สื่ออยากเป็น ส.ว.

สื่ออยากเป็น ส.ว. พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเปิดรับสมัคร วันที่ 20-24 พฤษภาคมนี้
นับจากนี้ต่อไป ว่าที่ ส.ว.ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว.อย่างเข้มงวด ทำได้เฉพาะในกลุ่มผู้สมัครรับเลือกด้วยกันเองเป็นหลัก
ห้ามแจกเอกสารด้วยการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ส.ว.

ก่อนหน้านี้ มีผู้สอบถามไปยัง กกต.ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
คำถามมีว่า หากเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก หรือเจ้าของเว็บไซต์ หรือยูทูบเบอร์ หรือเจ้าของช่อง TikTok หรือเจ้าของช่องโซเชียลอื่นๆ จะถือว่าเข้าข่ายข้อห้ามหรือไม่ จะถือว่าเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่
กกต.ตอบว่า การที่ผู้ลงสมัครรับเลือกมีบัญชีผู้ใช้งานช่องยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ และจัดทำเนื้อหา (content) ด้วยตนเองเพื่อสื่อสารหรือเผยแพร่การวิเคราะห์ข่าวสารการเมือง เนื้อหาสร้างความบันเทิง ตลอดจนเนื้อหาอื่นๆ เป็นกรณีที่ผู้มีบัญชีดังกล่าวนำสื่อที่มีการจัดทำโดยกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเนื้อหาสาระดังกล่าวมีการสื่อถึงประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไปแล้ว มาแสดงความคิดเห็นหรือวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางข้างต้น โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งรายได้ เป็นประจำหรือครั้งคราวจากบริษัทผู้ให้บริการของแอพพลิเคชั่นนั้น ไม่ถือเป็นรายได้จากการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เบื้องต้นจึงไม่ถือว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อันจะเป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. …

คำตอบที่ กกต.ชี้แจงข้างต้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ผู้สมัครที่มีบัญชีผู้ใช้งานช่องยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อ แล้วกรณีนี้ใครเป็นเจ้าของ
ผู้เปิดเพจต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกเพจ ทุกสำนักข่าว ทั้งหมดเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร โดยคัดลอกจากสื่อหนังสือพิมพ์ทุกข่าว ทุกข้อความ ทุกความเห็น โดยไม่มีการแสวงหาข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็นต่างๆ โดยตรงด้วยตัวเองเลย จริงหรือ
ไม่ได้มีรายได้โดยตรงจากลูกค้าโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สินค้า หรือกิจกรรมของบริษัทห้างร้านต่างๆ จริงหรือ
แค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว สิ่งที่ กกต.ชี้แจงแสดงว่าไม่รู้เรื่องจริง เข้าไม่ถึงข้อเท็จจริงการดำเนินงานของเพจ เว็บไซต์ต่างๆ

คำถามต่อมา ผู้ให้บริการเพจต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มหลากหลาย เหล่านี้ถือว่าเป็นกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ ถ้าเป็นสื่อมวลชนเหตุใดถึงไม่เข้าข่ายคำว่า “สื่อมวลชนใดๆ”
กรณีนี้จึงมีข้อโต้แย้ง ทั้งประเด็น ความเป็นเจ้าของ และความเป็นสื่อ ไปพร้อมกัน
ตีความตามคำความเห็นของ กกต. บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามสมัครเป็น ส.ว. ส.ส. จึงครอบคลุมเฉพาะสื่อออฟไลน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อภาพยนตร์ด้วยหรือไม่ ส่วนสื่อออนไลน์ไม่เข้าข่าย สามารถสมัครรับเลือกได้
วินิจฉัยแบบสองมาตรฐาน เลือกปฏิบัติ

Advertisement

ที่ผมโต้แย้งคำวินิจฉัยของ กกต.มิได้หมายความว่าไม่ต้องการให้เพื่อนสื่อมวลชนออนไลน์ทั้งหลายแหล่ได้สิทธิสมัครเป็น ส.ว. ตรงกันข้ามกลับสนับสนุนส่งเสริม
แต่ยืนยันประเด็นหลักการ การตีความกฎหมาย การปฏิบัติของผู้รักษากฎหมาย คือ กกต.ต้องใช้มาตรฐานเดียว
ห้ามก็ต้องห้ามทั่วกันหมด ยกเลิกการห้ามก็ต้องยกเลิกพร้อมกันทั้งหมด สื่อทุกแขนง
ซึ่ง กกต.อ้างได้ว่า เหตุที่ต้องห้ามไม่ให้สื่อสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่า ส.ว.หรือ ส.ส.ก็ตาม เป็นผลมาจากมาตรา 98(3) รัฐธรรมนูญ 2560

มาตรานี้แหละครับ ต้นเหตุแห่งปัญหามาตลอด จำกัดสิทธิทางการเมืองของนักวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นได้แค่ หมาเฝ้าบ้าน ไม่ใช่เจ้าของบ้าน
เมื่อจำกัดสิทธิกันเช่นนี้แล้ว กลับกำหนดให้สื่อมวลชนเป็นกลุ่มอาชีพหนึ่งใน 20 อาชีพของผู้สมัครเป็นวุฒิสมาชิกทำไม
และไม่เขียนให้ชัดลงไปว่ากลุ่มอาชีพนี้ครอบคลุมเฉพาะผู้ปฏิบัติงาน ผู้สื่อข่าว คอลัมนิสต์บรรณาธิการ ฯลฯ ที่ไม่มีหุ้น ส่วนเจ้าของแม้มีแค่หุ้นเดียวก็เป็นบุคคลต้องห้าม
โดยไม่เคยมีคำวินิจฉัยขององค์กรใดๆ ว่า ถือหุ้นระดับไหนเข้าข่ายมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน แขนงนั้นๆ

กระนั้นก็ตาม ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นมาตลอด เกี่ยวกับบทบาทของความเป็นสื่อ กับบทบาทของนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรมีเส้นแบ่งอย่างไร
สื่อควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ จะมีผลถึงความเป็นกลางในการทำหน้าที่สื่อเลือกข้างได้ หรือไม่ควรเลือกข้าง
การจัดให้สื่อมวลชนเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่สมัครเป็น ส.ว.ได้เป็นครั้งแรก ยิ่งทำให้วิวาทะสื่อกับความเป็นกลาง สื่อกับการเมือง เข้มข้นขึ้นอีกระดับหนึ่ง
จะมีผลต่อไปถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไร ต้องติดตาม
มาตราที่ห้าม ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จะถูกยกเลิก หรือยังคงจำกัดสิทธินี้ต่อไปเช่นเดิม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image