ภาพเก่า…เล่าตำนาน : รัฐบาล…สั่งปราบยาเสพติดเฉียบขาด

“ต้องเห็นผลชัดเจนโดยเร็ว” …นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร สั่งการชัดเจน หนักแน่นให้รองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย และทีมงาน “ปราบยาเสพติด” ให้ประจักษ์ชัดต่อสังคมไทย…

เรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาแทบจะทั่วโลก สร้างหายนะกับมนุษยชาติ ขบวนการผลิต ขนส่ง การจ่ายเงินไป-มา สลับซับซ้อนติดตามได้ยาก ที่เลวร้ายสุดๆ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐสมรู้ร่วมคิด

1 พ.ย.2567 ณ วัดบ้านเขวาทุ่ง ต.เขวาทุ่ง อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด นายกฯเป็นประธานการประชุมสั่งการให้แก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด 1 ใน 25 จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องจังหวัดสีขาวทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา…พี่น้องประชาชนในภาคอีสานส่งเสียงระงม ยาบ้าเกลื่อนไปหมด ลูกหลานติดยา น่ากลุ้มใจสร้างปัญหาสารพัด

นายกฯ แพทองธาร มอบนโยบายชัดเจนว่า ให้ขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามภูมิภาค โดยมีจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ : เชียงใหม่ ภาคกลาง : อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : สกลนคร นครพนม ภาคตะวันออก : ระยอง ภาคใต้ : นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส

ADVERTISMENT

ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภาคของประเทศ

ข้อมูลจาก สสส. กลุ่มวัยรุ่น เยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี นับเป็นช่วงวัยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากที่สุด

ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนไทยเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายคือ ยาเสพติดมีราคาถูกลง และกลุ่มเยาวชนถือได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพ เพราะหากถูกจับกุมจะไม่ได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ โดยลักษณะของการค้ายามักจะมีการวางแผน และมีการนัดสถานที่เพื่อรับยา

จากข้อมูลการเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดในปี 2564 พบว่า “ยาบ้า” แพร่ระบาดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 75 รองลงมาคือ ยาไอซ์ ร้อยละ 8.6 กัญชาแห้ง ร้อยละ 4.7 และเฮโรอีน ร้อยละ 3.9ตามลำดับ สาเหตุที่ทำให้เยาวชนเข้าหาการใช้ยาได้แก่ 1.ความอยากรู้ อยากลอง ต้องการประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะสิ่งต้องห้าม 2.การให้ความสำคัญกับเพื่อน เป็นช่วงวัยที่เอาแต่ใจ มักชอบตามใจเพื่อน เพื่อให้ตนเองมีสังคม รวมไปถึงความต้องการที่ได้รับการยกย่องและยอมรับจากกลุ่มเพื่อน 3.ถูกหลอกลวง โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาจทำให้ได้รับสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว 4.ความเชื่อผิดๆ โดยมักมีความเชื่อที่ว่าการใช้ยาเสพติดจะทำให้มีความสุข เกิดความผ่อนคลาย 5.สิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง เช่น อาศัยอยู่ในสถานที่แออัด แหล่งค้าขายยาเสพติดหรือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจนต้องหันมาพึ่งยาเสพติด

“ยาบ้า” ในบ้านเมืองของเรามีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางเป็นผลมาจากการที่ต้นทุนการผลิตต่ำลงเรื่อยๆ เหลือเพียงเม็ดละหลักสิบบาท ถึงแม้จะปราบหนักในหลายรูปแบบ แต่ก็ยังมีรูรั่ว

พื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย (จังหวัดเชียงราย) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (แขวงบ่อแก้ว) และพม่า (ท่าขี้เหล็กรัฐฉาน) มีลักษณะเอื้อ “เป็นทางผ่าน” ในการขนส่งยา มีการลักลอบขนส่งยาเสพติดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยพบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคเหนือตอนบนมากที่สุด ตามด้วยจังหวัดชายแดนติดริมแม่น้ำโขง

ขั้นตอนการผลิตยาไม่ได้มีความซับซ้อนยุ่งยากอะไรเลย การติดต่อผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อการค้าการนัดหมาย ยิ่งทำให้สะดวกมากขึ้นไปอีก

ข้อมูลจากสำนักข่าว Voice of America ระบุว่า ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือยาบ้า ที่ผลิตจากห้องทดลองผิดกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า “ซุปเปอร์แล็บ” ที่ผุดขึ้นอย่างมากมายในเมียนมาหลังการรัฐประหารเมื่อ ก.พ.2565 กระจายไปในหลายประเทศในแถบอินโดจีนและอาเซียน

รัฐฉานของเมียนมา คือ แหล่งผลิตยาบ้าใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความร่วมมือของขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่ในแถบสามเหลี่ยมทองคำที่ทั่วโลกรู้จักกันดี

วัตถุดิบและสารเคมีหลายพันตันหลั่งไหลเข้าไปในรัฐฉานและบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อนำไปผลิตเป็นยาบ้า ยาไอซ์ และเฮโรอีน ก่อนที่จะถูกส่งออกมาตามแนวชายแดนฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา

หลังการยึดอำนาจในเมียนมา การผลิตยาเสพติดใน “รัฐฉาน” ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าขบวนการค้ายาเสพติดเหล่านั้นได้รับอานิสงส์จากการรัฐประหารด้วย

“ซุปเปอร์แล็บ” ผลิตยาบ้าและยาไอซ์ในพื้นที่ห่างไกล ผุดขึ้นอย่างมากมายทั้งของกองกำลังฝ่ายสนับสนุนกองทัพ และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และความวุ่นวายทางการเมืองที่สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่อาชญากรรม กลายเป็นโอกาสในการหาเงินก้อนโต

กลุ่มติดอาวุธทั้งหลายที่มีอาณาจักรของตนเอง ล้วนเกี่ยวข้องกับการผลิต ขนส่ง จำหน่ายสารเสพติดสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพื่อเลี้ยงดูกองกำลังของตนเองและครอบครัวที่อยู่กันแบบไม่ก้าวก่ายกันหากแต่บางทีก็หักหลังกันเอง

สงคราม ยาเสพติด ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ เป็นวงจรที่มัดรวมกัน

รัฐฉาน เป็นแหล่งผลิตฝิ่นรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากอัฟกานิสถานที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของทาลิบัน ซึ่งมีผลต่อตลาดยาเสพติดประเภทเฮโรอีนในเอเชียและทั่วโลก

ขอย้ำว่า…พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ คือ ปัจจัยบวกในการทำงานของเครือข่ายยาเสพติดในรัฐฉานผลิตยาบ้าและยาไอซ์ระดับโลก ไทยกลายเป็นทางผ่านและเป็นผู้เสพอย่างมโหฬาร

ต้องยอมรับความจริงกันว่า “ทหารหน่วยเฉพาะกิจ” ทางภาคเหนือ คือ หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3 กองทัพบกปฏิบัติการลาดตระเวนและสกัดกั้นยาเสพติด เพื่อป้องกันภัยคุกคามให้แก่ประเทศชาติ ซุ่มโจมตี ทำลาย ขนส่งยาเสพติดผ่านทางพรมแดนด้านเหนือและตะวันตกติดกับเมียนมา อย่างได้ผลดี เฉียบขาด ณ บริเวณพื้นที่ชายแดน

หน่วยเฉพาะกิจราชมนูเป็นหน่วยทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก ได้แก่ แม่สอด พบพระ อุ้มผาง แม่ระมาด และท่าสองยาง

ภารกิจหลักของหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ประกอบด้วย การป้องกันและรักษาอธิปไตยไทย การเฝ้าระวังเหตุการณ์ชายแดน การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การป้องกันการลักลอบเข้าเมือง การปราบปรามการค้าอาวุธ ยาเสพติด และสินค้าผิดกฎหมาย รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่

กลุ่มค้ายาที่แบกเป้เดินมาตามป่าเขา บรรจุเป็นแสน เป็นล้านเม็ด ถูกสกัด ถูกซุ่มโจมตีเพราะขัดขืนการตรวจค้นจับกุม

อีก 1 หน่วยเฉพาะกิจ คือ หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ยิงปะทะสนั่นป่า กลุ่มขบวนลำเลียงยาเสพติดชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยึดยาบ้า 600,000 เม็ด และเฮโรอีน 9.6 กิโลกรัม (เมื่อ 10 ส.ค.2567) ที่ทำงานแบบถึงใจพระเดชพระคุณ

มีผลงานการสกัดกั้น ปราบปราม ณ พื้นที่ชายแดน ต่อเนื่องยาวนานหลายปี มิให้ยาเข้ามาสู่พื้นที่เมืองหลายร้อยล้านเม็ด

กองทัพมด-ขนยา จากรัฐฉาน ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศลาว ผ่านแม่น้ำโขงทางภาคอีสาน ลักลอบเข้าสู่ภาคอีสาน

ผลการสกัดกั้น ปราบปราม ที่เป็นข้อมูลสำคัญ…

24 ก.ย.2567 ผวจ.หนองคาย ตำรวจ และรอง ผบ.บก.ควบคุมที่ 2 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (กองทัพภาคที่ 2) และฝ่ายปกครองแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 3 คน พร้อมของกลางเป็นไอซ์บรรจุในถุงพลาสติกพิมพ์ลายให้เข้าใจว่าเป็นชาสำหรับชงดื่ม 489 ถุง น้ำหนัก 489 กก. มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท และรถยนต์ 3 คัน ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอีกมูลค่า 3 ล้านบาท

8 พ.ย.2567 ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2104 อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย นายสมภพ สมิตะสิริ ผวจ.หนองคาย ผบ.หน่วยทหารพราน แถลงข่าวการจับกุมนายเล สะนะสิง อายุ 15 ปี นายตุ่น สะนะพัด อายุ 15 ปี ทั้ง 2 คนเป็นชาวเมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และนายสินธ์ ธรรมชาติ อายุ 46 ปี ชาวบ้านหนองกุ้งเหนือ ต.กุดบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย พร้อมของกลางยาบ้า 536,000 เม็ด คาดเตรียมนำเข้าพื้นที่ตอนในของประเทศ

เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ได้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง สวนยางพารา บ้านหนองกุ้งเหนือ ต.กุดบง อ.โพนพิสัย ขณะช่วยกันขนยาบ้าขึ้นจากเรือมาบนตลิ่งแม่น้ำโขง

ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นเพียงบางส่วนของการทำงานที่ “จับกุมได้”

คิดในทางกลับกันว่า ถ้าจับกุมไม่ได้และหลุดเข้ามาถึงเอเยนต์จัดจำหน่ายในเมืองได้ จะมีหายนะขนาดไหน

กลางปี 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าขบวนการเปลี่ยนไปใช้โดรนส่งยาข้ามแม่น้ำโขงกันแล้ว

ข่าวที่น่าอดสูใจ น่าสังเวช คือ ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่บุกตรวจค้นสถานบันเทิงแบบจู่โจม จะปรากฏข่าว พบยาทั้งหลายถูกโยนลงบนพื้นในความมืด เกลื่อนไปหมด ตรวจปัสสาวะเยาวชนทั้งหลายพบฉี่สีม่วงอื้อ

น่าเจ็บใจจริงๆ ที่เยาวชนไทยมหาศาลเป็นผู้เสพซะเองแบบโหยหา ตั้งใจ สังคมไทยผุพัง มีขี้ยา ก่ออาชญากรรมเกลื่อนเมือง

คนไทยหยอกล้อกันเสมอว่า…มียาบ้าในทุกตรอกซอกซอย ใครติดยาในกลุ่มนี้ ทุกคนรู้หมด รู้แม้กระทั่งซื้อได้ที่ไหน

นายกรัฐมนตรีสั่งการแบบ “โดนใจ” เพื่อแก้ปัญหาสังคมไทยที่กำลังป่วยหนักและเรื้อรัง ซึ่งทุกคนในสังคมไทยก็ควรต้องสนับสนุน

ประชาชนขอให้จัดการกับพ่อค้ายาตัวเป้งๆ ปราบคือปราบ ต้องไม่มีการประนีประนอม…ครับ