หลักสูตรการศึกษาถูกล็อก

หลักสูตรการศึกษาถูกล็อก การประชุมวุฒิสภานัดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล

การประชุมวุฒิสภานัดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเศรษฐาโดยไม่มีการลงมติวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ส.ว.ทิ้งทวนใส่และฝากการบ้านหลากด้าน หลายประเด็น

ส.ว.เฉลิมชัย เฟื่องคอน ตั้งคำถาม 5 ข้อใหญ่ ก่อนอภิปรายกล่าวหาการดำเนินนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน และขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

หนึ่งในคำถามเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายทางการศึกษา อภิปรายเสียงดังฟังชัด ปฏิรูปการศึกษาไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน ถ้าไม่เร่งรัดร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ได้สำเร็จ จึงต้องถามว่า จะผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษามาใช้บังคับเมื่อไหร่

ลืมย้อนถามวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลที่แล้วว่า ใช้เวลาบัญญัติกฎหมายนี้เกือบ 10 ปีทำไมถึงทำคลอดออกมาไม่สำเร็จ

Advertisement

ผมฟังไม่ตลอด เลยไม่ได้ยินว่า รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบคำถามเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ว่าอย่างไร ขณะนี้เดินหน้าไปถึงไหน

ระหว่างนี้มีนักคิดทางการศึกษาทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน เสนอความคิดเห็นประกอบการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ ไม่ขาดสาย

ล่าสุด ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)บรรยายพิเศษหัวข้อ Unlocked Thailand ในงานสัมมนาประจำปีหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ PRACHACHAT BUSINESS FORUM

Advertisement

“คำถามคือ อะไรที่ล็อกประเทศไทย ขอยก 3 เรื่องกฎระเบียบโบราณ การศึกษาท่องจำ การทดลองโดยไม่เรียนรู้

“การศึกษาที่เน้นท่องจำ จำและท่อง เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราไม่สามารถเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเรียนรู้กับวิชาที่นิ่งอยู่จากการท่องจำ

“เราปรับปรุงหลักสูตรครั้งสุดท้ายปี 2551 แต่สิงคโปร์ปรับหลักสูตรอยู่บ่อยๆ ปรับหลักสูตรทุก 6 ปี แม้กระทั่งที่เคยเป็นเบอร์ 1 อย่างฟินแลนด์ปรับหลักสูตรทุก 10 ปี แต่เราไม่ได้ปรับหลักสูตรตั้งแต่ปี 2551 ตั้งแต่ไอโฟนรุ่นแรก จนปัจจุบันไอโฟน 15

“ระบบการศึกษาไทยอยากให้คนคิดเหมือนกัน แล้วเราจะมีนวัตกรรมที่ไปอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากได้อย่างไร เราจึงเห็นว่าการศึกษาไทยแย่ลงตลอด ถ้าเป็นอย่างนี้น่าจะไปรอดยาก ที่น่าเสียดายคือจนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ฝ่าด่านการศึกษาที่เน้นท่องจำออกไปได้เลย

“หลักสูตรไทยเน้นความรู้ เน้นการท่องจำมากกว่าสมรรถนะว่าทำอะไรได้ ต่างประเทศกำลังเปลี่ยนไปสู่หลักสูตรอีกแบบหนึ่ง คือ ฐานสมรรถนะ แต่หลักสูตรนี้พอนำมาใช้ในประเทศไทยก็ถูกล็อกไว้”

ครับ ฟังแล้วต้องย้อนความเป็นไปเรื่องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย กันอีกครั้ง

ทั้งที่ในคำแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาของรัฐบาลเศรษฐา วันที่ 11-12 กันยายน 2566 เขียนไว้ว่า “จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ ความสนใจของผู้เรียน”

แต่ความเป็นจริงของหลักสูตรการศึกษา ก็มีสภาพเช่นเดียวกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อย่างไรอย่างนั้น คือ ไม่มีการปฏิรูปใหญ่ใดๆ เกิดขึ้นนอกจากปะผุ

การเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จากที่มุ่งเน้นวิชา ความรู้ ไปสู่การเน้นสร้างทักษะ สมรรถนะที่สำคัญจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 จึงไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

นอกจากการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะกับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 226 โรงในพื้นที่ 8 จังหวัด ถึงวันนี้ไม่มีการรายงานต่อประชาคมการศึกษาอย่างเป็นทางการ กว้างขวาง ว่าคืบหน้าไปถึงไหน

สาเหตุสำคัญของความอืดอาดล่าช้าเนื่องมาจาก ความไม่เห็นพ้องหรือความขัดแย้งทางความคิดของผู้บริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการด้วยกันเอง แตกออกเป็นสองขั้ว สามขั้ว

อ้างเหตุผล 3 ข้อขึ้นมาคัดค้าน โดยเฉพาะข้อแรก การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่จะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องการผลิตสื่อและตำราเรียน

ของเดิมที่ผลิตไว้ ยังขายและใช้ไม่หมด เลยเดือดร้อนเสียหาย

ความขัดแย้งจากความเห็นต่างของฝ่ายปฏิบัติ และผลประโยชน์ของผู้ผลิตสื่อและตำราเรียน เลยเป็นเหตุให้รัฐบาลที่แล้วหยุดความเคลื่อนไหวการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ไว้อย่างเดิม

การทดลองนำร่องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะเลยพลอยชะงักงัน ขณะที่โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกมากมายทั่วประเทศ ยังคงรอความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่สามารถทำอะไรได้ ในเมื่อส่วนบนขาดความชัดเจน

การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาจึงเป็นอีกคำถามหนึ่ง ที่ฝ่ายนโยบายและผู้บริหารการศึกษาไทยต้องมีคำตอบต่อสังคม นอกจากการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

ต้องตอบ ไม่ใช่เฉพาะในการประชุมอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาที่ผ่านมา และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคฝ่ายค้านจะยกเรื่องการดำเนินนโยบายการศึกษามาอัดซ้ำรัฐบาล ต้นเมษายนนี้ อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image