สะพานแห่งกาลเวลา : ปีเตอร์ ฮิกส์ กับ ‘อนุภาคพระเจ้า’

(ภาพ-AP)

เมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ไปอีกผู้หนึ่ง นั่นคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปีเตอร์ ฮิกส์ (Peter Higgs) มหาวิทยาลัยเอดินบะระ แถลงในวันถัดมาว่า ฮิกส์ เสียชีวิตอย่างสงบหลังล้มป่วยเป็นระยะสั้นๆ ขณะอายุ 94 ปี

ใครที่เรียนมาทางฟิสิกส์ หรือชื่นชอบอ่านเรื่องฟิสิกส์ ต้องรู้จัก ปีเตอร์ ฮิกส์ และสิ่งที่เขาค้นพบนั่นคือ อนุภาคฮิกส์ หรือที่เรียกเจาะจงลงไปอีกว่า อนุภาคฮิกส์ โบซอน (Higgs boson คำว่าโบซอน คือ 1 ใน 2 ประเภทของอนุภาคมูลฐาน มีเลขสปินเต็มจำนวน อีกประเภทคือ เฟอร์มิออน มีเลขสปินเป็นครึ่ง)

แต่สื่อมวลชนชอบเรียกอนุภาคที่ ฮิกส์ เสนอว่ามีอยู่จริงว่า “อนุภาคพระเจ้า” หรือ “God particle” ตามชื่อหนังสือของ ลีออน ลีเดอร์แมน นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่อธิบายความเรื่องนี้ไว้ เป็นนัยว่า เพราะมีอนุภาคนี้จึงได้มีจักรวาลเกิดขึ้น

แต่ว่ากันอีกเช่นกันว่า การที่สื่อนิยมเรียกอนุภาคฮิกส์ว่า อนุภาคพระเจ้า นั้น เป็นการสื่อถึงการประชดประชัน เพราะเรื่องของอนุภาคฮิกส์โดยลึกนั้นซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจเอามากๆ จนควรเรียกขานว่าเป็น God Damn Particle เสียมากกว่า

Advertisement

แต่จริงๆ การมีอยู่ของอนุภาคฮิกส์นั้น มีความสำคัญอย่างมาก ฮิกส์ทำนายถึงการมีอยู่ของอนุภาคนี้ไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่ทฤษฎีของเขาไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ (เพราะความยากของมันอีกเช่นกัน) จนกระทั่งถึงปี 1964 จึงมีการตีพิมพ์ในที่สุด

ทฤษฎีว่าด้วยอนุภาคฮิกส์นั้น ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า สสาร ก่อตัวขึ้นหลังปรากฏการณ์ “บิ๊กแบง” ได้อย่างไร โดยการแสดงให้เห็นว่า อนุภาคฮิกส์ (อนุภาคคือส่วนที่ย่อยลงไปกว่า อะตอม ของสสารทั้งหลาย) นั้นเกิดมี “มวล” ขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งเท่ากับเป็นการอธิบายว่าอนุภาคอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงดวงดาวและจักรวาลโดยรวม มีมวลขึ้นมาได้อย่างไรนั่นเอง

งานของฮิกส์ช่วยให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเข้าใจปริศนาพื้นฐานที่สุดอันหนึ่งของจักรวาลนั่นก็คือ ช่วยตอบคำถามที่ว่า บิ๊กแบง นั้นก่อให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาจากที่ไม่เคยมีอะไรอยู่เลยได้อย่างไรเมื่อ 13,800 ล้านปีมาแล้ว เพราะถ้าปราศจากอนุภาคฮิกส์ อนุภาคต่างๆ ก็ไม่สามารถรวมตัวกันขึ้นเป็นสสารอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้

Advertisement

แต่กว่าที่คำทำนายถึงอนุภาคฮิกส์ของปีเตอร์ ฮิกส์ จะได้รับการยืนยันก็ต้องรออีกถึง 50 ปีถัดมา โดยในปี 2012 องค์การเพื่อการวิจัยด้านนิวเคลียร์แห่งยุโรป (เซิร์น) ประกาศในที่สุดว่า ได้ค้นพบ อนุภาคฮิกส์จริงๆ ในการทดลองโดยใช้ เครื่องชนอนุภาคขนาดใหญ่ (แอลเอชซี) มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ จำลองการชนกันของอนุภาคขณะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเพื่อจำลองสภาพที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 1 ในล้านล้านวินาทีหลังเกิดบิ๊กแบง

การยืนยันดังกล่าวทำให้ ปีเตอร์ ฮิกส์ ได้รับเลือกให้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ร่วมกับ ฟรองซัวส์ เองแกลต์ นักฟิสิกส์ชาวเบลเยียม ในปี 2013 ทั้งคู่เสนอทฤษฎีในทำนองเดียวกันแต่ทำงานแยกกันโดยสิ้นเชิง

ปีเตอร์ ฮิกส์ เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด เขาเกิดที่เมืองนิวคาสเซิล อัพ ออน ไทน์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อ 29 พฤษภาคม 1929 เข้าเรียนที่ คิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน จนสำเร็จปริญญาเอกในปี 1954 แต่ใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสก็อตแลนด์ จนกระทั่งได้เป็นประธานคณะทฤษฎีฟิสิกส์ ในปี 1980 ก่อนเกษียณอายุในปี 1996

คนที่รู้จักปีเตอร์ ฮิกส์ดี บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เปี่ยมพรสวรรค์ มีวิสัยทัศน์และจินตนาการเป็นเลิศ แต่อ่อนน้อมถ่อมตัว ใช้ชีวิตอย่างสมถะ บุคลิกอ่อนโอน นุ่มนวล และอบอุ่น กระทั่งขึ้นชื่อว่า เป็นคนขี้อาย เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่กับงาน ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการมีชื่อเสียง ทั้งๆ ที่ผลงานของเขาคือทุกอย่างที่กลายเป็นกรอบของทฤษฎีฟิสิกส์ยุคใหม่ว่าด้วย ฟิสิกส์เชิงอนุภาค (particle physics) ภายใต้ แบบจำลองมาตรฐาน (the standard model) ทีเดียว

ฮิกส์ สมถะ ถึงขนาดว่าไม่เคยมีแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ว่ากันว่า ตอนที่ได้รับรางวัลโนเบล คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล ไม่สามารถติดต่อกับ ปีเตอร์ ฮิกส์ เพื่อแจ้งข่าวให้ทราบได้

ฮิกส์ รู้ว่าตนเองได้รับรางวัลโนเบล เพราะเพื่อนบ้านเจอหน้าเขาขณะเดินอยู่บนถนน แล้วเข้ามาแสดงความยินดีเท่านั้นเอง

ในปี 2012 เมื่อ เซิร์น ยืนยันคำทำนายว่าด้วยอนุภาคฮิกส์ว่าเป็นความจริง มีผู้สื่อข่าวเข้ามาสอบถามถึงความรู้สึกของเจ้าตัว

ปีเตอร์ ฮิกส์ ตอบด้วยรอยยิ้มเขินๆ แล้วบอกว่า “ก็ดีอยู่นะ ที่บางทีก็ทำนายถูกอยู่บ้าง”

เพื่อนบางคนบอกว่า อาจเป็นเพราะว่าฮิกส์เป็นคนแบบนี้ ผลงานของเขาถึงได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้นั่นเอง

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image