‘สร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร’

‘สร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร’

ขอบเขตการพิจารณาตามเป้าหมาย CARBON NEUTRALITY & NET ZERO

ภาคธุรกิจ สามารถพิจารณาเฉพาะปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน SCOPE 1 และ 2 ในการกำหนดเป้าหมาย CARBON NEUTRALITY แต่ต้องพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน SCOPE 1, 2 และ 3 ในการกำหนดเป้าหมาย NET ZERO โดย SCOPE 1 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ตัวอย่างเช่น การทำปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการผลิตจากกระบวนการ Calcinations ของการผลิตปูนซีเมนต์การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากหม้อไอน้ำ การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงจากยานพาหนะ การรั่วไหลของสารทำความเย็น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วน SCOPE 2 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดซื้อพลังงานจากภายนอก ได้แก่ การใช้พลังงานไฟฟ้าที่องค์กรไม่ได้ผลิตเอง SCOPE 3 หมายถึง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมโดยตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตัวอย่างเช่น การผลิตวัตถุดิบ การขนส่งวัตถุดิบ การขนส่งเพื่อกระจายสินค้า การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจและการเดินทางของพนักงาน เป็นต้น โดยแนวทางการเข้าสู่ CARBON NEUTRALITY และ NET ZERO

สามารถดำเนินการได้โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่ (1) “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (2) “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ และ (3) “ชดเชย” ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการจัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนรับรองความใช้ได้ของโครงการและรับรองค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บหรือลดลงที่ดำเนินการ ทั้งนี้ ต้องดำเนินงานตามลำดับขั้น โดยลดด้วยตัวเองก่อน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การจัดซื้อวัตถุดิบคาร์บอนต่ำ การขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น จากนั้นพิจารณาความเป็นไปได้ในการกักเก็บ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ หากการดำเนินการตามข้อ (1) & (2) จัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนรับรองความใช้ได้ของโครงการและรับรองค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บหรือลดลงที่ดำเนินการในประเทศไทย ทั้งนี้ สามารถจัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทใดก็ได้สำหรับ CARBON NEUTRALITY แต่หากเป็น NET ZERO ต้องจัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น

ADVERTISMENT

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิต (CARBON CREDIT) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ผ่านการตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ และได้รับการรับรองค่าคาร์บอนเครดิตจาก อบก. โดยในปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนมากกว่า 300 โครงการ และมีคาร์บอนเครดิตที่พร้อมซื้อขายมากกว่า 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 300 ล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดบนเว็บไซต์ของ อบก. วันที่ 6 พ.ย.2567 จาก https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-database-and-statistics/t-ver-stat-carbon-report.html) โครงการคาร์บอนเครดิต มีขั้นตอนการดำเนินงาน 4 ส่วน และ 7 ขั้นตอน สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-step/tver-development-step.html

ADVERTISMENT

แนวโน้มความต้องการคาร์บอนเครดิต

จากการประยุกต์ใช้กลไกคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นมาตรการจูงใจในการพัฒนาโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลก ในช่วงปี 2018-2022 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2022 อยู่ที่ 475 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศนโยบายและเป้าหมาย CARBON NEUTRALITY และ NET ZERO ของประเทศไทย ซึ่งได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจ เพราะเล็งเห็นว่าจะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจตระหนักดีว่า การกำหนดเป้าหมายลดและหามาตรการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น มีหลายอย่างที่สามารถทำได้ทันที แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้ทันที ต้องวางแผนดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ใช้เวลา และใช้เงินลงทุน ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีการประเมินถึงต้นทุนในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมาตรการทางเลือก หากเห็นว่ามีทางเลือกในการจัดซื้อตลาดคาร์บอนเครดิตมาลดให้ได้ตามค่าเป้าหมายนอกเหนือจากที่สามารถลดได้เองแล้ว หากราคาซื้อคาร์บอนเครดิตไม่สูงมากนัก ย่อมทำให้มีการตัดสินใจซื้อคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่ากลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นสมาชิกของเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย (Thailand Climate Change Network : TCCN) และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100 Thailand Club)

‘ประเด็นท้าทายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต’

พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ต้องทำอย่างไร

ขั้นตอนการดำเนินงาน 7 ขั้นตอน คือ

(1) กำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการ ตามเงื่อนไขการพัฒนาโครงการที่ อบก.กำหนด

(2) จัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ ตามรูปแบบเอกสารที่ อบก.กำหนด

(3) ติดต่อหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก (ตรวจสอบรายชื่อได้จากเว็บไซต์ของ อบก. ได้ที่ https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-external-evaluator/vvb-list.html) เพื่อขอรับการตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ

(4) ขึ้นทะเบียน “โครงการ T-VER” (ผ่านการตรวจสอบความใช้ได้) กับทาง อบก. โดยการจัดส่งเอกสารตามที่กำหนด

(5) ตรวจติดตามและจัดทำรายงานผลการตรวจติดตาม

(6) ติดต่อหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก เพื่อขอรับทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง/กักเก็บได้

(7) ขึ้นทะเบียนรับรอง “ค่าคาร์บอนเครดิต” (ผ่านการทวนสอบ) กับทาง อบก. โดยการจัดส่งเอกสารตามที่กำหนด

ในการพัฒนาโครงการ มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องคือ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างผู้ตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก โดยอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น การจ้างคนรวบรวมข้อมูลภาคสนามและจดบันทึก การส่งตัวอย่างเพื่อตรวจสอบปริมาณคาร์บอนในดิน เป็นต้น โดยค่าจ้างผู้ตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ ความซับซ้อนของข้อมูลที่ใช้ในการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง/กักเก็บได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการพิจารณาของหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจกในการประเมินราคา โดยนับรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พัก (หากมี) แยกต่างหากด้วย ในภาพรวม คิดเป็นหลักหมื่น (โครงการขนาดเล็ก) หรือหลักแสน (โครงการขนาดกลางและใหญ่) ส่วนราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น เป็นไปตามกลไกของตลาดและขึ้นอยู่กับความเต็มใจในการจ่ายของผู้ซื้อ เช่น โครงการคาร์บอนเครดิตที่ชุมชมเป็นผู้พัฒนาโครงการ มีแนวโน้มที่ราคาขายสูงกว่าเพราะผู้ซื้อเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน และโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกต้นไม้ มีแนวโน้มที่ราคาขายสูงกว่าโครงการคาร์บอนเครดิตประเภททั่วไป

ผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต

สามารถสอบถามไปยังเจ้าของคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง ตามช่องทางติดต่อในเอกสารโครงการ โดยสามารถดูเอกสารโครงการได้จาก http://ghgreduction.tgo.or.th/tver-database-and-statistics/t-ver-registered-project.html

ติดต่อสอบถามรายละเอียดการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ : 0-2141-9837, อีเมล์ : [email protected]

ติดตามข้อมูลการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ได้จาก http://carbonmarket.tgo.or.th

ประเด็นท้าทายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการตรวจสอบความใช้ได้และขึ้นทะเบียนกับ อบก.พบว่า มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังอยู่ในช่วงกว้างในแต่ละประเภทโครงการ ซึ่งขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ผนวกกับคุณภาพของคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก ราคาคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในตอนนี้อยู่ในระหว่าง 50 ถึงมากกว่า 500 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลก เนื่องจากการจัดการก๊าซเรือนกระจกยังไม่ได้กำหนดเป็นภาคบังคับตามกฎหมาย ดังนั้น ประเด็นท้ายหลักคือ การพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อยกระดับราคาของคาร์บอนเครดิตของไทยให้ใกล้เคียงกับตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมการลงทุนให้กับธุรกิจที่ดำเนินโครงการเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต เช่น การปลูกป่า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยีการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

ผู้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตต้องพิจารณาต้นทุนและความคุ้มค่าของโครงการคาร์บอนเครดิตก่อนตัดสินใจดำเนินการ ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2569 นี้

รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง
ผู้เชี่ยวชาญคาร์บอนฟุตพรินต์ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ผู้อำนวยการศูนย์วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image