ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
สงครามในตะวันออกกลาง อเมริกา-ฝรั่งเศส และกลุ่มพลังอื่นๆ เพียรพยายามทำข้อตกลง “พักรบ” ระหว่างอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ สำเร็จมีผลตั้งแต่วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. (ตามเวลาในไทย)
มีสาระหลัก คือ จะไม่มีการปฏิบัติการทางทหาร ไม่มีการใช้อาวุธ จะมีพื้นที่ปลอดภัย …ตกลงกันไว้ว่าจะมีผลไป 60 วัน
(ผู้เขียนไม่ขอลงรายละเอียด แต่ก็ขอให้เผื่อใจไว้บ้าง อาจจะมีการละเมิด เสียวินัย หรือควบคุมกันเองไม่ได้)
ข้อตกลงเป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเบื้องหลังการพูดคุย อาจจะมีทั้งขู่ ทั้งปลอบ ผู้ทำข้อตกลง “ต้องมีอำนาจ มีบารมีจริง” ที่จะให้คู่กรณีมาพบกัน
มหาอำนาจอเมริกา คือ ผู้สนับสนุนหลักของอิสราเอลในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ สนับสนุนอาวุธแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ในขณะที่ฮิซบอลเลาะห์ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในขณะที่ โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (ที่กำลังจะหมดวาระในตำแหน่งประธานาธิบดีใน 20 มกราคม 2568)
ตำแหน่งประธานาธิบดี คือ ผู้นำสูงสุดของประเทศและยังเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ของกองทัพสหรัฐ
ประเด็นที่สังคมโลก ใส่ใจ กังวลใจ คือ… แล้วถ้า 20 มกราคม 2568 โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี…ทรัมป์จะ “ปรับเปลี่ยน” นโยบายนี้หรือไม่? เพราะรายชื่อทีมที่ปรึกษาของทรัมป์ล้วนเป็น “สายเหยี่ยว” ที่เปิดเผยท่าทีเกี่ยวกับสงครามใน 2 สมรภูมิบ้างแล้ว
ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงยุติสงครามในตะวันออกกลางใน 24 ชั่วโมง ซึ่ง “รูปแบบวิธีการ” จะเป็นอย่างไร ยังคาดเดาไม่ได้
ขอโฟกัสไปที่สมรภูมิ รัสเซีย-ยูเครน ครับ
กลุ่มประเทศ NATO (NATO Allies) 32 ประเทศ และ Non NATO ในยุโรปกำลัง “เครียดหนัก” เพราะทราบดีว่า ทรัมป์ไม่ค่อยปลื้มกับ NATO ที่มิได้ทุ่มเทความช่วยเหลือให้ยูเครนตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา ปล่อยให้ลุงแซมควักกระเป๋าจ่ายหนัก จ่ายเต็มตลอดมา
ทรัมป์หยิกแกมหยอกว่า…จะถอนตัวจาก NATO นั่นก็หมายความว่า ยุโรปจะต้องเผชิญหน้ากับ “หมีขาว” กันเอง
5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา คนอเมริกันเทคะแนนให้ทรัมป์ ด้วยเห็นว่ารัฐบาลไปทุ่มเทเงินมหาศาลไปกับสงคราม ในขณะที่ “คนในบ้านตัวเอง” ยังยากจน ขัดสน เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า
ผู้เขียนเองก็เชื่อว่า ทรัมป์จะทำได้ ด้วยลีลา บุคลิกภาพ ที่กล้าได้กล้าเสียมีแต่ขาวกับดำ ถึงแม้จะยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง ทีมงานที่ปรึกษาก็เดินงานให้แล้วล่วงหน้า
กองทัพสหรัฐที่ประจำการหลายแห่งในโลกนี้ คือ ผู้รับคำสั่งจากการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ให้ รบ-พักรบ-เลิกรบ
ผู้เขียนขอนำประวัติศาสตร์สงครามเกาหลีเป็น Case Study ใน “การตัดสินใจ” ของฝ่ายการเมืองมาเป็นตัวอย่าง
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นไปทำสงครามบุกยึดคาบสมุทรเกาหลี 2 ครั้ง กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนสำเร็จ ใช้เป็นฐานที่มั่นจะบุกเอาดินแดนของจีน (ยังไม่มีเกาหลีเหนือ-ใต้)
ญี่ปุ่นยึดครองคาบสมุทรเกาหลีนาน 35 ปี
กองทัพเรือญี่ปุ่นยังไปทำสงครามทางเรือ เอาชนะกองทัพเรือรัสเซีย (ในขณะนั้นคือสหภาพโซเวียต) ที่เสียหน้าต่อชาวโลก เสียดินแดนให้ญี่ปุ่น
เช้าตรู่ 7 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นไปโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ในรัฐฮาวายของอเมริกา ถือเป็นสงครามโลกในย่านเอเชียแปซิฟิก
สิงหาคม พ.ศ.2488 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ญี่ปุ่น “แพ้สงคราม” อเมริกาให้มาตกลงเซ็นสัญญาวางอาวุธ หากแต่ทหารญี่ปุ่นที่แพ้สงครามนับหมื่นยึดครองอยู่
ผู้นำโซเวียตสั่งกองทัพหมีขาว เตรียมเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นหลายหมื่นคนในเกาหลี หมายจะยึดครองดินแดนเกาหลีทั้งหมด
อเมริกาที่อ่านเกมทะลุ รีบส่งกำลังเข้าขัดขวาง “หมีขาว”
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-โซเวียต จึงจัดการประชุมที่เมืองพอทซ์ดัม ซึ่งยุติลงแบบ “แสนง่าย” คือ สหรัฐและโซเวียตตกลงเลือกแนวเส้นขนานที่ 38 เพื่อเป็นเส้นแบ่งเขตกองทัพ
เกิดเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ขึ้นในโลก
โดยทางเหนือของแนวเส้นแบ่งนี้ สหภาพโซเวียตจะยอมรับการยอมแพ้ของกองกำลังญี่ปุ่นในเกาหลี และทางใต้ของแนวเส้นแบ่งนี้ อเมริกาจะยอมรับการยอมแพ้ของญี่ปุ่น
แปลว่า…สหรัฐและสหภาพโซเวียต ตกลงแบ่งดินแดนเกาหลี “ชั่วคราว” ที่เส้นขนานที่ 38 เพื่อควบคุมการถอนกำลังของญี่ปุ่น
คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็น เหนือ-ใต้ ตั้งแต่นั้นมา ด้วยการตกลงของ 2 มหาอำนาจ ในขณะที่ชาวเกาหลีเจ้าของบ้าน “งงงวย” ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเราที่ไม่มีทางเลือกและไม่มีใครให้เลือก
นี่คือ “เรื่องจริง” ครับ… ว่าทำไมจึงมีเกาหลีเหนือ-ใต้
มหาอำนาจจะมีเหตุผลว่า…นี่คือ การเข้ามาช่วย
โซเวียตปกครองเกาหลีเหนือในรูปแบบของระบอบคอมมิวนิสต์
อเมริกาปกครองเกาหลีใต้แบบประชาธิปไตย ซึ่งก็ปรากฏสารพันปัญหา แต่ก็มีพัฒนาการในทางบวก
เกิดการกระทบกระทั่ง ยั่วยุ ตลอดเวลาระหว่าง 2 เกาหลี โดยมีเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่ง เป็นพื้นที่เขตปลอดทหาร (DMZ) มีระยะห่างระหว่าง 2 ฝ่ายเพื่อป้องกันการปะทะทางทหาร
ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสหรัฐตัดสินใจเด็ดเดี่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังโซเวียตเข้ายึดครองเกาหลีทั้งหมด โดยมี “กองทัพสหรัฐ” เป็น “พลังอำนาจ” ในการต่อรอง
ในเวลานั้น จีนคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียต คือ สหายในอุดมการณ์ระบอบคอมมิวนิสต์
ไม่มีอะไรระแคะระคายมาก่อนเลย หน่วยข่าวกรองล้มเหลว
เช้ามืด 25 มิถุนายน 2493 กองทัพเกาหลีเหนือนับหมื่นอันห้าวหาญ รุกผ่านเส้นขนานที่ 38 แบบมืดฟ้า มัวดิน พร้อมรถถัง ปืนใหญ่รุกเข้าสู่กรุงโซล
โลกตกตะลึง เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติลงไปไม่นาน ทำพิธีศพ เก็บกระดูกทหารกันยังไม่เสร็จ…
ประธานาธิบดีสหรัฐสั่งกองกำลังสหรัฐในญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังเข้าช่วยเกาหลีใต้ในขั้นต้น หากแต่ไม่สามารถต้านทาน “พลังอำนาจ” โสมแดงได้ ดินแดนเกาหลีใต้แหลกลาญ ประชาชนเกาหลีใต้ที่เป็นญาติพี่น้องกันตายเป็นเบือ กองทัพเกาหลีใต้ที่ไม่พร้อมรบ ถอยร่นลงทางใต้แทบไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ไปตั้งหลักได้ที่เมืองปูซานที่อยู่ทางใต้
เกาหลีใต้แทบจะสูญพันธุ์ สิ้นชาติ เสียชีวิตนับล้านคน
27 มิถุนายน 2493 สหประชาชาติมีมติให้จัดกำลังทหารจากประเทศต่างๆ ไปทำสงครามรบกับเกาหลีเหนือ
15 กันยายน 2493 นายพลแม็คอาเธอร์ของกองทัพสหรัฐ เป็นกำลังหลักนำกองกำลังสหประชาชาติราว 7 หมื่นนาย ยกพลขึ้นบกที่เมืองอินชอน ชื่อรหัสสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้คือ ปฏิบัติการโครไมต์ (Operation Chromite) รบดุเดือด ผลักดันกองทัพเกาหลีเหนือข้ามเส้นขนานที่ 38 กลับไปได้สำเร็จ
กองทัพจีนนับแสนคน กระโจนเข้ามาช่วยเกาหลีเหนือ
(รัฐบาลไทยมีมติส่งกำลังทหารไปช่วยรบเป็นลำดับที่ 2)
สตาลิน ผู้นำของโซเวียต ส่งกองทัพอากาศโซเวียตเข้ามาระยะสั้นๆ ด้วยเกรงว่าจะเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐอเมริกา
สงครามเกาหลีรบกันนานกว่า 3 ปี กองทัพสหรัฐบุก รุกไล่ เกาหลีเหนือและกองทัพจีน ขึ้นไปถึงแม่น้ำยาลู ติดดินแดนจีน
การสู้รบหนักเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงโซล ที่สู้รบแย่งกันไป-มา 4 ครั้ง กรุงโซลกลายเป็นซากเน่า
คนเกาหลีใต้บอกว่า… รบกันหนัก บ้านเมืองพินาศแหลกลาญ คือ แผ่นดินในเขตเกาหลีใต้ หลังสงคราม “เกาหลีใต้” จึงได้วางผังเมือง สร้างเมืองขึ้นมาใหม่หมด อย่างสวยงาม
ถ้าเกาหลีเหนือชนะในครั้งนั้นจะควบคุมคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด “เกาหลีใต้” จะสูญสิ้นไป รบกันหนักราว 3 ปีเศษ
ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าสงครามครั้งนี้ไม่มีประสิทธิผล ไร้จุดหมาย และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก กองทัพสหรัฐสูญเสียทหารไปเกือบ 37,000 นาย ได้รับบาดเจ็บ 92,000 นายในสงครามเกาหลี ในขณะที่กองกำลังสหประชาชาติอื่นๆ สูญเสียทหารไปเกือบ 3,000 นาย
ทหารอังกฤษเสียชีวิตมากกว่า 1,100 นาย บาดเจ็บ 2,600 นาย กองกำลังเกาหลีใต้ เสียชีวิต บาดเจ็บประมาณ 5 แสนคน
20 มกราคม 2496 ไอเซนฮาวร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก ประธานาธิบดีทรูแมน มีนโยบายให้กลับไปใช้เส้นขนานที่ 38 หาทางยุติสงคราม
27 กรกฎาคม 2496 มหาอำนาจลงนามในข้อตกลงสงบศึก ซึ่งถือเป็นการยุติการสู้รบ แลกเปลี่ยนนักโทษนับหมื่นคน
ข้อตกลงครั้งนี้ได้สร้างเขตปลอดทหารเกาหลี (DMZ) เพื่อเป็นการแบ่งแยกเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาสันติภาพไม่มีลงนาม และทั้งสองประเทศเกาหลียังคงอยู่ในสภาวะสงคราม
สงครามทั้งหลาย มหาอำนาจ และผู้ที่แข็งแรงที่สุด จะเป็นผู้กำหนดการปฏิบัติเสมอ