ผู้เขียน | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ |
---|
บางเสี้ยวของปัญหาอาชญากรรม
ในธุรกิจขายตรงซ่อนเร้น/ซ่อนรูป
ข่าวคราวจากข้อร้องเรียนและการกล่าวหาต่อธุรกิจการขายตรงยี่ห้อหนึ่งในสังคมไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามมากมายในสังคม ตั้งแต่ธุรกิจขายตรงนั้นผิดไหม หรือที่ทำอยู่นี้มันไม่ใช่การขายตรง แต่เป็นแชร์ลูกโซ่
ในทางหนึ่งเรื่องราวดำเนินมาถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้ว แต่อีกทางหนึ่งสังคมก็ยังตั้งข้อสงสัยและถกเถียงเรื่องราวเหล่านี้ต่อไปในลักษณะการเรียกร้องให้ออกมาขอโทษ รับผิด และชดใช้
โดยตัวของมันเองนั้นธุรกิจขายตรงไม่ใช่เรื่องที่ผิด มีหลายคำอธิบายว่านอกจากจะไม่ผิดแล้ว ยังมีผลต่อการอยู่รอดและการเติบโตของประเทศยากจนในโลก โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา
ส่วนหนึ่งเพราะมันสะท้อนว่าการขายตรงมันพึ่งพาอาศัยระบบความไว้วางใจซึ่งกันและกันของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะมีความเหนียวแน่นมากในสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก
และอีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องของการที่ธุรกิจขายตรงมักจะเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนสูง เพราะไม่ต้องสต๊อกของเอง คือไม่ต้องลงทุนในส่วนนี้ และได้ผลกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากยอดขาย และมีระบบช่วยเหลือกันเป็นทีม
ผมจำได้ว่าตอนที่ผมไปเรียนที่อเมริกา ผมเองก็ยังงงว่าบริษัทขายตรงยอดนิยมแห่งหนึ่งของไทยอ้างว่ามาจากอเมริกาและเป็นเจ้าใหญ่ในอเมริกา กลับกลายเป็นว่าอยู่ที่นั่นไม่เคยเจอ แต่เหมือนจะเติบโตในประเทศอื่นๆ มากกว่า
ในเอกสารเรื่อง The Dark Side of MLM: Unraveling the Web of Ponzi Frauds. Strategyinindia.com. ซึ่งพูดถึงปรากฏการณ์ของการขายตรงในอินเดีย ชี้ประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายของการขายตรงมันก็เริ่มขึ้นเมื่อมันกลายเป็นลักษณะของการสร้างระบบพีระมิด แล้วรายได้ของคนข้างบนขึ้นไปเรื่อยๆ มาจากส่วนแบ่งที่คนข้างล่างหามาให้จนเกินสัดเกินส่วน
และมากกว่านั้นก็คือการเข้าสู่ระบบแชร์ลูกโซ่ (ธุรกิจ Ponzi ตามชื่อนักธุรกิจชาวอิตาลีที่คิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมา) ที่กลายเป็นว่าธุรกิจการขายตรง หรือธุรกิจในภาพรวมรายได้หลักไม่ได้มาจากยอดขาย แต่มาจากการเก็บเงินของผู้ที่จะเข้ามาในเครือข่ายในฐานะการลงทุน ทั้งที่มันไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นเรื่องของการเอาเงินมาให้คนข้างบนเอาไปใช้ ไม่ได้ขายสินค้าจริง ไม่ได้ลงทุนจริง หรือบางทีสินค้านั้นอาจจะไม่มีคนเคยเห็นด้วยซ้ำ
ระบบแชร์ลูกโซ่ซ่อนเร้นในการขายตรงในระบบพีระมิด ในหลายประเทศจึงถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะระบบแชร์ลูกโซ่ซ่อนรูป/ซ่อนเร้นนี้มันเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงด้วยกลวิธีมากมาย ที่จะทั้งหลอกลวงและขูดรีดเหยื่อยที่ถูกลากมาเข้าร่วมธุรกิจเหล่านั้นด้วย
ที่น่าสนใจต่อไปก็คือ บรรดาเหยื่อมีอยู่หลากหลาย พื้นฐานชีวิตและอาชีพ ภูมิหลังการศึกษา ว่ากันว่าแม้แต่คนที่มีความรู้เรื่องการเงินเองก็ตกเป็นเหยื่อของกิจการเหล่านี้
อย่างบ้านเราประเด็นก็คือถ้าจนจริงอาจจะเข้าร่วมไม่ได้ แต่อาจจะพอมีกินแล้วอยากได้มากขึ้น บางคนต้องขายสมบัติ หรือกู้หนี้ ยืมมาลงทุนแล้วก็ล้มเหลวจากการกระทำดังกล่าว
ในกรณีของอินเดียมีการกล่าวไว้ว่า มีคนอยู่ 5 ประเภทที่อาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบแชร์ลูกโซ่ซ่อนเร้นแห่งนี้
1.คนที่เกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เพราะคนเหล่านั้นจะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เพราะทำงานในตำแหน่งและสถาบันที่น่าเชื่อถือทางการเงิน เวลาถูกชักจูงก็มักจะเชื่อถือได้ง่าย
2.องค์กร หรือกลุ่มญาติธรรมทางศาสนา เพราะพวกนี้มีความเหนียวแน่นและไว้วางใจกันอย่างเข้มข้นภายในกลุ่ม
3.เพื่อนและครอบครัวของเหยื่อในรอบแรกก็จะโดนต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
4.คนที่กลัวว่าจะตกขบวน ตกเทรนด์ ตามโลกไม่ทัน และที่สำคัญยังอาจจะได้รับอิทธิพลจากสื่อโซเชียล โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่ทรงอิทธิพลจากสื่อโซเชียล
5.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแชร์ลูกโซ่ คือต้องหาเหยื่อมาเพิ่มเพื่อลดการสูญเสียของตัวเอง และปรับสถานะของตัวเองมาสูบเลือดคนอื่นแทน
ความสูญเสียที่มาจากแชร์ลูกโซ่ซ่อนรูปนี้มีมากกว่าการเสียเงินอย่างน้อย 3 ประการ
1.ความล้มละลายทางการเงิน ซึ่งมากกว่าเรื่องของการเสียเงินจากการลงทุนเฉยๆ แต่อาจไปถึงขั้นของการต้องขายทรัพย์สิน กลับไปทำงานหลังจากเกษียณอายุ ล้มละลาย หรือต้องดิ้นรนกลับมาสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงินใหม่
2.ความปั่นป่วนทางอารมณ์ เหยื่อจะรู้สึกอับอาย รู้สึกผิด หรือโทษตัวเอง บางทีอาจจะโทษตัวเองว่าเป็นพวกที่อ่อนแอและโง่ ซึ่งยิ่งไปซ้ำเติมทางอารมณ์ต่อความสูญเสียทางการเงินที่มีอยู่
3.ผลกระทบทางสุขภาพและพฤติกรรมจากความเครียดและกระวนกระวายใจอาจนำไปสู่ความเสื่อมถอยและเจ็บป่วยด้านสุขภาพที่มีมากขึ้น บางรายอาจไปถึงขั้นการจบชีวิตของตัวเองลง
นอกจากนี้ ความอับอายและความสูญเสียเหล่านี้มีหลายกรณีที่ทำให้เหยื่อไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะว่ามีความกังวลว่าจะถูกสังคมประณาม และอาจทำให้คนร้ายลอยนวล
ในรายละเอียดเหยื่อจากแชร์ลูกโซ่ซ่อนรูปอาจเลือกที่จะเงียบ หายหน้าไป หรือพยายามปฏิเสธว่าไม่ได้สูญเสียอะไรมาก บ้างก็ลังเลที่จะแจ้งความเพราะไม่เชื่อมั่นว่ากฎหมายจะเอาผิดสิ่งเหล่านี้ได้
การโทษตัวเองก็เป็นอีกพฤติกรรมที่พบบ่อย และจะนำไปสู่การสะสมของความเจ็บป่วยทางอารมณ์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอีกด้านหนึ่ง การดำรงอยู่ของแชร์ลูกโซ่ซ่อนรูปมีลักษณะเหมือนกับระเบิดเวลาที่รอจะระเบิด เพราะไม่สามารถขายของได้จริง ซึ่งควรจะเป็นเรื่องของแหล่งรายได้หลัก แต่กลับไปสร้างแหล่งรายได้จากการรับสมาชิกและเงินลงทุนจากสมาชิกมากกว่าผลประกอบการจริง ซึ่งในอินเดียเองก็ระบุว่า หากการออกมาโวยวาย หรือจับตาเรื่องเหล่านี้ไม่มีมากพอ เจ้าของกิจการก็จะสามารถใช้เครือข่ายกับผู้มีอำนาจรัฐและสื่อในการปิดข่าว หรือปัดข่าวเหล่านี้ให้หายไปได้
และสุดท้ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่ซ่อนรูปนี่ก็จะพังลงในที่สุด เพราะมันเป็นธุรกิจที่วางอยู่บนภาพลวงตาของความสำเร็จที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่าที่จะเป็นได้จริงสำหรับทุกคน เมื่อคนกลุ่มใหม่ไม่ถูกดึงดูดเข้ามาในโครงสร้างของธุรกิจ
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับก็มักจะทำงานในลักษณะตั้งรับ
สำหรับในบ้านเราผมจะขอเว้นไม่กล่าวถึงตัวกิจการที่เป็นข่าว เพราะต้องให้เวลาในการสืบสวนและความเป็นธรรมของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องมานั่งคิดว่าสังคมเรายังขาดอะไรบ้าง โดยเฉพาะโอกาสในการลืมตาอ้าปาก
ระบบแชร์ลูกโซ่ซ่อนรูปนี้ไม่ได้เกิดกับคนจนที่สุดของประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้มีหนี้มาก ไม่มีเงินลงทุน
แต่คนที่ถูกดึงดูดเข้าระบบแชร์ลูกโซ่ซ่อนรูปจะเป็นคนทีมีลักษณะเป็นรายย่อย มีทุนเล็กน้อยแต่โอกาสต่อยอดต่างๆ ไม่มี ดังนั้น การได้รับฟังเรื่องโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างและความเสี่ยงต่ำ (ตามที่เขาโม้) และมีการช่วยเหลือเติมความรู้อบรมการขายก็ดูจะสอดคล้องกับที่รัฐเองก็เชื่อในเรื่องของการที่จะต้องพัฒนาฝีมือความรู้ของแรงงาน ต่อยอดธุรกิจให้พ้นไปจากประเทศกับดักรายได้ทางการ
การสำรวจโอกาสที่หดหายทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะหลังวิกฤตโรคระบาดโควิดมาจนถึงวันนี้ก็น่าจะเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะพบความเปราะบางมากมาย และความเสี่ยงที่ระบบขายตรงซ่อนรูปที่ผู้คนสงสัยและสูญเสียไปมากแล้ว ว่าทำไมเรื่องเหล่านี้จึงกลับมาอีก
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์