เมืองร้อนกับการเมืองเรื่องอุณหภูมิ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงนี้ความร้อนในเมืองกำลังเป็นที่พูดกันอยู่มากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

และก็คงเป็นเรื่องปกติอยู่ไม่ใช่น้อยในโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ประเด็นของกรุงเทพฯย่อมเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากอยู่สักหน่อย

จนอาจจะลืมไปว่าท่ามกลางปัญหาความร้อนของกรุงเทพฯนั้น ยังมีเรื่องราวของความแปรปรวนเรื่องอุณหภูมิและภูมิอากาศอีกมากมายในประเทศนี้และในโลกแห่งนี้

ซึ่งถ้าพูดแบบนี้ก็จะเห็นว่าประเด็นเรื่องของฝุ่นนรก PM2.5 ที่เชียงใหม่นั้นก็มีการพูดถึงมากเช่นกัน ซึ่งส่วนสำคัญที่ปฏิเสธได้ยากก็ด้วยเงื่อนไขของ “การทำให้เป็นการเมือง” ของการเมืองพื้นที่เชียงใหม่เอง จากการที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่เข้ามาสนใจเรื่องนี้ และเรื่องราวของความเกี่ยวโยงกับเชียงใหม่ในหลายปัจจัย

Advertisement

ย้อนกลับมาเรื่องของการเมืองเรื่องความร้อนที่คนกรุงเทพฯนั้นออกมากล่าวถึงเรื่องนี้มากมาย และก็สัมผัสได้ เรื่องนี้นัยยะสำคัญแรกที่ชี้ไว้ในตอนต้นก็คือหนาวหน่อยคนกรุงเทพฯก็บ่น ฝุ่นมาก็บ่น และพอร้อนก็บ่นอีก

แต่มักจะเน้นบ่น ไม่ได้เน้นแก้ปัญหาอะไรมากมาย

ทีนี้มาถึงเรื่องความร้อนในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ การพิจารณาเรื่องของความร้อนในกรุงเทพฯในมิติของนิเวศวิทยาเมือง (political ecology) ที่พิจารณาประเด็นว่าปรากฏการณ์ใหม่คือ urban heat island หรือเกาะความร้อนเมือง ที่หมายถึงปรากฏการณ์ที่พื้นที่เมืองมีอุณหภูมิที่สูงกว่าบริเวณโดยรอบ และความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิกลางวันกลางคืนชัดเจน ซึ่งปรากฏการณ์นี้มันเสริมเข้ามาจากเดิมที่สภาพแวดล้อมในเมืองที่มีสิ่งปลูกสร้างมากมายนั้นมักจะมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองอยู่แล้ว โดยเฉพาะในหลายปีที่ผ่านมานี้

Advertisement

และปรากฏการณ์เกาะเมืองร้อนนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่มีหลายคนเชื่อมโยงไปที่เรื่องของการเกิดฝุ่นนรก PM2.5 ที่ผ่านมาด้วย

งานของ Danny Marks และ John Connel (2023 Unequal and Unjust: The Political Ecology of Bangkoks Increasing Urban Heat Island. Urban Studies. 1-21) ได้ชี้ให้เห็นว่าผลจากความร้อนที่เกิดเพิ่มขึ้นของกรุงเทพฯนั้นส่งผลทางสุขภาวะทั้งโรคลมแดด และโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง โดยเฉพาะในหมู่คนที่มีรายได้น้อยในเมือง และชี้ให้เห็นสาเหตุของภาวะความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้มาจากหลายสาเหตุโดยสืบย้อนไปในประวัติศาสตร์ และระบุว่า สาเหตุสำคัญ ได้แก่ การขาดพื้นที่สีเขียว การใช้เครื่องปรับอากาศในระดับที่มาก และระดับของไอเสียที่ออกมาจากยานยนต์ ระบบการบริหารจัดการเมืองที่อ่อนแอ และการให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่ามิติอื่นๆ ในการพัฒนาเมือง

บทความวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่ากระบวนการพัฒนาเมืองที่รองรับโดยความไม่เท่าเทียมกันและไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจการเมืองนี้ทำให้เกิดความเปราะบางของผู้คนต่อความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

และชี้ว่าธรรมาภิบาลด้านความร้อน (thermal governance) ในกรุงเทพฯนั้นมีลักษณะที่ไม่เท่าเทียม และไม่ยุติธรรมอย่างมาก ผู้ที่ทำให้เมืองร้อนและยังได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากเมืองที่ร้อนคือ บรรดานักพัฒนาที่ดิน เจ้าของศูนย์การค้า และบริษัทรถยนต์ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่ชุมชนที่มีรายได้ต่ำแทบจะไม่ได้มีส่วนในการทำให้เกิดความร้อนเมื่อเทียบเท่ากับกลุ่มแรก แต่กลับเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด

ความจริงที่ไม่มีคนอยากฟังเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องที่จะเงียบหายไปในกาลเวลา เมื่อหมดฤดูกาลหน้าร้อน เพราะกรุงเทพฯก็จะมีฤดูฝนตามมา แล้วเมื่อเข้าฤดูหนาวเรื่องที่สำคัญก็คือ ความหวือหวาในอากาศหนาวไม่กี่วัน ตามด้วยฝุ่นนรก PM2.5

ความคุ้นชินดังกล่าวนี้นอกจากทุนและรัฐบาลเมืองจะเอาตัวรอดไปได้เรื่อยๆ ภายใต้การปรับแต่งสภาพของที่ดินที่ได้รับการพัฒนา ซึ่งในกรณีของไทย อาจจะต้องขยายความแนวคิดเรื่องของ gated communities แบบฝรั่งที่มองว่าเป็นเพียงชุมชนของคนมีอันจะกินที่ป้องกันตัวเองจากคนจนภายนอก และให้ความปลอดภัยในพื้นที่ มาสู่เรื่องของการปกป้องทุกอย่างตั้งแต่ระบบรักษาความปลอดภัย รวมทั้งอุณหภูมิ และอาจจะรวมไปถึงการปิดกั้นพื้นที่บางส่วนที่ทำให้คนในชุมชนเท่านั้นที่มีทางออกไปสู่ถนนอีกด้าน ขณะที่คนนอกออกไม่ได้ (ในไทยนั้นไม่ได้มีแต่การปิดกั้นชายหาด แต่บางที่ในเมืองก็ทำให้เฉพาะโครงการตัวเองออกบางซอยได้ แต่คนข้างนอกออกไม่ได้)

การถกเถียงต่างๆ ในสังคมจะถูกปิดกั้นเช่นเคยภายใต้การใช้ศัพท์แสงทางเทคนิคที่ชี้ให้เห็นถึงความยุ่งยากทางเทคนิคที่ประชาชนคนเดินถนนจะต้องรับสภาพ

อีกทั้งเงื่อนไขของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองนั้นจะถูกทำให้มีลักษณะที่เป็นสัจจะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมืองจำต้องเปิดโอกาสให้เติบโตมากกว่าถูกควบคุม ไม่งั้นทุกคนจะแย่ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดจะต้องถูกสมาทานก่อนที่จะควบคุมอย่างเข้มข้น เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนจะเดือดร้อน

ส่วนระหว่างคนที่เดือดร้อนก็ถือว่าจำต้องยอมรับสภาพผู้เสียสละไปก่อน

อีกสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการและตำรายังไม่ได้ระบุให้ชัดก็คือ ความเดือดร้อนของคนในเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพฯมีเพิ่มมากขึ้นจากความร้อนเห็นจากเรื่องของการลดลงของรถเมล์ร้อน (ซึ่งคำว่ารถเมล์ร้อนถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ)

และการเพิ่มขึ้นของรถเมล์ไฟฟ้าที่มาพร้อมกับเครื่องปรับอากาศถูกเพิ่มราคาให้แพงขึ้น

จากเดิมที่มาด้วยเงื่อนไขของการมีเครื่องปรับอากาศ ปัจจุบันมาด้วยเงื่อนไขของการใช้การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นสิ่งที่ควรจะคิดต่อจากงานของอาจารย์มาร์คและจอห์นก็คือเรื่องของธรรมาภิบาลเรื่องของความร้อนซึ่งควรขยายความไปถึงเรื่องของธรรมาภิบาลเรื่องของอุณหภูมิและสภาพอากาศในกรุงเทพฯ อาทิ ใครบ้างควรจะมีส่วนในการเข้ามาตัดสินใจเรื่องของการอนุมัติให้สร้างโครงการขนาดใหญ่ และในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้นเรื่องของผลกระทบในการสร้างความร้อนจากเครื่องปรับอากาศนั้นก็จะต้องทำให้ชัดเจน ไม่ใช่มุ่งมั่น (หรือหมกมุ่น) แต่เรื่องของพื้นที่สีเขียว โดยขาดความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เชิงสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรมีการขับเคลื่อนและศึกษาเพิ่มเติมจากเรื่องของภาวะโลกร้อนตามที่นักวิชาการในเมืองไทยและที่สนใจเรื่องเมืองไทยทำมาก็คือ การศึกษาเพิ่มเติมเรื่องของการกำหนดเกณฑ์ของเมืองที่ร้อนว่าจะต้องชดเชยด้วยอะไรบ้าง ภาษีเครื่องปรับอากาศจะต้องมีไหม ภาษีเรื่องของยานยนต์กับการปล่อยอากาศเสียจะต้องถูกคำนวณอย่างไร เงินที่ได้มาจากสิ่งเหล่านี้จะต้องนำไปใช้ในเรื่องอะไรและความมุ่งหมายในมาตรการคือต้องการควบคุม หรือต้องการลดแรงจูงใจ หรือต้องการห้ามกันแน่

สิ่งที่จะต้องคิดเพิ่มอีกก็คืออาศัยประสบการณ์ข้อถกเถียงจากพื้นที่อื่นๆ ของโลกที่มีต่อเรื่องของการเมืองเรื่องความร้อน (thermal politics) เช่น การพยายามเชื่อมโยงประเด็นว่า อุณภูมิของร่างกายโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 35 องศาบริเวณผิวหนัง เอาเข้าจริงควรส่งเสริมการวัดอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ (Wet Bulb Globe Temperature : WBGT) ซึ่งหมายถึงการหาค่าดัชนีวัดสภาพความร้อนในสิ่งแวดล้อมการทำงาน ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบของร่างกายที่ได้สะสมความร้อน ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายขณะทำงาน และความร้อนจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร้อนจากสิ่งแวดล้อมถูกถ่ายเทมายังร่างกายได้ 3 วิธี คือ การนำ การพา และการแผ่รังสีความร้อน

อธิบายง่ายๆ ก็คือ การหาการเชื่อมโยง และเงื่อนไขที่จะบอกว่านี่คือ อุณหภูมิที่สูงเกินไปแล้วที่คนจะอยู่ได้เป็นเวลานาน ซึ่งในโรงงานเองเขาก็ทำ แต่ในเมืองนั้นเราก็แค่ทำราวกับว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้เราควรประกาศภัยพิบัติ หรืองดให้มาเรียน หรือมาทำงาน เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าเกณฑ์ หรือห้ามอยู่นอกอาคารที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และต้องหาสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิสูงเช่นนั้น โดยสร้างระบบธรรมาภิบาลและเครือข่ายในการตัดสินใจพิจารณากฎเกณฑ์ในแต่ละพื้นที่

นักวิชาการที่สนใจเรื่องนี้ในเอเชียใต้พยายามเสนอว่าให้มองเรื่องความร้อนในเมืองที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เป็นลักษณะของความรุนแรงทางความร้อน ที่มีลักษณะของความรุนแรงที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาสู่ตัวเราและสังคม โดยไม่ได้เกิดอย่างฉับพลันทันที แต่ค่อยๆ เข้ามาสู่เรา และเรามักไม่ได้สังเกตหรือเท่าทันกับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางความร้อนนี้มักกระทำต่อผู้คนและชุมชนที่เปราะบาง โดยเฉพาะทางเศรษฐฐานะ ทางสังคมวัฒนธรรม และทางการเมือง (จนเงิน จนอำนาจ และขาดการต่อรองทางสังคม) (ดู Rob Nixon. 2013. Slow Violence and the Environmentalism of the Poor. Cambridge, MA: Harvard University Press และ Nicole Starosielski. 2019. Thermal Violence: Heat Rays, Sweatboxes and the Politics of Exposure. CultureMachine.Net. และ ดูภาพรวมที่ Nausheen H. Anwar. Introduction: The Everyday Politics of Thermal Violence in Urban South Asia. International Journal of Urban and Regional Research.)

โดยเฉพาะกับผู้คนที่ชายขอบ ดังจะเห็นในชุมชนแออัดที่ขาดทั้งเครื่องปรับอากาศ หน้าต่าง และการระบายอากาศ รวมทั้งอยู่อย่างแออัด แถมยังต้องรับความร้อนมาจากอาคารใหม่ๆ โดยรอบ

กล่าวโดยสรุป การตั้งคำถามก่อนว่าความร้อนในระดับที่เราพบในเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ จากการพัฒนาเมือง และเป็นความรุนแรงทางสภาพอากาศ โดยเฉพาะเป็นภัยพิบัติทางความร้อนที่เกินมาตรฐานนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพิจารณาว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร และจะออกแบบสถาบันในการร่วมกันตัดสินใจอย่างไร

ไม่ใช่เริ่มก็มาที่มาตรการเลย เพราะถ้าเริ่มที่มาตรการเราจะยอมรับว่าโครงสร้างการตัดสินใจเดิมนั้นไม่มีปัญหา และไม่ใช่ที่มาส่วนหนึ่งของปัญหาอีกต่างหาก

นอกจากนี้ ความรุนแรงเรื่องของอุณหภูมิไม่ว่าจะร้อน เย็น ฝน และฝุ่นนั้นไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค แต่เป็นเรื่องที่เกาะเกี่ยวกับสังคม (socially embeded) และมีที่มาทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งผูกโยงกับความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม จากการเอาเปรียบกันเชิงโครงสร้างในเมือง

ประการสุดท้ายความร้อนนั้นเมื่อมนุษย์มีส่วนในการสร้างขึ้นมามนุษย์ก็จะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบที่จะปรับลดสิ่งนี้ลงได้ และเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมาร่วมกันตัดสินใจ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐจะต้องเป็นตัวแทนสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาและการสร้างความเป็นธรรมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image