ผู้เขียน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ |
---|
ดุลยภาพดุลพินิจ : ดินถล่ม น้ำท่วมแล้วเราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
น้ำท่วมภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะเชียงรายปีนี้หนักหนาสาหัสมาก ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างบอกว่าเกิดมาจนปูนนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน ที่จริงแล้วดินถล่มน้ำท่วมเป็นเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ในที่สูงจะเกิดปรากฏการณ์ที่ดินถล่ม เนื่องจากการดัดแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณเทือกเขาสูงจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตร หรือตัดไหล่เขาเพื่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สร้างรีสอร์ตเพื่อท่องเที่ยว สร้างพระใหญ่ เจดีย์ การตัดไหล่เขาเพื่อสร้างถนนโดยไม่มีการป้องกันดินไหล การสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายน้ำล้น การเปิดหน้าดินที่เป็นหินแกรนิตจะทำให้หินแปรสภาพเป็นดินที่ยุ่ยง่าย ทำให้ดินเป็นแผลและเกิดรอยแยกที่น้ำซึมเข้าไปกัดเซาะจนในที่สุดเมื่อฝนมามากๆ ก็จะนำพาเอาดินสไลด์ลงมา พาดินโคลนเป็นน้ำโคลนหลากมาท่วมหมู่บ้านเชิงเขาอย่างที่เราเห็นในสื่อต่างๆ แต่น้ำหลากในที่ดอนอยู่ไม่นานก็จะจากไป เพียงแต่ว่าปีนี้มีการหลากซ้ำซากในที่เดียวกันซึ่งไม่ค่อยเกิดมาก่อน โดยน้ำหลากจะเข้าหมู่บ้านที่อยู่ขวางทางน้ำ หรือริมน้ำเอ่อล้นตลิ่งก็จะเกิดน้ำท่วม ส่วนที่ราบลุ่มก็จะเกิดน้ำขังในกรณีที่น้ำท่วมนานๆ ทั้งหมดนี้เป็นการผสมผสานระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติกับน้ำมือมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับทางธรรมชาติที่มีอยู่
สภาพภูมิประเทศของ อ.แม่สาย เป็นที่ราบขอบแอ่งแม่จัน ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ของประเทศไทยมีแม่น้ำสายไหลผ่านกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและพม่า ส่วนพื้นที่ต้นน้ำจะอยู่ในเขตภูเขาสูงในประเทศพม่า และด้วยพื้นที่ฝั่งพม่าลาดชันสูงกว่าแม่สาย เมื่อเกิดฝนตกหนักมาก (มากกว่า 300 มม.ใน 24 ชม.) ในพื้นที่ภูเขาเขตประเทศพม่าจะทำให้เกิดดินถล่มที่อยู่ในเขตพม่า ห่างจากแม่สายประมาณ 10 กม. ดินโคลนจึงถูกพัดพามาทับถมในพื้นที่ราบของ อ.แม่สาย และด้วยธรรมชาติ อ.แม่สาย เป็นเขตสิ่งปลูกสร้างแออัด เมื่อดินโคลนไหลผ่านอาคาร บ้านเรือน กระแสน้ำจะหมุนวนภายในบ้านทำให้เกิดการตกตะกอนภายในบ้านมากที่สุด
ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่จะเกิดในภาคเหนือเท่านั้น แม้แต่ที่เขตอันดามัน เช่น ภูเก็ต ก็เป็นเมืองที่น่าเป็นห่วง เพราะไปทำโรงแรมที่พักและรีสอร์ตกันในที่สูง หากไม่มีการทำทางระบายน้ำและการก่อสร้างที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วก็อาจจะเกิดปัญหาดังที่เราเห็นในกรณีของพระใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเขา หรือสร้างทางรถไฟขวางทางน้ำที่พะเยา ดังนั้น ต่อไปหากจะมีการทำก่อสร้างอะไรก็ขอให้ทำความเข้าใจกับธรณีสัณฐานของพื้นที่ รวมทั้งใช้หลักวิชาการในการก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดเหตุน่าสลดใจขึ้น
คำถามใหญ่ก็คือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นปีนี้ จะเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง หรือจะกลายเป็น new normal คำตอบก็เป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศที่ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากบ่อยขึ้น รุนแรงมากขึ้น พื้นที่ที่อยู่ต่ำมากๆ อาจจะไม่คุ้มที่จะอยู่ต่อแล้ว เพราะจะเกิดขึ้นซ้ำซาก ยิ่งน้ำโคลนที่ถูกซัดมาจากต้นน้ำที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็ยิ่งเป็นเรื่องที่เราควบคุมจัดการไม่ได้ ยิ่งทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้นอีก
ผู้เขียนไม่ใช่นักผังเมืองและก็ไม่ใช่นักธรณีวิทยา แต่เคยเป็นผู้ร่วมวิจัยกับนักธรณีวิทยาคือ อดีต ผอ.สมใจ เย็นสบาย ของกรมทรัพยากรธรณี ทำงานวิจัยร่วมกันเรื่องการป้องกันภัยพิบัติจากน้ำหลากและดินถล่ม ซึ่งเราพยายามที่จะเข้าไปสนับสนุนชาวบ้านสำรวจพื้นที่ที่จะมีน้ำหลากและดินถล่ม จัดทำโซนอันตราย และให้ความรู้ชาวบ้านในการเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่มบนพื้นที่สูง รวมทั้งออกแบบการเคลื่อนย้ายในเวลาฉุกเฉิน
น่าเสียดายที่โครงการนี้เมื่อสิ้นสุดงบประมาณลงก็ไม่ได้มีผู้ทำต่อ อย่างไรก็ดี กรมทรัพยากรธรณีมี
แผนที่ระบุระดับความเสี่ยงของตำบลต่างๆ ว่าตำบลใดมีความเสี่ยงเรื่อง 1) ดินถล่ม 2) ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก 3) ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งตำบลใน อ.แม่สาย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ 3) น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งต่อไปในอนาคตเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะให้ความสนใจมากขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความพยายามที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ด้านสิ่งแวดล้อม เมืองได้ขยายตัวเองไปอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ทางธรณีวิทยา อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากังวลก็คือการขยายตัวของไม้ผลเข้าไปในเขตป่า เช่น การขยายตัวของทุเรียนไปในที่สูงเช่นที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีปัญหาตามมาอีกมาก เพราะระบบรากของไม้ผลไม่ได้แน่นหนาเหมือนระบบรากของไม้ป่านานาชนิดที่ขึ้นคละกัน สอดประสานกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอีกเรื่องก็คือปริมาณน้ำที่ซึมซับไว้โดยป่าจากยอดเขาก็จะลดลง ยิ่งรุกป่ามากขึ้น น้ำซับที่จะซึมลงมาในหน้าแล้งก็จะลดลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ พื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นสวนทุเรียนที่ต้องจัดการวัชพืชให้เรียบ ทำให้ชั้นดินในที่ลาดชันก็อาจจะถูกกัดเซาะโดยน้ำและเกิดดินถล่มได้ง่ายขึ้น สภาพของน้ำ ชั้นดินและชั้นหินเป็นทุนธรรมชาติที่หากเราสามารถเข้าใจก็จะทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
การลดผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบและรอบคอบก่อนที่จะมีการดำเนินงานใดๆ ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ความรู้ชุมชนให้มีความเข้าใจในกระบวนการและปัจจัยการเกิดดินถล่ม นอกจากนั้น ยังควรให้ความรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนเกี่ยวกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและวิธีปลูกสร้าง เช่น ต้องใช้เสากลมสร้างบ้าน และใช้ท่อเหลี่ยมระบายน้ำ ฯลฯ
อปท.จะต้องมีการเตรียมการมากขึ้นรวมทั้งออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เหมาะสม ไม่ให้ปลูกบ้านโดยตัดไหล่เขา ไม่ให้ปลูกชิดหรือรุกล้ำลำน้ำและต้องมีการกำกับอย่างเข้มงวด ในพื้นที่น้ำหลากและดินถล่มไม่ควรมีสิ่งก่อสร้าง เช่น ถนนหรือฝายไปขวางทางน้ำ และให้สร้างถนนบนสันเขา ในด้านการเกษตรควรกำหนดให้พื้นที่เสี่ยงภัยเป็นพื้นที่ที่จะปลูกพืชไร่ให้มีต้นไม้ยึดชั้นดิน หากปลูกไม้ผลและยางพาราก็ควรใช้เมล็ดและเสียบยอด มีการอนุรักษ์ต้นไม้ริมน้ำหรือรักษาพื้นที่ริมน้ำให้เป็นป่าธรรมชาติ
ในกรณีที่เกิดขึ้นที่ภาคเหนือตอนบน ประชาชนบางส่วนอาจจะไม่สามารถกลับไปอยู่ที่เดิมได้ รัฐจะต้องหาพื้นที่ให้ใหม่และควรกำหนดสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาเพิ่มเติมว่าในพื้นที่ที่ย้ายประชาชนออกแล้ว ถ้ามีผู้ย้ายกลับเข้าไปอยู่อีกก็จะไม่ได้รับสิทธิเยียวยาอีกต่อไป มิฉะนั้นก็จะเป็นการเยียวยากันแบบไม่สิ้นสุด
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าไม่มีอะไรต้านทานธรรมชาติได้ อยากสร้างก็สร้างได้ แต่ในวันหนึ่งธรรมชาติก็จะพัดพาไป เราจะอยู่กันแบบไม่เรียนรู้จากปัญหาอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร เราต้องเริ่มเรียนรู้ บรรเทา และแก้ปัญหา เพราะในวันข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะพาปัญหามาให้เราแก้อีกมากมาย!!!