ภาพเก่าเล่าตำนาน : เสี้ยวหนึ่ง…ในประวัติศาสตร์อเมริกา

ภาพเก่าเล่าตำนาน :เสี้ยวหนึ่ง…ในประวัติศาสตร์อเมริกา

ดินแดนแห่งนี้ประกาศก่อตั้งประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2319 หลังจากชาวอเมริกันที่นำโดย จอร์จ วอชิงตัน เป็นแม่ทัพรบชนะอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคม

ตั้งคณะเขียนกรอบรัฐธรรมนูญของประเทศ ตามอุดมการณ์ที่รักเสรีภาพ เคารพความเท่าเทียม มีข้อความสำคัญ คือ…

“พวกเราประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาก่อตั้งสหภาพที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น สถาปนาความยุติธรรม รับรองความสงบสุขภายในประเทศ จัดให้มีการป้องกันร่วมกัน ส่งเสริมสวัสดิการโดยทั่วไป และรักษาพรแห่งเสรีภาพให้กับตัวเราและลูกหลานของเรา เราขอบัญญัติและสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นสำหรับสหรัฐอเมริกา…”

ADVERTISMENT

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2330 (ตรงกับช่วงต้นรัชสมัยในหลวง ร.3) ให้สัตยาบันในปี 2331 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2332 ถือเป็นกฎบัตรรัฐบาลที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ยังคงอยู่ยาวนานที่สุดในโลก

3 คำแรกในรัฐธรรมนูญอเมริกา คือ “พวกเราประชาชน” (We the People) ยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐดำรงอยู่เพื่อรับใช้พลเมือง อำนาจสูงสุดของประชาชนจะผ่านตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งได้รับการยอมรับในมาตรา 1 ซึ่งก่อตั้งรัฐสภาที่ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งของรัฐสภาในตอนต้นของรัฐธรรมนูญยืนยันสถานะของรัฐสภาในฐานะ “ฝ่ายแรก” ของรัฐบาลกลาง

ADVERTISMENT

รัฐธรรมนูญยังคงมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลากว่าสองศตวรรษ เนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถแยกและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลได้สำเร็จ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการปกครองส่วนเสียงข้างมากและส่วนน้อย เสรีภาพและความเท่าเทียม และของรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐ

รัฐธรรมนูญเป็นคำแถลง “หลักการแห่งชาติ” ที่กระชับมากกว่าแผนปฏิบัติการของรัฐบาลโดยละเอียด ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากโลกในศตวรรษที่ 18 ที่เขียนขึ้น

รัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไขมาแล้ว 27 ครั้ง ล่าสุดในปี พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ

เป็นเรื่องปกติสำหรับการแก้ไข เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สภาพแวดล้อม เพราะมีกลไก มีระบบที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ

ขอชวนท่านผู้อ่านที่เคารพมามองที่ “เสี้ยวเวลาหนึ่ง” ของการเมืองในอเมริกา ที่น่าสนใจ เป็นเรื่องเปิดเผย เพื่อการศึกษาครับ…

พ.ศ.2425 (ตรงกับปีที่ 15 ในรัชสมัยในหลวง ร.5) รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติกีดกันชาวจีน (Chinese Exclusion Act 1882) ลงนามโดยประธานาธิบดีเชสเตอร์ เอ. อาร์เธอร์ นับเป็นกฎหมายสำคัญฉบับแรกที่จำกัดการอพยพเข้าสู่สหรัฐอเมริกา โดยเด็ดขาดเป็นเวลา 10 ปี

ย้อนไปในช่วง พ.ศ.2390 คนงานชาวจีนหลั่งไหลอพยพมายังสหรัฐ เพื่อทำงานในเหมืองทองคำก่อน จากนั้นจึงไปรับจ้างเป็นเกษตรกรและทำงานในโรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

กรรมกรชาวจีนมีบทบาทสำคัญในการ “สร้างทางรถไฟ” ในภาคตะวันตกของอเมริกาที่แสนลำบาก และเมื่อคนงานชาวจีนประสบความสำเร็จในสหรัฐ คนงานชาวจีนจำนวนหนึ่งก็กลายมาเป็น “ผู้ประกอบการ” ชาวจีนเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น กลายเป็นเจ้าของกิจการ

“ชาวอเมริกันเจ้าถิ่น” เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวจีนผสมโรงกับแรงงานเชื้อชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาอเมริกา หากแต่กลุ่มชาวจีนเป็นปึกแผ่น มีศักยภาพมากและโดดเด่นจึงถูก “เพ่งเล็ง”

ในที่สุด จึงมีการออกกฎหมายที่มุ่งจำกัดการย้ายถิ่นฐานของคนงานชาวจีนไปยังสหรัฐ อันก่อเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐและจีน ประเด็นการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์

คนงานชาวจีนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาสหรัฐเพื่อทำงาน “ส่งเงินกลับ” ไปยังประเทศจีนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว แถมยังต้องชำระหนี้ให้กับ “พ่อค้าชาวจีน”ที่จ่ายค่าเดินทางไปยังอเมริกาอีกด้วย แรงกดดันทางการเงิน หนี้สิน ความยากลำบากเหล่านี้ทำให้ชาวจีน “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากต้องทำงานหนัก ไม่มีข้อแม้ใดๆ

แรงงานชาวจีนเป็นกลุ่มคนที่ไม่กล้ามีปากเสียง มีค่าจ้างต่ำเตี้ยที่สุด ไม่เกี่ยงงาน ในขณะที่คนงานที่ “มิใช่ชาวจีน” (จากประเทศยากจนในอเมริกาใต้ จากตะวันออกกลาง จากยุโรป) มักเรียกร้องค่าจ้างที่ “สูงกว่า” มากเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาในอเมริกา

อเมริกามีหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์นะครับ แบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ผิวขาว ผิวดำ ชาวอเมริกัน/ชาวอลาสกาพื้นเมือง เอเชีย ฮาวาย/ชาวเกาะแปซิฟิก กลุ่มผสมสองเชื้อชาติขึ้นไป และ “เชื้อชาติอื่น” เชื้อสายฮิสแปนิก ละติน หรือสเปน

แม้กระทั่งชาว “อาหรับมุสลิม” จากตะวันออกกลางที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา โดยเฉพาะที่รัฐมิชิแกน

ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันได้มาก-น้อยในชุมชน กลายเป็นชาวอเมริกัน บ้างก็แสวงหาอำนาจทางการเมืองที่แข็งแกร่งกว่าในการต่อรองเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น

นักสู้ชาวจีนที่ทำงานหนัก เก่งค้าขาย ไม่แสวงหาอำนาจทางการเมืองใดๆ จึงกลายเป็น “แกะดำ”

คนงานที่ไม่ใช่ชาวจีนจำนวนมากในอเมริกา ไม่ชอบขี้หน้าชาวจีน หาโอกาสกลั่นแกล้ง มีเรื่องกระทบกระทั่งกันเนืองๆ ในลักษณะยกพวกมาวิวาทกัน ไชน่าทาวน์ คือ พื้นที่เพ่งเล็ง

ชาวจีนจำนวนมากจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในละแวกบ้านของตนเองเสมอ ไชน่าทาวน์เป็นสถานที่ที่ชายชาวจีนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อไปเที่ยวโสเภณี สูบฝิ่น หรือเล่นการพนัน

รัฐแคลิฟอร์เนียเกิดแนวคิดออกกฎหมายเพื่อต่อต้านชาวจีน โดยอ้างเหตุผลว่า ..ชาวจีนทำให้มาตรฐานทางวัฒนธรรมและศีลธรรมของสังคมอเมริกันลดต่ำลง

สถานการณ์นี้ “เคร่งเครียด” เฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียนะครับ มิได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพราะมีชุมชนชาวจีนในแคลิฟอร์เนีย (ไชน่าทาวน์) อยู่เป็นหลักแหล่ง เข้มแข็ง

ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2393 จนถึงปี พ.ศ.2413 (ตรงกับช่วงรัชสมัยในหลวง ร.4 ในหลวง ร.5) รัฐบาลแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้ผ่านกฎหมายและมาตรการต่างๆ พุ่งเป้าไปที่ชาวจีน ออกข้อบังคับให้ชาวจีนต้องมีใบอนุญาตพิเศษสำหรับธุรกิจ กำหนดมาตรการป้องกันการเปลี่ยนสัญชาติ และมาตรการอีกหลายอย่าง

หากแต่ในเวลานั้น มีสนธิสัญญาเบอร์ลิงเกม-เซวาร์ด ที่ลงนามกันไว้ในปี ค.ศ.1868 (เป็นสนธิสัญญาสำคัญระหว่างสหรัฐและราชวงศ์ชิงของจีน โดยสหรัฐให้สถานะแก่จีนว่าเป็นประเทศที่ได้รับความอนุเคราะห์สูงสุด “ในด้านการค้า” ลงนามในวอชิงตัน ดี.ซี.) รัฐบาลกลางอเมริกาจึงสามารถปฏิเสธกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียดังกล่าวได้เป็นบางส่วน

พ.ศ.2422 ฝ่ายผู้สนับสนุน “การจำกัด” การเข้าเมืองประสบความสำเร็จในการเสนอและผ่านกฎหมายในรัฐสภาเพื่อจำกัดจำนวนชาวจีนที่เดินทางมาถึงให้เหลือ 15 คนต่อเรือหรือเรือลำหนึ่ง

ประธานาธิบดีเฮย์สจากพรรครีพับลิกันใช้สิทธิ “ยับยั้ง” ร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากละเมิดข้อตกลงสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐ-จีน แต่ก็ถือว่ายังคงเป็น “ชัยชนะ” ที่สำคัญสำหรับการกีดกันชาวจีน ในขณะที่พรรคเดโมแครต ซึ่งนำโดยผู้สนับสนุนจาก ส.ส.ภาคตะวันตกของอเมริกา “สนับสนุน” ให้กีดกันผู้อพยพชาวจีน

ประธานาธิบดีเฮย์สจึงพยายามแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์ลิงเกม-เซวาร์ด ซึ่ง “จีนตกลง” ที่จะจำกัดการอพยพเข้าสู่สหรัฐอเมริกา

ในปี 2423 รัฐบาลเฮย์สได้แต่งตั้ง นายเจมส์ บี. แองเจลล์ นักการทูตสหรัฐ ให้เจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่กับจีน โดยตกลงอนุญาตให้สหรัฐจำกัดการเข้าเมืองของชาวจีนได้ แต่ไม่สามารถห้ามการเข้าเมืองได้อย่างสมบูรณ์

ปี พ.ศ.2425 รัฐสภาได้ผ่าน พ.ร.บ.กีดกันชาวจีน โดยระงับการเข้าเมืองของคนงานชาวจีน (ทั้งที่มีทักษะและไม่มีทักษะ) เป็นระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้พ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดให้ชาวจีนทุกคนที่เดินทางเข้าหรือออกจากประเทศต้องมีใบรับรองที่ระบุสถานะของตนในฐานะคนงาน นักวิชาการ นักการทูตหรือพ่อค้า

ปี พ.ศ.2431 รัฐสภาได้ดำเนินการ “กีดกันมากขึ้น” และผ่านพระราชบัญญัติสก๊อต ซึ่งทำให้การเดินทางกลับเข้าสู่สหรัฐอเมริกาหลังจากเยือนจีนเป็นไปไม่ได้ แม้แต่สำหรับผู้ที่พำนักอย่างถูกกฎหมายมาเป็นเวลานาน รัฐบาลจีนถือว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการดูหมิ่นโดยตรง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ข้อห้ามดังกล่าวได้ขยายออกไปครอบคลุมฮาวายและฟิลิปปินส์

พ.ศ.2448 กลุ่มพ่อค้าชาวจีนออกมาตรการคว่ำบาตรต่อต้านอเมริกา หากแต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ยอมรับว่าการคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของอเมริกา

เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจีน “ยุติ” การกระทำดังกล่าวของพ่อค้า หลังจากผ่านไป 5 เดือน การคว่ำบาตรก็ยุติลงอย่างเงียบๆ

พ.ศ.2486 พ.ร.บ.กีดกันชาวจีน ไม่ได้ถูกยกเลิก หากแต่วอชิงตันก็พยายามรักษาขวัญกำลังใจของจีน เพราะเป็นในช่วงสงครามระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐเป็นพันธมิตรกับจีน

สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจีนเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร แนบแน่นกับอเมริกา รัฐสภาสหรัฐได้ “ยกเลิก” กฎหมายกีดกันชาวจีนทั้งหมด หากแต่มีโควต้า โดยจำกัดจำนวนผู้อพยพชาวจีนไว้ที่ 105 คนต่อปี ชาวจีนที่เกิดในต่างประเทศยังได้รับสิทธิในการขอสัญชาติอเมริกัน

ต่อมา…รัฐสภายังไปยกเลิกกฎหมายห้ามชาวฟิลิปปินส์ อินเดียและชนชาติอื่นๆ เข้าอเมริกา

น่าสนใจนะครับ…ว่าอเมริกากับจีน เค้ามีหวาน-มีชื่น มีขื่น-มีขมกันมานานแสนนาน…

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image