สมดุล ชีวิต และงาน Work Life Balance ที่อาจจะไม่ได้มีให้สำหรับทุกคน

สมดุล ชีวิต และงาน
Work Life Balance ที่อาจจะไม่ได้มีให้สำหรับทุกคน

มันจะมีประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์อยู่บางเรื่องที่ว่างๆ ก็จะวนแวะกลับมา มีถี่มีห่างบ้างก็ตามโอกาส ที่อาจจะมาในรูปแบบต่างกัน

“ยังไม่เห็นใครที่ประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยแล้วเวิร์กไลฟ์บาลานซ์ดีกันสักคน” คือโควตข้อความที่ทำให้เรื่องนี้วนกลับมาถกเถียงกันในรอบนี้ ซึ่งตัดมาจากการให้สัมภาษณ์ในสื่อรายหนึ่งของ คุณท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งบิทคับ แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีเจ้าแรกของไทย ที่เคยฮือฮากันมากในช่วงหนึ่งด้วยการที่เขาเกือบจะเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวแรกของสตาร์ตอัพไทยและขึ้นแท่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จด้วยตนเองที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง

วิวาทะเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต Work Life Balance หรือบ้างก็เป็นอีกแนวคิดที่ว่าวิถีชีวิตที่ดีคือการทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งกับการใช้ชีวิตด้วย หรือ Work Life Integration แต่สุดท้ายทั้งมวลมันคือสาระหัวใจเดียวกันก็คือ “เราควรทำงานหนักกันแค่ไหน”

Advertisement

ถ้าอ่านเฉพาะโควตที่ยกมาข้างต้นก็คงเดาได้ว่ามันจะกลายเป็นลานทัวร์ของชาวเน็ตไปอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราควรให้ความเป็นธรรมด้วยการไปอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มอันเป็นการอรรถาธิบายข้อความข้างต้นของเขานั้นจะพบว่าจริงๆ แล้วผู้พูดหมายความถึงว่า การที่จะรักษาเวิร์ก ไลฟ์ บาลานซ์อยู่ได้โดยที่ประสบความสำเร็จเกินค่ามาตรฐานด้วย เกือบทุกคนจะแลกมาด้วยการทำงานโดยให้น้ำหนักกับฝั่ง Work จนทำให้ฝั่งการใช้ชีวิต หรือ Life เสียสมดุลไปบ้างในช่วงหนึ่งของชีวิต แต่หลังจากมั่งคั่ง หรือประสบความสำเร็จเพียงพอแล้วต่างหากที่จะทำให้กลับมารักษาสมดุลของสองฝั่งนี้ หรือ Balance ได้ ซึ่งเขาก็ได้ยกตัวอย่างของ เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งธุรกิจเครือ อเมซอน (Amazon) ผู้ในที่สุดแล้วตอนนี้เขามีเวลาให้ทุกคนทั้งครอบครัวแล้ว เพราะความมั่งคั่งที่สั่งสมไว้จากการทำงานหนักในช่วงก่อตั้งบริษัท

ส่วนตัวแล้วค่อนข้างเห็นด้วยว่าคนที่ประสบความสำเร็จเกินกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานนั้นส่วนใหญ่จะต้องแลกมากับการทำงานหนักเกินระดับของคนทั่วไปพอสมควร เรื่องนี้เป็นกฎธรรมดา ถ้าใครหวังผลลัพธ์ หรือความสำเร็จที่เกินกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปก็ต้องใส่ตัวแปรสักค่าหนึ่งที่สูงพอจะดันค่าเฉลี่ยนั้นลงไป โดยตัวแปรที่สำคัญที่สุดและทุกคนยอมรับกันนั่นคือความเพียรพยายามทำงานหนักและเป็นงานที่มีคุณค่าสำคัญต่อเนื่องและยาวนาน แม้พุทธภาษิตยังมีกล่าวไว้ว่า “บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร (วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ)” ซึ่งการทำงานหนักในระดับดังกล่าวนั้นเองก็จะทำให้บางช่วงเวลาของผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่อาจหาสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตได้

แต่คำแนะนำเรื่องการทำงานหนักเพื่อแลกกับความสำเร็จ แม้จะกล่าวอย่างระมัดระวังเพียงใดก็ยังมีคมมีข้อที่อาจจะเป็นอันตรายได้ในบางบริบทของสังคม นั่นเพราะการทำงานอย่างหนักเพื่อแลกกับความสำเร็จนี้จะเป็นคำแนะนำที่ดีได้ก็ต่อเมื่อสังคมการงานนั้นมีหลักประกันพื้นฐานอย่างเพียงพอว่าผู้ที่ทำงานหนักจะต้องมีขอบเขตของการทำงานหนักอย่างสมเหตุสมผล และผลตอบแทนคือความสำเร็จไม่ว่าจะวัดกันด้วยค่าตอบแทนตรงไปตรงมา หรือเครดิตชื่อเสียงที่สมน้ำสมเนื้อกัน

Advertisement

ในสังคมประเทศที่เป็นอารยะจึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมายคุ้มครองแรงงาน” ที่กำหนดขอบเขตของการ “ทำงาน” “สภาพการทำงาน” และ “ค่าตอบแทน” อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุด โดยรัฐจะเป็นผู้ดูแลรักษากฎหมายนี้เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบแรงงานกันระหว่างฝ่ายนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ก็อย่างที่เรารู้กันนั่นแหละว่า ในโลกของการทำงานจริงแล้วมันมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยที่ “กฎหมายคุ้มครองแรงงาน” หรือ “อำนาจรัฐ” เงื้อมเข้าไปได้ไม่ถึง หากทั้งสองฝ่าย “สมัครใจ” ที่จะยอมรับและรักษาข้อตกลงที่นอกเหนือ หรือผิดไปจากกฎหมายนั้นไว้ทุกฝ่าย

“ข้อบังคับในการทำงาน” ตามความเป็นจริงจึงประกอบอยู่ในรูปแบบอื่น เช่น วัฒนธรรมการทำงาน เช่น เวลาเข้างานออกงานอาจจะถูกกำหนดไว้ชัดเจนก็จริง แต่ก็เป็นอันรู้กันว่าไม่ควรกลับบ้านเร็วกว่าหัวหน้างานหรือรุ่นพี่ วันลามีให้ครบตามกฎหมาย แต่จะลาได้จริงโดยไม่มีผลกระทบด้านอื่นหรือไม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ไปถึงธรรมเนียมที่ผู้เข้าไปใหม่อาจต้องยอมอดทนทำงานแบบไม่ออกหน้าก่อนในช่วงแรกจนกว่าจะได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าหรือรุ่นพี่

สังคมการทำงานที่มาตรการคุ้มครองการทำงานไม่ว่าจะโดยการบังคับใช้กฎหมายและวัฒนธรรมนั้นต่ำกว่าหลักประกันพื้นฐานจนคนต้องทำงานหนักอย่างไม่สมเหตุสมผล และได้รับผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้เอง ที่คำแนะนำสำเร็จรูปว่าที่ “อยากประสบความสำเร็จต้องทำงานหนักกว่าค่าเฉลี่ย” นั้นจะกลับเป็น “พิษภัย” กลายเป็นเครื่องมือในการกดขี่และเอาเปรียบสำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วได้ง่ายๆ โดยที่ผู้ที่แนะนำ เรียกร้อง หรือบังคับให้ผู้คนใช้มาตรฐานการทำงานเช่นว่านั้นก็ไม่รู้ตัวด้วยว่าตนเองกำลังกดขี่ผู้คนอยู่โดยไม่รู้ตัว นั่นก็เพราะตัวเขาก็ประสบความสำเร็จโดยผ่านการเคี่ยวเข็ญตัวเองผ่านการทำงานหนักมาแล้วอย่างนั้นเช่นกัน

ค่านิยมของคนบางกลุ่มที่นิยมอวดว่าใครทำงานหนักแบบไม่สมเหตุสมผล ประเภทว่าทำงานวันละ 18 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ ได้มากเท่าไรก็เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจมากเท่านั้น จนทำให้ผู้คนในแวดวงวัฒนธรรมการทำงานเห็นว่าการทำงานหนักในระดับนั้น หรือหย่อนลงมาบ้างเป็นค่ามาตรฐานของคนทำงานไป และถ้าการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานย่างกรายเข้าไปไม่ถึงวงการนั้นเท่าไร ในที่สุดแล้ว ผู้ที่จะได้ประโยชน์ที่สุดในห่วงโซ่แห่งการทำงานหนักนี้ก็อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ทำงานหนักอะไรด้วยซ้ำ แต่ที่มั่งคั่งมานั้นก็ด้วยการสั่งสมทุนมาจากรุ่นสู่รุ่น จากส่วนต่างระหว่างผลกำไรจากการกดขี่ หรือขูดรีดแรงงาน

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังอีกเรื่องที่น่าเจ็บปวดยิ่งกว่าก็คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ตั้งใจทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จได้

เรื่องนี้แม้แต่ว่าผู้ที่ใส่แรงพลังแห่งความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอจะเป็นผู้ที่มีความสามารถเหนือกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานด้วยแล้ว หรืองานนั้นจะมีคุณค่าต่อผู้อื่นมากเพียงแค่ไหน ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่วัดกันโดยมาตรฐานทั่วไป คือค่าตอบแทนและชื่อเสียงนั้น เพราะความสำเร็จดังกล่าวมันไม่ได้จ่ายให้เพราะ “คุณค่า” หรือความสำคัญในการทำงาน แต่มันขึ้นกับ “มูลค่า” ทางการตลาดของงานนั้นยิ่งกว่า

ตัวอย่างที่จะเห็นภาพง่ายที่สุดคือ การที่แพทย์คนหนึ่งผ่าตัดหัวใจช่วยชีวิตใครคนหนึ่งไว้ เป็นงานที่มี “คุณค่า” มหาศาลอย่างที่คงไม่มีใครโต้แย้ง แต่ก็ไม่มีใครกล้าเถียงเช่นกันว่า “มูลค่าทางการตลาด” ซึ่งแปรกลับมาเป็นค่าตอบแทนและชื่อเสียงของคุณหมอนั้น โดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าค่าตอบแทนของนักร้อง หรือนักแสดงที่มีชื่อเสียงสักคนขึ้นร้องเพลง หรือโชว์ตัวเพียงครั้งเดียวด้วยซ้ำ เรื่องนี้ไม่มีใครผิดใครถูก แต่ระบบการ “ตอบแทน” ของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมมันก็เป็นเช่นนี้

ถ้ากล่าวอย่างเข้าใจโลกไปกว่านั้นคือ การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจอาจทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต พ้นทุกข์ หรือมีความสุขได้ แต่ก็เป็นความสุข หรือเปลื้องทุกข์ให้เฉพาะตัวเขากับญาติๆ ไม่กี่คน ให้มากที่สุดก็ไม่เกิน 100 คน แต่การร้องเพลงเพลงหนึ่งของนักร้องนักแสดงระดับซุปเปอร์สตาร์บนเวทีคอนเสิร์ต อาจจะทำให้ผู้คนมีความสุขได้นับเป็นล้านๆ คนทั่วโลก

เมื่อ “ความสุข” ก็ไม่ได้มีหน่วยวัดด้วยว่าความสุขที่ใครคนหนึ่ง หรือญาติของเขาได้รับจากการหายป่วยด้วยโรคหัวใจ กับการที่ผู้คนจำนวนมากมายได้ฟังเพลงสดๆ จากนักร้องที่เขาชื่นชอบ หรือเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตนั้น ความสุขประเภทไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน ดังนั้น ถ้าจะบอกว่างานของนักร้อง นักแสดง หรือไอดอล มี “คุณค่า” น้อยกว่าแต่มี “มูลค่า” กว่างานของคุณหมอผู้ผ่าตัดหัวใจก็อาจจะตื้นเขินและเป็นการมองโลกด้านเดียวจนเกินไป

เพราะปัจจัยแห่งความสำเร็จอาจจะไม่ได้วัดคุณค่าได้ตรงไปตรงมา ผู้ที่เลือกจะลงเดิมพันด้วยการทำงานหนักในช่วงต้นของชีวิตการทำงานก็อาจจะต้องทำใจไว้ล่วงหน้าด้วยว่า ต่อให้การทำงานบรรลุผลถึงที่สุดแล้ว แต่ “ความสำเร็จ” ที่คุณจะได้รับก็อาจจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังก็ได้เช่นกัน อีกทั้งไม่มีใครรับรองได้ว่าการทำงานหนักต้องทำงานไปถึงแค่ไหนถึงจะประสบความสำเร็จอย่างสมเหตุสมผลตามความคาดหวังนั้นด้วย

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนทำงานในยุคนี้ที่จริงๆ ก็อาจจะเคยมี หรือเคยเป็นอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านั้นปัญหานี้อาจจะยังไม่มีชื่อเรียก คือ “อาการหมดไฟ” (Burnout) หรือภาวะสิ้นยินดีในชีวิตแทบทุกด้านที่กำลังเป็นปัญหาคุกคามคนทำงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนทำงานในระดับกลางถึงระดับกลางค่อนสูงนั้นก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทำงานอย่างหนักหนายาวนานด้วยความเชื่อ หวังว่าจะได้รับการตอบสนอง หรือผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่การตอบแทนยังห่างไกลจนมองไม่เห็นว่าจะมาถึงจริงได้ หรือจำต้องยอมรับความจริงว่าความสำเร็จจะไม่มีวันมาถึง แล้วการอุทิศตนอย่างหนักก่อนหน้านี้คืออะไรกันเล่า

ใครที่ไม่ได้เตรียมทำใจยอมรับความเป็นจริงอันโหดร้ายของโลกตามข้างต้นไว้ล่วงหน้า ความผิดหวังก็จะย้อนตีกลับให้เกิดอาการหมดไฟ หรือภาวะสิ้นยินดีในที่สุด

ความคิดเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต หรือ Work Life Balance จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันอาการหมดไฟ หรือภาวะสิ้นยินดีในชีวิตนั้นได้ เพียงแต่ข้อยากของเรื่องนี้ก็คือว่า แล้วจุดไหนกันที่เราควรจะยอมรับในความสำเร็จเท่าที่มีหรือเท่าที่ได้แล้วในตอนนี้ หรือแม้แต่ยอมรับว่าชีวิตนี้คงไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือความมุ่งหวังแล้ว และกลับมารักษาสมดุลในด้านอื่นของชีวิตเสียบ้าง

อันนี้บางคนก็รอจนหมดไฟแล้วจนเปล่าประโยชน์จนยากที่จะรักษาสมดุล แต่บางคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็กลับเรียกร้องที่จะรักษาสมดุลนี้ด้วยการเรียกร้องการทำงานที่เบาบางจางเจือเพื่อให้มีเวลาไปใช้ชีวิต ทั้งๆ ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์การทำงานหนักเสียจนชีวิตฝั่ง Life นั้นเสียสมดุลไปเลย ก็เป็นข้อกังขาไปได้อีกทางหนึ่ง

ความไม่ลงตัวนี้ก็จะทำให้เรื่อง Work Life Balance วิวาทะเรื่องสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิตนี้ก็จะได้วนกลับมาเป็นประเด็นถกเถียงกันจากนี้อีกหลายครั้ง รอแค่ว่าใครจะไปกระตุ้นมันขึ้นมาเป็นประเด็นอีกในอนาคต

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image