ปฏิรูปการศึกษาภูมิภาค…การศึกษาจังหวัด

ปฏิรูปการศึกษา

ว่าเรื่องระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน พ.ศ.2567 กันต่อ

ครับ ภายใต้คำถามที่ว่า องค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการจะมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนทั้งเรื่อง บริหารงานบุคคล วิชาการ บริหารทั่วไป งบประมาณและทรัพย์สิน จริงจังแค่ไหน

เพราะอดีตเคยมีบทเรียนมาแล้ว กฎกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 ซึ่งยังมีผลใช้อยู่ เป็นหมันมาตลอด

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเชิงหลักการที่ว่า การมอบอำนาจและกระจายอำนาจไปยังศึกษาธิการจังหวัด เป็นผลดีต่อการบริหารการศึกษาและคุณภาพการศึกษา มากกว่าสภาพที่ดำรงอยู่ขณะนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่

ADVERTISMENT

การแสวงหาคำตอบต่อประเด็นนี้ จากข้อเสนอของ รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ปรับโครงสร้างการบริหารการศึกษาระดับจังหวัดใหม่ทั้งระบบ เป็นมุมมองที่น่าสนใจ ถกเถียง อภิปรายอย่างยิ่ง

การปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่แค่การมอบอำนาจ แต่ต้องไปไกลถึงระดับกระจายอำนาจอย่างจริงจัง เลยทีเดียว

ADVERTISMENT

ดร.เอกชัยเสนอไว้ในบทความเรื่อง “คุณภาพการศึกษาไทย กับความหวังที่ยังไม่สิ้นหวัง”

“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องกระจายอำนาจการบริหารจัดการการศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ แต่ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ฉบับปัจจุบัน ประกอบกับคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการก็น่าจะใช้เป็นหลักการในการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง

ซึ่งอาจจะเห็นภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับและปริมาณสถานศึกษาในสังกัดของรัฐทั่วประเทศถึง 30,000 แห่งเศษ ขณะที่อาชีวศึกษาในสังกัดของรัฐทั่วประเทศมีไม่ถึง 500 แห่ง

ขอเสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงในบางประเด็นที่คิดว่าสามารถช่วยให้มีความหวังที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้พอสมควร

1.จังหวัดกำหนดนโยบายและมีอำนาจตัดสินใจการจัดการศึกษาของจังหวัด

กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเทียบเท่า สำนักงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น จะต้องกระจายอำนาจการบริหาร การตัดสินใจดำเนินการที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้จังหวัดที่มีความพร้อมรับผิดชอบดำเนินการเองทั้งหมด

โดยให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัด คัดเลือกโดยมีคณะกรรมการสรรหาที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด

คณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัดมีหน้าที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบาย ทิศทางการจัดการศึกษาทุกระดับของจังหวัด (ยกเว้นระดับอุดมศึกษา) งบประมาณการศึกษา หลักสูตรสถานศึกษา อัตรากำลังคนด้านการศึกษาและความก้าวหน้าวิชาชีพของผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษาทุกประเภทของจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีองค์ประกอบคณะกรรมการที่มาจาก 3 ส่วนอย่างละเท่าๆ กัน คือ 1.ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาหอการค้าจังหวัด และภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัด 2.ผู้บริหารสถานศึกษาของรัฐ 3.ผู้บริหารสถานศึกษาของเอกชน เป็นคณะกรรมการ และมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการศึกษาจังหวัดจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน ภายใต้กลยุทธ์ ทิศทางการจัดการศึกษาของจังหวัด การสนับสนุนการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการใหม่ ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน (ยกเว้นระดับอุดมศึกษา) ขึ้นตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการศึกษาจังหวัด ไม่ขึ้นตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หรือกรมส่งเสริมการเรียนรู้ แบบที่เคยเป็น โดยจะเปลี่ยนใช้ชื่อ เขตพื้นที่การศึกษา 1 เขตพื้นที่การศึกษา 2 เขตพื้นที่การศึกษา 3, 4 ในแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนเขตพื้นที่การศึกษามากน้อยขึ้นกับปริมาณจำนวนสถานศึกษา

การดูแลจัดการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาต้องดูแลทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและการศึกษานอกระบบ

นั่นหมายถึง การเลิกใช้ชื่อเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แต่ให้เขตพื้นที่การศึกษาได้ดูแลการศึกษาของจังหวัดจริงๆ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบ การนิเทศการศึกษา การกำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน อาชีวศึกษาทุกสังกัด รวมทั้งการศึกษานอกระบบทุกประเภท ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ซึ่งมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้บริหาร กำกับ ติดตาม ควบคุม ดูแล และต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัดเป็นระยะๆ ตามกำหนด

สถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัย การศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบทุกประเภท สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัด ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ส่งเสริมสนับสนุน ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา โดยเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด

โครงสร้างการบริหารที่เสนอมานี้เน้นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางอย่างแท้จริง บทบาทกระทรวงศึกษาธิการจะมีหน้าที่กำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศตามแนวทางที่สภาการศึกษากำหนด หรือตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหลักเท่านั้น

ความรับผิดชอบการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาต้องเป็นความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด ไม่ใช่บริหารจากส่วนกลางแบบในอดีตอีกต่อไป

โดยเฉพาะงบประมาณการศึกษาต้องจัดสรรให้จังหวัดตรงถึงสถานศึกษา ไม่ใช่จัดสรรให้กระทรวงศึกษาธิการแล้วกรองส่งต่อให้สถานศึกษา ซึ่งอาจจะไม่ทราบความต้องการจำเป็นที่แท้จริงของสถานศึกษาได้ดีเท่าคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด

ข้อเสนอที่ 2 กระจายอำนาจการบริหารทรัพยากรบุคคลทางการศึกษา ต่อตอนหน้า ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image