ปฏิวัติการศึกษาไทย จะไปทางไหนกันอีก

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนโยบายการศึกษาในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 “เรียนดี มีความสุข” มุ่งสู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและความมั่นคงของชีวิต

เวลาผ่านไปยังไม่ครบขวบปีเต็ม ทีมงานประมวลผล เปิดผลงานงานแยกเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1 ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา 8 ข้อ 2 ลดภาระนักเรียน 12 ข้อ

รายละเอียดทั้ง 20 ข้อ คงต้องเปิดเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการอ่าน ล่ะครับ เพราะเนื้อหาความยาวขนาดเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ทีเดียว

ครับ รวบรวมบันทึกสรุปการดำเนินงานให้ภาพเป็นระบบเป็นเรื่องที่ดี น่าสนับสนับ อย่างน้อยก็ได้บอกกล่าวเล่าสิบให้ประชาคมการศึกษาทราบว่า 10 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการทำอะไรไปบ้างเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย

Advertisement

แต่ประเด็นที่น่าชวนคิด ช่วยคุย ให้ลึกมากกว่า คงไม่ใช่แค่ ทำอะไร อย่างไร ในเชิงปริมาณ

ข้อสำคัญต้องตอบโจทย์ใหญ่ให้ได้ว่า สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วนั้นปรากฏผลเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กนักเรียนในภาพรวมแค่ไหน เป็นคำตอบชัดเจนที่สุด

Advertisement

ขณะที่พยายามรวบรวมผลงานมาบอกกล่าวต่อสาธารณะ กระทรวงศึกษาธิการยังคงเดินหน้าไม่หยุดยั้ง ล่าสุดวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สภาการศึกษานานาชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกัน ‘ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ’ ร่วมมือกันในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ประกาศใช้คำใหญ่ “ปฏิวัติการศึกษาไทย”

เจตนาคงต้องการปลุกเร้า ปลอบขวัญ ให้กำลังใจ กระตุ้นให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพการศึกษาให้กว้างขวางที่สุด

เลือกใช้คำว่าปฏิวัติแทนปฏิรูป แสดงว่าต้องการเพิ่มความเข้มข้น เอาจริง เอาจัง หนักหน่วงยิ่งกว่าระดับ “ปฏิรุูป” ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ แต่ผลลัพธ์ยังน่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ดังที่รับรู้กันอยู่

ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก่อนอื่น คือย้อนกลับมาทบทวนกันอย่างเข้มข้น ว่า แนวทางนโยบายและมาตรการที่ดำเนินมามากมายหลากหลาย เยอะแยะไปหมดนั้น ข้อไหน เรื่องอะไร ถึงระดับ ปฏิวัติการศึกษาบ้าง

ถ้ายังเป็นแค่ ปะผุ ปฏิรูป จะดำเนินต่ออย่างไร

จะปฏิวัติต้องทำอะไร ถึงตรงเป้า ตรงปก ตรงจุด ตรงประเด็นหัวใจของปัญหาที่แท้ เน้นถึงแก่นมากกว่าเปลือก

ตัวอย่างรูปธรรม ลดภาระครู ลดภาระนักเรียน ด้วยวิธีการต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ควรทำ ทำให้ครูสบายขึ้น สะดวกขึ้น มีอิสรภาพมากขึ้น แต่คำถามคือแล้วไงต่อ คุณภาพการเรียนการสอน ผลการเรียนของนักเรียนและสภาพชีวิตของนักเรียนดีขึ้นตามไปด้วยหรือไม่ แค่ไหน ตรงนี้ต่างหากคือคำตอบ

สิ่งที่เป็นแก่นแท้ ควรทำควบคู่กันไปทันทียิ่งกว่า ก็คือ การพัฒนา ทั้งกระบวนการเรียนการสอนและตัวบุคคล

ก่อนอื่นใด จะปฏิวัติการศึกษาต้องปฏิวัติยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่ผ่านมา ครับ

จากทำทุกเรื่องหรือหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน เห็นผลไม่ชัด ลดปริมาณ หันมาเน้นคุณภาพ ทีละเรื่องที่เห็นผลชัดเจน

เวลาที่เหลืออยู่อีก 3 ปี ปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายแบบเหวี่ยงแห หว่านไปหมด เลือกทำบางเรื่องที่มีความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วนก่อน

เน้นเรื่องใหญ่มีผลต่อการปฏิรูป หรือปฏิวัติการศึกษาจริงๆ นั่นคือ พัฒนาครู ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน หลักสูตรฐานสมรรถนะ การกระจายอำนาจทางการศึกษา โรงเรียนเป็นนิติบุคคล

ทำเรื่องสำคัญๆ เหล่านี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นชัดเจน ก็คุ้มค่า คุ้มเวลา คุ้มงบประมาณที่ทุ่มเทลงไปแล้ว

ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค โอกาสทางการศึกษา โครงการ Zero Dropout ลดการออกกลางคันเป็นศูนย์ พาน้องกลับมาเรียน ก็ดำเนินต่อไปตามปกติ

ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาสรุปกิจกรรมสำคัญเร่งด่วนที่ควรดำเนินการต่อ 5 ประการ ที่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึง การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

ให้มีหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของสามมโนทัศน์หลักคือ Career Education Competency Building และ Creative Education ผู้เรียนทุกระดับได้มีโอกาสพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจเป็นรายบุคคล จนสามารถประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในวิชาชีพชั้นสูงได้

แต่พอกระทรวงศึกษาธิการแค่ขยับตัว เรื่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน เริ่มเกิดปฏิกิริยาจากกลุ่มผู้ใช้นามว่า “สมาคมครูชนบท” ประกาศขอให้ยับยั้ง อ้างว่ามีครูคัดค้านจำนวนมาก

ปฏิวัติการศึกษา ต้องปฏิบัติการให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยเร็ว ทันท่วงที สู้กันด้วยเหตุผลทางวิชาการ ยิ่งกว่าเหตุผลทางการเมืองและผลประโยชน์ เฉพาะกลุ่ม เฉพาะคนครับ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image