ทำเมืองให้เย็นเดี๋ยวนี้ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ไม่อยากจะดราม่าเรื่องความร้อนในกรุงเทพฯนั้น คือสวรรค์ดีๆ นี่เอง เพราะว่าแต่ละคนมีที่มาที่ไปในชีวิตและประสบการณ์ในชีวิตที่ต่างกัน

แค่ขอแซวขำๆ ว่า ถ้าความร้อนในเมืองไทยโดยเฉพาะ “กรุงเทพฯ” มันคือสวรรค์ ก็คงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนถึงทำดีน้อยลง และทำไมเทวดาไทยถึงไม่ห่มผ้าห่มผ่อนกันสักเท่าไหร่ ทั้งที่เดิมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเทวดาอยู่บนฟ้าน่าจะหนาว หรือถ้าไม่หนาวก็น่าจะห่มผ้าห่มผ่อนมากกว่านี้

สองสัปดาห์ก่อนผมเขียนเรื่องการเมืองเรื่องอุณหภูมิไป ก็ไม่ได้รู้สึกว่าสังคมจะสนใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสังคมใกล้ตัวคือ สื่อมวลชนที่ยังคงวนเวียนแต่เรื่องของการรายงานลุ้นกันต่อไปว่าวันไหนประเทศไทยจะร้อนที่สุด แล้วก็พยายามรายงานว่าจะมีฝนตกทุกพื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพฯ

แต่อ้อมๆ แอ้มๆ ไว้ท้ายรายงานว่ามีโอกาสฝนตกสักร้อยละสิบ (ฮา)

Advertisement

ก่อนจะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสมิติอื่นของความร้อนในเมือง ก็ขอชวนท่านผู้อ่านคิดอีกนิดว่าตกลงการปลูกต้นไม้ในเมือง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองนั้นลดโลกร้อน ลดเมืองร้อนได้จริงเหรอ?

ชวนให้ลองคิดว่า ถ้าลดได้จริง จะลดได้เมื่อไหร่ ในเมื่อวันนี้มันยังร้อนราวกับสวรรค์แบบนี้ (ขอแซวอีกทีครับผม แฮ่)

ยังอยากขอย้ำว่าสิ่งที่เราควรสนใจในเรื่องความร้อนของเมืองในวันนี้ก็คือมันใกล้ตัวขึ้นมาก และการปลูกต้นไม้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการใช้ถุงผ้านั้นไม่ได้ช่วยอะไรในระยะสั้นได้แล้ว

Advertisement

ส่วนในระยะยาวใครจะช่วยโลก ช่วยลูกช่วยหลานตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือระยะกลางคือทำให้เมืองมันฟื้นสภาพนั้นก็เอาที่สบายใจครับ ผมถามถึงประเด็นในระยะสั้นก่อน

คือวันนี้เดี๋ยวนี้ ทำยังไงให้เมืองมันเย็นลง และต้องจ่ายด้วยราคาอะไรบ้าง

ในงานชิ้นหนึ่งของ Siman Marvin ได้ชี้ไว้ในบทความของเขาที่ชื่อว่า The Global Urban Condition and Politics of Thermal Metabolics. ในหนังสือ Global Urbanism: Knowledge, Power and City. London: Routledge. 2021. มีประเด็นที่ชวนคิดอยู่หลายประการ และทำให้เราต้องมาเข้าใจความเชื่อมโยงที่สำคัญของกระบวนการผลิตความร้อนในเมือง หรืออาจจะเรียกว่ากระบวนการเผาผลาญ หรือการสร้าง
สันดาป ในเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เราต้องเข้าใจการซ้อนทับที่ซับซ้อน มีพลวัต และเชื่อมโยงกันขององค์ประกอบของส่วนที่ไม่มีชีวิต เช่นวัสดุ วัตถุ ปฏิกิริยาเคมี กับการเชื่อมโยงกับส่วนที่มีชีวิต เช่นผู้คน ชุมชนและความสัมพันธ์ของพวกเขาภายใต้กรอบสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ภายใต้ความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรมในเมือง ตามแนวคิดใหม่ๆ ของพวกนิเวศน์วิทยาการเมืองในนคร (urban political ecology)

อธิบายง่ายๆ ว่าหลายคนสามารถอธิบายได้เป็นวันๆ ว่าทำไมเมืองร้อน โลกร้อน แต่อธิบายว่ามันเกี่ยวโยงกับผู้คนอย่างไรไว้นิดหน่อยตอนจบ และไม่เห็นว่าเอาจริงๆ แล้วอะไรเป็นความเร่งด่วนในการแก้ไข เพราะส่วนมากคนที่พูดและผลิตสื่อเรื่องนี้รวมทั้งผมก็คงเขียนงานในห้องปรับอากาศกันแหละครับ พวกเราไม่ใช่กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ส่วนพวกที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้รับการรับฟังจริงๆ จังๆ เพราะถ้าเรื่องนี้ถูกรับฟังจริงเมื่อไหร่ก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรกันมาก

ไซม่อนชี้ให้เห็นความจริงที่เรารับรู้กันทั่วไปมาสักพักใหญ่แล้วว่า โลกนั้นร้อนขึ้น อย่างน้อย หนึ่งจุดห้าองศา (แม้ว่าหลายคนจะบอกว่ามันอาจจะไม่ได้ร้อนแบบสม่ำเสมอ และหลายคนก็รู้สึกว่ามันจะร้อนเราก็ไม่เกี่ยว เพราะเราอยู่ในห้องแอร์ได้)

เรื่องต่อมาก็คือ ความร้อนในเมืองนั้นเพิ่มขึ้นในลักษณะพิเศษกว่าโลกร้อนทั่วไป เพราะการเข้าใจโลกร้อนนั้น เรามักจะสนใจพวกสารคดีที่ไปดูน้ำแข็งละลาย แต่ในเมืองเราต้องมาดูปรากฏการณ์ความร้อนแบบ Urban Heat Island ซึ่งมาจากการที่พื้นที่สีเขียวลดลง และการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติมากขึ้น เช่น พื้นผิวที่แข็งจากคอนกรีต จากกระจก จากเหล็ก เรื่องนี้ทำให้เราต้องไปสนใจเรื่องที่เรียกว่าความเข้าใจสภาพอากาศเชิงจุลภาค (microclimate) คือไปดูพื้นที่เฉพาะจุดด้วย ไม่ใช่ดูแต่ระดับโลก ระดับเมือง คือเวลาไปทำข่าวความร้อนว่าย่านไหนร้อนกว่ากัน ก็ต้องไปทำความเข้าใจพื้นที่บริเวณนั้นอย่างจริงจังด้วย ไม่ใช่รายงานข่าวเอาหวือหวาเฉยๆ

ประเด็นก็คือ ความร้อนในเมืองไม่ได้เกิดจากแค่พื้นที่สีเขียวหายไป แต่มันเกิดจากวัสดุที่เอามาสร้างเมืองด้วย คำถามก็คือ เรามีกฎหมายควบคุมการใช้วัสดุกับสิ่งนี้แค่ไหน หรือกฎหมายในเมืองยังวนเวียนแต่เรื่องของมาตรฐานการสร้างอาคารที่เน้นแต่คำว่าปลอดภัย แต่คำว่าปลอดภัยนั้นยังไม่ได้เชื่อมโยงกับการทำให้เมืองร้อนว่าควรจะใช้วัสดุอะไรได้บ้าง

และภาษีวัสดุเหล่านี้ต้องมีไหม การวัดผลกระทบว่าวัสดุที่ใช้สร้างอาคารเหล่านี้ ถ้ามีผลทำให้เมืองร้อนขึ้นจะต้องจ่ายแพงขึ้นมากน้อยแค่ไหน ทั้งอาคารและบ้านเรือน

ไม่ใช่สนใจแค่ว่าจะเว้นพื้นที่สีเขียวเท่าไหร่ ประเด็นก็คือต่อให้เว้นพื้นที่สีเขียวแล้ววัสดุที่ใช้สร้างอาคารก็ยังทำให้เมืองร้อน โลกร้อนก็ไม่ควรจะได้รับใบอนุญาตสร้าง หรือต้องเสียภาษีให้เมืองมากขึ้น

ถ้าความร้อนในเมืองเป็นวิทยาศาสตร์ที่วัดได้ ก็ต้องเอาวิทยาศาสตร์ วัสดุศาสตร์มาวัดมาใช้เพิ่มอำนาจของชุมชน พลเมือง และเมืองในภาพรวมได้ ตรงนี้มันอยู่ที่วิธีคิดหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์คือวัตถุ-วัสดุ ที่ทำให้เมืองร้อน กับมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันที่ซับซ้อนและไม่เท่าเทียมนั่นแหละครับ

ความร้อนในเมืองปัจจุบันนี้จะต้องถูกนิยามใหม่ด้วยว่าเป็นความร้อนในระดับที่สามารถสังหารชีวิตผู้คนได้ (killer heat) ไม่ใช่อากาศร้อนทั่วไป เพราะมันพิสูจน์แล้วว่ามันส่งผลต่อร่างกายของมนุษย์ สัตว์ พืช คือทั้งมนุษย์และโลกสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น นี่คือความเร่งด่วนของการแก้ปัญหาโลกและเมือง

ความตายและอาการเจ็บป่วยของผู้คนที่เข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ และความร่มรื่นของพื้นที่นั้นพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน นี่คือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์มากกว่าปัจจัยสี่ และมากกว่าตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบง่ายๆ

นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญที่เรารับรู้กันทั่วไปแล้วว่า ความแตกต่างในเชิงโครงสร้างของผู้คนในโลก โดยเฉพาะในเมืองในการเผชิญหน้ากับความร้อนระดับสังหารผู้คนได้นั้นมีอยู่จริง คุณภาพบ้านเรือนของคนรายได้น้อย ของคนผิวสี (ลองนึกถึงชุมชนแออัด แคมป์คนงาน หรือการยืนขายอาหารของหาบเร่แผงลอย) สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อโอกาสชีวิตที่ไม่เท่ากันของเมือง และทำให้คนเหล่านี้เปราะบางมากขึ้น

อธิบายมาถึงตรงนี้สิ่งที่สำคัญคือเวลาพูดถึงภัยพิบัติ เราควรตั้งหลักจากคนก่อน ไม่ใช่ภัยพิบัติเมือง แน่นอนมันกระทบเมือง แต่คนที่เปราะบางมันกระทบก่อน เราจะโวยวายและตื่นตัวเมื่อรู้สึกว่ามันกระทบเรา เช่น น้ำท่วม และฝุ่นนรก แต่พอถึงเรื่องความร้อนเราจะเอาตัวรอดได้ก่อน (น้ำท่วม ถ้าขับรถสูงก็พอรอด บ้านถมสูงก็รอด แค่บ่นรถติด หรือฝุ่นนรกก็บ่นเวลาออกจากบ้านเท่านั้นเอง)

ในหลายที่ในโลกนั้นมีการรวมตัวกันของผู้คน และนักวิชาการที่ผลิตผลงานวิจัย และลงมือปฏิบัติการที่ให้ความสำคัญต่อผลของความร้อนในเมืองที่รุนแรงจนทำให้คนเสียชีวิต เช่น สหภาพของนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจปัญหาบ้านเมือง (Union of Concern Scientists UCU) ที่ย้ำในรายงานเมื่อปี 2019 ว่าภัยร้อนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและกระทบต่อชาวอเมริกามากที่สุด

หรือการรณรงค์เรื่องของพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน (Sustainable Energy for All SEA) ก็ชี้ว่าภัยร้อนนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากมาย เช่น อาหารเสีย ยาเสีย ชั่วโมงการทำงานก็เสียไป คนยากจนมีความเสี่ยงที่เข้าไม่ถึงสภาพบรรยากาศที่อยู่ได้ ส่วนคนชั้นกลางที่พอลืมตาอ้าปากได้ก็ใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น แต่มีผลทำให้การใช้พลังงานจากไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีมาตรการในการจัดการเรื่องภัยร้อนอย่างเร่งด่วน

ยังมีกรณีในระดับเมืองที่มีการสร้างเครือข่ายการลดภัยร้อน (HEAT RELIEF NETWORK HRN) ในเมืองฟีนิกซ์ที่อเมริกาที่จัดหาสถานีที่จะหลบภัยร้อน การบริจาคน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากการที่ผู้คนและชุมชนที่เปราะบางนั้นต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้

ที่เขียนมานั้นชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศและหลายเมืองเริ่มมองปัญหาความร้อนในเมืองในระดับของ “ภัยร้อน” ในฐานะภัยพิบัติกันแล้ว แต่เรานั้นไม่มีการพูดถึง เรายังมีกรอบคิดภัยพิบัติแค่ภัยแล้ง เพราะไปเน้นเรื่องน้ำ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องอุณหภูมิในการพักอาศัย

เรายังไม่ได้สนใจเรื่องของการตั้งเกณฑ์และจัดเก็บภาษีในเครื่องปรับอากาศ เราสนใจความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศในฐานะมาตรฐานอุตสาหกรรม เรามีมาตรฐานการประหยัดไฟเบอร์ห้าให้กับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าในระดับหนึ่ง จากการรณรงค์การประหยัดไฟมาตรฐานเบอร์ห้าซึ่งเริ่มในปี 2538 โดยเริ่มที่ตู้เย็น แล้ว เครื่องปรับอากาศนั้นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รณรงค์เรื่องนี้เป็นชิ้นที่สองคือในปี 2539 (จากเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต)

และน่าสนใจยิ่งว่า เมื่อสอบทานกับประวัติศาสตร์ของเครื่องปรับอากาศในสังคมไทยนั้น ในบันทึกของศิลปวัฒนธรรมชี้ว่า ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศถูกนำเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทยหลังสงครามโลกโดยการไฟฟ้านครหลวง เพื่อให้คนไทยรู้จักไฟฟ้า (คนไกล วงนอก. เครื่องปรับอากาศมาจากไหน เกิดได้อย่างไร. ศิลปวัฒนธรรม. 3 เมษายน 2567)

แต่เราไม่พบว่ามีการให้ความสำคัญกับมาตรฐานการปล่อยความร้อนของเครื่องปรับอากาศ การผลิตและติดตั้งแอร์เน้นให้ความสำคัญกับมาตรฐานของสารเคมีในแอร์ว่าปลอดภัยในความหมายติดไฟหรือไม่มากกว่า หมายถึงพิจารณาเรื่องสารทำความเย็น และความเย็นมาตรฐานในอาคาร (ดูมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศสำหรับห้องแบบแยกส่วน ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) รวมไปถึงการพิจารณาว่าหม้อไฟที่บ้านพอไหมที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

ดังนั้นอีกส่วนที่ควรพิจารณาก็คือ ถ้ามันร้อนขนาดนี้ทำไมไม่พิจารณาทั้งลดค่าไฟให้กับบ้านที่ต้องเปิดแอร์ เหมือนที่มองว่าน้ำมันต้องมีกองทุนน้ำมัน และในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงว่าความร้อนของเมืองที่เพิ่มขึ้นนั้นจะต้องใช้มาตรการภาษีอย่างไร แอร์ในวันนี้นับเป็นของฟุ่มเฟือยไหม หรือถ้ามีมากกว่าหนึ่งตัวจึงถูกมองว่าฟุ่มเฟือย? ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องมาคิดร่วมกัน

ยังมีเรื่องของการพูดถึงพื้นที่ภายนอกอาคาร ปัจจุบันมีการพิจารณาว่าความเร่งด่วนในการสร้างพื้นที่นอกอาคารให้เย็นลงนั้นทำได้แล้ว แต่จะเป็นภาระของใคร เช่น มีบริษัทที่รับทำเครื่องพ่นละอองน้ำเพื่อให้พื้นที่นอกอาคารสามารถใช้งานมากขึ้น ซึ่งถ้าพูดกันแบบนี้อาจจะต้องมาคิดว่า ระหว่างมีพื้นที่สีเขียวปลอม (greenwash) คืออ้างว่าจัดหาพื้นที่สีเขียวแต่สร้างตึกด้วยคอนกรีต โลหะ และกระจกแล้วมาเอาแต้มสร้างอาคารให้สูงขึ้น กับการจัดหาซึ่งเครื่องฉีดไอน้ำที่จะทำให้พื้นที่ภายนอกอาคารนั้นสามารถใช้งานได้จริง

หรือต้องถามว่ารดน้ำต้นไม้ (มีคลิปน่ารักที่มีหมาจรมาวิ่งเล่นรับน้ำไปด้วยตอนรดน้ำต้นไม้) กับการผลิตละอองน้ำจากอาคารทั้งอาคารพาณิชย์และอาคารราชการนั้นสามารถทำได้ไหม เป็นสิทธิของเมืองที่อาคารใหญ่จะต้องทำไหม ส่วนบ้านพักอาศัยนั้นเขาอาจได้รับการลดหย่อนค่าพลังงาน

ในระยะสั้นการสร้างร่มเงา การปรับเปลี่ยนวัสดุอาคาร และการสร้างระบบความเย็นของเมืองจากละอองน้ำอาจสามารถทำได้ รวมทั้งมาตรการทางภาษี ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย และฝากความหวังแค่การปลูกต้นไม้ที่นับเป็นต้น ซึ่งไม่ได้อธิบายลักษณะทางนิเวศวิทยาธรรมชาติในเมืองว่าแหล่งน้ำอยู่ไหน ทั้งที่มีผังน้ำอยู่แล้ว และควรออกแบบเมืองให้อิงกับนิเวศวิทยาธรรมชาติด้วย ไม่ใช่นับแต่ต้นไม้เป็นต้น โดยไม่สนใจภาวะบรรยากาศในระดับจุลภาคของย่านจะเป็นอย่างไร (คือโดยหลักการมีต้นไม้ก็ดี แต่ต้องคิดเรื่องการสร้างระบบนิเวศ ไม่ใช่แค่มีต้นไม้เป็นต้นๆ หรือมีแค่สวยสิบห้านาที แต่ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาธรรมชาติของเมืองมากกว่าแค่มาตรฐานพื้นที่ที่ไม่เข้าใจย่านและระบบบรรยากาศในระดับจุลภาค รวมทั้งภาวะเผาผลาญความร้อนของเมือง urban thermal metabolism)

เรื่องที่ผมพูดมานั้นคงไม่ได้รับความสนใจอะไรมากนัก เพราะส่วนมากคนก็แค่อยากจะให้ฝนตก แล้วก็ไปสนใจข่าวว่าฝนตกน้ำท่วมไหม รถติดไหม ผู้ว่าฯมาเดินลุยน้ำไหม ผู้ว่าฯแก้น้ำท่วมได้ไหม

ส่วนคนที่ร้อนจนทนไม่ไหวก็ดิ้นรนกันไป บ้างก็เจ็บไข้อ่อนแรง บ้างก็ต้องไปหลบตามพื้นที่ห้าง พวกเขาก็เป็นเพียงผู้คนที่ถูกมองไม่เห็นจากความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมของสภาพบรรยากาศในเมืองแห่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนเคยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image