บ่อขยะแพรกษาปัญหาระดับชาติ

บ่อขยะแพรกษาปัญหาระดับชาติ

คนที่จากแพรกษาไปนานตั้งแต่ปี 2540 เมื่อได้กลับมา จะประหลาดใจที่ได้มาเห็นภูเขาสูงราวตึก 3 ชั้น ผุดขึ้นมาในใจกลางพื้นที่ 300 ไร่ ไม่ใช่ภูเขาเขียวต้นไม้ แต่เป็นภูเขาขยะที่บ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ

เนื่องหลายปีที่ผ่านมา จะมีขยะในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการที่เข้ามาเทกองในบ่อขยะแพรกษา 2,300 ตันต่อวัน ขยะมีมากจนฝังกลบไม่หมด และขยะที่เอาเข้าเตาเผาเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ สามารถขจัดได้เพียง 500 ตัน ขยะจึงยังมีเหลือตกค้างอยู่วันละ 1,800 ตัน เป็นการสะสมเพิ่มทุกวัน

มีการคำนวณคร่าวๆ ว่า ขยะเก่าที่บ่อแพรกษาที่ตกค้างกองสูงเป็นภูเขาราว 1.2 ล้านตันนั้น โรงไฟฟ้ากำจัดขยะได้แค่วันละ 500 ตันต่อวัน จะกำจัดกองภูเขาขยะให้หมดไปต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมขยะใหม่ที่เหลือตกค้างในแต่ละวัน ซึ่งบ่อขยะแพรกษาจะสะสมขยะใหม่ที่ตกค้างเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันขจัดหมดไปได้

Advertisement

ประชาชน หมู่บ้านจัดสรร โรงเรียน ตลาด ร้านค้า ที่อาศัยอยู่รอบๆ กองขยะจำต้องสูดกลิ่นเหม็นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่น่าวิตกมาก มีการเกิดเพลิงไหม้กองขยะแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน รวม 15 ครั้งด้วยกัน ทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อเกิดควันพิษฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ กระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชีวิตผู้คน

กรมควบคุมมลพิษเปิดเผยสถิติที่ได้ศึกษาว่า คนหนึ่งจะสร้างขยะเกิดขึ้นวันละ 1.3 กิโลกรัม ถ้าทุกคนในจังหวัดสมุทรปราการลดการสร้างขยะให้เกิดน้อยลง อาหารการกินควรจับจ่ายพอดีกับสมาชิกครอบครัว ไม่กินทิ้งกินขว้าง จะช่วยลดขยะลงได้มาก เวลาไปตลาดจับจ่ายของให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกจะได้ไม่เพิ่มขยะพลาสติก ซึ่งเป็นขยะต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 100 ปี

ขยะในแต่ละวันที่นำไปเทกองที่บ่อขยะแพรกษา ราว 49% เป็นขยะเปียกประเภทเศษอาหาร จึงเป็นปัญหาในการกำจัดขยะ เพราะต้องนำไปฝังกลบ จนเป็นขยะแห้งได้ที่แล้ว ถึงจะนำขึ้นมาผ่านกระบวนการทำเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse derived fuel) เพื่อป้อนเข้าเตาเผาเป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าได้

Advertisement

การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง ไม่ใส่รวมในถุงเดียวกัน จะช่วยให้กระบวนการกำจัดขยะที่บ่อขยะได้หมดเร็วขึ้น ซึ่งต้องเริ่มในชุมชน หมู่บ้าน โรงงาน บ้าน อาคาร ร้านค้า สถานศึกษา วัด โรงเรียน ร่วมมือช่วยคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ตั้งแต่ต้นทาง

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ลงพื้นที่แนะนำให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ร้านค้า ถึงวิธีการคัดแยกขยะแห้ง ขยะเปียก ให้แยกใส่กันคนละถุง ขยะแห้งบางอย่างนำไปทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ขวดพลาสติกดัดแปลงเป็นกระถางใส่ต้นไม้ ใส่ของ ฯลฯ สิ่งของรีไซเคิลบางอย่างนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในตลาดได้ สำหรับขยะเปียกเศษอาหารนั้น ก็นำไปหมักทำเป็นปุ๋ยใส่บำรุงต้นไม้ หรือไม่สะดวก จะทำลายขยะเปียกเอง ก็นำใส่ถังขยะเปียกลดภาวะโลกร้อน ตามโครงการของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้แต่ละตำบลมี 1 ธนาคารขยะ โดย อปท.จะแจกถังขยะเปียกทุกบ้าน ทุกแห่ง อย่างทั่วถึง

ครูโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงชั้นมัธยมปลาย ก็ให้ความรู้เรื่องขยะและกระตุ้นจิตสำนึกให้นักเรียนมีนิสัยเก็บขยะที่เกิดจากตนใส่ถุงกลับไปทิ้งที่บ้าน คนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นถึงกับบ่นหาถังขยะในที่สาธารณะทุกแห่งในเมืองยาก ทั้งนี้ เพราะชาวญี่ปุ่นจะหิ้วขยะของตนกลับไปที่บ้านนั่นเอง

วิทยากรจังหวัดเดินสายเข้าโรงงาน รณรงค์ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะแก่เจ้าของโรงงานและผู้ใช้แรงงาน มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ผ่านทางเสียงตามสายในชุมชน หมู่บ้าน ทุกวัน

ปัจจุบันประชาชนในชุมชน หมู่บ้าน ยังทิ้งถุงขยะแห้ง ขยะเปียก ลงในถังขยะใบเดียวกัน อปท.ต้องกำชับให้บริษัทเอกชนรับเหมาเก็บขยะ คัดแยกถุงขยะแห้ง ออกใส่ถังขยะแห้ง ถุงขยะเปียกใส่ถังขยะเปียก เป็นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และรถเก็บขยะควรมีเก็บขยะแห้ง 1 คัน เก็บขยะเปียก 1 คัน เมื่อถึงบ่อขยะจะต้องเทขยะแห้งไว้ที่หนึ่ง และขยะเปียกไว้อีกที่หนึ่ง ไม่เทรวมเป็นกองเดียวกัน จะช่วยระบบการกำจัดขยะได้หมดรวดเร็วขึ้น

เมื่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน วัด สถานการศึกษา โรงงาน ชุมชน หมู่บ้าน ร่วมมือกันคัดแยกขยะกันอย่างจริงจัง เป็นการช่วยกำจัดขยะให้ลดน้อยลง จะเป็นการดีมาก ถ้าคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดสมุทรปราการ พิจารณาถึงความจำเป็นรีบด่วนในการเพิ่มโรงไฟฟ้าขยะอีก 4 โรงให้บ่อขยะแพรกษา จะช่วยย่อยสลายขยะได้ถึงวันละ 2,500 ตัน (ขยะเข้ามาที่บ่อวันละ 2,300 ตัน) ขยะเก่า ขยะใหม่ที่ตกค้างสะสมจะถูกกำจัดหมดไปในที่สุด ประชาชนที่อาศัยข้างเคียงรอบบ่อขยะแพรกษาก็จะมีสุขภาพดีปลอดภัย สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น เด็กๆ จะได้มีโอกาสออกมาเล่นนอกบ้านได้

ผดุง จิตเจือจุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image