การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ภายใต้กติกาที่พิสดารจะเกิดผลเช่นไร

ส มาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส.ว. มีอำนาจหน้าที่เกือบเท่ากับ ส.ส. ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่บางอย่างซึ่ง ส.ส.ไม่มี เช่น การให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบนพื้นฐานของความไม่ต้องการให้อำนาจอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริงกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัครภายใต้ระบบการเลือกที่ซับซ้อน ประหลาด และส่วนหนึ่งเหมือนการเสี่ยงโชค

ผู้สมัครซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีเท่านั้นมีสิทธิเป็นผู้เลือกและถูกเลือก โดยต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท และต้องเลือกว่าจะสมัครในกลุ่มใดซึ่งมีอยู่ 20 กลุ่ม โดย กกต.กำหนดการรับสมัครระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ชาวไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป มีประมาณ 33 ล้านคน คนที่มาสมัครอย่างมากก็เพียงหลักแสน แต่ผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย

ระบบการเลือก ส.ว.

การเลือกแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ แต่ละระดับมีการเลือก 2 รอบ รอบแรกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันเลือกกันเอง รอบที่สองกลุ่มต่างๆ จะถูกจับสลากว่าแต่ละกลุ่มอยู่ในสายใดซึ่งมีไม่เกิน 4 สาย และผู้สมัครมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นซึ่งอยู่ในสายเดียวกัน ดังนี้

ADVERTISMENT

1.ระดับอำเภอ 928 อำเภอ ซึ่งจะเลือกในวันที่ 9 มิถุนายน 2567

รอบแรก-ผู้สมัครมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มตนเองได้ 2 คน แต่จะเลือกเพียง 1 คน ก็ได้ และเลือกตัวเองก็ได้

ADVERTISMENT

ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงเป็นที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่มเข้ารอบต่อไป บางกลุ่มอาจมีผู้เข้ารอบน้อยกว่า 5 คนก็ได้ สำหรับกลุ่มที่มีผู้สมัครหรือมาแสดงตนในวันเลือกไม่เกิน
5 คน เข้ารอบต่อไปโดยอัตโนมัติ การสมัครในกลุ่มที่มีผู้สมัครน้อยเป็นประโยชน์ในขั้นตอนนี้

รอบแบ่งสาย-จับสลากแบ่งสายไม่เกิน 4 สาย ให้จำนวนกลุ่มเท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ละสายไม่เกิน 5 กลุ่ม และไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม

ผู้สมัครที่อยู่ในสายเดียวกันมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละ 1 คน แต่ไม่มีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกับตน

ผู้ได้คะแนนสูงเป็นที่ 1-3 ของแต่ละกลุ่มเข้ารอบไปสู่ระดับจังหวัด โดยทั้งประเทศจะมีผู้เข้ารอบไม่เกิน 55,680 คน (928 อำเภอ x 20 กลุ่ม x 3)

2.ระดับจังหวัด 77 จังหวัด ซึ่งจะเลือกในวันที่ 16 มิถุนายน 2567

รอบแรก-ผู้สมัครมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มตนเองได้ 2 คน แต่จะเลือกเพียง 1 คน ก็ได้ และเลือกตัวเองก็ได้ แบบเดียวกับการเลือกรอบแรกในระดับอำเภอ

ผู้ได้คะแนนสูงเป็นที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่มเข้ารอบต่อไป บางกลุ่มอาจเข้ารอบน้อยกว่า 5 คนก็ได้ สำหรับกลุ่มที่มีผู้เข้ารอบจากระดับอำเภอหรือมาแสดงตนในวันเลือกไม่เกิน 5 คน เข้ารอบต่อไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การสมัครในกลุ่มที่มีผู้สมัครน้อยอาจเป็นประโยชน์ในขั้นตอนนี้ด้วย โดยเฉพาะจังหวัดที่มีอำเภอน้อย

รอบแบ่งสาย – จับสลากแบ่งสายไม่เกิน 4 สาย แบบเดียวกับระดับอำเภอ จังหวัดใดมีผู้เข้ารอบมาสู่ระดับจังหวัดไม่เกิน 5 กลุ่ม ไม่ต้องแบ่งสาย

ผู้สมัครที่อยู่ในสายเดียวกันมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละ 1 คน แต่ไม่มีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกับตน แบบเดียวกับรอบแบ่งสายในระดับอำเภอ

ผู้ได้คะแนนสูงเป็นที่ 1 และที่ 2 ของแต่ละกลุ่มเข้ารอบไปสู่ระดับประเทศ โดยทั้งประเทศจะมีผู้เข้ารอบไม่เกิน 3,080 คน (77 จังหวัด x 20 กลุ่ม x 2) โดยแต่ละกลุ่มมีผู้เข้ารอบไม่เกิน 154 คน (77 จังหวัด x 2)

3.ระดับประเทศ ซึ่งจะเลือกในวันที่ 26 มิถุนายน 2567

รอบแรก-ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มซึ่งมีจำนวนไม่เกินกลุ่มละ 154 คน มีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มตนเองได้ 10 คน โดยจะเลือกน้อยกว่า 10 คน ก็ได้ และเลือกตัวเองก็ได้

ผู้เข้ารอบคือ ผู้ได้คะแนนสูงเป็นที่ 1-40 ของแต่ละกลุ่ม บางกลุ่มอาจไม่ถึง 40 คน แต่ต้องได้ 20 คนขึ้นไป มิฉะนั้นต้องให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในกลุ่มนั้นเลือกกันเองใหม่ให้ได้ 20 คน

จำนวนผู้เข้าไปรอบแบ่งสายรวมไม่เกิน 800 คน (20 กลุ่ม x 40) บุคคลเหล่านี้คือผู้ชี้ชะตาว่าใครจะได้เป็น ส.ว.

รอบแบ่งสาย-จับสลากแบ่งสายไม่เกิน 4 สาย แบบเดียวกับระดับอำเภอ ผลก็คือผู้สมัครแต่ละสายมีจำนวนรวมไม่เกิน 200 คน

ผู้สมัครที่อยู่ในสายเดียวกันมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละ 5 คน แต่ไม่มีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกับตน ผลก็คือผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. ในแต่ละสายจะมาจากการเลือกของผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันซึ่งมีจำนวนรวมไม่เกิน 160 คน

ผู้ได้คะแนนสูงเป็นที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มได้รับเลือกเป็น ส.ว. ส่วนที่ 11-15 เป็นสำรอง

ตามระบบการเลือกที่พิสดารข้างต้น การที่ผู้สมัครจะผ่านการเลือกในรอบต่างๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการเลือกอำเภอ จังหวัดและกลุ่มที่สมัคร โชคในการจับสลากแบ่งสายว่ากลุ่มของตนอยู่ในสายใดและการจัดการซึ่งหลายอย่างขัดต่อกฎหมายแต่ยากที่ กกต.จะจับได้ไล่ทัน แม้แต่การซื้อเสียงในการเลือกตั้งซึ่งจับได้ง่ายกว่าเพราะผู้รับเงินมีจำนวนมาก กกต.ก็ยังดำเนินคดีได้ไม่กี่รายเท่านั้น

ประเภทผู้สมัคร ส.ว.

ขอแบ่งผู้สมัคร ส.ว.เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.ผู้สมัครเพื่อจะได้มีสิทธิเลือกคนที่ตนเห็นว่าเหมาะสมเป็น ส.ว. โดยตนเองไม่ประสงค์เป็น ส.ว.เลย ผู้สมัครประเภทนี้มีน้อยเพราะจะมีกี่คนที่ยอมเสียค่าสมัคร 2,500 บาท เสียเวลาไปสมัครและไปเลือก และส่วนใหญ่ได้ใช้สิทธิเลือกรอบแรกระดับอำเภอครั้งเดียวแล้วก็ตกรอบไป

2.ผู้สมัครที่ประสงค์จะเป็น ส.ว. ซึ่งควรจะมีจำนวนมากที่สุด

3.ผู้สมัครที่มาจากการจัดตั้งเพื่อให้ตนเองและ/หรือผู้สมัครอื่นในเครือข่ายของผู้ที่จัดตั้งได้รับเลือกเป็น ส.ว. ผู้จัดตั้งจะส่งผู้สมัครที่อยู่ในเครือข่ายกระจายไปตามกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดที่เป็นเป้าหมายให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้สมัครในเครือข่ายของตนผ่านเข้าสู่การเลือกระดับประเทศ หากผู้สมัครประเภทนี้มีมากกว่าผู้สมัครประเภทที่ 2 ผลงานของวุฒิสภาชุดที่ 2 ก็คงไม่ต่างจากผลงานของวุฒิสภาชุดแรกที่เพิ่งครบวาระไป

ยุทธศาสตร์ในการสมัครและการลงคะแนนเลือก

การเลือกระดับจังหวัดไม่ว่าจังหวัดเล็กหรือจังหวัดใหญ่ แต่ละกลุ่มมีผู้ที่ผ่านเข้าไปสู่การเลือกในระดับประเทศเท่ากัน คือกลุ่มละ 2 คน ผู้ที่สมัครในจังหวัดเล็กและมีอำเภอน้อย โดยเฉพาะถ้าสมัครในกลุ่มที่มีผู้สมัครน้อย จึงมีโอกาสผ่านเข้าไปสู่การเลือกระดับประเทศมากกว่าผู้ที่สมัครในจังหวัดใหญ่ซึ่งการแข่งขันสูง หากมีผู้สมัครในกลุ่มใดในจังหวัดใดไม่เกิน 2 คน เพียงได้คะแนนรอบแบ่งสายในระดับจังหวัดเพียงคนละ 1 คะแนน ผู้สมัครเหล่านี้ก็จะผ่านเข้าไปสู่การเลือกระดับประเทศทันที ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงห้าม กกต.หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจำนวนผู้สมัครแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการรับสมัคร หากฝ่าฝืนมีโทษถึงจำคุก แต่เชื่อได้เลยว่าในระบบแบบไทยๆ ความลับย่อมไม่เป็นความลับ ดังนั้นจะมีผู้สมัครจำนวนหนึ่งไปสมัครในวันสุดท้ายของการรับสมัครเพื่อรอฟังข้อมูล
การสมัครที่อาจรั่วออกมาก่อน

การเลือกจังหวัดและอำเภอที่สมัครมีผลต่อการได้รับเลือกเป็น ส.ว. และผู้สมัครมีสิทธิสมัครได้อำเภอเดียว ผู้สมัครจึงต้องประเมินให้ดีว่าลงสมัครในจังหวัดใดและอำเภอใดที่ตนมีโอกาสผ่านเข้าไปสู่การเลือกตั้งระดับประเทศมากที่สุด อำเภอที่ผู้สมัครมีสิทธิเลือกได้แก่ อำเภอที่เกิด อำเภอที่มีชื่อหรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทำงานหรือเคยทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และอำเภอที่เคยศึกษาในสถานศึกษาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี ผู้สมัครจำนวนไม่น้อยสามารถเลือกอำเภอที่จะสมัครได้ในหลายจังหวัด

ผู้สมัครส่วนใหญ่มีคุณสมบัติสมัครได้หลายกลุ่ม การเลือกกลุ่มที่สมัครมีผลต่อโอกาสของผู้สมัครในการได้รับเลือกเป็น ส.ว. มากกว่าการเลือกอำเภอที่สมัครด้วยซ้ำ เพราะมีผลทั้งในการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันแม้จะมีสิทธิเลือกกันเองในรอบแรกของการเลือกทุกระดับ แต่ก็ต้องแข่งขันกันเองด้วย ดังนั้นเป็นไปได้ที่ผู้สมัครจำนวนหนึ่งจะลงคะแนนเลือกตนเองเพียงคนเดียวในการเลือกรอบแรกทั้งสามระดับ เพราะการเลือกผู้สมัครอื่นจะลดโอกาสของตนในการเข้ารอบต่อไป แต่ผู้สมัครซึ่งอยู่ต่างกลุ่มกันไม่ได้แข่งขันกัน ในการเลือกรอบแบ่งสายผู้สมัครจึงสบายใจในการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการที่ตนจะได้รับเลือก

การแนะนำตัวผู้สมัคร

การแนะนำตัวผู้สมัครเป็นคำที่เริ่มใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เพียงเพื่อแยกให้เห็นว่าการรณรงค์เลือกตั้งของ ส.ส.กับ ส.ว.ต่างกัน โดย ส.ส.ใช้คำว่าหาเสียง ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครจะรณรงค์อย่างไรก็ได้เว้นแต่ที่กฎหมายห้าม ส่วน ส.ว.ใช้คำว่าแนะนำตัว ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครจะรณรงค์ได้เฉพาะตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น แต่เมื่อออกกฎหมายลูกและใช้กันต่อเนื่องมาจนถึงการเลือก ส.ว.ครั้งนี้กลับไปจำกัดการแนะนำตัวให้บอกได้แต่ข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานและประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ด้วยข้อมูลที่จำกัดจึงยากที่ผู้เลือกไม่ว่าจะมีความบริสุทธิ์ใจในการเลือกเพียงใดจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดได้

ปัญหาของผู้สมัครในการลงคะแนนเลือกรอบแบ่งกลุ่ม

ก่อนวันเลือกในแต่ละระดับ ผู้สมัครส่วนใหญ่มีเวลาศึกษาข้อมูลของผู้สมัครในกลุ่มเดียวกับตนพอสมควร แต่คงไม่ใด้ให้ความสนใจกับผู้สมัครกลุ่มอื่นเท่าใด โดยเฉพาะในระดับประเทศซึ่งมีผู้สมัครรวมถึงประมาณ 3,000 คน เมื่อผู้สมัครเข้าถึงรอบแบ่งสายในทุกระดับและต้องเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นทันที ผู้สมัครเหล่านี้มีข้อมูลที่จำกัดยิ่งในการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่น ดังนั้นจึงยากที่จะตัดสินใจเลือกให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ผู้สมัครจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้หวังเพียงจะเป็น ส.ว. แต่หวังจะดำรงตำแหน่งประธานหรือรองประธานวุฒิสภาหรือประธานกรรมาธิการด้วย ก็อาจไม่เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่มีความเหมาะสมยิ่งเพราะเกรงจะเป็นคู่แข่งของตนในอนาคต

ผู้สมัครที่ไม่ได้มาจากการจัดตั้งใช้เหตุผลใดในการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นเป็นเรื่องควรทำวิจัยภายหลังการเลือก แต่พอคาดได้ว่าส่วนใหญ่จะเลือกคนรู้จักคุ้นเคยและคนที่ตนอยากให้เข้าไปทำงานในสภาร่วมกับตน

กกต.จะควบคุมอย่างไรให้การเลือก ส.ว. สุจริตและเที่ยงธรรม

วุฒิสภามีบทบาทสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นย่อมมีคนจำนวนหนึ่งพยายามจัดการให้คนในเครือข่ายของตนเข้าไปเป็น ส.ว. โดยกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายและเอาเปรียบผู้สมัครอื่น วิธีหนึ่งที่ กกต.จะตรวจสอบการ
กระทำที่ขัดต่อกฎหมายได้คือ การวิเคราะห์ข้อมูลการลงคะแนนของผู้สมัครในทุกระดับซึ่งจะแสดงให้เห็นว่ามีแบบแผนการลงคะแนนที่ผิดปกติ ส่อว่ามีการจัดตั้งหรือไม่ หากพบความผิดปกติ ก็ต้องใช้อำนาจของ กกต.ตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

พงศ์เทพ เทพกาญจนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image