ผู้เขียน | ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช |
---|
นายกฯอินเดียเยือนยูเครน
ผลักดันยุติสงครามรัสเซีย
การเยือนกรุงเคียฟ ยูเครนของ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดียเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1992
การเยือนยูเครนครั้งนี้ อินเดียยืนยันต้องการผลักดันให้ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อรังสรรค์ภาพแห่งสันติ ส่วนยูเครนก็มีความยินดีกับการเยือนของผู้นำอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่กำลังพัฒนา หวังพึ่งโอกาสนี้ขยายประเทศ “โลกใต้” อันเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
สังคมมองว่า การเยือนยูเครนของ “โมดี” น่าจะเป็นการใช้กระสุนนัดเดียวยิงนกสองตัว
1 คือธำรงไว้ซึ่งสถานภาพความเป็นกลางในกรณีรัสเซียและยูเครน
1 คือแสดงความจงรักภักดีต่อสหรัฐ
นอกจากนี้ ในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอินเดียยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพายูเครน และถือเป็นจุดประสงค์หลักของ “โมดี” ในการเยือนยูเครน
แม้ในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า “ธำรงไว้ซึ่งความร่วมมือด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง” แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องโคมลอย ความจริงคืออินเดียกำลังแสวงหาโอกาสทางการทูต แต่คงไม่เกิดผลมากนัก
การเดินทางของ “โมดี” ครั้งนี้ แม้อ้างว่าเป็นการเยือนโปแลนด์และยูเครนสองประเทศ แต่ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน การเดินทางเข้ากรุงเคียฟมีอยู่ทางเดียวคือรถไฟ การเดินทางโดยรถไฟเข้ายูเครนจะต้องผ่านโปแลนด์อยู่แล้ว ฉะนั้น “ทริปนี้ของโมดี” เนื้อแท้คือกรุงเคียฟเป็นแน่แท้
ก่อนการเยือนกรุงเคียฟหนึ่งเดือนครึ่ง วันแรกพลันที่โมดีเยือนมอสโก โรงพยาบาลเด็กแห่งหนึ่งของยูเครนถูกถล่มด้วยจรวดพิสัยไกลของรัสเซีย ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้เขียนข้อความลงในสื่อออนไลน์ว่า “เป็นเหตุให้คนผิดหวังที่สุด เพราะเป็นพฤติการณ์ที่ทำลายสันติภาพ” ในขณะที่วอชิงตันกำลังจะจัดประชุมสุดยอดนาโต เพื่อทำการตัดสินใจเพิ่มกำลังสนับสนุนยูเครน เป็นเหตุให้สื่อวิพากษ์ว่า “เป็นประจักษ์ถึงความโดดเดี่ยวของตะวันตกและยุทธศาสตร์ปูตินล้มเหลว”
การเยือนกรุงเคียฟของโมดีครั้งนี้ นั่งรถไฟไป-กลับเกือบ 20 ชั่วโมง เซเลนสกีได้พาโมดีเยี่ยมชมนิทรรศการรำลึกถึงการเสียชีวิตของเด็กระหว่างสงคราม อันเป็นการสร้างดุลยภาพเกี่ยวกับผลทางลบของโมดีเมื่อครั้งเยือนรัสเซีย และเป็นการแจ้งเตือนให้อินเดียปรับแก้จุดยืนในเชิงสัญลักษณ์ แต่โมดีพยายามหลีกเลี่ยงการวิพากษ์รัสเซีย เพียงกล่าวว่า “ยืนยันสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายยุติสงครามและมุ่งสู่สันติภาพ”
อย่างไรก็ตาม ก่อนการออกเดินทางโมดีกล่าวว่า “ไม่มีปัญหาใดที่สามารถแก้ไขได้ในสมรภูมิ” ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศซึ่งร่วมเดินทางด้วยได้ชี้แจงเรื่องการค้าทรัพยากรธรรมชาติแบบกินปูนร้อนท้องว่า “เหตุที่อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ก็เพราะประเพณีนิวเดลีไม่เคยทำการแซงก์ชั่นประเทศใด”
ความจริง จุดยืนของอินเดียและจีนเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่แตกต่างกันมาก คือไม่ตำหนิมอสโก และคงไว้ซึ่งการทำการค้ากับรัสเซียไม่แปรเปลี่ยน เกี่ยวกับการลงมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ต่อต้านคัดค้านสงครามยูเครน ทั้งสองประเทศ “งดออกเสียง” เหมือนกัน ส่วนที่แตกต่างกันก็คือจีนเป็นที่โฟกัสของตะวันตก ส่วนอินเดียถูกมองว่าสามารถถ่วงดุลอำนาจกับจีนได้ จึงเลี้ยงเอาไว้เพื่อคานอำนาจกันได้
โดยประเพณีอินเดียกับมอสโกได้ธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหาร รัสเซียเป็นผู้ค้ารายใหญ่ของอินเดียคืออาวุธยุทโธปกรณ์และน้ำมันดิบราคาถูก หลังเกิดสงคราม ยูเครนได้สั่งซื้อน้ำมันดิบในปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเก่าก่อน ส่วนปริมาณการค้าระหว่างอินเดีย-ยูเครนได้ลดลงตามลำดับ
หากกล่าวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “โมดี” กับ “ปูติน” ก็คือ “คนกันเอง” เพราะระยะเวลา 10 ปี ทั้งสองคนได้พบกันถึง 17 ครั้ง แม้วันนี้สถานะต่างประเทศของรัสเซียตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ “โมดี” ก็ไม่ทิ้งกัน
แต่ท่ามกลางเสียงปืนคุกรุ่น ว่ากันว่า “โมดี” จะไปทำการเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง สังคมจึงมองว่าไม่น่าจะเกิดผลแต่ประการใด และน่าจะเป็น “ละครฉากหนึ่ง” ที่มีโมดีเป็น “พระเอก”
อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่กำลังพัฒนา จึงถือเป็นพลังสำคัญของ “โลกใต้” นอกจากนี้ อินเดีย รัสเซีย และจีนยังได้เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ BRICS และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ แต่อินเดียใฝ่ฝันเลื่อมใสลัทธิฉวยโอกาส (Opportunist ideology) เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้น
อดีตเมื่อเดือนมิถุนายน โมดีได้ร่วมประชุมเกี่ยวกับสันติภาพที่สวิตเซอร์แลนด์ (เป็นการประชุมที่ห้ามรัสเซียเข้าร่วม) และหลังจากนั้นไม่นาน “โมดี” ก็ได้พบกับ “ปูติน”และ “เซเลนสกี” ตามลำดับในภาพที่สวมกอดกัน
กรณีน่าเชื่อว่าประมุขทั่วโลก คงไม่มีผู้ใดสามารถปฏิบัติได้อย่าง “โมดี” อันเป็นพฤติกรรม “สองจิตสองใจ”
และเขาก็ได้แสดงบทบาทดังกล่าวในหลายเวทีขององค์กรระหว่างประเทศ สื่อต่างประเทศจึงเปรียบเทียบอิริยาบถของโมดีละม้ายกับ “ผ้าเบรกรถยนต์” (Brake pads) อาจได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่ไม่อยู่ยืนโยงยาม
ไม่ว่าประเทศใดเชื่อว่าไม่มีคนโง่ พลันที่ “โมดี” ย่างก้าวเหยียบบาทแผ่นดินยูเครน หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า “พวกเราเคารพอินเดีย…… แต่บัดนี้ควรต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนว่า ผู้ใดคือฝ่ายรุกราน ผู้ใดคือฝ่ายได้รับเคราะห์กรรม”
หากย้อนมองเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนบ้านสนิทของอินเดียคือประธานาธิบดีบังกลาเทศที่ถูกโค่นอำนาจ เป็นที่ประจักษ์ว่าเบื้องหลังมี “เงา” ของสหรัฐ
ส่วนรัสเซียกับศัตรูหมายเลข 1 ของอินเดียคือปากีสถาน หลายปีที่ผันผ่าน มีความสัมพันธ์อันแนบแน่น และกระชับขึ้นทุกขณะ เห็นว่าอินเดียยังบกพร่องในระบบการเมืองระดับมหภาค
จึงน่าเชื่อว่าในที่สุดอินเดียอาจจะต้องตกอยู่ในสภาพที่โดดเดี่ยว