ข้อสังเกตจากวิกฤตกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้

ข้อสังเกตจากวิกฤตกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้

คืนวันที่ 2 ธันวาคม เวลาประมาณ 22.30 นาฬิกา ที่ประเทศเกาหลีใต้ ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้ประกาศกฎอัยการศึก (Martial Law) พร้อมอ้างว่าเพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามที่เกิดจากกองกําลังเกาหลีเหนือ โดยกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านหลักว่าเข้าข้างเกาหลีเหนือและมีความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลต่างๆ นานา ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้วตัวประธานาธิบดียุน ซอกยอลมีคะแนนความนิยมตกต่ำอย่างต่อเนื่องจากผลงานการบริหารประเทศ และเผชิญกับข่าวฉาวและข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่นจำนวนมากและที่หนักที่สุดคือนางคิม กอนฮี ภรรยาของประธานาธิบดีเองถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น และรับกระเป๋าแบรนด์เนมที่มีมูลค่าสูงเกินกว่ากฎหมายรับสินบนกำหนด ทำให้ประธานาธิบดียุน ซอกยอลต้องออกมาแถลงขอโทษต่อประชาชนผ่านโทรทัศน์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ นอกจากนี้ในการเลือกตั้งรัฐสภาในเดือนเมษายนปีนี้ที่ปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแลนด์สไลด์ถึง 170 จาก 300 ที่นั่ง และได้รวมเสียงพรรคอื่นๆ เป็นฝ่ายค้านที่ 192 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชาชน (People Power Party) ของประธานาธิบดียุน ซอกยอล ต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มีเพียง 108 ที่นั่งเท่านั้น

ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาประธานาธิบดียุน ซอกยอล และรัฐบาล ผ่านกฎหมายและเดินหน้าทำนโยบายได้อย่างยากลำบาก เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาเพิ่งมีมติตัดงบในร่างงบประมาณแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็เดินหน้ายื่นถอดถอนรัฐมนตรี และอัยการสูงสุดหลายคน ทำให้ประธานาธิบดียุน ซอกยอลหน้ามืดประกาศกฎอัยการศึกแบบให้เหตุผลเท็จโดยไม่ปรึกษาพรรคประชาชนต้นสังกัดเสียก่อน สาระสำคัญของกฎอัยการศึกมีดังต่อไปนี้

1) ห้ามกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท รวมถึงกิจกรรมของรัฐสภา สภาท้องถิ่น พรรคการเมือง สมาคมการเมือง การชุมนุม และการเดินขบวน เป็นสิ่งต้องห้าม

ADVERTISMENT

2) ห้ามกระทำการใดๆ ที่ปฏิเสธหรือพยายามโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม และห้ามเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน และการโฆษณาชวนเชื่ออันเป็นเท็จ

3) สื่อและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎอัยการศึก

ADVERTISMENT

4) ห้ามการนัดหยุดงาน การก่อวินาศกรรม และการชุมนุมที่ส่งเสริมความวุ่นวายทางสังคม

5) บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน รวมถึงประชาชนที่นัดหยุดงานหรือออกจากวงการการแพทย์แล้วจะต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใน 48 ชั่วโมงและทำงานด้วยความซื่อสัตย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎอัยการศึก

6) สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มบ่อนทำลายรัฐ จะมีมาตรการเพื่อบรรเทาความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด

ต่อมามีบรรดาผู้แทนราษฎรและประชาชนจำนวนมากได้มารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตรึงกำลังอยู่ มวลชนได้ช่วยกันผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจให้เปิดทางให้แก่บรรดาผู้แทนราษฎรฝ่าวงล้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปด้านในเพื่อเปิดประชุมลงคะแนนเสียงยกเลิกกฎอัยการศึกได้สำเร็จในเวลา ประมาณ 01.00 น.ของวันใหม่ จากบรรดาผู้แทนราษฎร จำนวน 300 คน มี 190 คน เข้าไปในรัฐสภาได้สำเร็จ และโหวตยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยมติเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 190 : 0 (รัฐสภาเกาหลีใต้มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวไม่มีวุฒิสภาเหมือนประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพเกาหลียังคงยืนยันว่า กฎอัยการศึกจะยังมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่า ประธานาธิบดีจะสั่งยกเลิก ทำให้ประชาชนยังคงรวมตัวประท้วงอยู่หน้ารัฐสภา และบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังปักหลักอยู่ด้านในรัฐสภากระทั่งเวลาประมาณ 04.20 น. ประธานาธิบดียุน ซอกยอลจึงประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการ โดยแจ้งว่ายอมรับมติของรัฐสภาและได้ให้ทหารถอนกำลังแล้ว ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของประชาชนที่มารวมตัวประท้วงอย่างกึกก้อง นับเป็นการประกาศกฎอัยการศึกที่มีอายุที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ คือมีอายุเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น แม้แต่ผู้เขียนเองก็ยังไม่ทราบข่าวเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้จนกระทั่งการยกเลิกกฎอัยการศึกเพราะนอนหลับยังไม่ตื่นเลย

กฎอัยการศึกของประเทศเกาหลีใต้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาเสถียรภาพในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ แต่ได้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้เห็นต่าง รักษาอำนาจ และทำลายระบอบประชาธิปไตย ดังตัวอย่างในอดีตที่ประธานาธิบดีซิงมัน รี ประกาศกฎอัยการศึกใน พ.ศ.2491 เพื่อควบคุมกบฏที่ต่อต้านการปราบปรามการลุกฮือบนเกาะเชจู ซึ่งส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต

ใน พ.ศ.2503 ได้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีซิงมัน รี ทวีความรุนแรงขึ้น หลังตำรวจสังหารนักเรียนมัธยมปลายในระหว่างการชุมนุมต่อต้านการโกงการเลือกตั้ง กฎอัยการศึกถูกนำมาใช้หนึ่งแต่ปราบประชาชนไม่สำเร็จ ส่งผลให้ประธานาธิบดีซิงมัน รีต้องลี้ภัยไปตายที่ฮาวาย

ต่อจากนั้น ประธานาธิบดีพัค จุง-ฮี ยังใช้กฎอัยการศึกบ่อยครั้งเพื่อปราบปรามภัยคุกคามต่อระบอบการปกครองเผด็จการของเขา การประกาศกฎอัยการศึกที่กินเวลานานถึง 440 วัน หลังการลอบสังหารประธานาธิบดีพัค จุง-ฮีแล้ว ประธานาธิบดีชุน ดู-ฮวาน ก็ยังใช้กฎอัยการศึกไปสังหารหมู่ประชาชนเกาหลีถึง 987 คนที่เมืองกวางจูอีกด้วย

ดังนั้น รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2530) จึงได้กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการประกาศกฎอัยการศึกโดยกำหนดให้อำนาจประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกแต่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาหากต้องการขยายหรือยกเลิก

ครับ! ปรากฏการณ์ของกฎอัยการศึกที่มีอายุสั้นที่สุดในโลกนี้ปรากฏว่าทุกฝ่ายปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเกาหลีใต้ทั้งสิ้น แต่ประชาชนและนักการเมืองฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงข้างมากในรัฐสภา คือ 170 คนจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 300 คนต้องการที่จะปลดประธานาธิบดียุน ซอกยอลออกจากตำแหน่งในข้อหาเป็นกบฏและได้มีการดำเนินการไปก็ไม่สำเร็จเนื่องจากพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) มีที่นั่งในรัฐสภา 170 ที่นั่ง และได้รวมเสียงพรรคอื่นๆ เป็นฝ่ายค้านที่ 192 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชาชน (People Power Party) ของประธานาธิบดียุน ซอกยอล มีที่ 108 ที่นั่ง ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้กำหนดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ให้รัฐสภาอาจลงมติปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ ด้วยการเสนอญัตติถอดถอนประธานาธิบดี ต้องมีสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งเสนอขึ้นมา ขณะที่มติถอดถอน ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกลงมติเห็นชอบให้ปลดออกจากตำแหน่งได้ เพราะตำแหน่งประธานาธิบดี สูงกว่าการปลดจากตำแหน่งอื่นๆ และต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับรองมติถอดถอนอีกด้วย

เมื่อพิจารณาตามตัวเลขของสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านแล้วมีอยู่ 192 เสียง ในขณะที่ต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 คือ 200 เสียง ดังนั้นตามคณิตศาสตร์การเมืองแล้วความพยายามที่จะปลดประธานาธิบดียุน ซอกยอลออกในครั้งนี้จึงไม่สำเร็จ

จากข่าวล่าสุดในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม ปรากฏว่าประธานาธิบดียุน ซอกยอล รอดจากการถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างฉิวเฉียดเพราะพรรคฝ่ายค้านรวบรวมคะแนนเสียงได้เพียง 197 เสียงจากจำนวนที่ต้องการ 200 เสียงที่จะปลดประธานาธิบดียุน ซอกยอลออกจากตำแหน่งได้

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image