ชัยชนะ สมบูรณ์ ใช้ ‘ดนตรี’ เป็น ‘อาวุธ’ ‘โจมตี’ ทาง ‘ใจ’

ชัยชนะ สมบูรณ์ ใช้ ‘ดนตรี’ เป็น ‘อาวุธ’ ‘โจมตี’ ทาง ‘ใจ’

ชัยชนะ สมบูรณ์
ใช้ ‘ดนตรี’ เป็น ‘อาวุธ’
‘โจมตี’ ทาง ‘ใจ’

ผ่านการวิเคราะห์บนพื้นฐานแห่ง “รู้เขา” คือทางด้านของฌ้อปาอ๋อง และ “รู้เรา” คือทางด้านของฮั่นอ๋องแล้ว

จึงสั่งการให้เล็กแกไป ณ ค่ายปีกขวาเพื่อเชิญจางเหลียงมาปรึกษา

“แต่ข้าพเจ้าดูฌ้อปาอ๋องกระทำศึกมากับเรา เห็นว่า บรรดาทหารในกองทัพเรา ไม่มีผู้ใดที่จะต้านทานกำลังของฌ้อปาอ๋องได้

Advertisement

แลทหารฌ้อปาอ๋อง 8,000 นั้นก็รบพุ่งเป็นใจเดียวทั้งสิ้น

ครั้งนี้ฌ้อปาอ๋องก็เข้ามาอยู่ในที่ล้อมของเรา แต่ข้าพเจ้าคิดเกรงอยู่เลือกฌ้อปาอ๋องจะแหกออกไปได้จะข้ามไปอยู่ ณ เมืองกังตั๋ง

Advertisement

เห็นเราจะต้องลำบากต่อไป

จะคิดประการใดถึงจะให้ทหารทั้งปวงเอาใจออกห่างฌ้อปาอ๋องได้ข้าพเจ้าคิดยังไม่เห็นก็ให้วิตกนัก นอนตามิหลับ”

ความหมายแห่งคำปรารภ 1 เสนอโจทย์ เสนอปัญหา สำแดงความวิตก ขณะเดียวกัน 1 ภายในปัญหาต้องการคำปรึกษา ต้องการหนทางออก

ปัญหาคือความเข้มแข็งของ “ฌ้อปาอ๋อง”

คำถามก็คือ จะใช้วิธีการใดจึงจะทำให้ความเข้มแข็งภายในทัพฌ้อปาอ๋องอ่อนแอ

“ยุทธวิธี” จึงแวดล้อมอยู่กับเป้าหมายสำคัญ

เป็นเป้าหมาย ตรงที่ว่า “จะคิดประการใดถึงจะให้ทหารทั้งปวงเอาใจออกห่าง” ย่อมเป็นเรื่องในทาง “ความคิด”

ทะลวงจาก “ความคิด” ไปสู่การแปรเปลี่ยนทาง “การทหาร”

“ซึ่งจะคิดอ่านให้ทหารทั้งปวงเอาใจออกหากฌ้อปาอ๋องนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ยากดอก”

จางเหลียงจึงกระซิบ “กลอุบาย” ที่อยู่ใน “ความคิด” ให้หานซิ่น

เมื่อน้อยข้าพเจ้าเที่ยวไป ณ เมืองแหฝือพบผู้วิเศษคนหนึ่งชำนาญการเป่าปี่แก้ว ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงปี่แล้วก็ให้เกิดสลดใจ

มาตรว่าผู้ใดน้ำใจกระด้างดุจเหล็กแลศิลาก็มิอาจแข็งขืนอยู่ได้

แต่คนผู้นั้นก็มักพอใจเสพสุรานัก ข้าพเจ้าก็ปรนนิบัติให้ชอบน้ำใจจึงเข้าร่ำเรียนเอาวิชาอันนี้ได้

ครูจึงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า

แต่ต้นแผ่นดินนั้นกษัตริย์และราษฎรทั้งปวงก็นุ่งใบไม้สิ้น มาเมื่อครั้งอยู่เต้ซึ่งเป็นต้นตำรับปี่อันนี้ได้เป็นกษัตริย์

จึงมีเครื่องนุ่งห่มและผ้าผ่อน

อยู่เต้จึงให้ตัดเอาไม้ไผ่ยาวประมาณ 22 นิ้วกึ่ง จึงเอาธาตุทั้ง 5 ตั้งเป็นกำลัง เอาเสียง 12 นักษัตรตั้งเป็นเพลงด้น จึงเป่าได้เป็นเสียงสัตว์ทุกภาษา

ถ้าจะเป่าปี่ให้เป็นบทกลอนประการใดก็ดุจหนึ่งน้ำใจทุกอย่าง

เมื่อครั้งไต้ซุ่นฮ่องเต้ได้เป็นกษัตริย์จึงเอาวิชาปี่นี้มาแปลงออกไปเป่าได้เป็นเสียงหงส์ จึงสืบมาจนพระเจ้าจิ้นอ๋อง

ครั้นพระเจ้าจิ้นอ๋องมีบุตรหญิงองค์หนึ่ง ซึ่งพระนางพอใจเรียนวิชาเป่าปี่

ครั้นพระนางมีอายุเจริญขึ้นพระเจ้าจิ้นอ๋องให้จัดแจงการแต่งตามประเพณี พระนางจึงทูลพระเจ้าจิ้นอ๋อง

“ถ้าผู้ใดมิได้รู้ในวิชาการเป่าปี่นี้เสมอข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมเป็นภรรยา”

พระเจ้าจิ้นอ๋องมีความกรุณาก็ผ่อนผันตามน้ำใจ จึงให้ข้าราชบริพารไปเที่ยวหาผู้ซึ่งรู้ในวิชาเป่าปี่

ก็พบชายชื่อเซียวซู้นั่งเป่าปี่อยู่บนภูเขา

พระเจ้าจิ้นอ๋องสั่งให้หาชายผู้นั้นเข้าไปแล้วเป่าปี่ ครั้นเซียวซู้เป่าปี่ ฝูงหงส์แลนกยูงก็พากันมารำแพนอยู่เป็นอันมาก

โบราณจึงสรรเสริญเซียวซู้ว่าชำนาญเป่าปี่แก้ว หาผู้ใดเสมอมิได้

บรรยายความตั้งแต่แรกกำเนิดแห่งคน แห่งชุมชน กำเนิดแห่งปี่แก้ว แห่งความเชี่ยวชาญในวิชาเป่าปี่แก้ว

กระทั่ง การเสาะหาเซียวซู้เข้ามาเพื่อเป็นคู่ครองธิดาจิ้นฮ่องเต้

จึงนำไปสู่บทสรุปของจางเหลียง “อันเสียงปี่นี้ ถ้ามนุษย์ได้ฟังแล้วให้คิดถึงมารดาแลบุตรภริยานัก

ครั้งนี้ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นหน้าใบไม้หล่น ลมพัดเสมออยู่

เวลากลางคืนของวันพรุ่งนี้ข้าพเจ้าจะขึ้นไปเป่าปี่อยู่บนเขาแกถีซัวให้ได้ยินมาถึงเขากียี่สาร จะให้ทหารฌ้อปาอ๋องทั้งปวงนั้น

มีน้ำใจสลดลง

รำลึกถึงบ้านช่องของตัว และทิ้งฌ้อปาอ๋องเสียให้จงได้ ไม่ให้ท่านแม่ทัพต้องรบพุ่งเสียเกาทัณฑ์เลย”

นี่ย่อมเป็น “กลยุทธ์” อันตระเตรียมไว้อย่างดีของจางเหลียง

ความนัยแห่ง “กลยุทธ์” นี้ต้องมองไปยังเป้าประสงค์อันดำรงอยู่ ดำเนินไปภายใต้เสียงของปี่แก้วอันจะแจ้ว จะแจ้วออกมา

เป็นการเปิดแนวรบด้าน “เสียงเพลง”

เป็นเสียงเพลงอันอยู่บนทิศทางที่ “ผู้ใดได้ยินเสียงปี่แล้วก็จะเกิดความสลดใจนัก มาตรว่าน้ำใจกระด้งดุจหนึ่งเหล็กแลศิลา

ก็มิอาจแข็งขืนอยู่ได้”

นี่ย่อมเป็นกระบวนท่าอันเรียกว่า “โจมตีที่ใจ” ซึ่งรับรู้กันว่าเป็นการนำเสนอโดยท่าน “ซุนวู”

กระนั้น “ฮว่อหยี่เจีย” ผู้เขียน “ศิลปะการใช้กลยุทธ์ในสามก๊ก

ก็ตั้งข้อสังเกตว่า “ตำราพิชัยสงครามซุนวูบทที่ 3” กลวิธีรุกก็เพียงแต่ได้เสนอหลักการการบัญชาทัพขั้นยอดที่สุดเท่านั้น

จะเข้าใจ “กลยุทธ์” นี้ต้องศึกษาถึง “รายละเอียด”

บุญศักดิ์ แสงระวี แปลออกมาว่า อันหลักแห่งการทำศึกนั้น บ้านเมืองสมบูรณ์เป็นเอก บ้านเมืองบอบช้ำเป็นรอง

กองทัพสมบูรณ์เป็นเอก กองทัพบอบช้ำเป็นรอง

กองพลสมบูรณ์เป็นเอก กองพลบอบช้ำเป็นรอง กองร้อยสมบูรณ์เป็นเอก กองร้อยบอบช้ำเป็นรอง

หมวดหมู่สมบูรณ์เป็นเอก หมวดหมู่บอบช้ำเป็นรอง

เหตุนี้ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งยังหาใช่ความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบแต่สยบข้าศึกได้ จึงจะเป็นความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม

การบัญชาชั้นเอกคือชนะด้วยอุบาย รองลงมาคือชนะด้วยการทูต

ความคิด “ชัยชนะอย่างสมบูรณ์” ของซุนวู ต่อมา ได้รับการพัฒนาต่อยอดโดย “ซุนปิน” นักการทหารอีกท่านหนึ่ง

เป็นผู้สืบเชื้อสายของ “ซุนวู” ใน “ยุคจ้านกว๋อ”

โดยเสนอยุทธศาสตร์ “การโจมตีทางใจ” ออกมาอย่างชัดเจนเห็นจากที่คัมภีร์ “ทงเตี้ยน” ระบุ “ซุนปิน” แห่งแคว้นฉีได้กล่าวแก่ฉีอ๋องว่า

“วิถีทางแห่งการเข้ายึดครองบ้านเมืองนั้น ถือการโจมตีทางใจเป็นเอก

พึงให้เขาสยบด้วยใจ ทั้งนี้ ที่แคว้นฉินถือเป็นคู่คิดถือเป็นผู้ครองอำนาจแคว้นเจ้ากับแคว้นเอียน จงโน้มน้าวจิตใจของเจ้าครองแคว้นจ้าวและแคว้นเอียน

ทว่า อย่าอาศัยแต่ถ้อยคำอันว่างเปล่า

จะต้องให้พวกเขาเห็นผลประโยชน์ที่เป็นจริงเพื่อให้เขากลับใจ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า

“การโจมตีทางใจ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image