กองทุนครูของแผ่นดิน

กองทุนครูของแผ่นดิน

ครับ สัปดาห์นี้ต้องว่าด้วย ของดีที่หายไปจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรัฐบาลแพทองธาร โดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นฝ่ายเริ่มต้น

ร่างกฎหมายเขียนหลักการอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 261 ว่า ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

แต่เนื้อในรายมาตรากลับเขียนแค่ว่า ให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้มีการพัฒนาครูโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม การร่วมมือระหว่างครูเพื่อพัฒนานวัตกรรมการสอน และร่วมมือกันแก้ปัญหาผู้เรียนเป็นรายบุคคล (มาตรา 86 )

ADVERTISMENT

สาระที่เขียนไว้แค่นั้น ไม่มีรายละเอียดยืนยันถึงการมีกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้งระบบ อยู่ในมาตราใดทั้งสิ้น

จึงแปลความได้ว่า จะเน้นเฉพาะ “การพัฒนา” โดยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาครูโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน

ADVERTISMENT

ละเลยอีก 2 ขั้นตอนสำคัญของการปฏิรูปครู คือ การผลิต กับการใช้ ซึ่งหมายรวมถึงการคัดกรองครูใหม่เข้าสู่ระบบ ต้องทำต่อเนื่องกันไป ทั้งการผลิต (ครูใหม่) คัดกรองและพัฒนา (ครูเก่า)

เมื่อไม่เขียนให้ชัด ตัดการผลิตและคัดกรองออกไป จึงเกิดคำถามว่า แล้วภารกิจสองเรื่องนี้จะเป็นความรับผิดชอบของใคร ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อ.ว)

ไหนย้ำแล้วย้ำอีก ว่าต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน แต่เขียนกฎหมายออกมาแบบแยกส่วน ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ไม่ใช่กฎหมายเฉพาะของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเดียวเท่านั้น

ฉะนั้นผมเห็นว่า กฎหมายแม่ควรกล่าวถึงทั้งระบบ การผลิต คัดกรอง และพัฒนา โดยมีกลไกบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวง อ.ว.ให้ชัดเจน

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดาย ไม่ปรากฏในร่างกฎหมายแม่บทของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ให้ไปเขียนในกฎหมายลูก ชั้นต่อไป

นั่นคือ จัดตั้งกองทุนส่งเสริมครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุน งานริเริ่มสร้างสรรค์ ผลงานดีเด่นและเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติ

ปิดท้ายว่า การจัดตั้งกองทุนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

เทียบเคียงกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…… ของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ……ของรัฐสภา บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในกฎหมายแม่ ส่วนที่ 6 กองทุนครูของแผ่นดิน

มาตรา 87/11 ให้มีกองทุนครูของแผ่นดินในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1.สนับสนุนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

2.เป็นทุนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาพัฒนาองค์ความรู้วิจัย หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษามีเจตคติ คุณธรรม จริยธรรมและสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่

3.ยกย่องเชิดชูเกียรติครูที่มีความสามารถ เป็นครูที่สอนดี มีคุณธรรม จริยธรรมและสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ มีความมุ่งมั่น อุทิศตน เสียสละ เป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้เรียนและสังคม

อีกเรื่องหนึ่งที่หายไปเช่นกัน คือ กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ร่างกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ เขียนแค่ว่า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษา รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการรับส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม การสื่อสารดิจิทัล อินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในรูปแบบอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษา

ให้มีแต่ “ระบบเทคโนโลยี” โดยไม่กล่าวถึงการจัดตั้งหรือให้มีกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แม้แต่น้อย

นั่นเท่ากับปิดช่องทางการได้รับเงินสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่เคยได้รับตามภาคบังคับของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ในแต่ละปี

ขณะที่ร่างกฎหมายของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ……ของรัฐสภา เขียนเรื่องกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้ชัดเจน

โดยให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

นั่นย่อมสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงต้องเป็นประธานกรรมการด้วยตัวเอง

ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ได้แก่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

สรุป ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา นำเรื่องการจัดตั้งสองกองทุนดังกล่าวมาพิจารณากลั่นกรองให้รอบคอบ อีกครั้งหนึ่ง ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image