การพูดคุยคืบหน้า แต่ทำไมเหตุรุนแรงใน จชต. จึงไม่ลดลงไปอีก

การพูดคุยคืบหน้า แต่ทำไมเหตุรุนแรงใน จชต. จึงไม่ลดลงไปอีก

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึงเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จากรายงานเบื้องต้นพบว่ามีเหตุรุนแรง 39 แห่ง แบ่งเป็นรายจังหวัดดังนี้ จังหวัดปัตตานี 20 เหตุ จังหวัดสงขลา 2 เหตุ จังหวัดยะลา 11 เหตุจังหวัดนราธิวาส 6 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นแรงงานหญิงชาวเมียนมา พนักงานร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการเชื้อเพลิงที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 6 แห่งในจังหวัดนราธิวาส ผมขอรายงานในเบื้องต้นถึงเหตุที่เกิดใน 2 อำเภอคือ ที่ตำบลเกียร์ อำเภอสุคิริน มีการวางระเบิดและยิงปะทะกัน ทำให้เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน (อส.) บาดเจ็บ 6 นาย และเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด (EOD) เหยียบกับระเบิดห่างจากจุดแรกประมาณ 40 เมตร ทำให้ขาทั้งสองข้างขาด รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ส่วนที่ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง มีการวางระเบิดสองลูกซ้อน ทำให้ อส. บาดเจ็บ 6 นาย

ในวันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในระหว่างการเยือนประเทศอิตาลี ให้สัมภาษณ์หลังการต่อสายหารือกับ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเราจมีแผนการที่จะส่งมอบพื้นที่ให้แก่ อส. ภายในปี 2570 จึงต้องกลับมาพิจารณาใหม่ว่า ถ้ามีความไม่สงบเกิดขึ้น อส. จะสามารถทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรียังเผยต่อไปว่า เมื่อกลับจากต่างประเทศแล้ว ภายใน 1-2 สัปดาห์ จะลงภาคใต้อีกที คราวที่แล้วไปดูในเรื่องของธุรกิจและการค้าขาย คราวนี้จะไปดูเรื่องความมั่นคง คิดว่าจะต้องมีการพูดคุยกันใหม่ทั้งหมด นำเอาสถานการณ์โดยรวมมาพูดคุยกันอีกรอบ แต่ขอลงไปในพื้นที่ก่อนที่จะมีการพิจารณา

Advertisement

ในขณะที่เกิดเหตุรุนแรงดังกล่าว ก็มีการพูดคุยสันติภาพในระดับคณะทำงานฝ่ายเทคนิคในระหว่างวันที่ 19–21 พฤษภาคม พลโทปราโมทย์  พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายเทคนิคของรัฐบาล ได้นำคณะทำงานฯไปประชุมเชิงปฏิบัติการกับฝ่ายเทคนิคขององค์กร BRN ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อวางกรอบของแผนงานลดความรุนแรง โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ในช่วงลดความรุนแรง และแผนงานหารือสาธารณะใน จชต. โดยคาดหวังว่าปีกทหารของ BRN จะคล้อยตามองค์กรนำใน BRN ที่มาพูดคุยกับเราต่อไป

พลโทปราโมทย์ ได้ชี้แจงว่า การหารือของฝ่ายเทคนิคอยู่ภายใต้สารัตถะ 3 ประการของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP (JOINT COMPREHENSIVE PLAN TOWARDS PEACE) ได้แก่การลดความรุนแรง การหารือสาธารณะ และการเปิดเวทีพูดคุยเรื่องรูปแบบการกระจายอำนาจ ทั้งนี้ โอกาสความเป็นไปได้ในเรื่องการลงนามใน JCPP ขึ้นอยู่กับการหารือของฝ่ายเทคนิค ว่าจะสามารถได้ข้อยุติร่วมกันหรือไม่ โดยหวังในเรื่องเอกภาพระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายการเมืองของ BRN ในช่วงที่ผ่านมา บางส่วนของฝ่ายทหารของ BRN อาจไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยของฝ่ายการเมือง จึงมักก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาล

เมื่อจบการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ฝ่ายมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ความว่า

Advertisement

1.ผู้อำนวยความสะดวกฯ ขอปิดการประชุมคณะทำงานเทคนิคร่วมครั้งที่ 10 (Joint Working Group – Peace Dialogue Process, JWG-PDP)

2.การประชุมครั้งนี้เป็นการปรึกษาหารือเนื้อหาสาระของกระบวนการสันติภาพ ระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยนำโดย พลโทปราโมทย์ พรหมอินทร์ ส่วนคณะตัวแทนของบีอาร์เอ็นนำโดย ดร.นิกมะตุลลาห์ บิน ซือรี (Dr.Nikmatullah Seri)

3.การพบพูดคุยกันครั้งนี้ดำเนินไปในบรรยากาศที่เป็นมิตร มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดการลดการใช้ความรุนแรง/การเป็นปรปักษ์กัน กลไกการติดตามผล และข้อกำหนด (TOR) สำหรับการทำงานของทีมติดตามผล

4.ผู้อำนวยความสะดวกฯ ขอแสดงความยินดีต่อความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้

5.สรุปก็คือ การพูดคุยกันครั้งนี้เป็นประโยชน์ (productive) และมีความร่วมมือกันอย่างดี (collaborative) จึงขอขอบคุณคณะตัวแทนทุกท่าน และหวังว่าสิ่งที่ได้รับความเห็นชอบในหลักการจะได้รับการดำเนินการต่อไป

คำถามก็คือ ความเห็นชอบในหลักการจะได้รับการดำเนินการต่อไปอย่างจริงจังเพียงใด หรือจะใช้วิธีรบก็รบไป คุยกันเรื่องหยุดรบก็คุยไป ไม่เกี่ยวกันเลยอย่างนั้นหรือ อันที่จริงเมื่อคุยกันก็ควรเริ่มลดความรุนแรงลงเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี ที่เอื้อต่อการพูดคุยกันจะดีไหม การที่พลโทปราโมทย์ให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายทหารบางส่วนของบีอาร์เอ็นคงจะไม่ลงรอยกับฝ่ายการเมือง นั่นเป็นเพราะเหตุใด ถ้าเป็นการไม่ลงรอยเพราะสถานการณ์ในพื้นที่มีการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐและฝ่ายบีอาร์เอ็น จึงมีการโต้ตอบกันไปมาไม่เลิกรา หรือเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีสายเหยี่ยวที่คอยบ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพ จึงควรมีการวิเคราะห์ว่า แรงต้านจากภายในของฝ่ายความมั่นคงก็ดี ของฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ดี มีมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ยากที่จะบังคับให้สายเหยี่ยวเปลี่ยนใจ ขอเพียงป้องกันอย่างรู้เท่าทัน มิให้สายเหยี่ยวได้ชัย และสามารถยับยั้งมิให้หลักการที่จะลดความรุนแรงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นผล แม้จะมีข้อตกลงในการจัดตั้งทีมทำงานร่วมเพื่อติดตามผลก็ตาม

เรื่องที่น่ากังวลอาจอยู่ลึกไปกว่านั้น นั่นคือ มีความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์และวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่อ้างถึงบ่อย ๆ คือความขัดแย้งระหว่างอัตลักษณ์ไทยพุทธกับมลายูมุสลิม จึงเป็นเรื่องดีที่จะพยายามแยกอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ศาสนาออกจากกัน เพราะคนคนหนึ่ง เช่น ที่มีชาติพันธุ์มลายู อาจถือศาสนาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องถือศาสนาอิสลามก็ได้ อย่างไรก็ดี ต่างฝ่ายอาจชอบที่จะยึดโยงอัตลักษณ์ทั้งสองด้านไว้ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการระดมพลและระดมความสนับสนุน

ได้มีการใช้แนวคิดพหุวัฒนธรรมมาโต้แนวคิดอัตลักษณ์นิยม ซึ่งอาจได้ผลระดับหนึ่ง พหุวัฒนธรรมนิยมบอกเราว่า คนต่างวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ไม่มีใครมาบังคับใครให้เปลี่ยนวัฒนธรรมมิใช่หรือ แล้วความแตกต่างทางวัฒนธรรมเปลี่ยนมาเป็นความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไร นักคิดตะวันตกบางคนคิดว่า อิสลามมิใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่อิสลามการเมือง (political Islamism) ต่างหาก แต่ระยะหลังนี้ โดยเฉพาะจากเหตุการณ์การรุกรานของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาซึ่งได้รับการการสนับสนุนของมหาอำนาจตะวันตกอย่างออกหน้าออกตา ผมเลยหมดศรัทธาต่อวาทกรรมตะวันตกไปมากหลาย เลยพาลคิดไปว่า ปัญหาอยู่ที่ตะวันตกการเมือง (political westernism)

บังเอิญได้อ่านพบบทความชื่อ “Frantz Fanon, ลัทธิจักรวรรดินิยมกับความรุนแรงในกาซา” เขียนโดยนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ อันที่จริงผมรับว่าเรื่องราวมันเป็นคนละบริบทกันกับเหตุการณ์ จชต. แต่ที่สะกิดใจผมคือ ทำไมขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐไทยจึงกล่าวถึงเจ้าอาณานิคมสยามบ่อยครั้ง โดยไม่มีใครใส่ใจ ผู้มีอำนาจรัฐไทยมักบอกว่าเรื่องมันเก่าแล้ว กว่าร้อยปีแล้ว และตอนนั้นรัฐสยามก็พยายามต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษในภาคใต้อยู่ อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ไหมที่ชนชาติพันธุ์มลายู นำเรื่องชาติพันธุ์ที่ถูกปกครองโดยชาติพันธุ์อื่น มาเป็นเรื่องที่ค้างคาใจในจิตสำนึกมาตลอด ความรู้สึกว่ามีการกีดกันทางศาสนาแม้มีอยู่บ้าง จากความแตกต่างและความไม่เข้าใจในความเชื่อของแต่ละฝ่าย แล้วกลายเป็นการไม่เคารพกันไปด้วย ผมจำได้ถึงเหตุผลของท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งที่พูดกับเราซ้ำ ๆ หลายครั้งว่า “ในจชต. คนเพียง 10% จะรังแกคน 90% ได้อย่างไร” แต่ประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม น่าจะให้ข้อมูลเชิงประจักษ์มิใช่หรือว่า ชาวอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน,เบลเยี่ยม, โปรตูเกส, ฯลฯ จำนวนน้อยนิดได้เป็นเจ้าอาณานิคมปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ของทวีป เอเชีย แอฟริกา อเมริกา (ทั้งเหนือ กลาง ใต้) มาแล้วนานนับศตวรรษ

ก่อนอื่นขอแนะนำให้รู้จัก ฟรานต์ซ ฟาน็อง (2468 – 2504) เขาเป็นคนผิวดำ เกิดและโตที่เกาะมาร์ตินิก อดีตอาณานิคมและปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งของฝรั่งเศส เขามีอาชีพเป็นจิตแพทย์ แต่ก็เป็นนักปรัชญาการเมืองด้วย มรดกทางวรรณกรรมของเขาอยู่ที่หนังสือสองเล่ม เล่มแรกชื่อ “ผิวดำ, หน้ากากขาว” ซึ่งสะท้อนชีวิตของเขาเองและประสบการณ์ของการเป็นคนผิวดำซึ่งถูกสร้างและถูกผลิตให้เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นต่ำและคนชายขอบทางสังคม ความน่ารังเกียจของคนผิวดำเป็นผลมาจากมายาคติที่คนผิวขาวในยุคอาณานิคมสร้างเอาไว้และทำให้คนผิวดำมองตัวเองอย่างไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรี บางคนจึงปรับตัวเข้ากับบรรทัดฐานของคนผิวขาว เช่น เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มีไลฟ์สไตล์แบบคนผิวขาว (สวมหน้ากากเป็นคนผิวขาว) คิดตามกฎเกณฑ์ของคนผิวขาวตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้เชื่ออย่างฝังใจว่าการเป็นคนผิวดำคือสิ่งที่เลวร้าย ความเชื่อนี้ตกตะกอนเป็นจิตใต้สำนึกที่ทำให้คนผิวดำรู้สึกอับอายในอัตลักษณ์ของตนเอง รวมไปถึงความปรารถนาที่จะมีผิวขาวที่สังคมยอมรับนับถือ

ในหนังสือเล่มที่สองชื่อ “ผู้ถูกสาปของแผ่นดิน” ฟาน็องวิพากษ์ระบอบอำนาจของลัทธิชาตินิยมและจักรวรรดินิยมที่ผลิตวาทกรรมและนิยามที่ตอกย้ำอัตลักษณ์ชาติและชนชั้นปกครอง ในขณะเดียวกันก็สร้างนิยามแง่ลบให้แก่ชนชั้นล่างและคนที่อยู่ใต้อำนาจ ฟาน็องเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อถอนรากถอนโคนระบอบที่กดขี่ข่มเหง เขาสนับสนุนให้คนพื้นเมืองผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างการปกครองแบบใหม่ที่ให้อำนาจแก่คนพื้นเมืองและไม่ใช้บรรทัดฐานเดิมที่คนผิวขาวสร้างไว้

ฟาน็องจากไปเร็วด้วยวัยเพียง 36 ปี ด้วยโรคลิวคีเมีย ทิ้งหนังสือสองเล่มที่กล่าวมานั้นไว้เป็นรากฐานสำคัญของการตรวจสอบอำนาจของลัทธิล่าอาณานิคมและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่คนท้องถิ่นที่ถูกปกครองด้วยบรรทัดฐานของคนผิวขาว รวมทั้งเปิดเผยให้เห็นวิธีการที่จะข้ามพ้นไปจากมายาคติที่สร้างขึ้นโดยเจ้าอาณานิคม และระวังมิให้ชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ที่เป็นคนท้องถิ่นจะเข้ามาควบคุมประเทศและผลิตซ้ำกฎระเบียบเดิม ๆ ที่เจ้าอาณานิคมได้สร้างไว้ ทำให้การประกาศอิสรภาพของอาณานิคมกลายเป็นการสร้างลัทธิอาณานิคมใหม่ขึ้นมาแทน

ความคิดของฟาน็องเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น ในการต่อสู้ (กับมรดกของลัทธิอาณานิคมและอิทธิพลของอดีตเจ้าอาณานิคม) เพื่อความเป็นรัฐของชาวปาเลสไตน์ อันที่จริง มีประเทศกว่า 140 ที่ยอมรับว่าชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ที่เวสต์แบ็งค์และฉนวนกาซานั้น ได้รวมกันเป็นรัฐ แต่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา คานาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรป อาศัยความเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าที่เคยจัดตั้งรัฐอิสราเอลมา แม้จะประกาศว่าเห็นด้วยกับทางออกสองรัฐ (two-state solution) แต่ก็ไม่รับรองรัฐปาเลสไตน์จนทุกวันนี้ ในสัปดาห์นี้เอง ประเทศในยุโรป 3 ประเทศคือ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปน ประกาศรับรองว่าปาเลสไตน์มีสภาพเป็นรัฐ รัฐบาลอิสราเอลก็ประท้วงและเรียกทูตที่ประจำในประเทศเหล่านั้นกลับทันที

นฤพนธ์ สรุปบทความของเขาว่า นับจากปี ค.ศ. 2006 จนถึงปัจจุบัน ฉนวนกาซาถูกควบคุมโดยรัฐบาลอิสราเอลและประเทศตะวันตก การปิดล้อมฉนวนกาซาโดยกองกำลังชาติตะวันตกและอิสราเอลถือเป็นการบ่อนทำลายชีวิตชาวปาเลสไตน์ ชาติตะวันตกกำลังผลิตซ้ำโครงสร้างความรุนแรงตามบรรทัดฐานของลัทธิอาณานิคมที่สร้างเส้นแบ่งของความเกลียดชังลงในพื้นที่ภูมิศาสตร์ และยังเป็นการสร้างระบอบแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ (Apartheid) ระหว่างยิวกับปาเลสไตน์ ยิ่งอิสราเอลตอกย้ำอัตลักษณ์ชาตินิยมของชาวยิวมากเท่าใด กลุ่มฮะมาสก็ยิ่งแสวงหาตัวตนชาวอาหรับในปาเลสไตน์มากขึ้นเท่านั้น ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ – ศาสนาเช่นนี้คือความรุนแรงและมรดกเลือดที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกได้สร้างเอาไว้ และส่งต่อมาถึงลูกหลานของชาวปาเลสไตน์และชาวยิวในปัจจุบัน

ขอเล่าข่าวการต่อสู้ระหว่างชนพื้นเมืองกับเจ้าอาณานิคมอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีของหมู่เกาะนูแวล – กาเลโดนี (นิวแคลิโดเนีย) ที่อยู่ในมหาสมุทรปาซิฟิก ไม่ไกลจาก นิวซีแลนด์ มากนัก แต่อยู่คนละฝั่งโลกกับประเทศฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคม หมู่เกาะนูแวล – กาเลโดนีในปัจจุบันมีสถานภาพเป็นดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ได้มีการลงประชามติเพื่อความเป็นเอกราชของนูแวล – กาเลโดนีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ผลการลงประชามติคือ เห็นชอบให้เป็นเอกราช ร้อยละ 43.6 และไม่เห็นชอบ ร้อยละ 56.4 อย่างไรก็ดี นูแวล – กาเลโดนี มีสิทธิ์ที่จะให้มีการลงประชามติเอกราชใหม่ได้ หากสภาท้องถิ่นเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 1 ใน 3 ระหว่างนี้ มีข้อตกลงกับชาวกานัต (Kanaks) ที่เป็นชนพื้นเมืองว่าจะมีการลงประชามติ 3 ครั้ง ครั้งที่สองจึงมีขึ้นในปี 2563 และครั้งที่สามในปี 2565 ในครั้งที่สองผลออกมาใกล้เคียงกับครั้งแรก แต่ครั้งที่สาม เสียงที่ปฏิเสธความเป็นเอกราชมีมากถึง 96.5% แต่จำนวนผู้มาออกเสียงได้ลดลงมามาก เพราะการคว่ำบาตรของชนพื้นเมืองจำนวนหนึ่ง

เหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของฝรั่งเศสได้ออกเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายสิทธิการเลือกตั้งในนูแวล – กาลิโดนี ให้รวมถึงผู้ที่เกิดในหมู่เกาะนี้ หรืออยู่อาศัยมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมของทั้งสองสภาในปลายเดือนมิถุนายน 2567 เพื่อลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว อย่างไรก็ดี ได้เกิดการจลาจลอย่างหนักในหมู่เกาะ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย รวมตำรวจ 2 ราย ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลนิวซีแลนด์ส่งเครื่องบินทหารอพยพพลเมืองนักทักท่องเที่ยวของตนเองที่ตกค้างกลับประเทศ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งกำลังเสริมจำนวน 1,000 นายบินจากฝรั่งเศสไปยังนูแวล – กาลิโดนีเพื่อควบคุมสถานการณ์เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ได้ส่งกำลังเสริม 1,700 นาย พร้อมกับการประกาศเคอร์ฟิวบนเกาะ

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังหมู่เกาะในมหาสมุทรปาซิฟิกนี้ เมื่อมาถึงในวันที่ 23 พฤษภาคม เขาได้ประกาศว่าจะขอประวิงเวลากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนหลายสัปดาห์ เพื่อเปิดให้มีการปรึกษาหารือหาความเห็นร่วมเสียก่อน และยืนยันว่าจะเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองที่จะเรียกร้องให้มีการลงประชามติเพื่อเอกราชเอาไว้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ยุติการประท้วงและขอให้ถอนสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ตามท้องถนนออกไป

ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ความคิดของฟาน็องก็ดี กรณีปาเลสไตน์ กรณีนูแวล – กาลิโดนี ก็ดี จะเกี่ยวกับกรณีความขัดแย้งรุนแรงใน จชต. อย่างไร จะว่าไม่เกี่ยวก็ใช่ เพราะบริบทต่างกันมาก แต่ที่ขอยกมากล่าวในที่นี้ เพราะขบวนการต่อต้านรัฐใน จชต. อาจมีความเชื่อในเรื่องการปลดปล่อยดินแดนจากการที่เคยเป็น “อาณานิคมสยาม” และการเสนอให้มีการลงประชามติเพื่อถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ว่าประสงค์ให้ดินแดนแห่งนี้เป็นเอกราชหรือไม่ ที่กล่าวว่าบริบทนั้นต่างกัน เพราะไม่มีความชัดเจนว่าสยามเคยเป็นเจ้าอาณานิคมหรือไม่ และไม่มีประเทศใดที่รับรองว่าดินแดนแห่งนี้เป็นหรือเคยเป็นอาณานิคม ส่วนเรื่องการลงประชามติ รัฐไทยได้วางอุปสรรคทางกฎหมายที่ก้าวข้ามไปไม่ได้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติที่อาจมีผลเป็นการแยกดินแดนอยู่แล้ว

ขบวนการฯและฝ่ายความมั่นคงจึงน่าจะยอมปลดปล่อยตนให้หลุดพ้นจากความคิดเรื่องเอกราช โดยฝ่ายแรกพึงลดทอนความคิดเรื่องการตกเป็นอาณานิคม และยอมรับสารัตถะข้อที่สามของการพูดคุย “คือการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (autonomy)” และฝ่ายหลังเลิกปราบปรามผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน โดยอ้างว่าเราต้องทำ “ตามกฎหมาย” แล้วหันมามองว่าพวกเขาส่วนใหญ่คือผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ควรโอบรับกลับมาสู่ความชอบด้วยกฎหมายในรัฐไทยต่อไป

ผมคิดว่านี่คือทางเลือกที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน ผมคิดว่าการพูดคุยจะคืบหน้าเป็นการดำเนินการอย่างจริงจัง หากว่ามีการเปิดใจคุยกันถึงมิติทางความความเชื่อและวัฒนธรรมที่เป็นพื้นภูมิความขัดแย้งรุนแรง หากทำเช่นนี้ได้ ก็หวังจะเปิดทางสู่สังคมที่สันติได้ในไม่ช้า

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image