ชะตากรรม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ(4)

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

“ทั้งนี้ ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

ผมคัดลอกข้อความ 2 วรรคท้ายของมาตรา 106 ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถเข็นให้ผ่านที่ประชุมรัฐสภาออกมาใช้บังคับได้สำเร็จ ขึ้นมาฉายซ้ำ

เพื่อย้ำว่า ข้อความที่ว่า “และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ” นี่แหละ เป็นเหตุหนึ่ง ทำให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แท้งก่อนเกิด เพราะสภาถูกยุบเสียก่อน

การดำเนินการตามข้อความวรรคท้ายมาตรา 106 นั่นเท่ากับปรับโครงสร้างที่เป็นอยู่ปัจจุบันกลับไปเป็นอย่างเดิมเมื่อครั้งอดีต

ADVERTISMENT

เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการแบบ Single Command รวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชา สั่งการที่จุดเดียว

แนวคิดดังกล่าวเป็นที่มาของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2559 11/2559 และ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง

ADVERTISMENT

ขืนปล่อยให้ออกมาบังคับใช้ บทบาท อำนาจของผู้บริหารสูงสุดฝ่ายประจำอีกสามแท่ง คือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา ระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง ต้องกลับมาอยู่ใต้อำนาจการบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ปรับโครงสร้างตามกฎหมายใหม่ ย่อมส่งผลต่อไปถึงการบังคับบัญชาในส่วนภูมิภาค ทั้งศึกษาธิการจังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มัธยมศึกษา ต่อไป

สถานะและบทบาทของเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมามีอิสระต่อกัน ต่อไปอาจต้องฟังศึกษาธิการจังหวัดมากขึ้น

จากเหตุนี้เอง ผมถึงชวนให้ช่วยกันหาความจริงว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ล่าสุด ที่สภาการศึกษาเปิดรับฟังความเห็นอีกรอบและยกร่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่สมัย คุณเศรษฐา ทวีสิน ยังคงข้อความ 2 วรรคท้ายของมาตรา 106 ไว้เช่นเดิมหรือไม่ หรือปรับเป็นอย่างอื่น

ครับ พบความจริงแล้ว ร่างกฎหมายใหม่สมัยรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ยังคงข้อความ 2 วรรคท้าย มาตรา 106 ไว้เหมือนเดิม แต่ย้ายไปอยู่ในวรรคท้ายมาตรา 44 ความโดยละเอียดเป็นดังนี้

มาตรา 44 การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะต้องดำเนินการให้การปฏิบัติราชการของส่วนราชการและหน่วยงานภายในทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นไปอย่างมีเอกภาพและสามารถบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุความมุ่งหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

นั่นเป็นสัญญาณว่า ผู้บริหารระดับสูงทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำทั้ง 4 แท่ง เห็นชอบร่วมกันแล้วว่าต้องปรับโครงสร้างอำนาจกันใหม่

จากการที่ต่างแท่งต่างมีอิสระ มีฐานะระดับปลัดกระทรวง ซี 11 เท่าๆ กัน เขียนใหม่ให้ชัด “การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

เรื่องนี้จึงต้องติดตามกันต่อ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดนี้ ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาชุดปัจจุบัน จะเข็นออกมาใช้บังคับได้สำเร็จหรือไม่

และต่อไป เมื่อถึงขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายระดับรอง คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 จะปรากฏโฉมออกมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง กรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คู่ขนานกับร่างของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว

สรุปแล้วถึงวันนี้ มีร่าง พ.ร.บ.การศึกษา 4 ฉบับหลัก ฉบับแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับสองของกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ฉบับสามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พศ. … ของรัฐสภาชุดที่แล้วที่ค้างคาอยู่ และฉบับของพรรคประชาชน ฝ่ายค้าน หรือพรรคก้าวไกลเดิมที่เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้

เทียบเคียงเนื้อหาสาระทั้งหมด ฉบับไหนดี เด่นกว่า สมสมัยกว่า ต้องดูกันเป็นรายหมวด รายมาตราเลยทีเดียว

ถึงขั้นตอนการพิจารณาในรัฐสภา แนวทางกระจายอำนาจ กับรวมศูนย์อำนาจ จะถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้งใหญ่

หลักการสำคัญ ที่ดีๆ ของฉบับใด หายไปบ้างทั้งที่ควรคงไว้ ต้องเรียกร้องกดดันต่อไป

โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ บทบาทของภาคประชาชนต่อการขับเคลื่อนการศึกษา การผลิตและพัฒนาครู เป็นต้น

ตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาล ในหน้าหลักการ คัดลอกข้อความรัฐธรรมนูญ 2560 มาลงทุกตัวอักษร “ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง”

แต่ปรากฏว่าในตัวบททั้งหมด 128 มาตรา ไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในมาตราใดทั้งสิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาครู กระบวนการปฏิรูปครู จะเป็นจริงได้อย่างไร เมื่อไหร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image