ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
---|
มอบอำนาจการศึกษา
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 2 ตุลาคม 2567
สาระหลัก กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนในเรื่อง การบริหารงานบุคคล วิชาการ การบริหารทั่วไป งบประมาณ ทรัพย์สิน
ระเบียบที่ว่านี้ สร้างความงุนงง แก่ผู้คนในแวดวงบริหารการศึกษาจำนวนมาก ถึงวันนี้นังวิพากษ์วิจารณ์กันไม่หยุด ว่าในทางปฏิบัติจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
เรื่องที่เคยมอบอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษา ต่อไปต้องผ่านศึกษาธิการจังหวัดก่อน ใช่หรือไม่
เกิดความสงสัย ทั้งประเด็นรายละเอียดวิธีการปฏิบัติในการมอบอำนาจ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
ประเด็นแรกรายละเอียดวิธีการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะทำอย่างไรในเมื่อกฎกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 สมัยนายวิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ไม่มีการประกาศยกเลิก
แม้การดำเนินการตามกฎกระทรวงดังกล่าว ไม่มีการปฏิบัติที่คืบหน้า เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมตลอดมาก็ตาม
ไม่ยอมกระจายจริง ว่างั้นเถอะ
ขนาดกฎกระทรวงซึ่งศักดิ์ทางกฎหมาย สูงกว่าระเบียบ ข้อบังคับที่ประกาศออกมาภายหลัง ยังถูกดื้อเงียบ ระเบียบล่าสุดจะได้รับการสนองตอบเพียงไร คงต้องรอติดตามกันต่อไป
ประเด็นต่อมา โครงสร้างหน่วยงาน แม้ในระเบียบล่าสุดไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้เลยว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้าง ยุบเลิก ขยาย หน่วยงานใดบ้าง
แต่ปรากฏว่า นักการศึกษามือซนเขียนแผนผังโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่แพร่กระจายไปทั่ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะปรับเปลี่ยนเป็น กรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเปลี่ยนกลับไปเป็นกรมอาชีวศึกษา
ผมไม่กล้าตีพิมพ์เพราะเกรงจะโดนข้อหานำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ กลายเป็นจำเลยร่วมโดยไม่จำเป็น
ได้แต่สงสัยว่า การปล่อยผังโครงสร้างใหม่ออกมาเป็นการโยนหินถามทาง หยั่งกระแส เช็กปฏิกิริยาหรือไม่ ต้องรอติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไปอีกเช่นกัน
เรื่องนี้ ยังไม่มีคำชี้แจง ยืนยัน หักล้างจากผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องใดๆ ออกมาอย่างหนักแน่นชัดเจน
นอกจากว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ย้ำว่า การมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน มีเจตนาสำหรับหน่วยงานที่ไม่มีหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน กำกับดูแล และบูรณาการการศึกษาของ ศธ.ในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ส่วนการบริหารงานบุคคล ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตามเดิม
กระนั้นก็ตาม ความหวั่นไหว ไม่มั่นใจในสถานภาพของหน่วยงานและตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จะถูกยุบเลิกในวาระโอกาสต่อไปหรือไม่
ความหวั่นไหว วิตกกังวลดังกล่าวคงจะดำเนินต่อไป จนกว่ากฎหมายแม่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลูก ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 จะปรากฏโฉมออกมา
เมื่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เขียนไว้ชัด “ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
หากกฎหมายแม่และกฎหมายลูกออกมาใช้ได้สำเร็จ การออกแบบโครงสร้างอำนาจใหม่ตามบทบัญญัติที่เขียนไว้ จะต้องเกิดขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม วันนี้ แม้กฎหมายแม่และกฎหมายลูกฉบับใหม่ยังไม่ได้ออกมา ประกาศระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ฉบับล่าสุดก็มีผลในทางปฏิบัติแล้ว เพราะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 รองรับ
นั่นเท่ากับ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าปฏิบัติการ กระชับอำนาจการบริหารของแท่งต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว
เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาเช่นนี้เสมือนมัดมือชก ย่อมกระทบถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและร่าง พ.ร.บ.แก้ไขระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
จะเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคต่อการทำคลอดกฎหมายหลักสำคัญทั้งสองฉบับ ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา อย่างแน่นอน
ถามว่า ในทางหลักการ การมอบอำนาจให้ไปรวมศูนย์อยู่จุดเดียวที่ศึกษาธิการจังหวัด สมควรทำหรือไม่ เพื่อความเป็นเอกภาพและคุณภาพการศึกษา ตามหลักกระจายอำนาจและการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งมีนักวิชาการและนักบริหารการศึกษาบางท่าน เคยโยนประเด็นนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว
เป็นใครและเสนอโมเดลทางออก การจัดการศึกษาระดับจังหวัดอย่างไร สัปดาห์หน้าค่อยว่ากัน