พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : 2 แนว บริหาร ต่อ 1 บริวาร 1 เจ้านาย ปมขัด ปมร่วม

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : 2 แนว บริหาร ต่อ 1 บริวาร 1 เจ้านาย ปมขัด ปมร่วม

ยุทธนิยาย “ไซ่ฮั่น” ฉบับวังหลังวาดพรรณนาการสนองคุณขุนนาง ข้าราชการ ที่มีส่วนช่วยให้ฮั่นอ๋องได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าฮั่นเต้อย่างคึกคัก
ทุกอย่างดำเนินไปตามคำ
“แต่บรรดาผู้ที่กระทำความชอบไว้ ถ้าเรารู้แล้วก็จะปูนบำเหน็จรางวัลตามสมควรทุกคน”
นั่นก็คือ
ให้ก่อกุฏิใส่ศพคนตัดฟืนแลสินกีตามข้อเสนอของหานซิ่น แล้วเขียนหนังสือจารึกไว้
ขณะเดียวกัน ตั้งสินกีเป็นเกี้ยนจงเหาที่ขุนนาง
นั่นก็คือ ตั้งหลานหันอ๋องซึ่งถูกฌ้อปาอ๋องสังหารขึ้นเป็นหันอ๋องตามคำของจางเหลียง
เท่านั้นยังไม่พอ

หากแต่ยังได้ก่อตึกแต่งการศพให้กับมารดาอ๋องหลินจัดการฝังเสียตามธรรมเนียม ประทานธูปเทียนแลเครื่องเซ่น
ให้คนไปรักษาศพอยู่มิได้ขาด
คนทั้งปวงเห็นพระเจ้าฮั่นเต้กระทำเช่นนั้น ไม่ว่าต่อคนตัดฟืน ไม่ว่าต่อสินกี ไม่ว่าต่อหลานหันอ๋อง ไม่ว่าต่อมารดาของอ๋องหลิน
ก็ชวนกันสรรเสริญ
พระเจ้าฮั่นเต้จึงตั้งงอแปะ ซึ่งเป็นทหารเอกเป็นเฮงซันฮอง เจ้าเมืองเฮงซัน หยินโป้ แพอวดกลับไปเป็นเจ้าเมืองซุยล้ำแลเมืองไต้เหลียง
ตั้งเจ๋งเต๋เป็นเหยียนอ๋อง เจ้าเมืองเหยียน ตั้งเล่าเก๋ากับข้าราชการที่เป็นแซ่เล่าให้เป็นที่เชื้อพระวงศ์ บรรดาข้าราชการก็ตั้งเป็นขุนนางมียศศักดิ์ตามสมควร
ผู้ที่เพิ่งเข้ามาสามิภักดิ์และยังมิได้กระทำความชอบ ก็ยังไม่ตั้ง

การตัดสินใจส่วนแรกได้รับคำสรรเสริญอย่างแน่นอน ขณะที่การตัดสินใจไม่กระทำในส่วนหลังสุดก็ก่อให้เกิด “ปฏิกิริยา” อย่างฉับพลัน
“ปฏิกิริยา” นั้น “ปรากฏ” ขึ้นอย่างไร
คนเหล่านั้นจึงพูดกระซิบกันนินทาพระเจ้าฮั่นเต้ต่างๆ พระเจ้าฮั่นเต้นั่งอยู่บนโต๊ะสูง แลไม่เห็น จึงค่อยถามจางเหลียงว่า
“คนเหล่านี้เขาประชุมกันว่ากล่าวประการใด”
จางเหลียงจึงแลไปดูแล้วทูลพระเจ้าฮั่นเต้ว่า “คนทั้งปวงนั้นเห็นว่าไต้อ๋องตั้งแต่งขึ้นและคนที่มีความชอบแต่ก่อนกับที่เป็นเชื้อสายของไต้อ๋อง
มิได้ตั้งแต่งคนเหล่านั้นให้เป็นขุนนางจึงชวนกันนินทาจะเอาใจออกห่างเสีย”
เป็นการทูลอย่างตรงไปตรงมา เป็นการทูลตามความเป็นจริง เป็นการเสนอปัญหา ณ เบื้องหน้าให้ได้รับรู้อย่างจะๆ ไม่มีการปรุงแต่ง
พระเจ้าฮั่นเต้จึงว่า “จะทำประการใดจึงจะหายนินทาเราได้”

จางเหลียงจึงทูลว่า “ไต้อ๋องชังผู้ใดอยู่ แลที่คนทั้งปวงรู้อยู่ด้วย ก็เอาคนที่ไต้อ๋องชังนั้นมาตั้งขึ้นเป็นขุนนางเถิด เห็นคนเหล่านี้จะไม่ชวนกันนินทาได้”
พระเจ้าฮั่นเต้เห็นชอบด้วย
จึงเอายงคีมาตั้งเป็นจันบุนเทาฝ่ายทหาร
ครั้นคนทั้งปวงเห็นพระเจ้าฮั่นเต้ตั้งยงกีเป็นขุนนางก็เข้าใจว่า ถ้าเราทำราชการนานไปก็เห็นพระเจ้าฮั่นเต้จะชุบเลี้ยงเราเหมือนกัน
ต่างคนก็มิได้คิดระส่ำระสาย
หากเป็นปกติดังเก่า ผลอันตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ เสียงซุบซิบนินทาอันอื้ออึงขึ้นก็สงบลง
นี่คือการสยบปัญหาเฉพาะหน้า
เมื่อศึกษารายละเอียดจากที่ วัชระ ชีวะโกเศรษฐ เรียบเรียงและนำเสนอก็ละม้ายเหมือนกัน
เพียงแต่บางสีสันอาจแผกต่างออกไปบ้าง

ADVERTISMENT

วันหนึ่ง ขณะที่เล่าปังประทับอยู่ที่วังใต้ บังเอิญทอดพระเนตรเห็นพวกขุนพลจับกลุ่มกันกระซิบกระซาบด้วยเรื่องอันใดก็มิแจ้ง
จึงถามจางเหลียงว่า “พวกคนเหล่านี้พูดด้วยเรื่องอันใด”
จางเหลียงแสร้งทำทีว่างุนงงแล้วกล่าวว่า “ฝ่าบาทยังมิทราบอีกหรือ พวกเขากำลังคิดกบฏต่อพระองค์อยู่”
เล่าปังได้ฟังดังนั้นถึงกับตกพระทัย
“เวลานี้บ้านเมืองเพิ่งจะสงบ พวกมันคิดกบฏด้วยเรื่องอันใดกัน”
คำถามนี้สำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงสำคัญเมื่อหลุดมาจากปากของเล่าปัง ซึ่ง ณ วันนี้ คือ พระเจ้าฮั่นเต้
เป็นพระเจ้าฮั่นเต้ อันปราบดาภิเษกมาจาก “ฮั่นอ๋อง”
ความหมายที่สำคัญก็คือ สถานภาพของเล่าปังได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว เป็นการแปรเปลี่ยนที่จางเหลียงจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างสูง
แล้วจางเหลียงบริหารจัดการกับคำถามที่ได้รับอย่างไร

จากการแปลและเรียบเรียงผ่านสำนวน วัชระ ชีวะโกเศรษฐ จางเหลียงทูลตอบว่า
“ฝ่าบาทถือกำเนิดจากสามัญชน คนเหล่านี้ได้ติดตามฝ่าบาท รบทัพจับศึกชิงแผ่นดินร่วมกับพระองค์
จึงต่างหวังได้เลื่อนยศศักดิ์ พระราชทานที่ดิน
บัดนี้ พระองค์ได้เป็นถึงจักรพรรดิ คนที่ได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลล้วนเป็นเพื่อนเก่าของพระองค์
เวลานี้เอาแผ่นดินทั้งหมดมาแจกก็แจกกันไม่ไหว
พวกเขาเกรงว่าจะไม่ได้รับแจก ทั้งเกรงว่าจะมีความผิดถูกลงพระอาญาถึงขั้นประหาร
“ดังนั้น จึงจับกลุ่มกันคิดกบฏ”

ADVERTISMENT

เป็นการกราบทูลอย่างตรงไปตรงมา เป็นการกราบทูลตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความจริงด้านพระเจ้าฮั่นเต้ ไม่ว่าจะเป็นความจริงด้านขุนพล
ได้ยินดังนั้นเล่าปังเกิดความกังวลถามว่า “จะทำประการใดดี”
จางเหลียงจึงย้อนถามว่า “ปกติ พระองค์เกลียดชังใครที่สุด แล้วผู้คนทั่วไปก็รู้ว่าคนที่พระองค์เกลียดชังนั้นเป็นใคร”
คำถามนี้กระแทกเข้าไปในใจของพระเจ้าฮั่นเต้
คำตอบจากพระเจ้าฮั่นเต้ก็คือ “ที่มีเรื่องบาดหมางใจกันก็เมืองฉี เคยกบฏต่อเรา เคยคิดสังหารเราด้วย”
ความน่าสนใจอยู่ที่ข้อเสนอของจางเหลียง
“ก็ทรงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเสียเลย เมื่อคนอื่นเห็นว่าคนอย่างยงคียังได้รับพระราชทานให้เป็นเจ้าเมืองคนเหล่านั้นก็จะเกิดความสบายใจว่า ตนเองจะได้รับพระราชทานตำแหน่งแน่”
เล่าปังก็พระราชทานให้ยงคีเป็นเจ้าเมืองฟาง
เห็นเช่นนั้นบรรดาขุนพลต่างซุบซิบกันต่อว่า “ขนาดยงคียังได้รับพระราชทานเลย พวกเราก็ไม่ต้องห่วง”
เป็นดังที่จางเหลียงได้คาดคำนวณ

ถึงแม้บทเรียนในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคเลียดก๊กจะทรงความหมายเป็นอย่างสูง เสมือนเป็นข้อเตือนใจ
แต่บทเรียนที่สำคัญกว่ากลับเป็นกรณี ณ วันนี้
ไม่ว่าจะเป็นวันนี้ของเล่าปัง เมื่อกลายเป็นพระเจ้าฮั่นเต้ ไม่ว่าจะเป็นวันนี้ของจางเหลียง เมื่อนั่งเรียงอยู่เคียงใกล้กับพระเจ้าฮั่นเต้
ยิ่งเป็นกรณีของ “หานซิ่น” ยิ่งน่าศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image