ผู้สมัครเลือกกันเองเป็น ส.ว. โดย โคทม อารียา

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 และจะต้องมีการเลือก ส.ว. ชุดใหม่ให้มาทำหน้าที่นิติบัญญัติ รวมทั้งหน้าที่ลงมติรับหรือไม่รับผู้ที่ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร แต่การได้มาซึ่ง ส.ว. ชุดใหม่นี้ มีวิธีการที่ซับซ้อน ไม่คุ้นเคย โดยให้ผู้สมัครลงสมัครตามกลุ่มอาชีพของตน 20 กลุ่ม แล้วเลือกกันเองภายในกลุ่มบ้าง และเลือกไขว้ คือเลือกผู้สมัครของกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มของตนบ้าง โดยเลือกทั้งในกลุ่มและไขว้กลุ่มในทั้ง 3 ระดับคือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ องค์กรที่ชื่อว่าอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พยายามอธิบายความซับซ้อนต่าง ๆ เพื่อการรู้ทันของประชาชน พร้อมทั้งเชิญชวนให้ลงสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. กันมาก ๆ นอกจากข้อมูลที่ได้จากการเผยแพร่ของ iLaw แล้ว บทความนี้ยังอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่ลงพิมพ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 และเอกสารอื่น ๆ ด้วย

ข้อมูลแรกที่ขอเสนอมาจาก พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ได้กำหนดกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มไว้ดังนี้

“(1) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(2) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

Advertisement

(3) กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(4) กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(5) กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

Advertisement

(6) กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(7) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(8) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ  พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(9) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(10) กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (9)

(11) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(12) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(13) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(14) กลุ่มสตรี

(15) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(16) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(17) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(18) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(19) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(20) กลุ่มอื่น ๆ

การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนด ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ย่อมมีสิทธิสมัคร

ในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (20) ได้”

อนึ่ง กลุ่มสตรี (14) และกลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ (15) ไม่จะเป็นต้องมีการรับรองวิชาชีพ

หลังการหมดวาระของ ส.ว. ปัจจุบัน จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ให้ กกต. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือก ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดวันเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

(2) กำหนดวันรับสมัคร โดยเริ่มรับสมัครไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวันแต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน วันเลือกในระดับอำเภอ ต้องไม่เกินยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร วันเลือกในระดับจังหวัด ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และวันเลือกในระดับประเทศ ต้องไม่เกินสิบวันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด ทั้งนี้ ในการกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

หากพระราชกฤษฎีกามีผลวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 กกต. สามารถกำหนดวันแรกที่เริ่มเปิดรับสมัคร ได้เป็นวันที่ 13-27 พฤษภาคม 2567 หาก กกต. กำหนดวันที่เริ่มเปิดรับสมัคร เป็นวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ก็อาจจะกำหนดเวลารับสมัครเป็นวันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 2567 ผู้สนใจที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด สามารถยื่นใบสมัครได้ ณ ที่ทำการอำเภอ/เขต ซึ่งเป็นที่เกิด หรือที่มี (หรือเคยมี) ทะเบียนบ้าน หรือที่ (หรือเคย) ทำงานหรือศึกษา ติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี โดยที่ผู้สมัครมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก ตลอดจนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติ

การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครจะเริ่มที่ระดับอำเภอ ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งระดับอำเภอเป็นดังนี้

ผู้สมัครแต่ละคนต้องยื่นเอกสารตามที่ กกต. กำหนด มีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มได้เพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว กฎหมายห้ามมิให้ กกต. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด (หมายความว่าหาเสียงหรือประกาศสรรพคุณว่าจะทำโน่นทำนี่ไม่ได้?) ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับหมายเลขประจำตัวหนึ่งหมายเลข การลงคะแนนทั้งในกลุ่มของตนและไขว้กลุ่มจะใช้วิธีเขียนหมายเลขอารบิกของผู้ที่จะเลือกลงในช่องเขียนหมายเลข

สำหรับการเลือกระดับอำเภอ (ดูตัวอย่างของบัตรเลือกข้างต้น) ในด่านแรก ผู้สมัครคนหนึ่งอาจเลือกดังนี้ (1) เลือกตนเอง เท่านั้น หรือ (2) เลือกตนเองและเลือกผู้สมัครคนอื่นอีกหนึ่งคน หรือ (3) เลือกผู้สมัครคนอื่นไม่ซ้ำกันสองคน ผลก็คือผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 คนแรกจะผ่านไปเข้าสู่ด่านสอง (ถ้าคะแนนเท่ากันทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 5 คน ให้จับสลาก) สำหรับด่านนี้ จะมีการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มเป็น 4 สาย (แต่ละสายมี 5 กลุ่ม) กลุ่มไหนจะอยู่สายใด ให้ใช้วิธีจับสลากคือไม่รู้ล่วงหน้า ผู้สมัครที่ผ่านด่านแรกจะเลือกผู้สมัครที่ผ่านด่านแรกที่อยู่ในสายเดียวกันแต่อยู่ใน 4 กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มของตน เลือกได้ไม่เกิน 1 คนต่อกลุ่ม (เลือกตนเองหรือผู้สมัครในกลุ่มของตนไม่ได้) ผู้สมัครที่ผ่านด่านสองคือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 3 คนแรก (ลดจาก 5 เหลือ 3 คน) เนื่องจากจำนวนอำเภอ/เขตทั้งประเทศมี 928 แห่ง ผู้ผ่านด่านสองรวมกันทั้งประเทศจะมีจำนวนเท่ากับ

928 แห่ง x 20 กลุ่ม x 3 คน = 55,680 คน (1)

ต่อไปจะกล่าวถึงการเลือกระดับจังหวัด ซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งดังแสดง

การเลือกในระดับจังหวัดก็มี 2 ด่านคล้ายระดับอำเภอ สำหรับด่านแรก ผู้สมัคร 3 คน/กลุ่มที่มาจากอำเภอ/เขต ต่าง ๆ ของจังหวัด มาประชุมกันที่จังหวัด/กรุงเทพฯ เพื่อเลือกกันเองในกลุ่มของตนโดยแต่ละคนเลือกผู้สมัครไม่ซ้ำกันได้ไม่เกิน 2 คน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 คนแรกคือผู้ผ่านด่านนี้ สำหรับด่านที่สอง จะมีการจับสลากกันใหม่เพื่อเลือกสาย โดยแต่ละสายประกอบด้วยกลุ่ม 5 กลุ่ม การลงคะแนนโดยผู้ผ่านด่านแรกจะคล้ายกับระดับอำเภอคือ เลือกผู้สมัครที่อยู่ในสายเดียวกันแต่อยุ่ใน 4 กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มของตน เลือกได้ไม่เกิน 1 คนต่อกลุ่ม ผู้สมัครที่ผ่านด่านสองคือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 2 คนแรก เนื่องจากจำนวนจังหวัดทั้งประเทศมี 77 จังหวัด ผู้ผ่านด่านสองรวมกันทั้งประเทศจะมีจำนวนเท่ากับ

77 จังหวัด x 20 กลุ่ม x 2 คน = 3080 คน (2)

สำหรับการเลือกระดับประเทศ ตัวอย่างบัตรเลือกจะเป็นดังแสดง

ผู้สมัครที่ผ่านการเลือกมาถึงระดับประเทศจะมีจำนวน 77 จังหวัด x 2 คน = 154 คน ต่อกลุ่ม สำหรับด่านแรก พวกเขาจะเลือกกันเองในกลุ่ม โดยแต่ละคนเลือกผู้สมัครที่ไม่ซ้ำกันได้ไม่เกิน 10 คน ผู้ที่ผ่านด่านแรกระดับประเทศคือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของกลุ่ม ๆ ละ 40 คน รวม 20 กลุ่มจะได้ผู้สมัครจำนวน 800 คนที่เข้าสู่ด่านสอง คราวนี้เป็นการเลือกไขว้ โดยเลือกผู้สมัครที่อยู่ในสายเดียวกัน 4 กลุ่ม (แต่มิใช่กลุ่มของตน) ได้ไม่เกินกลุ่มละ 5 คน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่มจำนวน 10 คนได้รับเลือกเป็น ส.ว. ลำดับที่ 11 ถึง 15 อยู่ในรายชื่อสำรอง

แค่อธิบายก็เหนื่อยแล้ว แต่หวังว่าผู้อ่านคงพอเข้าใจ และถ้าเป็นผู้สมัครก็ขอให้ทำตามที่ผู้ดำเนินการเลือก ส.ว. เขาบอกให้ดี และใช้วิจารณญาณ โดยเฉพาะในการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มให้ดีที่สุดเท่าที่จะมีข้อมูลก็แล้วกัน (เขาว่าห้ามเลือกแบบแลกคะแนนกันหรือต่างตอบแทน)

ผมชอบการคำนวณ เลยขอทำการคำนวณเล่น ๆ ว่าโอกาสการได้รับเลือกมีสักเท่าไร ทั้งในระดับอำเภอ/เขต ไปถึงระดับจังหวัดและประเทศ โอกาสนี้คิดง่าย ๆ คือสัดส่วนระหว่างจำนวนผู้สมัครที่ต้องการเลือก กับจำนวนผู้สมัครที่มีให้เลือกในระดับนั้น โดยสมมุติว่าผู้สมัครของแต่ละอำเภอเป็นตัวเลขเฉลี่ย คือเท่ากันทุกอำเภอ เท่ากับจำนวนผู้สมัครทั้งประเทศหารด้วยจำนวนอำเภอ (928 แห่ง) ผมจะเริ่มจากตัวเลขสมมุติของผู้สมัครต่ออำเภอ ดังนี้

โอกาสการได้รับเลือกจากระดับหนึ่งไปอีกระดับหนึ่งและโดยรวมทั้งประเทศ

สังเกตว่าโอกาสได้รับเลือกในระดับอำเภออาจสูงถึง 1/5 ถ้ามีผู้สมัครน้อยในระดับนี้ ส่วนโอกาสที่จะผ่านด่านในระดับจังหวัดมีน้อยหน่อย ถ้าผ่านด่านจังหวัดมาได้ โอกาสจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในระดับประเทศ อย่างไรก็ดี คงเป็นเรื่องยากที่จะจัดตั้งเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นกอบเป็นกำ เพราะต้องมีผู้สมัครที่พอควบคุมได้นับพันคน กว่าจะได้ ส.ว. สักคน อีกทั้งการจัดตั้งยังผิดกฎหมายอีกต่างหาก

ลองมาฟังเลขาธิการ กกต. ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการเลือก ส.ว. ดังนี้ “การเลือกไม่ได้ขอคะแนนเสียงจากประชาชน … แต่จะได้คะแนนจากผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกัน … เขาถึงบอกว่าต้องให้คนดี คนดัง เอ่ยชื่อมาคนรู้จัก โดยไม่ต้องหาเสียง โดยมีใบแนะนำตัว ซึ่งจะให้ผู้สมัครทุกคนเข้าไปดูตรงนั้นได้ ต้องให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเลือกได้ … คุณต้องสมัครเพื่อไปเป็น (ส.ว.) … ถ้าสมัครเพื่อไปเลือก เสีย 2,500 บาท หากนำเงินคนอื่นมามีความผิดแน่นอน เป็นการจ้างลงสมัคร จ้างลงคะแนน ส่วนในวันเลือกทุกระดับ กกต. จะถ่ายวงจรปิดออกมาด้านนอก ให้เห็นบรรยากาศการเลือกว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ ให้เห็นบรรยากาศระหว่างการลงคะแนนแบบลับ”

เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามสมชัย ศรีสุทธิยากรว่า “การเลือก ส.ว. ครั้งนี้ จะได้คนที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่” สมชัยตอบว่า “ขึ้นอยู่กับว่าเรามีตัวเลือกมากเพียงพอหรือไม่ หากประชาชนดูถูกศักยภาพของตัวเอง คิดว่าไม่มีความเหมาะสม จึงไม่สมัครเข้าไปเลือก การเลือกก็จะถูกจำกัดอยู่ … แต่หากประชาชนช่วยกันสมัคร เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้”

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวผู้ประสงค์จะสมัคร ส.ว. 29 คน โดยส่วนใหญ่มีความมุ่งหมายที่จะแก้ไข/จัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น หรือบางคนจะแสดงเจตนารมณ์อื่นใดในการสมัคร ภายหลังต่อมา ว่าที่ผู้สมัครคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ โดยเสนอคำขวัญว่า “1 บ้าน 1 คน” ทุกบ้านต้องพยายามเลือกคนที่มีอายุกว่า 40 ปีคนหนึ่งลงสมัคร ส่วนค่าสมัครนั้น อาจช่วยกันลงขันคนละ 500 บาท ประเด็นน่าสนใจคือ การแสดงออกข้างต้นจะเข้าข่ายการฮั้วกัน หรือการหาเสียง หรือการจ้างลงสมัคร ตามที่เลขาธิการแถลงว่าอาจทำไม่ได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ประธาน กกต. ระบุว่า การเปิดตัวผู้สมัคร ส.ว. “ทำได้ เพราะเป็นเรื่องปกติ หากแสดงความสนใจก็บอกได้ ไม่มีใครห้าม” ผมเองก็ว่าดี เพราะจะทำให้เกิดบรรยากาศที่คึกคัก และเชิญชวนให้ประชาชนสนใจการเลือก ส.ว. มากขึ้น และอยากขอให้ กกต. เตือนก่อนหากเห็นว่ามีการกระทำที่สุ่มเสี่ยง ส่วนการตีความข้อกฎหมายนั้น ขอให้ดูเจตนารมณ์ของกฎหมายและถือการผ่อนปรนเป็นหลัก เพื่อมิให้เกิดความเกร็งจนเกินไป จนเป็นบรรยากาศที่ซบเซา

การสมัครเป็นทั้งสมัครเพื่อเป็นและสมัครเพื่อเลือกอยู่แล้ว ถ้าเน้นเพื่อเป็นก็อย่าลืมเลือกตัวเองด้วย นอกจากนี้ อาจมีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่จะลงสมัคร เช่น เพื่อกันการจัดตั้ง ซึ่งจะมีผลมากถ้าสมัครน้อย จากตารางแสดงโอกาสการได้รับเลือกข้างต้น หากในอำเภอหนึ่งมีผู้สมัครเพียง 15 คน/กลุ่ม การจัดตั้งให้มีผู้สมัครเพียงเพื่อเลือก 5 คน ก็จะช่วยพรรคพวกให้ผ่านด่านแรกได้อย่างน้อย 1 คน

ขอเชิญชวนให้ลงสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. กันหลายๆ คน เพื่อเป็น เพื่อเลือก เพื่อการมีส่วนร่วม เพื่อเข้าไปสังเกตการณ์ หรือไปดูแห่ ฯลฯ ก็ได้ สมัครก็แล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image