สองนคร (ใหม่) : ลอนดอน-สิงคโปร์ ชวนให้คิด : A Tale of Two Cities

สองนคร (ใหม่) : ลอนดอน-สิงคโปร์ ชวนให้คิด : A Tale of Two Cities

“นี่คือยุคที่ดีที่สุด และเป็นยุคที่เลวที่สุด” คือ คำนำในนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ชื่อ “A Tale of Two Cities” (เรื่องราวของสองนคร) ประพันธ์โดยนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษชื่อ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์

คำนำดังกล่าวนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาของสิงคโปร์และลอนดอน น่าจะลงตัวพอดี เพราะสิงคโปร์ได้เข้าสู่ยุคที่ดีที่สุด ในขณะที่ลอนดอนเข้าสู่ยุคที่เลวที่สุด เริ่มตั้งแต่ดัชนีพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ สองนครทิ้งห่างกันมากขึ้นทุกขณะ แต่บรรดาผู้ลากมากดีอังกฤษไม่มองเช่นนั้น แม้เห็นแต่ไม่สนใจ เพราะมากด้วยอคตินิยมที่มีต่อชาติพันธุ์อื่น ในที่สุดก็ต้องยอมจำนนต่อความเป็นจริง

ต้องยอมรับความจริงว่า บัดนี้ การพัฒนาทุกด้านของสิงคโปร์ล้วนเหนือกว่าลอนดอน เป็นต้นว่า GDP ต่อคนต่อปี สิงคโปร์ 8 หมื่นกว่าดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ลอนดอน 6 หมื่นกว่าดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

ประเด็นที่ล่อแหลมที่สุด คือ คดีอาชญากรรมที่ลอนดอนได้เกิดขึ้นมากมาย ปี 2023 ที่อังกฤษและเวลส์เหตุการณ์ขโมยรถยนต์และทำลายรถยนต์สูงถึง 3.3 แสนคัน แต่อัตราการจับกุมผู้กระทำความผิดคือ “ศูนย์” และยังมีคดีฆาตกรรมอีก 112 ราย ส่วนสิงคโปร์คือ “ศูนย์” ไม่ว่าจะเป็นการขโมยรถยนต์ หรือฆาตกรรม

ถนนในลอนดอนวันนี้ ฉกชิงวิ่งราวโทรศัพท์มือถือกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ทางออกของรถไฟใต้ดินและร้านกาแฟกลางแจ้งได้กลายเป็นที่ก่อคดีอาชญากรรม เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ ประหนึ่งว่าตำรวจลอนดอนไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร และคดีส่วนใหญ่ก็จับผู้ต้องหาไม่ได้ เพราะการสืบสวนไร้ผล

ครั้นเมื่อออกนอกบ้าน คนลอนดอนมีความกังวลถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะเวลาค่ำคืน
ส่วนที่สิงคโปร์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนถนนในยามค่ำคืนอย่างปลอดภัยไร้กังวล

Advertisement

การที่สิงคโปร์เหนือกว่าลอนดอนชนิดทิ้งกันมองไม่เห็นฝุ่น ก็เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญแก่ระบบการบริหาร Good Governance อันหมายถึงการจัดการบริหารที่ดี ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการปกครอง การจัดการ การควบคุมดูแลกิจการให้เป็นไปตามครรลองคลองธรรม คือ ศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนความชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีพึงปฏิบัติ

ส่วนตะวันตก มักจมปลักอยู่กับ “การเมืองเลือกตั้ง” บวกกับสื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงและส่งข่าวสาร เรียกกันว่า Echo Chamber และ Information Cocoon จนกลายเป็นระบบสุดขั้วมากกว่าแนวโน้มของสมาชิกในฐานะปัจเจก นักการเมืองละม้ายตัวประกันของระบอบประชานิยม จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานของสังคม ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิต การที่เรียกว่า “อำนาจยุติธรรมก้าวหน้า” เพื่อให้ความสนใจแก่ชาติพันธุ์สีผิวและชุมชนอ่อนแอ ตลอดจนการผ่อนปรนผู้กระทำความผิดสถานเบานั้น เป็นการผ่อนปรนเกินเหตุและส่งเสริมให้คนทำชั่วมากขึ้น จึงกลายเป็นความถดถอยของความทันสมัย อีกทั้งเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จนต้องสูญเสีย “เสรีภาพที่ปลอดภัยจากความหวาดกลัว”

บทประพันธ์ “เรื่องราวของสองนคร” ของ “ชาร์ลส์ ดิกเกนส์” ความจริงเป็นเรื่องราวเปรียบเทียบลอนดอนกับปารีสหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ 230 กว่าปีให้หลัง วันนี้ ลอนดอนต้องเผชิญกับการท้าทายของสิงคโปร์ จากเศรษฐกิจถึงความปลอดภัย จากหลักนิติธรรมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ล้วนเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยในการบริหารจัดการของนครลอนดอน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นทุกด้านของสิงคโปร์นำหน้าลอนดอนไปไกลมากแล้ว

แม้ “ลี กวนยิว” ฉายา “บิดาแห่งสิงคโปร์” เป็นนักเรียนอังกฤษ รับวิชา รับวัฒนธรรมอังกฤษอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่มีจริตแห่งความเป็นผู้ลากมากดีอังกฤษ ทว่าปฏิบัติตนตามประเพณีของบรรพบุรุษคือ จีน หากจะเปรียบเปรยคงเหมือนกับดอกบัว เหมือนกับเพชร เพราะธรรมชาติของดอกบัว แม้จะเกิดมาแต่น้ำก็หาได้ติดน้ำได้ไม่ ธรรมชาติของเพชรนั้น แม้จะเกิดมาแต่ดินและหินก็หาได้ติดดินและหินนั้นไม่ เมื่อดอกบัวไม่ติดน้ำ เพชรซ้ำไม่ติดหินฉันใด มนุษย์ที่เกิดมาในโลกก็หาควรติดอยู่ข้องอยู่ในโลกคือกองกิเลสนั้นไม่ และก็พอจะอนุมานได้ว่า “ลี กวนยิว” เข้าใจสัจธรรมอย่างถ่องแท้ จึงได้นำพาประเทศสู่เส้นทางอันเกษม ความเจริญก้าวหน้าของสิงคโปร์ ย่อมปฏิเสธความปราดเปรื่องของ ฯพณฯ มิได้เลย

และประเด็นสำคัญที่สุดคือจุดเด่นของสิงคโปร์จะเกิดขึ้นมิได้หากปราศจาก Good Governance !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image