล่าจากบุคคลคนหนึ่งในงาน เขา (หรือเธอ) มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อให้สังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศ เธอ (หรือเขา) บอกว่าสามารถจำแนกบุคคลตามเพศสภาพได้ประมาณ 30 กลุ่ม ผมรีบยกธงขาว เพราะไม่อยากจะลงลึกถึงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างบุคคล (สองคน?)ซึ่งแปรผันได้หลากหลาย แต่น่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างบุคคลใช่หรือไม่

นายวิทิต มันตาภรณ์เป็นวิทยากรที่ให้ภาพรวม เริ่มจากกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิในการสมรสของทุกคน ได้แก่มาตรา 23 (2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) [ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2509 และประเทศไทยรับรองให้มีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2540] ความว่า ชายและหญิงผู้อยู่ในวัยแต่งงาน มีสิทธิที่จะแต่งงานกันและก่อตั้งครอบครัวŽ เขากล่าวว่าข้อความนี้เขียนมา 58 ปีแล้ว ปัจจุบันควรแก้ไขโดยแทนคำว่า ชายและหญิงŽ ด้วยคำว่า บุคคลŽ

ปัจจุบัน ประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีประมาณ 36 ประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว และถ้ารวมกรณีที่มีกฎหมายคู่ชีวิต (civil union) ในอีกประมาณ 15 ประเทศที่ให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันได้ (โดยมีสิทธิทางแพ่งน้อยกว่าสิทธิของคู่สมรสอยู่บ้าง) ก็จะได้จำนวนประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องการสมรสและการเป็นคู่ชีวิตของบุคคลเพศเดียวกันประมาณ 51 ประเทศ (จากประมาณ 200 ประเทศ) นอกจากในยุโรปแล้ว ประเทศที่เปิดกว้างจะอยู่ในทวีปลาตินอเมริกา ในทวีปแอฟริกา มีประเทศแอฟริกาใต้ประเทศเดียว ในทวีปเอเชียยังไม่มี นายวิทิตเล่าว่า ศาลสูงในใต้หวันมีคำวินิจฉัยให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมภายในสองปี (ถ้าจำไม่ผิด) เนปาลก็มีคำสั่งศาลในทำนองเดียวกัน ส่วนญี่ปุ่น มีเพียงศาลท้องถิ่นที่มีข้อเรียกร้องต่อรัฐให้ออกกฎหมายเช่นนี้

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสอง ร่างนี้มีทั้งบทบัญญัติแบบครอบคลุมกว้าง ๆ ไว้ก่อน เช่น ให้แทนคำว่า ชายและหญิงŽ ในบทบัญญัติเกี่ยวกับการสมรสและครอบครัว ด้วยคำว่า บุคคลŽ, แทนคำว่า สามีภรรยาŽ ด้วยคำว่า คู่สมรสŽ, ใช้คำว่า คู่หมั้นกับคู่รับหมั้นŽ ในกรณีการหมั้นหมาย เป็นต้น เข้าใจว่ามีการตรวจตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) และพบว่าจะต้องแก้ไขถ้อยคำให้สอดคล้องประมาณ 65 มาตรา และอาจจะต้องแก้ไขถ้อยคำในกฎหมายอื่น ๆ นอกเหนือจาก ป.พ.พ. ประมาณ 50 ฉบับ เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายค้ามนุษย์ กฎหมายภาษี เป็นต้น

นอกเหนือจากการแก้ไขถ้อยคำแล้ว ยังมีประเด็นพึงพิจารณาอยู่อีก เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา กับจารีตประเพณีของชนเผ่าหรือของท้องถิ่น เกี่ยวกับการสมรสระหว่างบุคคลที่มีสัญชาติต่างกันโดยประเทศของฝ่ายหนึ่งไม่รับรองการสมรสเพศเดียวกัน ประเด็นการรับบุตรบุญธรรมและการรับรองบุตรที่สืบสายเลือดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง กรณีการอุ้มบุญ การรับมรดก เป็นต้น รวมความแล้ว คณะกรรมาธิการวาระสองของสภาผู้แทนฯ ที่กำลังพิจารณาเรื่องนี้ มีงานจะทำที่ต้องการเวลาและความรอบคอบอยู่ไม่น้อย

คณะกรรมาธิการฯมีร่างกฎหมายอยู่ในมือที่เป็นเหมือนเอกสารเบื้องต้นซึ่งจะต้องปรับเข้าด้วยกันและเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้นอยู่ 3 ฉบับ คือ ฉบับที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน ฉบับของพรรคก้าวไกล และฉบับของรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีชื่อว่า iLaw ได้ศึกษาเปรียบเทียบร่างทั้งสามร่าง ผู้สนใจสามารถสืบค้นได้ที่ https://www.ilaw>articles

ในประเด็นการขับเคลื่อนร่างกฎหมายก่อนที่จะเข้าสู่สภา นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้มาเล่าสู่กันฟังว่า เขาเริ่มสนใจเรื่องสมรสเท่าเทียมหลังจากที่ฝรั่งเศสออกกฎหมายเรื่องนี้เมื่อประมาณสิบปีก่อน คือศึกษาและลอกกฎหมายเขามาก็ว่าได้ แล้วจัดทำเป็นร่างกฎหมายเสนอหัวหน้า (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอธิบดีคนก่อน) หัวหน้าก็เก็บไว้ไม่มีปฏิกิริยาอะไร จนกระทั่งหัวหน้าใกล้เกษียณอายุ ก็เกษียนหนังสือมาว่า ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างในบางประเด็น เขาก็ทำการบ้านต่อ ได้เป็นร่างที่สอง แล้วหัวหน้าคนใหม่ก็เกษียณหนังสือมาว่า ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมอีก เขาก็ทำตามและจัดทำเป็นร่างที่สาม ในช่วงนี้ สิ่งที่เขาเรียนรู้ก็คือ งานของเขาไม่อยู่ในความสนใจของพรรคการเมืองและรัฐบาลในขณะนั้น มีแต่ภาคประชาสังคมที่คอยท้วงติง ขับเคลื่อน ปฏิเสธ/ตอบสนองงานของเขา ทำให้งานมีความคืบหน้าและมีการพิจารณาที่รอบด้านขึ้น

รอมานานประมาณ 9 ปี ใกล้เวลาที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะหมดวาระ พรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้านก็ยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาฯ เรื่องที่ดูหลับไหลอยู่ที่กรมฯก็พลันตื่นขึ้นมา เมื่อกระทรวงถูกถามว่ามีร่างกฎหมายที่พอเป็นคู่เทียบกับร่างของพรรคก้าวไกลไหม นโยบายตอนนั้นของรัฐบาลคือจัดทำกฎหมายคู่ชีวิตที่เปิดโอกาสบุคคลเพศเดียวกันมาจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ กระทรวงยุติธรรมทำตามนโยบายคือร่างกฎหมายคู่ชีวิตให้รัฐบาลส่งไปประกบร่างของพรรคก้าวไกล ร่างทั้งสองผ่านวาระแรกและเข้าสู่การพิจารณาวาระสองในขั้นคณะกรรมาธิการ มีการจัดทำประชาพิจารณ์ไปตามขั้นตอน แล้วสภาฯได้หมดวาระลง

ในกรณีที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมายค้างท่อŽ เช่นนี้ คณะรัฐมนตรีมีเวลา 60 วันที่จะยืนยันร่างกฎหมาย ให้สภาฯก็พิจารณาต่อได้ ปรากฏดังที่ทราบว่า มีความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และเวลา 60 วันก็ล่วงเลยไป จึงต้องเริ่มต้นกันใหม่ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้คือในช่วงเวลาการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ภาคประชาสังคมได้ทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน และมีกุศโลบายเข้าหาพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียง มีการเชิญนักการเมืองให้เข้ามาร่วมกิจกรรมที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมก็ยกร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเตรียมไว้

เมื่อเปิดการประชุมสภาฯ พรรคก้าวไกลที่เคยเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯชุดที่แล้ว ก็พร้อมเสนอร่างกฎหมายเข้าไปใหม่ ตัวแทนภาคประชาสังคมได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายสมรส (ไม่ใช่เพียงคู่ชีวิต) เท่าเทียม ซึ่งได้รับการตอบสนองด้วยดียิ่ง กล่าวคือนายกรัฐมนตรีสั่งให้ทำเสมือนเป็นการต่อยอดจากการพิจารณาของสภาชุดที่แล้ว ขั้นตอนการประชาพิจารณ์ก็สั้นลง และได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาลในเรื่องรูปแบบเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาสั้นลงเช่นกัน ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ก็รับร่างกฎหมายทั้งสามร่างในวาระแรกโดยพร้อมเพรียง

จริงอยู่ที่กระบวนการตรากฎหมายยังไม่เสร็ขสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในขั้นหนึ่งแล้ว เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของคุณหมอประเวศ วะสี คือการกระทำอะไรที่ยากให้สำเร็จย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมและความร่วมมือของอย่างน้อยสามฝ่าย คือ (1) ฝ่ายวิชาการ ซึ่งในกรณีนี้ หมายรวมถึงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ทำการศึกษากฎหมายของต่างประเทศรวมทั้งของฝรั่งเศส และทำเป็นร่างกฎหมายเตรียมไว้ (2) ฝ่ายสังคม ในที่นี้หมายรวมถึงภาคประชาสังคม ที่นอกจากจะสื่อสารให้สังคมทราบเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังเตรียมร่างกฎหมายและล่ารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ครบ ภาคประชาสังคมจึงได้สิทธิ์เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ (3) ฝ่ายที่ขาดเสียไม่ได้คือฝ่ายการเมือง ที่ต้องแสดงปณิธานอันชัดเจน และยังจะต้องสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย จริงอยู่ ภาคประชาสังคมมีส่วนเชิญชวนให้ภาคการเมืองสนใจเรื่องนี้ แต่ในกรณีนี้ ถือได้ว่าภาคการเมืองมีความสนใจอยู่แล้ว และควรได้รับเครดิตไปเต็ม ๆ

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image